สิ่งแวดล้อม : ‘เมืองใหญ่-ตึกสูง’ เสี่ยงตาย / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
นักผังเมืองกรุงโคเปนเฮเกน ปรับภูมิทัศน์เมืองด้วยการวางแนวต้นไม้ ทางจักรยานและทางเท้า เชื่อมประสานกับอาคารใหญ่ ลดผลกระทบจากปรากฏการณ์ "เกาะความร้อน" ช่วยให้สิ่งแวดล้อมร่มรื่นมากขึ้น

 

 

‘เมืองใหญ่-ตึกสูง’ เสี่ยงตาย

 

เจอตัวเลขนิวไฮคนป่วยคนตายด้วยโรคโควิด-19 แทบทุกวัน ชาวบ้านเกิดอาการหลอนไปตามๆ กัน แม้ต่างฝ่ายต่างเห็นหน้าเห็นตาทุกๆ เช้า ยังต้องสวมหน้ากากเดินห่างทิ้งระยะทางเป็นหลายเมตร ราวกับว่าไม่เคยรู้จักมาก่อน

ร้านข้าวต้มอร่อยๆ ในซอยที่มีคนนั่งเต็มร้านในทุกเย็น ยามนี้ร้านโล่ง เก้าอี้เก็บกองพิงฝา แม่ค้านั่งรอคนซื้อ นานๆ จะโผล่มาที

หลายๆ ร้านเจอคำสั่งปิดๆ เปิดๆ ลูกค้าหนีกระเจิง เจ้าของร้านเจ๊งยับไม่มีเงินทุนหมุนต่อแล้วพนักงานโดนลอยแพตกงานรับกรรมไปอีกทอด

สองทุ่มทั้งหมู่บ้านที่เคยคึกคัก กลับเงียบสงัดราวกับป่าช้า

คำถามสุดฮิต “ฉีดวัคซีนหรือยัง” ถ้าบอกว่าฉีดแล้ว เจอคำถามตามมา “ยี่ห้ออะไร กี่เข็มแล้ว” หรือทำไมยังไม่ฉีด จะมีคำตอบสวนมาว่า “หมอพร้อมติดโรคเลื่อน”

ปิดท้ายด้วยเสียงด่าทอรัฐบาลจากความไม่เอาไหนในการแก้วิกฤต “โควิด-19” มีคนตาย คนป่วยระเนระนาด เตียงโรงพยาบาลเต็ม เศรษฐกิจพินาศ ไม่สามารถหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนเท่าทันสถานการณ์

 

ระหว่างวันที่มีแต่ข่าวร้าย ใจหดหู่อยู่แล้ว ยังต้องเจอกับอากาศร้อนระอุ ร้อนจนรู้สึกว่า นี่ไม่ใช่ร้อนธรรมดา แม้อุณหภูมิไม่ร้อนเท่ากับบางเมืองในประเทศแคนาดา แต่ก็ไม่แปลกใจทำไมชาวแคนาเดียนตายเกือบห้าร้อยคน ด้วยอุณหภูมิฝั่งตะวันตกของแคนาดาทะลุถึง 49.6 องศาเซลเซียส เพราะเป็นร้อนอุบาทว์นี่เอง

ไม่ว่าจะเป็นไวรัสแพร่ระบาด กลายพันธุ์ บุกไล่ทะลวงปอดผู้คนเป็นว่าเล่น หรือสภาพอากาศร้อนอย่างสุดๆ เช่นนี้ ล้วนต้องมีต้นเหตุที่มา มาจากธรรมชาติหรือฝีมือคน?

มีข่าวชิ้นหนึ่งปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ พาดหัวว่า EIA รื้อเกณฑ์สิ่งแวดล้อม “ตึกสูง-คอนโด” ห้ามบังลม-บังแดด พร้อมกับคำโปรยข่าวเชื้อเชิญให้อ่านว่า วงการพัฒนาที่ดินร้อนเป็นไฟทันทีเมื่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมพร้อมรับมือกับภาวะโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนไป ภายใต้ความเจริญและการพัฒนาในทุกรูปแบบ

ตามข่าวแจงรายละเอียดว่า การกำหนดแนวทางป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยปรับเกณฑ์บางเงื่อนไขให้เหมาะสมกับยุคสมัย ผ่านการจัดทำ “รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม” หรือ EIA : Environmental Impact Assessment เป็นการประเมินผลกระทบที่ผู้ประกอบการต้องนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขออนุญาตก่อสร้างโครงการใหม่ตามที่กฎหมายกำหนดเกณฑ์ใหม่

ประชาชาติธุรกิจชี้ว่าประเด็นร้อนอยู่ที่ “เกณฑ์ใหม่ EIA” ห้ามอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่ สร้างบังทิศทางแสงแดดและทิศทางลม ที่ทำให้บริเวณบ้านข้างเคียง หรือชุมชนย่านนั้นๆ ไม่มีกระแสลมพัดผ่านเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าของบ้านและคนในชุมชนสามารถร้องเรียนคัดค้านการขึ้นโครงการใหม่นั้นๆ ได้

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังกำหนดให้ “เจ้าของอาคาร” ใช้แบบจำลองอาคารโครงการด้วยเทคโนโลยีสามมิติ (3D) ออกแบบอาคารให้เสมือนจริง เพื่อทำให้เห็นว่า เงาของอาคารนั้นๆ ตกสะท้อนทอดยาวไปยังทิศทางใด และเจ้าของโครงการที่จะก่อสร้างอาคารใหม่ ต้องประมวลทั้งปีว่า “ทิศทางลม” ในทำเลนั้นๆ จะไปในทิศทางไหน

ประชาชาติธุรกิจบอกอีกว่า แน่นอน “ต้นทุน” ในการจัดทำรายงานอาจเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเกณฑ์การพิจารณาผ่านขั้นตอนจริง เมื่อนั้นเอกชนคงต้องรับภาระต้นทุนเพิ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และผู้ที่จะต้องรับภาระสุดท้าย หนีไม่พ้นคือ “ผู้บริโภค” ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ ในรูปแบบตึกสูงตามที่นิยม

 

ขณะนี้แนวทางใหม่ของ สผ.ยังไม่ได้สรุปผลออกมา แต่บรรดานักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์พากันออกมาคัดค้าน อ้างว่าจะเกิดผลกระทบกับโครงการใหม่ๆ ที่เตรียมลงทุนก่อสร้างในอนาคต

สำหรับในมุมมองของนักผังเมืองและนักสิ่งแวดล้อม กลับเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เพราะการก่อสร้างอาคารสูงมีผลกระทบกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

ตึกสูงจำนวนมากออกแบบโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบและความเหมาะสมของพื้นที่ เช่น ปัญหาการจราจรติดขัด น้ำเน่าขังในหน้าฝน ขยะล้นทะลัก ระบบการหมุนเวียนของอากาศในพื้นที่ และแสงหรือความร้อนเกิดจากการสะท้อนของกระจกอาคารนั้นๆ เพราะเจ้าของตึกมองแค่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว

มีผลศึกษาในทางวิชาการหลายชิ้นยืนยันว่า การสร้างตึกสูงและสภาพถนนของเมืองเต็มไปด้วยพื้นปูนซีเมนต์ ยางมะตอย จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “เกาะความร้อน” (Heat island effect) เพราะวัสดุเหล่านี้ดูดซับความร้อนจากแสงอาทิตย์ในตอนกลางวัน และปล่อยออกมาในเวลากลางคืน รวมทั้งความร้อนจากคอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศ ทำให้เกิดเกาะความร้อนเมืองในบริเวณพื้นที่นั้นๆ

ผลการศึกษายังพบว่า ปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมืองนี้ยังส่งผลต่อปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายเดือนในบริเวณใต้ลมที่ห่างจากใจกลางเมืองออกไปประมาณ 60 กิโลเมตร เพิ่มขึ้นจากปกติประมาณร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับบริเวณพื้นที่เหนือลม

 

ดร.มาร์ติ บอช วิศวกรสิ่งแวดล้อม ให้คำแนะนำหลังเปิดเผยผลวิจัยปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่า อุณหภูมิในใจกลางเมืองโลซานน์สูงกว่า 8 องศาเซลเซียส ทางแก้ปัญหาง่ายๆ ปลูกต้นไม้ตลอดแนวถนน และในเมือง พร้อมกับใช้วัสดุที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม

ส่วนเว็บไซต์ “เดอะ เดิร์ต” รายงานว่า แนวโน้มอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน ดูได้จากสถิติของปี 2563 และปี 2559 ทำสถิติร้อนที่สุด ในเมืองใหญ่ๆ 3 เมือง ได้แก่ นิวยอร์ก, โคเปนเฮเกน และอาบูดาบี กำลังค้นหาวิธีออกแบบผังเมืองเพื่อลดอุณหภูมิและช่วยให้ชุมชนปรับตัวกับสภาพอากาศร้อนระอุขึ้น

ในแต่ละปี ชาวนิวยอร์กเจอสภาพอากาศร้อนจัดจนป่วยหนักส่งเข้าโรงพยาบาลราว 1,100 คน และเสียชีวิตไม่น้อยกว่า 100 คน

การสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียว เป็นเรื่องจำเป็น ยิ่งมีต้นไม้มาก จะยิ่งช่วยลดภาวะเครียดของผู้คน และช่วยให้อากาศเย็นสบาย เมื่อปี 2560 ผู้บริหารมหานครนิวยอร์กลงทุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อปลูกต้นไม้และสร้างพื้นที่สีเขียว ตามโครงการชื่อ Cool Neighborhoods แปลไทยๆ “เพื่อนบ้านเย็นสบาย”

หลังคาอาคารที่เป็นทรัพย์สินของมหานครนิวยอร์ก ทาสีใหม่เป็นสีขาวสะท้อนแสงอาทิตย์ลดความร้อน ปรับปรุงระบบระบายความเย็นเพื่อรองรับชาวนิวยอร์กที่ไม่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศไว้ในห้องพัก

ส่วนที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก นักออกแบบผังเมืองรุ่นใหม่ยึดแนวคิด “ธรรมชาติและระบบนิเวศน์” เพราะถือว่าธรรมชาติฉลาดที่สุด ทุกมุมตึก หัวถนน ล้วนปลูกต้นไม้เชื่อมกับทางเท้า ทางจักรยานและรถราง

ที่กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นักออกแบบผังเมืองยึดแนวทางการหมุนเวียนของระบบอากาศภายในเมือง พยายามควบคุมอุณหภูมิมีค่าเฉลี่ยไม่สูงเกิน 30 องศาเซลเซียส ปรับพื้นที่สีเขียวของเมืองให้ร่มเย็นมากขึ้น ถนนและทางเท้ามีเงาของต้นไม้บังแสงแดด ปลูกไม้เลื้อยตามแนวผนังตึก

บ้านเราแค่เสนอปรับหลักเกณฑ์การออกแบบตึกสูงให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เป็นมิตรกับชุมชน และเป็นเมืองน่าอยู่มากขึ้น นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ออกมาคัดค้านกันระงม-อะไรกันเนี่ย?