ปัญหาการทูตจีนที่ลึกกว่านักรบหมาป่า/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ปัญหาการทูตจีนที่ลึกกว่านักรบหมาป่า

 

เพียงไม่กี่วันหลังการประชุมพบปะระหว่างคณะผู้แทนจีนกับอเมริกันที่มลรัฐอะแลสกาซึ่งไม่สัมฤทธิผลอันใดเป็นชิ้นเป็นอัน (https://www.wsj.com/articles/bitter-alaska-meeting-complicates-already-shaky-u-s-china-ties-11616185669)

และขณะภาพลักษณ์จีนทางสากลเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ จากฝีปากก้าวร้าวของนักการทูต “นักรบหมาป่า” ทั้งหลาย (https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-12-09/why-china-s-diplomats-snarl-at-wolf-warrior-label-quicktake)

สหายสีจิ้นผิงกับเผิงลี่หยวน ผู้เป็นภรรยาก็ปรากฏตัวทางสื่อจีนระหว่างตระเวนตรวจราชการที่เมืองฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยนทางชายฝั่งตะวันออกระหว่างวันที่ 22-25 มีนาคมศกนี้

ที่นั่นเป็นถิ่นเก่าที่สีจิ้นผิงทำงานไต่เต้าเติบโตขึ้นมาในตำแหน่งต่างๆ ของรัฐ-พรรคต่อเนื่องกันสิบกว่าปีจากเลขาธิการพรรคเมืองฝูโจวเมื่อปี 1990 จนได้เป็นเลขาธิการพรรคมณฑลฝูเจี้ยนอยู่ถึงปี 2002

การคืนสู่เหย้าทางการเมืองของผู้นำจีนสูงสุดกับสตรีหมายเลขหนึ่งเที่ยวนี้อยู่ภายใต้การดูแลเฝ้าระวังอย่างสูงและประสานกำหนดการละเอียดยิบทุกเม็ดเพื่อแสดงภาพลักษณ์ท่านผู้นำที่สงบเย็นและติดดินออกมาแม้จะอยู่ท่ามกลางมรสุมปัญหานานัปการในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังก็ตาม

สารพันปัญหาที่ว่ามีอาทิ แรงกดดันต่อเนื่องทางสากลต่อสถานการณ์ในเขตปกครองตนเองซินเจียงและทิเบต ไปจนถึงฮ่องกงและกรณีตึงเครียดกับไต้หวัน อัตราคนว่างงานที่กระดกสูงขึ้นในจีนเมื่อกุมภาพันธ์ศกนี้ (https://www.statista.com/statistics/1109881/surveyed-monthly-unemployment-rate-in-china/)

สถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศหลังโควิดระบาดที่ฟื้นตัวเติบโตแต่ในระยะยาวแล้วยังอึมครึม และสุ่มเสี่ยงที่จะแผ่วเปลี้ยลง (https://economics.rabobank.com/publications/2021/april/china-gdp-growth-outlook/)

ความตึงเครียดที่แหลมคมขึ้นภายในพรรคก่อนถึงการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 20 ในปีหน้า

ยังมิพักต้องพูดถึงกรณีทะเลาะเบาะแว้งมากหลายที่การทูตแบบนักรบหมาป่าก่อขึ้นกับฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สวีเดน แคนาดา ออสเตรเลีย ฯลฯ

เรียกได้ว่าเที่ยวมีเรื่องกับเขาไปทั่ว

ทรรศนะเชิงลบต่อจีนเพิ่มขึ้นเด่นชัดในหลายประเทศตะวันตกจากปี 2019 สีเข้ม-2020 สีจาง (ข้อมูล Pew Research Center กรณีเบลเยียมและเดนมาร์กไม่มีข้อมูลก่อนปี 2020)

จะเห็นได้ว่าในกระบวนการแก้ปัญหา รัฐ-พรรคจีนเน้นความสำคัญของภาพลักษณ์กับการสื่อสาร และจุดอ่อนเปราะเรื้อรังในแง่นี้ก็อยู่ที่กระทรวงต่างประเทศของจีนซึ่งดูจะก่อปัญหาให้พรรคอยู่มิรู้วาย

เบื้องแรกที่พอเห็นได้แม้แต่ในการประชุมกับคณะผู้แทนสหรัฐที่มลรัฐอะแลสกาต้นปีนี้คือหัวหน้าคณะผู้แทนทั้งสองของฝ่ายจีนอันได้แก่ หยางเจียฉี (ซ้าย) สมาชิกกรมการเมืองและผู้อำนวยการแห่งคณะกรรมาธิการการต่างประเทศกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน อดีต รมว.ต่างประเทศจีนคนก่อน (ปี 2007-2013) ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญถึงว่าเป็นหนึ่งในบรรดา “สถาปนิกแถวหน้าสุดของนโยบายต่างประเทศจีน” กับ หวังอี้ (ขวา) มนตรีแห่งรัฐและ รมว.ต่างประเทศคนปัจจุบัน รวมทั้งสมาชิกคณะกรรมการกลางของพรรคนั้น ไม่ใคร่ลงรอยกันและกุมอำนาจเหลื่อมซ้อนการดำเนินนโยบายต่างประเทศของจีนอยู่ในที (https://www.reuters.com/article/us-china-parliament-diplomacy-idUSKBN1GV044; https://asialyst.com/fr/2021/04/03/chine-comment-xi-jinping-laisse-diplomatie-chinoise-se-discrediter/ )

กระนั้นก็ตาม เอาเข้าจริงปัญหาเรื้อรังแก้ยากของกระทรวงต่างประเทศจีนเกี่ยวพันกับปมที่ลึกล้ำกว่าความตึงเครียดภายในหมู่ผู้นำพรรคเสียอีก

ได้แก่ :

การ์ตูนไต้หวันล้อเลียนนักการทูตนักรบหมาป่าของจีน เกิ้งชวง, จ้าวลี่เจี้ยน, ฮว่าชุนอิ๋ง

1)ปัญหาประสิทธิภาพการผลิตเจ้าหน้าที่นักการทูตของกระทรวงต่างประเทศจีน

นี่เป็นหนึ่งในประดาประเด็นปัญหาที่หลายปีหลังนี้ ทางการปักกิ่งพยายามเลี่ยงที่จะกล่าวถึง กระทรวงต่างประเทศจีนใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองไปมากโข แต่ยังคงไม่สามารถผลิตนักการทูตผู้รอบรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศออกมาได้ไม่ว่าในแง่วิชาการหรือการวิเคราะห์การเมืองต่างประเทศ

เป็นเวลานานแล้วที่กระทรวงผลิต “คนของพรรค” ออกมามากกว่า ซึ่งโดยเนื้อแท้พวกเขาก็ไม่ใช่ทั้งนักอุดมการณ์ นักการเมือง หรือเทคโนแครต และยิ่งไม่ใช่นักบริหารเอาเลยทีเดียว

เอาเข้าจริงบรรดาคนจากกระทรวงที่ว่านี้ น้อยนักที่จะมอบหมายให้ไปทำงานตำแหน่งอื่นๆ ในกลไกรัฐ-พรรคได้ ซึ่งแตกต่างจากผู้ปฏิบัติงานอื่นทั้งหลายของพรรค

 

2)ปัญหาเนื้อหานโยบายการทูตจีน

การป่าวร้องโวยวายว่าไม่ได้รับความยุติธรรมได้กลายเป็นยุทธศาสตร์เอกของการทูตจีน มันเป็นยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนหลักลัทธิเชื่อมั่นในตนเอง (???) ซึ่งคาดหมายให้นักการทูตปกป้องผลประโยชน์ของจีนโดยเอาพรรคนำหน้า

ตัวอย่างทำนองนี้ เช่น โพสต์และคอมเมนต์บนสื่อสังคมออนไลน์ของ “นักรบหมาป่า” ทั้งหลาย และภาพลักษณ์การแถลงข่าวอันดุดันของฮว่าชุนอิ๋ง จ้าวลี่เจี้ยนและเกิ้งชวง ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ, รองผู้อำนวยการกรมสารนิเทศ กระทรวงต่างประเทศจีน และรองผู้แทนถาวรจีน ประจำสหประชาชาติ ตามลำดับ ทำให้กลายเป็นที่เย้ยไยไพไปทั้งนอกและในประเทศจีน

ทั้งนี้เพราะผลลัพธ์ของคำแถลงสู้รบก้าวร้าวดังกล่าวรังแต่โดดเดี่ยวทางการปักกิ่ง แทนที่จะช่วยหาพันธมิตรแท้จริงมาให้เพิ่มขึ้น

การทูตแนวนี้ย่อมมิอาจทำให้ภาพลักษณ์ระบอบการเมืองของจีนดีขึ้นหรือทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนน่ารักน่าคบหาแต่อย่างใด

 

3)ปัญหาการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนบุคลากรนักการทูตจีน

ความจริงมีอยู่ว่า บรรดานักการทูตอาวุโสแถวหน้าของจีนที่โลกคุ้นเคยชื่อเสียงหน้าตานั้นพากันเฒ่าชะแรแก่ชรากันไปตามอายุขัย เช่น รมว.ต่างประเทศจีน หวังอี้ ผู้มีฉายาว่า “จิ้งจอกเงิน” นั้นเอาเข้าจริงอายุ 67 ปีแล้ว ชุยเทียนขั่ย เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐก็อายุ 68 ปี ส่วนหลิวเสี่ยวหมิง อดีตเอกอัครราชทูตจีน ประจำสหราชอาณาจักรก็เกษียณอายุไปในวัย 65 ปีเมื่อมกราคมศกนี้

นักสังเกตการณ์บางคนยังคิดว่า เจิ้งเจ้อกวง อดีต รมช.ต่างประเทศจีนอาจได้เข้าดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐแทนชุยเทียนขั่ยที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แต่บ้างก็ว่าเจิ้งน่าจะได้ไปเป็นเอกอัครราชทูต ประจำสหราชอาณาจักรแทนหลิวเสี่ยงหมิงมากกว่า ซึ่งตอนนี้ยังไม่ลงตัวแน่ชัด กรณีหวังอี้ก็ทำนองเดียวกัน กล่าวคือ จีนต้องหาคนดำรงตำแหน่งแทนทั้งหวังอี้กับชุยเทียนขั่ยเร็วที่สุดเท่าที่เร็วได้ ทว่าสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนที่เป็นจริงปัจจุบันทำให้ยากแก่การผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนบุคลากรนักการทูตอย่างมีประสิทธิผล

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นประจักษ์หลักฐานยืนยันปัญหาอันใหญ่โต ณ ระดับสุดยอดของระบบการทูตจีน ซึ่งดูเหมือนไม่มีใครพร้อมจะเข้าไปแก้ไข มิเว้นแม้กระทั่งสีจิ้นผิงเอง ฉะนั้น จึงเกิดสภาพปล่อยปละละเลยให้การต่างประเทศของจีนดำเนินไปตามยถากรรมในทางปฏิบัติ ต่างคนต่างทำ ต่างพูดต่างเดินหน้าไปตามดุลพินิจและข้อคิดเห็นของตนโดยมิได้ประมวลสรุปสารทางการทูตที่จีนจะส่งให้เป็นปึกแผ่นเอกภาพคล้องจองกัน

ผลลัพธ์จึงกลายเป็นนานาชาติพอดูออกว่าอะไรที่จีนปฏิเสธ แต่ไม่ชัดเจนว่าอะไรกันแน่ที่จีนต้องการ