ข้าวแกงรถไฟชุมทางหนองปลาดุก : ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง

ธงทอง จันทรางศุ

 

ข้าวแกงรถไฟชุมทางหนองปลาดุก

 

กว่าที่ทุกท่านจะได้อ่านบทความที่ผมเขียนคราวนี้ เวลาคงเดินหน้าไปจนถึงสัปดาห์ที่สามหรือสัปดาห์ที่สี่ของเดือนกรกฎาคมแล้ว

การกินการอยู่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลคงยังต้องใช้วิธีซื้ออาหารกลับไปกินที่บ้าน หรือมิเช่นนั้นก็ทำกินกันเองภายในครัวเรือน ทุกชีวิตต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์

แต่ถ้าเป็นร้านอาหารนอกเขตพื้นที่ต้องห้ามดังกล่าวก็ยังพอหายใจกันได้บ้าง เพราะลูกค้าสามารถนั่งรับประทานอาหารภายในร้านได้ แต่ต้องปฏิบัติตามกติกาด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

อยู่อย่างนี้นานวันเข้าก็เครียดครับ ถึงแม้ความเครียดจะไม่มากมายและน่าเห็นใจเท่ากับผู้ที่ได้รับผลกระทบในเรื่องการทำมาหากินที่ชักหน้าไม่ถึงหลังหรือต้องเป็นหนี้เป็นสินก็ตาม เพียงขนาดแค่คนมีบำนาญกินอย่างผม ก็ยังรู้สึกอยากจะได้รับรสชาติของชีวิตแบบที่เป็นวิถีดั้งเดิมของตัวเองบ้าง

ชูชกจะคิดถึงเรื่องอะไรได้นอกจากเรื่องอาหารการกิน

 

สองวันที่ผ่านมาผมเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ด้วยความมุ่งหมายสองอย่าง

ข้อแรก อยากจะเห็นทุ่งนาฟ้ากว้างและเห็นผู้คนทั้งหลายให้มากกว่าที่เคยเห็นกันอยู่สาม-สี่คนภายในบ้านของตัวเอง แต่ทั้งนี้ก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในเรื่องโรคอันตรายด้วย

ข้อสอง คืออยากจะนั่งกินอาหารในร้านอะไรสักร้านหนึ่ง ไม่ต้องใหญ่โตหรูหราอะไร ขอแต่พอได้ชื่อว่าได้นั่งกินข้าวในร้านอาหารบ้างสักครั้งหนึ่งก็พอใจแล้ว ก่อนที่จะกลับมาใช้ชีวิตแบบเคร่งครัดเหมือนเดิม

คิดหน้าคิดหลังและไตร่ตรองด้วยความรอบคอบแล้วก็ตัดสินใจแบบเด็ดขาดว่าผมจะไปกินข้าวแกงที่ราชบุรีครับ

จุดหมายปลายทางที่ผมปองร้ายวันนั้น เป็นร้านข้าวแกงขนาดเล็กอยู่ที่หน้าสถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก เป็นร้านที่มีชื่อเสียงมาแต่ไหนแต่ไรว่าเป็นข้าวแกงอร่อยที่ตั้งใจทำขึ้นเพื่อขายคนเดินทางโดยรถไฟผ่านสถานีดังกล่าว

เสน่ห์ข้อสำคัญของร้านนี้คือรสมือที่อร่อยเสมอต้นเสมอปลาย กับข้าวแม้จะมีเพียงแค่สี่อย่าง คือ แกงเขียวหวานไก่ พะแนงหมู พะแนงเนื้อ และไข่พะโล้ ทำซ้ำกันมาหลายสิบปีแล้วแต่ก็ไม่เห็นมีใครบ่นสักราย

อยากกินเมนูหลากหลายมากกว่านี้ก็ต้องไปกินร้านอื่น ห้ามมาตอแยกันที่นี่

 

จุดขายสำคัญนอกจากเรื่องอาหารอร่อยแล้ว สิ่งที่ลูกค้าหลายคนรวมทั้งผมด้วยถูกอกถูกใจเป็นพิเศษ คือ ภาชนะที่ขายข้าวแกงนั้นป้าน้อยใช้กระทงใบตองขนาดกำลังพอดีๆ ใส่ข้าวแล้วราดด้วยแกงต่างชนิดตามที่คุณลูกค้าเลือก

และที่เด็ดสุดคือ ราคาแค่กระทงละ 10 บาท ซึ่งนับว่ามหัศจรรย์มากสำหรับเมืองไทยยุคนี้

จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ประจำร้าน ซึ่งไม่ใช่ป้าน้อย แต่ผมหมายถึงคุณป้าอะไรอีกคนหนึ่งซึ่งท่าทางจะเชี่ยวชาญในการทำงานด้านนี้ (สงสัยจะออกรายการโทรทัศน์มาหลายรายการแล้ว)

เธอเล่าว่า ในแต่ละวันมีรถไฟผ่านชุมทางแห่งนี้หลายขบวน เวลารถไฟมาหยุดที่สถานีมีเพียงไม่กี่นาที ถ้าจะใช้เวลาเพียงแค่นั้นสำหรับขายข้าวกระทงเห็นจะไปไม่รอด เพราะจะมีคนซื้อ-ขายกันได้สักกี่ราย และจะขายกันได้สักกี่กระทงเชียว

วิธีแก้ปัญหาคือจัดให้มีพนักงานของร้านนำข้าวกระทงใส่ถาดแล้วกระโดดขึ้นขบวนรถไฟเมื่อรถไฟมาจอดที่สถานีหนองปลาดุก พอรถไฟเคลื่อนขบวนต่อไปเจ้าพนักงานของเราก็อยู่บนรถเสียแล้ว คราวนี้ค่อยๆ เดินขายสิครับ ขายบนขบวนรถไฟนั่นแหละ ขายหมดเมื่อไหร่ก็ลงจากขบวนรถไฟที่สถานีกลางทางแล้วนั่งรถไฟอีกขบวนหนึ่งย้อนกลับมาชุมทางหนองปลาดุก

สำเร็จประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย

 

ถ้ามองให้กว้างไกลไปมากกว่าชุมทางหนองปลาดุก ผมพบว่าอาหารการกินระหว่างเดินทางของมนุษย์เราเป็นเรื่องใหญ่ไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางด้วยยานพาหนะอะไรก็ตาม

ถ้าเป็นยุคโบราณก่อนจะมีพาหนะที่สะดวกรวดเร็วเกิดขึ้น คนไทยเราเมื่อเดินทางออกจากบ้านไปไหนทางไกลก็ต้องเตรียมอาหารติดตัวไปด้วยเพราะไม่มีทางที่จะไปหาซื้อได้กลางทาง

ข้าวตู ข้าวตาก ข้าวหลาม หรือเพียงแค่ไข่ต้มกับข้าวเหนียวปลาแห้งจึงเป็นของที่ขาดไม่ได้สำหรับนักเดินทางยุคโน้น

แต่สมัยนี้ไม่ต้องทำอย่างนั้นแล้ว เพราะมีบริการร้านค้าขายอาหารไปตลอดหนทาง

เมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้วผมเคยใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นครั้งหนึ่งนานถึงหนึ่งปีเต็ม และหลังจากนั้นก็ได้แวะเวียนไปเที่ยวชมโน่นชมนี่อยู่บ่อยๆ

คนญี่ปุ่นนั้นเขาเดินทางด้วยรถไฟเป็นหลัก และที่สำคัญคือรถไฟเมืองญี่ปุ่นนั้น ถ้าเป็นรถไฟชนิดที่เรียกว่ารถชินคันเซ็นจะวิ่งปรู๊ดปร๊าดมากกว่ารถไฟบ้านเราเป็นไหนๆ แต่ถึงอย่างนั้น เสบียงหรืออาหารการกินบนรถไฟก็ยังเป็นเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับคนเดินทาง

นอกจากอาหารที่มีคุณป้าเข็นรถขายอยู่บนโบกี้รถไฟแต่ละขบวนแล้ว ของดีขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งคืออาหารที่ขายตามสถานีรถไฟต่างๆ ที่ตั้งใจเตรียมให้ลูกค้าซื้อข้าวกล่องขึ้นไปรับประทานบนขบวนรถไฟ แต่ละสถานีมีอาหารที่ขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารประจำถิ่นเปิดร้านขายให้บริการ ต่างเมืองก็ต่างชนิดอาหารต่างประเภทกันไป ถือว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการเดินทาง

ข้าวกล่องตามสถานีรถไฟเช่นนี้เรียกว่า เอกิเบน มาจากคำว่า เอกิ แปลว่าสถานีรถไฟคำหนึ่ง และคำว่า เบนโตะ ซึ่งแปลว่าข้าวกล่องอีกคำหนึ่ง

อาหารที่ขายอยู่ตามสถานีรถไฟบ้านเราก็เข้าตำราเดียวกัน แต่ละสถานีต่างก็มีชื่อเสียงในเรื่องของอาหารแต่ละรายการ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป บางรายการก็ล้มหายตายจากไปแล้ว

ที่เหลือรอดอยู่ก็ต้องดิ้นรนต่อสู้กันต่อไป

 

มาถึงยุคสมัยนี้การเดินทางด้วยรถไฟเสื่อมความนิยมลงไปบ้าง เพราะมีเครื่องบินกับรถยนต์เข้ามาเป็นคู่แข่ง ถ้าเป็นการเดินทางภายในประเทศ อาหารการกินบนเครื่องบินก็ไม่ใช่ข้อที่ต้องเป็นห่วงมากมาย เพราะเดินทางไม่เกินหนึ่งชั่วโมงก็ถึงปลายทางทุกจังหวัดไป ยิ่งเวลานี้ต้องมีกติกาเคร่งครัดเรื่องรักษาอนามัย การกินอาหารบนเครื่องบินสายภายในประเทศเป็นอันว่าเลิกคิดไปได้

จะเหลืออยู่ก็แต่การเดินทางระหว่างประเทศซึ่งเป็นหนทางไกลหลายชั่วโมงเท่านั้นที่ยังต้องดูแลเรื่องนี้กันอยู่ แต่ร้อยละร้อยก็เป็นอาหารที่สายการบินจัดให้บริการแล้ว ไม่ต้องควักกระเป๋าสตางค์ซื้อเพิ่มแต่อย่างใด

ความสนุกสำหรับการเดินทางไกลสำหรับผม ส่วนใหญ่แล้วจึงไปอยู่ที่การเดินทางด้วยรถยนต์และสายตาก็สอดส่ายไปตลอดสองข้างทางว่ามีอะไรกินบ้าง

สังเกตเห็นไหมครับว่า บ้านเรามีอาหารประจำถิ่นขายอยู่แทบจะทุกเส้นทางที่เป็นทางหลวงสายหลักจากพระนครออกไปยังหัวเมืองต่างๆ นึกเพียงแค่เดินทางไปหัวหิน ก็นึกอะไรออกหลายรายการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นลิ้นจี่หรือขนมจากแถวเมืองสมุทรสาคร ผ่านเมืองเพชรบุรีก็ต้องไม่ลืมน้ำตาลสด ขนมหม้อแกง หรือคิดการใหญ่ไปจนถึงหยุดกินข้าวแกงเมืองเพชรกันเลยทีเดียว

ถ้าเลือกใช้เส้นทางถนนเพชรเกษม ผ่านเมืองนครปฐมก็ต้องนึกถึงข้าวหลาม ตามมาด้วยข้าวหมูแดง อะไรประมาณนั้น

 

ถ้าคิดต่อเนื่องไปอีกสักนิดจะพบว่า ความนิยมที่เกิดขึ้นในชั้นหลังนี้อีกอย่างหนึ่งคือการรวบรวมร้านขายอาหารประจำถิ่นทั้งหลายไปอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เช่นในที่พักริมทางหรือที่เรียกภาษาฝรั่งว่า Rest Area ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยมากกว่าการจอดรถซื้อของอยู่ริมทางหลวงและเป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย

ขับรถแวะเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวคราวเดียวได้ประโยชน์หลายสถาน เติมน้ำมันก็ได้ เข้าห้องน้ำก็ดี แถมยังได้จับจ่ายใช้สอยซื้อเสบียงกรังเอาไว้ติดรถด้วย

ที่พักริมทางแบบนี้ในเมืองญี่ปุ่นก็มีมาก และทุกครั้งที่ผมเดินทางด้วยรถยนต์ผ่านไปก็อดไม่ได้ที่จะต้องแวะลงไปซื้อของกินประจำถิ่นด้วยอ้างว่าเป็นที่ระลึก

ระลึกไประลึกมาตัวอ้วนขึ้นทุกที จนต้องเพลาการระลึกลงเสียบ้าง ไม่ว่าจะเป็นที่เมืองไทยหรือเมืองญี่ปุ่นก็ตาม

แต่จะให้หยุดซื้อหยุดกินนั้นก็ทำไม่ได้เพราะชีวิตยังต้องเดินต่อไป ทุกอย่างทำแต่พอสัณฐานประมาณครับ ยิ่งในยามนี้ยิ่งเห็นใจพ่อค้าแม่ค้าให้เป็นที่สุด ถ้าเป็นร้านค้าที่สายป่านยาวก็เห็นจะพอหายใจหายคอไปได้อีกหลายเดือน

แต่ถ้าเป็นรายเล็กรายน้อยแล้วไม่มีใครมาอุดหนุนจุนเจือกันมากก็ลำบากแน่ และใช่ว่าจะร้านอาหารทุกร้านจะขายแบบ Take me home country road กันได้เสียเมื่อไหร่ ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างหลายประการ

ในเวลาแห่งความยากลำบากเช่นนี้ ถ้าเราไม่ช่วยกันเองแล้วใครจะช่วย

ถามขึ้นมาลอยลมเสียอย่างนั้น ทั้งๆ ที่รู้คำตอบอยู่แล้วในหัวใจ

เศร้าวุ้ย!