ภาษากำหนดวิธีมองโลก/มิตรสหายเล่มหนึ่ง นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

ภาษากำหนดวิธีมองโลก

 

“การมีภาษาที่สองคือการมีจิตวิญญาณอีกดวง”

ชาร์เลอมาญ จักรพรรดิแห่งโรมันกล่าวไว้เช่นนั้น

มิเพียงเพราะภาษาสามารถเชื่อมโยงเราเข้ากับผู้คนที่พูดภาษานั้นๆ แต่การเข้าถึงภาษาใดภาษาหนึ่งยังทำให้เราได้สวมแว่นมองโลกในอีกแบบหนึ่งด้วย

เพราะผู้คนต่างภาษามองโลกกันคนละแบบ

เลรา โบโรดิตสกี้ อธิบายเรื่องนี้บนเวทีเท็ดทอล์กโดยเล่าถึงชาวคุกทายอร์ (Kuuk Thaayorre) ซึ่งอาศัยอยู่แถบตะวันตกของเคปยอร์ก, ออสเตรเลียว่า ชาวอะบอริจิ้นเผ่านี้ไม่มีคำศัพท์ที่แสดงทิศทางว่า ‘ซ้าย’ หรือ ‘ขวา’ พวกเขาบอกทิศทางด้วยคำว่าเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก ซึ่งพวกเขาอาจพูดว่า “โอว มีมดเกาะอยู่บนขาข้างตะวันออกเฉียงใต้ของฉันด้วย”

คำทักทายในภาษาคุกทายอร์ทักกันว่า “คุณกำลังจะไปทางไหน” (เทียบได้กับสวัสดี) อีกฝ่ายอาจตอบว่า “ขึ้นไปเรื่อยๆ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ” ฉะนั้น เวลาทักทายกันทั้งสองฝ่ายต้องบอกทิศที่จะเดินไปด้วย การระบุทิศทางจึงผสมกลมกลืนอยู่ในชีวิตประจำวัน ทำให้พวกเขาระบุทิศทางได้อย่างน่าทึ่ง

จะพิสูจน์ว่าพวกเขาระบุทิศเก่งกว่าคนเมืองอย่างเราๆ ท่านๆ ขนาดไหนอาจทดสอบง่ายๆ ด้วยการลองชี้นิ้วไปในทิศตะวันตกเฉียงใต้จากจุดที่คุณนั่งอ่านหนังสืออยู่ แล้วลองเปิดแอพพ์ขึ้นมาเช็กว่าคุณพลาดไปกี่มากน้อย

เมื่อนั้นแหละจึงรู้ว่าภาษาที่เราใช้ไม่ได้เน้นเรื่องทิศทางส่งผลให้เราง่อยเปลี้ยเรื่องทิศขนาดนี้

 

คราวนี้มาลองดูเรื่องของเวลา ถ้าให้เรียงภาพตามช่วงเวลา สังคมคนใช้ภาษาอังกฤษจะเรียงจากซ้ายไปขวา ขณะที่ชาวฮิบรูหรืออาหรับจะเรียงขวาไปซ้าย

และชาวคุกทายอร์ล่ะ เขารับรู้เรื่องเวลายังไง?

เมื่อนั่งหันหน้าทางทิศใต้ ทิศทางของเวลาจะเดินจากซ้ายไปขวา

เมื่อนั่งหันไปทางเหนือ ทิศทางของเวลาจะเดินจากขวามาซ้าย

เมื่อหันไปทางตะวันออก ทิศทางของเวลาจะเดินสวนเขาไป เหมือนดวงอาทิตย์ที่เดินทางจากตะวันออกไปตะวันตก

เวลาของพวกเขาไม่ได้ยึดจากตัวเอง แต่ยึดจากภูมิประเทศ ต่างจากเราที่เห็นว่าเวลาเดินจากซ้ายไปขวาเสมอ ไม่ว่าจะหันไปทิศทางไหน

ในบางวัฒนธรรมไม่มีภาษาที่เป็นตัวเลข ฉะนั้น คนที่ใช้ภาษาเหล่านั้นจึงไม่สามารถนับเลขได้ และภาษาก็ยังมีผลต่อการแยกแยะสีสันด้วย

เลราพูดถึงภาษารัสเซียที่มีการจำแนกเฉดสีต่างๆ อย่างละเอียด เช่น สีฟ้าอ่อน ‘โกลูบอย’ สีฟ้าเข้ม ‘ซีนีย์’ ฯลฯ ทำให้ชาวรัสเซียมีสมองที่จำแนกความต่างของสีได้รวดเร็วกว่าผู้คนที่ใช้ภาษาอังกฤษ

หลายภาษามีเพศทางไวยากรณ์ คำนามทั้งหลายล้วนถูกระบุเพศเป็นชายกับหญิง กระนั้นก็ยังแตกต่างกันไปตามประเทศ เช่น ในภาษาเยอรมัน พระอาทิตย์เป็นเพศหญิง แต่ในภาษาสเปนกลับเป็นเพศชาย ส่วนพระจันทร์ก็ตรงข้ามกัน

เพศของคำมีผลยังไงต่อคนใช้ภาษา?

เลรา โบโรดิตสกี้ อธิบายว่าถ้าให้คนเยอรมันบรรยายสะพาน (เพศหญิง) จะใช้คำชมเชยที่ใช้กับหญิงสาว

ขณะที่ชาวสเปน (เพศชาย) จะพูดถึงด้วยถ้อยคำในเชิงแข็งแรงแข็งแกร่ง

หรือกุญแจซึ่งเป็นเพศชายในภาษาเยอรมันจะถูกใช้กับคำที่มีความหมายหนัก โลหะ ขรุขระ

ขณะที่คนสเปนซึ่งระบุเพศกุญแจเป็นหญิงจะพูดถึงในความหมายในเชิงงดงาม เล็กจิ๋ว น่ารัก สลับซับซ้อน

 

หากพูดถึงเหตุการณ์ แต่ละภาษาบอกเล่าเหตุการณ์ด้วยวิธีแตกต่างกัน เช่น เหตุการณ์คนถอยไปชนโต๊ะแล้วทำแจกันแตกโดยไม่ตั้งใจ ในภาษาอังกฤษจะพูดว่า “He broke the vase.” หรือ “เขาทำแจกันแตก” แต่ในบางภาษาเช่นสเปนจะพูดว่า “แจกันแตก” หรือ “แจกันมันแตกเอง” เพราะเป็นอุบัติเหตุ

หรืออย่างที่หลายคนบอกว่าภาษาอังกฤษนั้นประหลาดที่มีประโยคว่า “I broke my arm.” หรือ “ฉันหักแขนตัวเอง” ซึ่งสะท้อนว่าให้ความสำคัญกับ ‘ฉัน’ หรือประธานของประโยคมากกว่ากริยาและกรรม

ทั้งหมดที่เล่ามาทำให้เห็นว่าคนที่ใช้ภาษาต่างกันจะมีจุดสนใจต่างกันแม้อยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน คนใช้ภาษาอังกฤษจะจำว่า ‘ใคร’ คือคนทำแจกันแตก ขณะที่คนสเปนจำว่า ‘แจกันแตก’ เป็นอุบัติเหตุ หากเป็นพยานในคดี สองคนซึ่งเห็นเหตุการณ์เดียวกันย่อมจดจำและโฟกัสเรื่องต่างกันไป

เช่นนี้แล้ว ภาษาจึงชี้นำวิธีทำความเข้าใจเหตุการณ์ของเราด้วย

เราย่อมเห็นว่าภาษากำหนดวิธีคิดเรื่องเวลาและพื้นที่ (ทิศทาง) หรือภาษาที่มีตัวเลขก็สามารถนำมาใช้ในการคำนวณ คิดสูตร สร้างสรรค์ได้อีกมากมาย

ภาษาทำให้เราเห็นสีไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน

ภาษาทำให้เรารู้สึกกับสิ่งต่างๆ ตามเพศที่ใช้เรียกมัน

และภาษาก็ยังกำหนดแนวคิดในเรื่องการกล่าวหาลงโทษ เลยมาจนถึงคำให้การว่าใครทำอะไรและใครผิด

ในหนังสือ Outliers มัลคอล์ม แกลดเวลล์ อธิบายเหตุการณ์เครื่องบินตกของสายการบินจากประเทศเกาหลีที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งโดยชวนคิดว่า ‘วัฒนธรรม’ อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของโศกนาฏกรรม เพราะวัฒนธรรมที่มีลำดับชั้นของเกาหลีทำให้ผู้ช่วยนักบินไม่กล้าเตือนกัปตันเมื่อเห็นสิ่งผิดปกติ

ภาษาเกาหลีมีลำดับชั้นในการสนทนาไม่ต่ำกว่า 6 ระดับ โดยแบ่งตามความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง ได้แก่ การแสดงความเคารพอย่างเป็นทางการ การแสดงความเคารพอย่างไม่เป็นทางการ การพูดคุยแบบห้วนๆ การพูดคุยแบบคุ้นเคย การพูดคุยแบบสนิทสนม และการพูดคุยทั่วไป

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เครื่องบินตกก็คือ การที่ผู้ช่วยนักบินซึ่งนั่งอยู่ข้างนักบินไม่กล้าเตือนภัยกับ ‘ผู้ใหญ่’ ที่มีตำแหน่งสูงกว่า จึงเลือกใช้คำพูดอ้อมค้อมไม่ตรงประเด็น

เช่น “คุณคิดว่าฝนตกหนักขึ้นหรือเปล่าครับ” ทั้งที่ตั้งใจจะบอกว่า “เรากำลังมองไม่เห็นรันเวย์” ซึ่งเป็นสภาวะใกล้วิกฤตเต็มที ส่งผลให้ไม่สามารถแก้ปัญหาทันท่วงที

นักภาษาศาสตร์ระบุว่าการสื่อสารของชาวตะวันตกเน้นที่ ‘ผู้ส่งสาร’ คือผู้พูดมีหน้าที่สื่อสารความคิดของตนออกมาให้ชัดเจน ปราศจากความคลุมเครือมากที่สุด

ขณะที่ในเกาหลีหรือประเทศในเอเชียหลายประเทศจะเน้นที่ ‘ผู้รับสาร’ ว่าเข้าใจสิ่งที่ผู้พูดมากน้อยแค่ไหน เพราะผู้พูดจะเกรงใจผู้รับสารแล้วอาจพูดอ้อมค้อม สุภาพเกิน หรือเขินอาย

เช่นนี้แล้ว ภาษาที่มีลำดับชั้นจึงส่งผลต่อวิธีคิดวิธีปฏิบัติที่เรามีต่อผู้คนในชีวิต หันกลับมามองสังคมไทยก็มีภาษาที่มีลำดับชั้นไม่แพ้เกาหลี การเรียกพี่เรียกน้อง เรียกท่าน ท่านรอง บิ๊กต่างๆ คำลงท้ายเพื่อความสุภาพอย่างครับ/ค่ะ

หรือคำราชาศัพท์ล้วนสะท้อนให้เห็นวิธีมองโลก มองตัวเอง และมองคนที่ปฏิสัมพันธ์ด้วยว่าเป็นอย่างไร

เทียบกับชาวตะวันตกซึ่งเรียกพ่อด้วยชื่อเล่น เรียกอาจารย์โดยไม่ต้องมีคำนำหน้าใดๆ หากมองด้วยแว่นเคยชินของตัวเอง

ตอนแรกที่ได้ยินก็รู้สึกแปลกแถมยังมีอคติว่าไม่มีสัมมาคารวะ แต่พอโตขึ้นก็เข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง

แถมยังเห็นข้อดี-ข้อเสียของวัฒนธรรมที่เราเกิดและเติบโตมา

 

ไม่เพียงแค่วัจนภาษาที่สามารถเขียนอ่านเพื่อสื่อสารกันเท่านั้นที่แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมของแต่ละถิ่นที่ กระทั่งสิ่งที่น่าจะเป็นสากลอย่างอวัจนภาษา เช่น การแสดงสีหน้าท่าทางก็มิได้ถูกอ่านหรือตีความตรงกันไปเสียทั้งหมด

เซอร์จิโอ จาริโญ (นักสังคมวิทยา) ร่วมกับคาร์ลอส ครีเวลลิ (นักจิตวิทยา) ทำการทดลองบนหมู่เกาะโทรเบรียนด์ ซึ่งตั้งอยู่กลางทะเลโซโลมอน ห่างจากปาปัวนิวกินีไปทางตะวันออก 100 ไมล์

เป็นสถานที่ซึ่งผู้คนยังมีความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมเหมือนที่บรรพบุรุษทำมานับพันปี

ทั้งสองทำการทดลองโดยนำรูปภาพผู้คนแสดงอารมณ์รูปแบบต่างๆ ไปถามชาวเกาะว่าคนในภาพกำลังมีอารมณ์แบบไหน

ปรากฏว่าชาวเกาะตีความผิดไปจากอารมณ์จริงอย่างน่าประหลาดใจ

ทั้งที่เด็กๆ ในเมืองสามารถอ่านสีหน้าเหล่านี้ได้ถูกต้องสบายๆ

เช่น รูปคนโกรธ ชาวเกาะร้อยละ 20 ตอบว่าคนนี้กำลังมีความสุข ร้อยละ 17 ตอบว่าเศร้า ร้อยละ 30 ตอบว่าสีหน้ากลัว ร้อยละ 20 ตอบว่ารังเกียจ ที่ตอบถูกว่าโกรธมีเพียงร้อยละ 7 เท่านั้นเอง

ปริศนากระจ่างเมื่อได้เห็นชาวเกาะแสดงความรู้สึกด้วยท่าทางแตกต่างไปจากชาวเมือง เช่น ตอนประหลาดใจกับเครื่องไอพ็อดซึ่งส่งเสียงเพลงออกมาได้ พวกเขาไม่ได้ทำสีหน้าตื่นเต้นตาโตอ้าปากกว้าง แต่ใช้วิธีเดาะลิ้นกับเพดานปากให้เกิดเสียง “เต๊าะ เต๊าะ เต๊าะ”

แปลว่าผู้คนต่างวัฒนธรรมสื่อความหมายผ่านท่าทางด้วยวิธีต่างกัน

มัลคอล์ม แกลดเวลล์ เขียนไว้ใน Talking to Strangers ว่านักประวัติศาสตร์ก็สนใจประเด็นนี้เช่นกัน หากนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาแล้วเอารูปคนสมัยนี้ยิ้มกว้างไปให้ชาวกรีกหรือโรมันโบราณดู พวกเขาจะอ่านสีหน้าแบบเดียวกับพวกเราหรือเปล่า

ดังที่แมรี เบียร์ด ผู้ศึกษาวัฒนธรรมกรีกโรมันเขียนไว้ว่า “การยกมุมปากขึ้นไม่ใช่สีหน้าท่าทางสำคัญที่สื่อนับทางสังคมและวัฒนธรรมในโรมมากนัก ตรงกันข้าม สีหน้าท่าทางแบบอื่นที่เราไม่ค่อยให้น้ำหนักกลับสื่อความหมายสำคัญๆ ได้หนักแน่นกว่ามาก”

อ่านแล้วภาพรูปปั้นกรีกโรมันทั้งหลายก็ผุดพรายขึ้นในหัว

 

ไม่ว่าจะเป็น ‘ภาษา’ แบบใด ทั้งที่เขียนเป็นตัวหนังสือ อ่านในใจ พูดสื่อสารกัน รวมถึงสีหน้าท่าทางที่เราอ่านกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ล้วนแล้วแต่มีความแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมและถิ่นอาศัย มันมีส่วนทำให้เราเข้าใจไม่ตรงกัน คิดเห็นไม่ตรงกัน และมีมุมมองต่อสิ่งต่างๆ ในชีวิตไม่ตรงกัน

หากเราเผลอใช้ตัวเองไป ‘อ่าน’ ผู้คนในวัฒนธรรมที่แตกต่างก็อาจจะอ่านเขาด้วยอคติ อ่านแล้วเข้าใจผิด หรืออ่านไม่ออก ตราบที่ยังไม่เข้าใจภาษาของเขาอย่างถ่องแท้

หากเป็นดังเช่นชาร์เลอมาญกล่าวไว้ว่า “การมีภาษาที่สองคือการมีจิตวิญญาณอีกดวง” ถ้ารู้ภาษาอื่นเพิ่มก็เหมือนได้เดินทางเข้าไปสู่ความเข้าใจโลกอีกแบบหนึ่ง รับรู้โลกใบเดิมด้วยมุมมองใหม่ แต่แน่นอนว่าเราไม่สามารถเรียนรู้ 7,000 ภาษาในโลกนี้ได้ทั้งหมด ฉะนั้น การตระหนักว่าภาษาที่เราใช้อยู่นั้นเป็นเพียง 1 ภาษาเล็กๆ ในจำนวนมากมายมหาศาลของโลกนี้ก็อาจช่วยทำให้เราตัดสินผู้คนที่แตกต่างช้าลงและน้อยลง

เรามิเพียงพูดคนละภาษา แต่ในบางมิติเราเห็นโลกคนละแบบเลยทีเดียว