วิกฤติศตวรรษที่21 : ว่าด้วยสถานการณ์สงคราม-สันติภาพโลกปี 2017

มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น (24)

ว่าด้วยสถานการณ์สงคราม-สันติภาพโลกปี 2017

สถานการณ์สงคราม-สันติภาพโลกปี 2017 น่าเป็นห่วง นั่นคือสงครามหรือความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธร้ายแรงกว้างขวาง ก่อผลกระทบต่อชีวิตผู้คนที่บาดเจ็บล้มตาย อพยพลี้ภัยจำนวนมาก รวมทั้งความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกมหาศาล ยังคงมีความร้อนแรง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้อีก เนื่องจากกลไกในการแก้ไขหรือชะลอความขัดแย้ง เช่น องค์การสหประชาชาติ กฎหมายภายในและระหว่างประเทศทำงานไม่ได้ผล

หันไปสู่การใช้ “กำปั้น” ในการตัดสิน

สะท้อนถึงความอ่อนแรงของสันติภาพเชิงบวก

การสำรวจความขัดแย้งที่ใช้อาวุธทั่วโลกปี 2017 จัดทำโดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาทางยุทธศาสตร์ สำนักคิดของอังกฤษทางด้านความมั่นคงโลก ความเสี่ยงทางการเมือง และความขัดแย้งทางทหาร และเป็นผู้จัดประชุมสุดยอดทางด้านความมั่นคง ได้เสนอรายงานสำรวจเป็นปีที่สามเมื่อเดือนพฤษภาคม 2017 มีแก่นเรื่องหลักที่ควรกล่าวถึง คือ

Afghan security forces take part in an ongoing operation against Islamic State (IS) militants in the Achin district of Afghanistan’s Nangarhar province on April 14, 2017, a day after the US military struck the district with its largest non-nuclear bomb.
The US military’s largest non-nuclear bomb killed dozens of Islamic State militants as it smashed their mountain hideouts, Afghan officials said April 14, ruling out any civilian casualties despite the weapon’s destructive capacity. The GBU-43/B Massive Ordnance Air Blast bomb — dubbed the “Mother Of All Bombs” — hit IS positions in Achin district in eastern Nangarhar province on April 13.
/ AFP PHOTO / NOORULLAH SHIRZADA

1) ใจกลางเมืองได้กลายเป็นจุดเน้นของการสงครามและการพลัดถิ่นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากแนวโน้มการเป็นเมือง ประชากรเมืองมีมากกว่าที่อยู่ในชนบท เมื่อเกิดความไม่สงบหรือภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง ผู้คนยิ่งหลั่งไหลเข้าเมืองใหญ่น้อยเพื่อเอาตัวรอด กดดันต่อการสนองทางบริการและโครงสร้างพื้นฐานของเมือง พบว่าครึ่งหนึ่งของความขัดแย้งตามที่สำรวจเกิดขึ้นในเมือง

ตัวอย่างเช่น การขัดแย้งในตุรกี ระหว่างรัฐบาลกับพรรคคนงานชาวเคิร์ดทางตอนใต้ เกิดในบริเวณเมือง ก่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายถึง 3,000 คนในปี 2016 สูงสุดนับแต่ปี 1997 เช่นกับที่เกิดในซูดานใต้ อัฟกานิสถาน และปากีสถาน ผู้ลี้ภัยจากประเทศซีเรียไปยังประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตกราวร้อยละ 90 ตั้งถิ่นฐานที่ใจกลางเมืองหรือรอบเมือง

2) จำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามในปี 2016 ลดลงเหลือ 157,000 คนจาก 167,000 ในปี 2015 และ 180,000 ในปี 2014

แสดงว่าความขัดแย้งด้วยอาวุธรุนแรงยังจำกัดพื้นที่ได้

พบว่าการตายจากสงครามในที่มีความขัดแย้งสูงมาก 10 แห่ง มีสัดส่วนถึงร้อยละ 90 ของการตายจากการสงครามทั้งโลก สูงสุดอยู่ที่ซีเรียที่มีผู้เสียชีวิตถึง 50,000 คนในปี 2016 ที่ตามมาเป็นอันดับสองอย่างคาดไม่ถึงได้แก่เม็กซิโก ที่มีผู้ล้มตายถึง 23,000 คนในสงครามยาเสพติดและอาชญากรรมอื่นๆ การลดลงของการตายในช่วงสองสามปีนี้เนื่องมาจากปฏิบัติการของกลุ่มโบโก ฮาราม กลุ่มก่อการร้ายใหญ่ในไนจีเรียลดลง ซึ่งแสดงว่ากลุ่มก่อการร้ายนั้นยังสามารถจัดการควบคุมได้ เหล่านี้สะท้อนว่า เรื่องยังไม่เลวร้ายจนเกินไปนัก แต่ก็มีปัญหาร้ายแรงอื่น

3) กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติอยู่ในภาวะวิกฤติ ในปัจจุบันองค์การสหประชาชาติที่คาดหวังกันว่าจะเป็นองค์การหลักในการผดุงรักษาสันติภาพโลก ได้ส่งกองกำลังไปประจำการในที่ต่างๆ ทั่วโลกมากกว่าครั้งใด โดยมี 125 ประเทศส่งกำลังพล 117,000 คน เพื่อปฏิบัติภารกิจ 16 แห่งทั่วโลก ใช้เงินงบประมาณเกือบ 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่ปฏิบัติการดังกล่าวมีปัญหาทางโครงสร้างและการเมือง ได้แก่ มีงบประมาณน้อยไป ปฏิบัติภารกิจมากไป ขาดความชำนาญพิเศษในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น ในด้านวิศวกรรมการสื่อสาร งานข่าวกรอง การบินและโลจิสติกส์

ดังนั้น จึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ที่มีความคาดหวังสูงและซับซ้อนขึ้นได้ เช่น การปลดอาวุธ การป้องกันไม่ให้มีการระดมกำลังมาสู้รบ การปฏิรูปทางด้านความมั่นคงและการปกป้องประชาชนชาวบ้าน ตลอดจนไม่สามารถติดตามตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายตรงข้ามได้

(ดูแก่นเรื่องหลักของรายงาน Armed Conflict Survey 2017- The Worldwide Review of Political, Military and Humanitarian Trends in Current Conflicts ใน iiss.org 9 พฤษภาคม 2017)

รายงานนี้ไม่ได้กล่าวเน้นถึงสาเหตุสำคัญอีกข้อที่ทำให้เกิดวิกฤติแก่ภาระหน้าที่ รักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ ได้แก่มหาอำนาจเช่นสหรัฐ ยึดแนวทางปฏิบัติการทางทหารโดยลำพัง มองข้ามองค์การสหประชาชาติ ไม่คำนึงถึงกฎหมายระหว่างประเทศ

เช่น การส่งทหารเรือนแสนเข้ารุกรานอิรัก และส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ รวมทั้งสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธต่างๆ เพื่อเปลี่ยนระบบอัสซาดที่เป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย

อนึ่ง ยังมีข่าวหนาหูว่าประเทศทั้งมหาอำนาจโลกและอำนาจในภูมิภาคหลายประเทศสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายสากล ในปัจจุบันแม้ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่ ต่างก็ไม่ได้ฝากความหวังเรื่องสันติภาพไว้กับองค์การนี้ และปฏิบัติเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตนเป็นสำคัญ

มีสำนักคิดของออสเตรเลียสำนักหนึ่ง คือสถาบันเพื่อเศรษฐกิจและสันติภาพ มีสำนักงานที่นครซิดนีย์ นิวยอร์ก กรุงเฮก เม็กซิโก ซิตี้ บรัสเซลส์ และฮาราเร (นครหลวงซิมบับเว) มีแนวคิดว่า การจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับสันติภาพนั้น จะศึกษาแต่เรื่องความขัดแย้งและสงครามยังไม่เพียงพอ

สถาบันต้องการทำให้สันติภาพเป็นสิ่งจับต้องได้ และเห็นประโยชน์ของสันติภาพที่เป็นรูปธรรมทางเศรษฐกิจ

รายงาน “ดัชนีสันติภาพโลก 2017” ซึ่งเป็นฉบับที่ 11 ได้ศึกษาใน 163 ประเทศ มีประชากรร้อยละ 99.7 ของโลก ใช้กรอบ 3 ประการศึกษาเพื่อวาดภาพสถานการณ์สันติภาพในระดับโลกและประเทศ คือ

ก) ระดับความปลอดภัยและความมั่นคงในสังคม

ข) ความกว้างขวางของความขัดแย้งภายในสังคมหรือระหว่างประเทศ

ค) อัตราการเป็นแบบทหาร

นอกจากนี้ ยังมีตัวชี้วัดอีกจำนวนหนึ่ง ผลการศึกษาที่จะกล่าวถึงได้แก่

1) พื้นที่มีสันติภาพน้อยที่สุดในโลกได้แก่ตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ และมีแนวโน้มย่ำแย่ลงอีก แต่พื้นที่ที่มีสันติภาพย่ำแย่ลงมากที่สุดได้แก่ทวีปอเมริกาเหนือ นำโดยสหรัฐซึ่งมีคะแนนสันติภาพลดต่ำลงจากปี 2015 ถึง 11 อันดับ ตกลงมาอยู่ที่ 114 (จาก 163 ประเทศ) อยู่ระหว่างประเทศรวันดาในแอฟริกา (113) และเอลซัลวาดอร์ ในอเมริกาเหนือ (115)

เนื่องจากเหตุปัจจัยสองประการ ได้แก่ ความรุนแรงของความขัดแย้งภายในสังคม และระดับอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น

ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการแบ่งขั้วทางการเมืองที่ขึ้นสู่ระดับสูงในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 โดยมีรากฐานจากความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมและความตึงเครียดทางเชื้อชาติ

ส่วนอเมริกากลางและใต้ เป็นพื้นที่ที่มีสันติภาพมากขึ้น

ยุโรปที่รู้สึกกันว่าสถานการณ์ดุเดือดขึ้นจากปัญหาผู้อพยพลี้ภัยและการก่อการร้ายก็ยังคงเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่มีสันติภาพมากที่สุด

Russian President Vladimir Putin (R) shakes hands with his Syrian counterpart Bashar al-Assad (L) during a meeting at the Kremlin in Moscow on October 21, 2015. Assad, on his first foreign visit since Syria’s war broke out, told his main backer and counterpart Putin in Moscow that Russia’s campaign in Syria has helped contain “terrorism”. AFP PHOTO / RIA NOVOSTI / KREMLIN POOL / ALEXEY DRUZHININ

(สำหรับประเทศไทยอยู่อันดับที่ 120 ดีขึ้นจากปี 2015 ห้าอันดับ จัดอยู่ในกลุ่มมีสันติภาพปานกลาง ถัดจากไทยเล็กน้อยก็เริ่มเข้าสู่เขตประเทศมีสันติภาพต่ำและต่ำมาก ในนี้รวมรัสเซียที่เป็นคู่ปรับสำคัญของตะวันตก อยู่ที่อันดับ 151)

โดยรวมโลกมีสันติภาพขึ้นเล็กน้อยในปี 2016 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.28 มี 93 ประเทศมีสันติภาพขึ้น และมี 68 ประเทศที่แย่ลง แต่มองจากภาพใหญ่แล้วยังน่ากังวล

2) แนวโน้มใหญ่ของสันติภาพโลกในทศวรรษที่ผ่านมายังเป็นในด้านที่โลกมีสันติภาพลดลง โดยนับแต่ปี 2008 ระดับสันติภาพลดลงร้อยละ 2.14 มี 80 ประเทศดีขึ้น ขณะที่ 83 ประเทศแย่ลง ทั้งยังเกิดช่องว่างทางสันติภาพระหว่างประเทศที่มีสันติภาพมากที่สุดกับประเทศที่มีสันติภาพน้อยที่สุด

พื้นที่ที่ก่อความไร้สันติภาพมากที่สุดได้แก่ ตะวันออกกลาง ก่อให้เกิดการขยายตัวของการก่อการร้ายอย่างกว้างขวาง

เป็นที่สังเกตว่าประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มงบประมาณทางทหารขึ้นมาก ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วลดลง และประเทศที่มีการเพิ่มอาวุธหนักมากที่สุดในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นเขตที่ไม่มีเสถียรภาพ เช่น อียิปต์ อินเดีย อิหร่าน ปากีสถาน เกาหลีใต้ และซีเรีย ในระยะยาวแล้วสันติภาพโลกเชิงบวกมีแนวโน้มลดลง ค่าใช้จ่ายในการรักษาสันติภาพยังน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

3) ผลกระทบของความรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกปี 2016 ก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจถึงร้อยละ 12.6 ของทั้งหมด คิดตามค่าเสมอภาคอำนาจการซื้อสูงถึง 14.3 ล้านล้านดอลลาร์ เท่ากับ 1,953 ดอลลาร์ต่อคน ซึ่งลดลงจากปี 2015 ร้อยละ 3 เนื่องจากการลดลงของการเสียชีวิตจากการก่อการร้ายเล็กน้อย รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาสันติภาพและความสงบภายในและการทหารทั่วโลกลดลงด้วย ในประเทศที่มีสันติภาพน้อยที่สุด 10 อันดับแรกของโลก เช่น ซีเรีย อิรัก และอัฟกานิสถาน ความเสียหายจากความขัดแย้งรุนแรงเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 37 ของจีดีพี

4) สันติภาพเชิงบวกเป็นเสาหลักของสันติภาพ มีลักษณะเป็นระบบ ยิ่งมีมากและครบถ้วนยิ่งดี ได้แก่ 1) การมีรัฐบาลทำหน้าที่อย่างดี นั่นคือการรักษาความมั่นคงและการปกครองของกฎหมาย 2) มีอัตราคอร์รัปชั่นต่ำ 3) ยอมรับสิทธิของผู้อื่น 4) มีความสัมพันธ์ที่ดีแก่เพื่อนบ้าน 5) มีสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่ดี 6) มีระดับต้นทุนทางมนุษย์สูง 7) มีการกระจายทรัพยากรอย่างเหมาะสม 8) มีการไหลเวียนของข่าวสารอย่างเสรี

ประเทศที่มีสันติภาพมากที่สุดจะปฏิบัติได้ดีครบทั้ง 8 รายการ ส่วนประเทศมีสันติภาพต่ำมักปฏิบัติ 4 ข้อแรก ไม่ได้ดี

(ดูบทรายงานของสถาบันเพื่อเศรษฐกิจและสันติภาพ ชื่อ Global Peace Index 2017 : Measuring Peace in a Complex World เผยแพร่เดือนมิถุนายน 2017 ใน visionofhumanity.org)

การปรับขบวนของขั้วอำนาจโลก

ในท่ามกลางสถานการณ์สงครามและสันติภาพโลก ปรากฏการปรับขบวนขั้วอำนาจโลกชัดเจนขึ้นในปี 2017 แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มสหรัฐและกลุ่มจีน-รัสเซีย จะได้กล่าวถึงการปรับขบวนในขั้วอำนาจสหรัฐก่อน

การปรับขบวนในขั้วอำนาจสหรัฐ เป็นการปรับขบวนที่สะเทือนไปทั้งโลก ที่สหรัฐจำต้องปรับเป็นเพราะนโยบายต่างๆ ทั้งเสรีนิยมใหม่ โลกาภิวัตน์ที่นำโดยตะวันตก ลัทธิทหารและการสงครามที่ก่อความรุนแรงไปทั่วโลกล้มเหลว การปรับขบวนดังกล่าวเกิดขึ้นร่วมกับกระแสการเรียกร้องของประชาชนอเมริกัน ทำให้เกิดการแตกแยกอย่างรุนแรงภายในชนชั้นนำเป็นสองขั้ว

โดยกลุ่มทรัมป์เห็นว่าต้องปรับอย่างรวดเร็ว รุนแรง ยิ่งช้ายิ่งทำให้สหรัฐอ่อนแอ ล่มสลาย

ส่วนกลุ่มผู้ทรงอำนาจเดิมเห็นว่าค่อยๆ ปรับไปก็ได้ สถานการณ์ต่างๆ ก็ไม่ได้เลวร้ายจนเกินไป

สหรัฐยังเป็นประเทศที่มีอำนาจแห่งชาติเป็นที่หนึ่งในโลก อย่างที่ไม่มีใครมาแซงได้ในระยะใกล้ ภาระต่างๆ ที่สหรัฐแบกรับ ก็มีผลได้ของมัน ไม่ใช่เสียไปทั้งหมดอย่างที่ลัทธิทรัมป์กล่าว เช่น สหรัฐยังมีการส่งออกแฝงสำคัญสามรายการคือ

ก) การส่งออกธนบัตรที่มีอัตรากำไรสูง เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐถือเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศของโลก สามารถเป็นศูนย์กลางการเงินโลก

ข) การส่งออกทุนไปที่ต่างๆ ดูจากว่าบรรษัทข้ามชาติส่วนใหญ่เป็นของสหรัฐ ยังคงเป็นศูนย์กลางของตลาดทุน

ค) การส่งออกความมั่นคง ทำให้ประเทศต่างๆ ที่ต้องการความมั่นคง ต้องเอนเอียงตามนโยบายของสหรัฐ ไปจนถึงการซื้ออาวุธจากสหรัฐ หาไม่แล้วอาจเกิดความรุนแรงขึ้นในประเทศได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นลัทธิทรัมป์หรือกลุ่มผู้ทรงอำนาจเดิม จะปฏิบัตินโยบายและยุทธศาสตร์คล้ายกันคือ การใช้ลัทธิทหารเพื่อบรรลุจุดประสงค์ทางการเมืองของตน ยังคงใช้กำปั้นในการป้องกันตัวและทำร้ายผู้อื่น พบว่าในช่วงบริหารงานของประธานาธิบดีทรัมป์ไม่กี่เดือน สหรัฐได้ขยายการสงครามของตนในหลายพื้นที่ เช่น

(FILES) This file photo taken on March 14, 2017 shows
US President Donald Trump and Saudi Deputy Crown Prince and Defense Minister Mohammed bin Salman in the State Dining Room before lunch at the White House in Washington, DC.
Saudi King Salman on June 21, 2017, named his son Mohammed bin Salman as crown prince, completing a gradual removal of powers from the previous prince Mohammed bin Nayef, who has been fired.
/ AFP PHOTO / NICHOLAS KAMM

1) หวนกลับไปทำสงครามในอิรักใหม่ ด้วยข้ออ้างทำลายกลุ่มรัฐอิสลาม

2) การเข้าแทรกแซงซีเรียอย่างเปิดเผย เช่น ยิงจรวดโทมาฮอว์ก 59 ลูกใส่ฐานทัพอากาศในซีเรียเป็นครั้งแรก ประธานาธิบดีโอบามายังไม่กล้าทำเช่นนั้น

3) เยเมน สหรัฐเข้าปฏิบัติการโดยตรง

4) สหรัฐส่งหน่วยทหารเข้าไปประจำในโซมาเลีย เป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี โจมตีทางอากาศแก่กลุ่มอัลชาบาบในโซมาเลีย

5) ทิ้งมารดาแห่งระเบิด ใส่ฐานที่มั่นกลุ่มรัฐอิสลามที่อัฟกานิสถาน (กลางเดือนเมษายน 2017) โดยไม่มีเหตุผลทางยุทธศาสตร์อะไร

6) เคลื่อนกองเรือขนาดใหญ่ หลังเกาหลีเหนือทดลองขีปนาวุธ คล้ายจะปิดล้อม แต่ก็ถอนออก เมื่อเกาหลีเหนือไม่ยอมอ่อนข้อให้แม้แต่น้อย ซ้ำยังขู่ว่าจะทำลายนครนิวยอร์กที่เป็นเมืองเกิดของทรัมป์ ด้วยขีปนาวุธนิวเคลียร์

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการปรับขบวนในกลุ่มพันธมิตรสหรัฐ และการขยายตัวในขั้วอำนาจจีน-รัสเซีย