โฟกัสพระเครื่อง : เครื่องราง ‘ตะกรุด’ หลวงพ่อสุด สิริธโร วัดกาหลง สมุทรสาคร

(ซ้าย) หลวงพ่อสุด สิริธโร (ขวาบน) ตะกรุด 108 หลวงพ่อสุด (ขวาล่าง) ตะกรุดโทน หลวงพ่อสุด

โฟกัสพระเครื่อง–(ฉัตรชัย สุนทรส)

โคมคำ / [email protected]

 

เครื่องราง ‘ตะกรุด’

หลวงพ่อสุด สิริธโร

วัดกาหลง สมุทรสาคร

 

พระเกจิอาจารย์ชื่อดังมหาชัย มีอยู่จำนวนมาก ทั้งที่ละสังขารไปแล้วและยังดำรงขันธ์อยู่

แต่ที่กล่าวขวัญถึงอย่างมากคือ “หลวงพ่อสุด สิริธโร” หรือ “พระครูสมุทรธรรมสุนทร” อดีตเจ้าอาวาสวัดกาหลง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

เคยสร้างวัตถุมงคลมากมายที่ได้รับความนิยม รวมไปถึงเครื่องรางของขลังโดยเฉพาะ “ตะกรุด”

ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี คือ “ตะกรุด 108” สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ.2526

ลักษณะเป็นตะกรุดขนาดเล็กจำนวน 108 ดอก ถักร้อยเข้าด้วยกันไว้สำหรับคาดที่เอว เนื้อโลหะที่นำมาทำตะกรุดประกอบด้วย เงิน ฝาบาตร และทองแดง

ซึ่งหลวงพ่อสุดจารอักขระทีละดอก ตามตำราที่ร่ำเรียนจนครบตามจำนวน 108 ดอก แล้วจึงนำมาถักด้วยเชือกเพื่อไว้สำหรับคาดที่เอว หลังจากถักเสร็จก็จะปลุกเสกอีกครั้ง ตามฤกษ์ยามด้วยพระคาถาตามตำรา แล้วจึงนำมามอบให้กับลูกศิษย์

นอกจากนี้ ยังมี “ตะกรุดโทน” สร้างในยุคเดียวกับตะกรุด 108

ลักษณะเป็นตะกรุดขนาดยาวประมาณ 4 นิ้ว ถักร้อยด้วยเชือกไว้สำหรับคาดที่เอว โดยเนื้อโลหะที่นำมาทำตะกรุดจะเป็นทองแดงเป็นส่วนใหญ่

หลวงพ่อจะจารอักขระในแผ่นทองแดง แล้วจึงทำการถักด้วยเชือกและลูกคั่น ตามตำราของท่าน แล้วจึงนำเข้าปลุกเสกเดี่ยวอีกครั้ง

ซึ่งตะกรุดนี้มีเรื่องเล่าว่า ตี๋ใหญ่ หรือจอมโจรตี๋ใหญ่ เป็นมหาโจรที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในอดีต ให้ความนับถือหลวงพ่อสุดเป็นอย่างมาก มักไปมาหาสู่หลวงพ่อสุดอยู่เป็นประจำ ตี๋ใหญ่มีของดี คือผ้ายันต์กับตะกรุดของหลวงพ่อสุดไว้ป้องกันตัว ถึงขนาดถูกตำรวจเป็นร้อยล้อมจับก็ยังสามารถหนีเอาตัวรอดไปได้

จัดเป็นเครื่องรางของหลวงพ่อที่หายาก จำนวนการสร้างไม่ได้จดบันทึกไว้

 

มีนามเดิมว่า สุด สัตย์ตัง เป็นชาวอำเภอพนมไพร จ.ร้อยเอ็ด เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2445

บรรพชาเมื่ออายุ 16 ปี ที่วัดกลาง อ.พนมไพร โดยมีพระครูเม้า เป็นพระอุปัชฌาย์

อายุครบ 20 ปี อุปสมบทที่วัดกลาง เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2465

ออกธุดงค์เดินทางรอนแรมจากจังหวัดร้อยเอ็ด ไปตามสถานที่ต่างๆ จนมีชาวบ้านที่ตำบลกาหลง นิมนต์ให้จำพรรษาอยู่ที่วัด

ในห้วงเดินท่องธุดงค์ มีโอกาสร่ำเรียนวิทยาคมจากพระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายท่าน อาทิ หลวงพ่อรุ่ง ติสสโร วัดท่ากระบือ จ.สมุทรสาคร, หลวงพ่อคง ธัมมโชโต วัดบางกะพ้อม จ.สมุทรสงคราม เป็นต้น

มีความรู้ด้านภาษาลาวและภาษาขอม เข้าใจว่าหลังจากบวชเณรแล้วคงได้เดินธุดงค์อยู่ละแวกอีสานระยะหนึ่ง กว่าจะเดินทางมาถึงจังหวัดสมุทรสาครได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย

ในยุคนั้นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของภาคอีสาน เดินทางมาแสวงหาความรู้ในกรุงเทพฯ มากมาย เช่น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จันทร์ สิริจันโท) เป็นต้น

พระเถระอาวุโสหลายรูปเคยเล่าว่าพระ-เณรจำนวนไม่ใช่น้อยที่มามรณภาพอยู่ในป่า ด้วยต้องการจะเดินทางมาศึกษาเล่าเรียนในกรุงเทพฯ ผู้ที่ผ่านป่าดงดิบลึกมาได้โดยตลอดปลอดภัยจึงแก่วิทยาคมพอสมควร จำเป็นอย่างยิ่งต่อการเดินผ่านเข้าดงดิบลึกที่มีทั้งไข้ป่า พิษว่าน สัตว์ร้ายนานาชนิด

ผ่านมาจนถึงวัดกาหลงได้นับว่าเป็นยอดหนึ่งเดียวด้านวิทยาคม

ได้รับนิมนต์เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลมากมายหลายพิธีไม่ต่ำกว่า 100 ครั้ง โดยเฉพาะพิธีปลุกเสกพระพุทธ 25 ศตวรรษ

มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วจากการเป็นพระอาจารย์ของตี๋ใหญ่ จอมโจรชื่อดัง ร่ำลือกันว่าท่านเป็นคนมอบเครื่องรางของขลังให้ตี๋ใหญ่ ทำให้รอดพ้นแคล้วคลาดจากการถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเข้าจับกุม

อีกทั้งยังเป็นเกจิต้นตำรับยันต์ตะกร้อ ที่มีพุทธคุณด้านอยู่ยงคงกระพัน

ยันต์ตะกร้อเป็นยันต์ที่จัดทำขึ้นมาด้วยการปลุกเสกลงอาคม โดยใช้ภาษาขอม เขมร และลาว ได้รับความนิยมจากบรรดาสานุศิษย์เป็นอย่างยิ่ง

แต่เดิมเป็นอาจารย์สักยันต์เลื่องชื่อ มีคนนิยมไปสักยันต์มาก ทั้งยันต์เสือเผ่นและยันต์ตะกร้อ ซึ่งผู้ที่ได้รับการสักยันต์จะอยู่ยงคงกระพัน โดยเฉพาะลูกศิษย์ชาวตังเก แต่บางคนประพฤติเป็นโจร ทำให้ยากต่อการปราบปรามโดยตำรวจ

ตอนหลังทางการต้องขอร้องให้หลวงพ่อสุดเลิกทำการสักยันต์

 

หลวงพ่อสุดเล่าเรื่องยันต์ตะกร้อไว้ว่า “ยันต์ตะกร้อทนทานแคล้วคลาด เมื่อตอนเป็นเด็กหลวงพ่อชอบดูการเตะตะกร้อมาก สวยดี ลองเตะบ้างมันเจ็บ ก็ลองคิดดูว่าจะเขียนอักขระยันต์อย่างไรให้งดงามไม่ไปซ้ำของใคร ได้เห็นเด็กๆ เตะตะกร้อเล่นที่ลานวัดกาหลง ก็เลยวาดแบบรอยสานตะกร้อดู พยายามอยู่นานจนได้ดี จุดสำคัญคือ สวยงาม และตะกร้อนั้นแข็งแรงทนทาน หมายถึงความอดทนแคล้วคลาดของคนเรา โดนเท่าไรก็ไม่เป็นไร ใครเคยเห็นตะกร้อโดนเตะเพียงทีสองทีก็เสีย เคยเห็นไหม เห็นมีแต่คนเตะบ่นปวดเท้า ถือเป็นปรัชญาแห่งชีวิตข้อหนึ่งคือ ความอดทนและมีศิลปะ”

ศิลปะในการออกแบบยันต์ตะกร้อ นับว่าสุดยอดทั้งความงดงาม การลากเส้นอักขระขอม ลวดลายของยันต์สง่างามและสวยงามอย่างยิ่ง

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2490 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี

พ.ศ.2511 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท

พ.ศ.2517 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิมที่ พระครูสมุทรธรรมสุนทร

มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2526 สิริอายุ 81 ปี