ต้องกล้าที่จะถามตัวเอง/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

ต้องกล้าที่จะถามตัวเอง

 

ถึงวันนี้กระบวนการจัดการบริหารโควิด-19 เละเป็นโจ๊กไปแล้วอย่างน่าเสียดาย ยอดคนติดเชื้อและคนตายเพิ่มขึ้นในอัตราที่เริ่มจะไม่มีความหวังว่าจะกอบกู้วิกฤตได้

ที่ว่าน่าเสียดายเนื่องจากถ้าย้อนไปดูสมัยเริ่มต้นโควิด ประเทศไทยเรารับมือได้ค่อนข้างดี ระดับที่องค์การอนามัยโลกให้คำชมเชยถึงความสามารถในการป้องกันการระบาด

ชื่นชมกันไปทั่วโลกถึงวัฒนธรรมไทย ที่ประชาชนพร้อมให้ความร่วมมือ เชื่อฟังภาครัฐในการรับมือ ทำให้หยุดยั้งการระบาดได้สำเร็จ

แต่ถึงวันนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว ค่านิยมและวัฒนธรรมของคนไทยไม่เปลี่ยนไป ยังพร้อมให้ความร่วมมือกับทางการ

อยากให้ทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น

ไม่ใช่แค่ใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ร่วมแบบมีระยะห่างให้เป็นวิถีชีวิตปกติเท่านั้น กระทั่งถูกสั่งไม่ให้นั่งกินในร้านอาหาร งดกิจกรรมหลายๆ อย่างของชีวิต หรือกระทั่งหยุดทำมาหากิน คนไทยส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเต็มที่ ทั้งๆ ที่เดือดเนื้อร้อนใจกันแสนสาหัส

เพื่อความหวังว่ารัฐบาลจะจัดการให้ทุกอย่างดีขึ้นได้ คนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ

 

ที่บอกว่าน่าเสียดายก็เพราะถึงที่สุดแล้ว การเสียสละของประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความหมายอะไรเลย ที่เริ่มต้นมาอย่างดีนั้นล้มเหลวไปเป็นท่า

จากแผนการจัดการที่โลเลตลอดเวลาของผู้บริหารประเทศ

เราดูกันดีว่า “วัคซีน” คือทางรอดเดียวที่ทุกคนรอคอย

แต่การบริหารจัดการวัคซับชัดเจนถึงความเลอะเทอะ ผิดพลาดไปหมด

ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาที่ขาดความหลากหลาย ทำให้ช่องทางที่จะได้มาไม่มากพอ

แผนการกระจายที่เรรวนและไม่ยึดมั่นในหลักการ

เริ่มต้นมาถูกแล้วที่ให้ความหมายของ “บุคคลที่ความเสี่ยงสูง” ไว้ว่าคือ “ผู้ที่ติดเชื้อแล้วตายง่ายกว่า” คือ “ผู้สูงอายุ” และ “ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง” ที่มีผลต่อภูมิต้านทาน

การทำหนดเช่นนี้ให้บริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ คนหนุ่ม-คนสาว คนร่างกายแข็งแรง ป่วยแล้วรักษาหายได้ง่าย มีจำนวนมากรักษาอยู่ที่บ้านก็ยังหาย

ที่สำคัญคือหายแล้วเท่ากับมีภูมิต้านทาน ไม่ติดเชื้อได้ง่าย ไม่ต่างจากฉีดวัคซีน

หลายประเทศใช้วิธีปล่อยให้ป่วยกันบ้างเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติขึ้นมาช่วยให้ภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นเร็ว

เมื่อวัคซีนมีน้อย ฉีดให้กับผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำเท่ากับลดการเสียชีวิต

เป็นการบริหารวัคซีนที่มีอยู่จำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

แต่แล้วไม่นาน การเมือง หรือว่าไปคือ “วัฒนธรรมอภิสิทธิ์ชน” ในความหมายของ “ระบบเส้นสาย” มีอิทธิพลกว่า

แผนการจัดการวัคซีนจึงเปลี่ยนไป ด้วยการสร้างความหมาย “กลุ่มคนเสี่ยงสูง” ขึ้นมาใหม่ ให้กลายเป็นเหล่าอภิสิทธิ์ชนทั้งหลาย เลยไปถึงบริวารของพวกเขาเหล่านั้น

 

แผนการฉีดวัคซีนเปลี่ยนไปฉีดคนทุกเพศทุกวัย ทุกภูมิต้านทานที่เป็นเครือข่ายของอภิสิทธิ์ชนก่อน ในนาม “ผู้มีความเสี่ยงสูงกว่า”

ผลที่ตามมาคือท่ามกลางสถานการณ์วัคซีนมีไม่พอเพียง การสร้างภูมิต้านทานแบบธรรมชาติที่คุยกันก่อนหน้านั้นถูกยกเลิก ล้มระเนระนาด

ส่งผลต่อให้การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ล้มเหลว

และที่สุดก็เอาไม่อยู่ สถานการณ์สู่วิกฤต ท่ามกลางเสียงโทษประชาชนให้ขรม ทำนองไม่ให้ความร่วมมือ

ทั้งที่หากมองลึกลงไปจริงๆ แล้ว เป็นความไม่รู้เหนือรู้ใต้ จนเกิดความโลเลไม่มั่นในหลักการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ที่วางแผนกันมาแต่แรก

การแถลงของผู้รับผิดชอบดูจะชี้ว่า “ความไม่รู้เรื่อง” หรือ “ความโง่” ไม่หาทางป้องกัน

เอาแต่ใช้ชีวิตแบบเสี่ยงคือประชาชน ซึ่งน่าคิดไม่น้อย

 

หากดูจากผลสำรวจของ “กรุงเทพโพลล์” เรื่อง “คนไทยว่าไงกับเป้าหมายเปิดประเทศใน 120 วัน

คนตอบเห็นด้วยร้อยละ 60 ไม่เห็นด้วยร้อยละ 40

เมื่อถามว่าคิดอย่างไรกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศความเสี่ยงต่ำ และฉีดวัคซีนครบแล้ว ร้อยละ 61.7 บอกว่าทำให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน และเมื่อถามว่าปัจจัยอะไรมีผลต่อการเปิดประเทศมากที่สุด ร้อยละ 42.0 ตอบว่าสัดส่วนคนไทยที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม และเมื่อถามว่ากังวลหรือไม่กับการเปิดประเทศ ร้อยละ 59.9 ตอบว่ากังวล ร้อยละ 40.1 ไม่กังวล

หากดูจากผลโพลนี้ จะรู้สึกได้ว่า ประชาชนไทยไม่ใช่พวกไม่รู้เรื่อง กลับค่อนข้างรู้ดีเสียด้วยว่าควรจะจัดการกับสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อวิกฤตอย่างไร

และหากติดตามการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นในโลกทั่วไป หรือในโลกออนไลน์ จะพบความรับผิดชอบอย่างมีปฏิภาณ และไม่ประมาทให้เห็นตลอด

คำถามจึงมีอยู่ว่า ทั้งที่ประชาชนพร้อมให้ความร่วมมือ และเป็นที่รู้ว่าควรทำอะไรอย่างไรถึงขนาดนี้

ไทยเรากลับพลิกจากประเทศรับมือโควิดได้ดี มาเป็นประเทศที่ต้องสู้กันอย่างไม่มีความหวังตามยถากรรมอยู่ทุกวันนี้

ใครโง่!