จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (10) ไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดน (ต่อ)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (10)

ไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดน (ต่อ)

 

การที่หนี่ว์เจินแยกสายออกไปดังกล่าวมีผลต่อการเรียกขานชื่อชนชาติอยู่ไม่น้อย โดยข้อมูลฝ่ายจีนไม่เป็นที่แน่ชัดว่าชื่อหนี่ว์เจินถูกบันทึกไว้ตั้งแต่เมื่อไร แต่ถ้าเป็นม่อเหอแล้วชื่อนี้ได้ปรากฏขึ้นเมื่อต้นศตวรรษที่ 5

แต่ก็มีบันทึกบางชิ้นที่อาจเชื่อมโยงกับชื่อหนี่ว์เจินได้เช่นกัน นั่นคือ บันทึกหนึ่งที่กล่าวว่า ใน ค.ศ.748 ทูตชาวหญูเจ่อน้อย (Little Ruzhe people) ได้ถวายทองคำและเงินแก่ราชวงศ์ถัง

กล่าวกันว่า หญูเจ่อเป็นหนึ่งในเก้าชนเผ่าของสหพันธรัฐซือเหว่ย (Shiwei federation) โดยในสมัยถัง สหพันธรัฐนี้ครอบครองดินแดนทางภาคเหนือและตะวันตกของแมนจูเรีย และเป็นไปได้ว่าอาจใช้ภาษาทังกุตเป็นภาษาพูดอยู่ด้วย

จากสภาพนี้จึงทำให้ชื่อของหนี่ว์เจินไม่ปรากฏในคำเรียกขานจนถึงศตวรรษที่ 9 ตอนนั้นดูเหมือนว่าหนี่ว์เจินได้แยกตนจากจักรวรรดิจีน และเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อเกิดเป็นหน่วยการเมืองหนึ่งขึ้นมา มากกว่าที่จะเป็นภาคส่วนหนึ่งของจีนที่อยู่ตามชายแดน

และในฐานะหน่วยการเมืองหนึ่งหนี่ว์เจินยอมที่จะถวายบรรณาการให้แก่เหลียว แต่ก็มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับถังเรื่อยมาจนถึงซ่ง

 

เวลานั้นรัฐป๋อไห่ได้ถูกผนวกรวมเข้ากับเหลียวไปแล้ว จากเหตุนี้ ราษฎรและชนชาติต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลจึงใช้โอกาสจากการสลายตัวของรัฐป๋อไห่เข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับรัฐอื่นๆ โดยตรง และหนี่ว์เจินก็เป็นหนึ่งในนั้น

อย่างไรก็ตาม หลัง ค.ศ.926 หนี่ว์เจินในกลุ่มที่จงรักภักดีต่อเหลียวจะเป็นที่รู้จักกันในฐานะ “หนี่ว์เจินผู้เจริญ” (Civilized N?zhen)

ในทางตรงข้ามกลุ่มที่ไม่ยอมรับความสัมพันธ์ที่ถูกครอบงำโดยเหลียวก็ถูกจัดให้เป็น “หนี่ว์เจินผู้ดิบเถื่อน” (Raw or Uncivilized N?zhen) กลุ่มนี้เลือกที่จะใช้ชีวิตแบบเดิมของตนด้วยการอาศัยอยู่ในป่าเขาแล้วล่าสัตว์และจับปลา

จากทั้งสองกลุ่มนี้ไม่เป็นที่แน่ชัดว่ากลุ่มใดที่ได้ส่งทูตและพ่อค้ามายังจีนระหว่าง ค.ศ.961-1019

แต่เมื่อดูจากเส้นทางที่เดินทางมาแล้วน่าจะเป็นหนี่ว์เจินผู้เจริญ และเฉพาะความสัมพันธ์กับซ่งได้ดำเนินเรื่อยมาจนลุล่วงสู่ศตวรรษที่ 11 ที่สำคัญ ข้อมูลในฝ่ายหนี่ว์เจินภายหลังตั้งตนเป็นราชวงศ์จินแล้วได้ระบุว่า ตระกูลที่เป็นผู้ปกครองชาวหนี่ว์เจินก็คือ ตระกูลหวันเอี๋ยน

ส่วนข้อมูลก่อนที่หนี่ว์เจินจะมีผู้นำที่ชื่อ อูกู๋ไหน่ ไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้ จะมีก็แต่ข้อมูลที่ถูกถ่ายทอดด้วยการบอกเล่าสืบต่อกันมา ครั้นถึงยุคของผู้นำผู้นี้จึงมีบันทึกที่ชัดเจน

 

อูกู๋ไหน่ (ค.ศ.1021-1074) เป็นสมาชิกรุ่นที่หกของตระกูลหวันเอี๋ยน ช่วงที่เขาเกิดและเติบโตถือเป็นช่วงที่หนี่ว์เจินเริ่มตัดสินใจที่จะแยกตนเป็นอิสระจากเหลียว ถึงแม้บิดาของเขาจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นขุนศึกจากเหลียวก็ตาม แต่ก็เป็นตำแหน่งที่ไร้ความหมายและไร้อำนาจที่แท้จริง

โดยตราบจนถึงศตวรรษที่ 11 พบว่า หนี่ว์เจินยังคงไม่มีผลงานเขียน (script) ที่เป็นของตนเอง ไม่มีปฏิทินใช้ และไม่มีแม้แต่ที่ตั้งสำนักงาน

ครั้นมาถึงยุคของอูกู๋ไหน่ เขาได้ทำให้เห็นถึงภาวะผู้นำด้วยการเอาชนะตระกูลที่เป็นฝ่ายตรงข้าม เป็นนักรบที่หาญกล้า เป็นคนที่กินจุและดื่มหนัก และเป็นที่รักของอิสตรี

ครั้นตั้งตนเป็นใหญ่ก็สามารถยึดครองชายแดนตะวันออกของแมนจูเรีย โดยนับจากภูเขาฉังไป๋ (ฉังไป๋ซัน) หรือภูเขาขาวเสมอ (Ever-White Mountain) ที่เป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่ผู้คนเคารพบูชาอันตั้งอยู่ตรงชายแดนเกาหลีกับแมนจูเรีย ไปจนถึงถิ่นของกลุ่มห้าชาติที่อยู่ทางภาคเหนือ

อูกู๋ไหน่เคยได้รับการแต่งตั้งจากเหลียวให้เป็นข้าหลวงทหารที่ปกครองหนี่ว์เจินผู้ดิบเถื่อน แต่ที่ทำให้เขาเติบโตไปสู่อำนาจก็คือ การได้มาซึ่งอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เป็นเหล็กจากหนี่ว์เจินตระกูลอื่น (หนี่ว์เจินเป็นชนชาติที่ขึ้นชื่อในเรื่องทักษะในการตีเหล็ก)

กระนั้น อูกู๋ไหน่ได้แต่เป็นผู้กรุยทางอิสรภาพให้แก่หนี่ว์เจินเท่านั้น แต่ผู้ที่ทำได้สำเร็จกลับเป็นหลานของเขาที่ชื่อ อากู๋ต่า

 

ภายใต้การนำของบรรพชนก่อนหน้านี้ เส้นทางอิสรภาพของหนี่ว์เจินได้เดินมาถึงระยะเปลี่ยนผ่านที่สำคัญเมื่อมีผู้นำที่ชื่อ อูหย่าซู่ (ปกครอง ค.ศ.1103-1113) ผู้มากความสามารถ เขาประสบความสำเร็จในการสร้างความมั่นคงทางด้านชายแดนเกาหลีให้กับหนี่ว์เจิน

ความสำเร็จของเขาทำให้หนี่ว์เจินกลุ่มและตระกูลต่างๆ ให้การยอมรับเขามากขึ้น จนทำให้ถิ่นฐานเดิมของตระกูลหวันเอี๋ยนที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาริมแม่น้ำอั้นชูหู่ (ปัจจุบันคือแม่น้ำอาลาฉู่คา แม่น้ำนี้ไหลผ่านทางตะวันออกของเมืองฮาร์บิน มณฑลเฮยหลงเจียง และเป็นแม่น้ำสาขาที่อยู่ใต้แม่น้ำซันการีอีกชั้นหนึ่ง) กลายเป็นศูนย์กลางของหนี่ว์เจิน

และต่อไปจะกลายเป็นเมืองหลวงของชนชาตินี้

เมื่ออูหย่าซู่สิ้นชีพไปแล้ว หนี่ว์เจินได้ทำการเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ตามประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างเคร่งครัดยาวนาน และอากู๋ต่าก็เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง เวลานั้นตัวเขายังมีตำแหน่งข้าหลวงทหารที่ได้รับการแต่งตั้งจากเหลียวอยู่ด้วย

แต่พลันที่ก้าวขึ้นเป็นผู้นำ อากู๋ต่า (ปกครอง ค.ศ.1115-1122) ก็เปิดศึกเต็มอัตรากับเหลียวทันที

 

แม้ในระยะแรกของการศึกจะไม่ประสบความสำเร็จและมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ในที่สุดอากู๋ต่าก็สามารถกำจัดเหลียวออกไปจากการครอบงำได้สำเร็จ ถึงตอนนั้นการตั้งตนเป็นใหญ่เหนือแมนจูเรียของอากู๋ต่าก็เป็นเรื่องที่มิอาจโต้แย้งได้อีก

อากู๋ต่าสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิพร้อมกับตั้งราชวงศ์ขึ้นใน ค.ศ.1115 ราชวงศ์ที่ตั้งขึ้นใช้ชื่อว่า จิน ที่หมายถึงทองคำ อันเป็นชื่อของแม่น้ำอั้นชูหู่ที่หมายถึงทองคำในภาษาของหนี่ว์เจิน และเป็นการตั้งเลียนแบบเหลียวที่ใช้ชื่อแม่น้ำเหลียวที่อยู่ทางใต้ของแมนจูเรีย มาตั้งเป็นชื่อราชวงศ์เช่นกัน

แต่ในขณะเดียวกันก็ตั้งชื่อรัชสมัยโดยเลียนแบบจีน จากนั้นก็กำหนดยศชั้นผ่านเครื่องหมายต่างๆ ดังที่จักรพรรดิจีนใช้กัน ราชวงศ์จิน (ค.ศ.1115-1234) ก็ถือกำเนิดขึ้นโดยที่การศึกที่มีกับเหลียวยังมิได้สิ้นสุดลง

การศึกของทั้งสองยังคงดำเนินต่อไปจนถึง ค.ศ.1117 ทัพของเหลียวถูกทัพหนี่ว์เจินทำลายไปมาก ปีถัดมาอากู๋ต่าก็เสนอต่อเหลียวให้เจรจาสันติภาพ โดยอากู๋ต่าจะยังคงยอมรับนับถือจักรพรรดิเหลียวเป็นเชษฐาตามข้อตกลง ค.ศ.1115 ดังเดิม

แต่ว่าเหลียวจักต้องส่งมอบเจ้าชาย เจ้าหญิง และโอรสบุญธรรมรวมสามองค์เป็นตัวประกันให้แก่ราชสำนักจิน

เหนือสิ่งอื่นใด ข้อมูลทางการทูตในสมัยนั้นยังชี้ให้เห็นอีกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างซ่งกับเหลียว ซีเซี่ย และโคกูรยอ (เกาหลี) จักต้องผ่านความเห็นชอบจากราชสำนักจิน กรณีนี้ย่อมทำให้จินมีความชอบธรรมที่จะได้รับส่วนแบ่งของบรรณาการที่ซ่งส่งให้แก่เหลียว และได้รับการยอมรับว่าเป็นมหาอำนาจหนึ่ง โดยมีโคกูรยอกับซีเซี่ยตั้งอยู่เคียงข้างทางตะวันออกกับตะวันตกตามลำดับ

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า จินเริ่มฉายแสงอำนาจอันเรืองรองดุจประกายแห่งทองคำขึ้นแล้ว

 

อํานาจอันเรืองรองของจินยังคงส่องประกายแม้หลังยุคอากู๋ต่าไปแล้ว หากไม่นับอำนาจของเหลียวและซีเซี่ยที่มีจินเข้ามาคานแล้ว ก็คงเหลือแต่ซ่งที่จินได้เข้าไปท้าทาย แต่การท้าทายนี้ดูเหมือนแทบจะไม่จำเป็น เพราะถึงที่สุดแล้วนโยบายของซ่งที่มีต่อจินไม่ต่างกับที่มีต่อเหลียวและซีเซี่ย

นั่นคือ เพื่อสันติภาพแล้วซ่งยอมที่จะส่งบรรณาการรายปีให้แก่จินด้วยมูลค่าที่สูง หรือเมื่ออากู๋ต่าตั้งตนเป็น “จักรพรรดิผู้สง่างามแห่งมหาราชวงศ์จิน” (August Emperor of the Great Jin) ซ่งก็ให้การรับรอง

ท่าทีเช่นนี้ทำให้เห็นว่า จินมีฐานะที่เสมอด้วยซ่งและเป็นฐานะที่ได้มาหลังจากตั้งราชวงศ์ไปแล้วสิบปี แต่จากบรรณาการที่มีมูลค่าสูงนั้น ไม่ว่าจะมองจะแง่มุมใดเห็นได้ชัดว่าจินมีฐานะที่เหนือกว่า

พ้นไปจากปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อซ่งแล้ว การเมืองการปกครองก็เป็นประเด็นที่มีส่วนในการสร้างจินเช่นกัน ที่ถึงที่สุดแล้วจินก็ไม่ต่างกับเหลียวที่นำเอาระบบต่างๆ ของจีนมาปรับใช้ มีการว่าจ้างชาวจีนมาเป็นที่ปรึกษา และเอกสารที่เป็นทางการของจีนจะถูกแปลเป็นภาษาหนี่ว์เจิน

ในกรณีหลังนี้ทำให้งานเขียน (script) ของจินหรือหนี่ว์เจินได้รับการพัฒนาในเวลาต่อมา