มองไปข้างหน้า อุตฯ รถยนต์ไฟฟ้าไทย/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

มองไปข้างหน้า

อุตฯ รถยนต์ไฟฟ้าไทย

ผมเดาเอาว่า คนไทยยามนี้ตกอยู่ในสภาพทั้งวิตกกังวล ทั้งเหนื่อยหน่าย ระอา กับสถานการณ์แวดล้อมอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

เพราะตัวเองก็ระอาสาหัสเช่นเดียวกัน

แต่อาจต้องพูดถึงสารพัดเรื่องอันเนื่องมาจากโควิดอีกครั้งถ้าไม่ไปอ่านเจอรายงานชิ้นล่าสุดว่า อนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ของเบเคอร์ แม็กเค็นซี บริษัทผู้ให้บริการด้านกฎหมาย สัญชาติอเมริกัน เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมนี้

เบเคอร์ แม็กเค็นซี เดิมใช้ชื่อ เบเคอร์ แอนด์ แม็กเค็นซี มีสำนักงานใหญ่อยู่ในนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา แต่เข้ามาปักหลักอยู่ในเมืองไทยนานปีดีดัก จนว่ากันว่า เป็นสำนักงานทนายความที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดแห่งหนึ่งในไทยครับ

รายงานชิ้นนี้ให้ภาพรวมของแผนงาน ความคืบหน้า สิ่งที่ทำมาแล้ว และสิ่งที่ควร “ต้อง” ทำในอนาคตเพื่อ “ทรานส์ฟอร์ม” อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศให้กลายเป็น “อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” ไว้ครบถ้วนและชัดเจนอย่างมาก

อ่านง่าย เข้าใจได้ดี จนผมนึกอยากให้ทุกคนที่เกี่ยวเนื่องอยู่ในแวดวงนี้หาต้นฉบับมาอ่านกันให้ถ้วนทั่ว

 

รายงานนี้เริ่มต้นด้วยการพูดถึง “เทรนด์โลก” ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในระดับนานาชาติ พูดถึง “ความตกลงปารีส” ซึ่งไทยเป็นภาคี ที่มีพันธะต้องร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ พูดถึงศักยภาพโดยตรงของยานยนต์ไฟฟ้า ในการลดทั้งมลภาวะ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

รายงานให้ข้อมูลเอาไว้ว่า ยุโรป โดยเฉพาะชาติแถบสแกนดิเนเวีย เป็นผู้นำใน “โกลบอล ชิฟต์” หนนี้ เช่น นอร์เวย์กำหนดให้ขายเฉพาะรถไฟฟ้า “อีวี” กับไฮบริดเท่านั้นตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป อังกฤษกับฝรั่งเศสกำหนดเป้าเดียวกันตั้งแต่ปี 2040 โดยจะผลักดันให้มีรถอีวีใช้กันเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ในปี 2020

สำหรับไทย แม็กเค็นซีชี้ว่า การพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์จากเทคโนโลยีสันดาปภายใน (ไอซีอี) เป็นอีวีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ “จำเป็น” ต้องทำ ต้องสร้างระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นมาเพื่อรองรับทั้งด้านดีมานด์และซัพพลาย เพราะ “ราวครึ่งหนึ่งของรถที่ผลิตในประเทศไทยวางขายให้กับตลาดในประเทศ”

รายงานระบุว่า รัฐบาล “ทำงานหนัก” เพื่อจัดทำ “โรดแม็ป อีวีแห่งชาติ” ขึ้นประกาศใช้เมื่อต้นปีนี้ พร้อม “มาสเตอร์แพลน” ในทางปฏิบัติ เพื่อเปลี่ยนไทยให้กลายเป็นประเทศผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า “เพื่อให้อนาคตของอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่งของชาติมั่นคง” ขึ้นมา

มาสเตอร์แพลนของรัฐบาล ไม่ได้ครอบคลุมถึงเฉพาะการผลิตยานยนต์ แต่ยังคลุมไปถึงแผนเพื่อการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอุปกรณ์อื่นๆ

โครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมนี้ ที่รวมทั้งสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าและการบริหารจัดการโครงข่ายจ่ายกระแสไฟฟ้า

เรื่อยไปจนถึงการพัฒนากฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและกฎข้อบังคับทั้งหลายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างครอบคลุมและบูรณาการ

ทั้งยังชี้ให้เห็นว่า “ยานยนต์ไฟฟ้า” ที่ว่านี้ ไม่ได้หมายถึงรถยนต์อย่างเดียว แต่ยังรวมถึงจักรยานยนต์, สามล้อ, รถบัส, รถบรรทุก และเรือโดยสารอีกด้วย

 

หมุดหมายแรกของไทยคือ ปี 2030 ตามนโยบาย 30/30 ซึ่งประธาน “คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ” ประกาศไว้เมื่อ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า จะผลักดันให้ 30 เปอร์เซ็นต์ของรถที่ผลิตในไทยเป็นรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าแบบ “ฟาสต์ ชาร์จจิ้ง” 12,000 สถานี

ถึงตอนนั้น ไม่เพียงไทยจะผลิตรถยนต์นั่ง 725,000 คันต่อปี จักรยานยนต์ไฟฟ้าอีก 675,000 คันต่อปี พร้อมแนวทางจูงใจทั้งที่เป็นเชิงภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี สำหรับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

ที่น่าสนใจยิ่งกว่าในรายงานชิ้นนี้ก็คือ “ภารกิจที่รอคอยอยู่ข้างหน้า” อย่างการพัฒนากรอบกฎหมายและข้อบังคับทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทบทวนปรับปรุงเท่าที่มีอยู่หรือบัญญัติขึ้นใหม่ ต้องดำเนินการ “อย่างระมัดระวัง” เพื่อให้สะท้อนถึง “นโยบายที่ชัดเจน” และ “กรอบเวลาที่ชัดเจน” ครอบคลุมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด โดยเฉพาะผู้ผลิตอีวี และแบตเตอรี่สำหรับอีวีในประเทศ

โครงสร้างพื้นฐานและผู้ให้บริการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นมาทั้งหมด

กฎหมายและข้อบังคับดังกล่าว ไม่เพียงต้องปรับใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าครอบคลุมครบทุกประเภท ยังต้องกำหนดมาตรฐาน มาตรฐานอุตสาหกรรม ให้รอบด้านและกว้างพอที่จะคลุมถึงยานยนต์ไฟฟ้าทุกชนิด ทุกประเภท เท่านั้นยังต้องสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ผลิตทั้งเก่าและใหม่ ทั้งภายในและจากต่างประเทศ รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยอีกด้วย

รัฐบาลยังจำเป็นต้องวางกฎข้อบังคับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานทางอีวี ตั้งแต่การออกใบอนุญาตสำหรับสถานีชาร์จแบตเตอรี่หรือแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่, การจัดโซนสถานีดังกล่าว, ข้อกำหนดการติดตั้งสถานีชาร์จในที่อยู่อาศัย ซึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายควบคุมอาคารที่พักอาศัยและคอนโดมิเนียม ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ทำให้สามารถทำแผนธุรกิจและกำหนดผลตอบแทนได้เช่นเดียวกัน

 

แม็กเค็นซียังเสนอให้ทบทวนปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) จัดทำข้อบังคับว่าด้วยการทำลายและรีไซเคิลแบตเตอรี่ และข้อกำหนดว่าด้วยการจำกัดการใช้งานยานยนต์สันดาปภายในแบบเดิมชนิดค่อยเป็นค่อยไป

“ในทันทีที่องค์ประกอบอีวีทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง เราคาดว่า ไทยจะอยู่ในสถานะหนึ่งในฮับการผลิตอีวีที่คึกคักที่สุดของโลก, เป็นตลาดอีวีที่น่าตื่นตาตื่นใจ และเป็นหนึ่งในผู้นำการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก”

รายงานของเบเคอร์ แม็กเค็นซี ระบุปิดท้ายไว้อย่างนั้นครับ