ฝันในวิกฤตโควิด ปฏิรูปงบประมาณ สร้างรัฐสวัสดิการ ลดงบฯ กองทัพ-แลกเรียนฟรีมหาวิทยาลัย/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ฝันในวิกฤตโควิด

ปฏิรูปงบประมาณ

สร้างรัฐสวัสดิการ

ลดงบฯ กองทัพ-แลกเรียนฟรีมหาวิทยาลัย

 

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการถูกหยิบยกมาพูดคุยกันมากขึ้นในสังคมไทย ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยที่เพิ่มมากขึ้น

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนการปฏิรูปประเทศไทย ไปสู่การเป็นรัฐสวัสดิการ

แต่รัฐสวัสดิการจะเกิดขึ้นเป็นจริงได้อย่างไร

เงื่อนไขที่ประเทศไทยจะสามารถเป็นรัฐสวัสดิการ

 

มีข้อถกเถียงอยู่ค่อนข้างมากว่ารัฐสวัสดิการกับประชาธิปไตยอะไรต้องมาก่อน รัฐสวัสดิการกับการปฏิรูปราชการอะไรต้องมาก่อน รัฐสวัสดิการกับการกระจายอำนาจอะไรต้องมาก่อน ซึ่งเรื่องเหล่านี้เถียงกันยังไงก็ไม่จบ

อยากชวนให้ลองคิดตามว่าก่อน ในปี พ.ศ.2544 ที่เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้เรารู้สึกถึงความสัมพันธ์ของเรากับระบบราชการที่เปลี่ยนไป จากที่เคยรู้สึกว่าระบบราชการเป็นสิ่งยุ่งยาก การจะได้รักษาฟรีเราต้องพิสูจน์ตนเองว่าเป็นคนอนาถา ให้เจ้าหน้าที่ประทับตรายืนยันความยากจนของเรา

แต่เมื่อเกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบราชการที่เคยยุ่งยากในการพิสูจน์ความยากจนก็หายไป แน่นอนว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ได้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศรัฐสวัสดิการได้โดยทันที แต่มันสามารถทำให้เราเกิดจินตนาการที่นำไปสู่การปรับความสัมพันธ์อื่นๆ

เช่น ถ้าเราตัดงบฯ กองทัพ แล้วทำให้การเรียนมหาวิทยาลัยฟรี ถามว่าไทยจะเป็นประเทศรัฐสวัสดิการทันทีเลยหรือไม่ มันคงยังไม่ใช่

แต่อย่างน้อยที่สุดเมื่อคนสัมผัสได้ว่าการตัดลดงบประมาณกองทัพลงครึ่งหนึ่ง แล้วสามารถทำให้การเรียนมหาวิทยาลัยฟรี เกิดความเสมอภาคมากขึ้น จินตนาการเกี่ยวกับชีวิตที่ดีขึ้นจะค่อยๆ ตามมา

และทำให้เกิดการตรวจสอบงบประมาณอื่นๆ มากขึ้นด้วย

บทบาทของ “ท้องถิ่น” ในการจัดสรรสวัสดิการ

 

ในประเทศรัฐสวัสดิการ ท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการจัดสวัสดิการ ในกรณีของประเทศไทย เงินเบี้ยผู้สูงอายุซึ่งเป็นงบประมาณผูกพันในแต่ละปีกว่าแสนล้านบาท ก็เป็นการจัดการผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

แม้ปัจจุบันงบประมาณจะถูกส่งผ่านมาจากกระทรวงมหาดไทย แต่เราจะเห็นได้ว่าท้องถิ่นมีขีดความสามารถในการจัดการงบประมาณด้านสวัสดิการได้

ดังนั้น รัฐสวัสดิการกับการกระจายอำนาจ รวมไปถึงการลดบทบาทของข้าราชการส่วนกลาง สามารถทำไปพร้อมกันได้

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ชวนให้เราลองจินตนาการถึงระบบการจัดสรรสวัสดิการ ที่มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ มีหน้าที่ในการพิสูจน์ว่าบุคคลที่ขอรับความช่วยเหลือเป็นบุคคลยากจน วิธีการทำงานคือไปสัมภาษณ์ แล้วกลับมานั่งประชุมและเขียนรายงาน อาจมีการให้นมผงแก่คนน่าสงสารคนนั้นไป 2 กระป๋อง นี่คือระบบราชการของประเทศที่ไม่ได้มีสวัสดิการ

แต่ถ้าสมมุติแบบง่ายๆ ว่า ถ้ารัฐมีเงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาท ระบบราชการที่ต้องจ้างเจ้าหน้าที่ในการพิสูจน์ความจนเหล่านี้ก็จะหายไป และถูกแทนที่ด้วยระบบที่จ่ายตรงให้กับประชาชน การคอร์รัปชั่นก็จะทำได้ยากมากขึ้น อาจไม่ถึงกับหมดไป แต่จะน้อยลงอย่างมากถ้าเราใช้ระบบแบบถ้วนหน้า

สิ่งนี้คือตัวอย่างที่จะชี้ให้เห็นว่า ระบบรัฐสวัสดิการมีผลสำคัญที่จะทำให้ระบบราชการ Decentralized มากขึ้น และ Democratize หรือมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เห็นและตรวจสอบได้มากขึ้น

ความสัมพันธ์ของระบบอุปถัมภ์กับรัฐสวัสดิการ

 

การที่ระบบอุปถัมป์ในสังคมไทยเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ เพราะประเทศไทยไม่มีระบบรัฐสวัสดิการที่ดี

ตัวอย่างที่เราเห็นในอดีตและอาจรวมถึงในปัจจุบัน

เช่น การฝากลูกเข้าโรงเรียน

หรือการหาเตียงในโรงพยาบาล ที่ต้องอาศัยระบบเส้นสาย

รัฐธรรมนูญ 2560 อุปสรรคของรัฐสวัสดิการ

 

โครงสร้างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีความพยายามจำกัดอำนาจของท้องถิ่น เป็นการจำกัดความก้าวหน้าของการกระจายอำนาจ และจำกัดการเติบโตของระบบรัฐสวัสดิการ รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกลัวคำว่า “ถ้วนหน้า” มาก ทั้งที่มีงบประมาณในมือมหาศาล เพราะคำว่าถ้วนหน้าจะมาพร้อมกับคำว่า “สิทธิ์” ซึ่งจะเป็นการเสริมอำนาจของประชาชนในการตั้งคำถาม

อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าเรื่องรัฐสวัสดิการสามารถทำได้แม้ฝ่ายผู้ถืออำนาจรัฐจะไม่เห็นด้วย ในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยหลากหลายกลุ่มตั้งแต่ พ.ศ.2563 มาจนถึงปัจจุบัน สามารถพบเห็นข้อเรียกร้องเรื่องรัฐสวัสดิการถูกนำมาพูดถึงอย่างมาก

เพราะคนรุ่นใหม่ตระหนักว่ารัฐสวัสดิการคือรูปธรรมของประชาธิปไตย และการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่เหล่านี้สามารถขยับเพดานการถกเถียงเรื่องรัฐสวัสดิการ ไปจนถึงขั้นที่ในสภาต้องมีการพูดถึงเรื่องเหล่านี้

กระแสสังคมที่ตั้งคำถามว่าทำไมเด็กไทยไม่ได้เรียนหนังสือฟรี

ทำไมคนไทยวัยเกษียณไม่ได้รับเงินบำนาญ แต่กองทัพเรือมีเงินไปซื้อเรือดำน้ำ

เสียงของขบวนการเหล่านี้มีส่วนในการกดดันจนกองทัพเรือต้องถอนเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำออกไป

มายาคติ “คนไทยไม่อยากจ่ายภาษี”

 

ยกตัวอย่างว่าต่อไปนี้ประเทศไทยจะยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นภาษีที่คนไทยทุกคนต้องจ่าย โดยเฉพาะคนจนเสียภาษีส่วนนี้สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ แต่ขณะเดียวกันก็ยกเลิกระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วย

เชื่อว่าไม่มีใครยอม

แต่หากเป็นก่อนหน้าการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนอาจจะยินยอมให้ยกเลิกระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

หรือตัวอย่างอีกกรณี เช่น หากมีการจ่ายเงินบำนาญให้คนไทยวัยเกษียณทุกคน แลกกับการยกเลิกสิทธิ์ลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา เชื่อว่าคนจะยินยอมสละสิทธิ์การลดหย่อนภาษีจากค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา

ตัวอย่างที่ยกมาเพื่ออธิบายว่าจริงๆ แล้วคนไทยไม่ได้เกลียดกลัวการเสียภาษี

เพียงแต่คนไทยยังไม่มีโอกาสเป็นผู้รับที่มากพอที่จะรู้สึกว่าเรายินดีจ่ายภาษีมากขึ้นกว่านี้ได้

ใช้งบประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ทำได้ทันที

 

หากไทยใช้ระบบรัฐสวัสดิการ จากการคำนวณในเบื้องต้น ใช้เงินงบประมาณ 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี หรือประมาณครึ่งหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายประจำปีในปัจจุบันก็สามารถทำได้ทันที หลังจากนั้นหากมีความต้องการใช้งบประมาณเพื่อการจัดสรรสวัสดิการเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าประชาชนจะไม่คัดค้านหากต้องจ่ายภาษีมากขึ้น แต่ในเบื้องต้นจะต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของการจัดสรรงบประมาณใหม่ทั้งหมด

ยกตัวอย่างเช่น การจัดสรรเงินสวัสดิการค่าอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนจาก 20 บาท เป็น 21 บาท ในเอกสารประกอบการพิจารณามีการใช้โปรแกรมคำนวณอย่างละเอียดยิบ สำหรับการเพิ่มงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนเพียง 1 บาท

แต่เมื่อไปดูการของบประมาณของกระทรวงกลาโหมเพื่อขอเงินพิเศษเพิ่มขึ้น 2,000 ล้านบาท มีข้อมูลในกระดาษแค่สามแผ่น

เพราะฉะนั้น มันสำคัญว่าใครมีอำนาจ ถ้าเรารู้สึกว่าพยาบาลสำคัญกว่านายพล มันก็จะมีการบรรจุพยาบาลมากกว่าที่เป็นอยู่ ถ้าเรารู้สึกว่าครูอนุบาลสำคัญ สนามเด็กเล่นสำคัญ การดูแลคนไทยวัยเกษียณสำคัญ งบประมาณก็จะถูกใช้กับเรื่องเหล่านี้

แต่ทุกวันนี้งบประมาณไปกองอยู่ที่กระทรวงกลาโหม งบประมาณด้านความมั่นคง แต่เราไม่ได้คิดกลับกันว่าถ้าคนมีชีวิตที่ดี ปัญหาอาชญากรรมก็จะน้อยลง

อย่างไรก็ตาม แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้กันดีอยู่แล้ว แต่ผู้มีอำนาจจะไม่ทำ ผู้มีอำนาจจะยอมทำเมื่อมีการต่อสู้ของประชาชน

เศรษฐกิจไทยเติบโตได้หากไทยเป็นรัฐสวัสดิการ

 

รัฐสวัสดิการสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ด้วยการทำให้คนมีชีวิตที่ดี การมีชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร ทุกวันนี้คนไทยเกิดมา แม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบเพื่อมาจ่ายค่านมลูก นี่คือภาพที่เกิดขึ้นกับคนนับล้านคน ที่ครอบครัวต้องติดลบจากการเลี้ยงดูบุตร หรือถ้าเราทำให้คนวัยเกษียณอยู่ได้ คนวัยหนุ่ม-สาวก็ไม่ต้องแห่กันสอบราชการ เพื่อที่จะทำให้พ่อ-แม่มีสวัสดิการที่ดี

คนหนุ่ม-สาวสามารถไปเป็น Start-Up ทำงานบริษัทเอกชน หรือแม้แต่สามารถที่จะว่างได้ การว่างคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์เหนือกว่า AI เหนือกว่าปัญญาประดิษฐ์ แต่การที่มนุษย์ต้องมีความกังวลกดทับด้านเศรษฐกิจ ทำให้มนุษย์ไม่สามารถทำอะไรใหม่ๆ ได้ นี่คือสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอย

สิ่งที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีคือการลงทุนในมนุษย์ เศรษฐกิจจะเติบโตได้ถ้าทำให้คนรู้สึกปลอดภัย ว่าง และวางแผนชีวิตได้เพียงพอ

นี่คือฝันที่ควรฟันฝ่าไปในยามที่ดูเหมือนไร้ความหวังจากวิกฤตโควิด-19 ระบาด