พาราลิมปิกกับถุงยางอนามัย/คลุกวงใน พิศณุ นิลกลัด

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน

พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

พาราลิมปิกกับถุงยางอนามัย

 

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเขียนถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวกับการแจกถุงยางอนามัยในหมู่บ้านนักกีฬา ว่าคราวนี้มีแจกถุงยางอนามัยเหมือนทุกครั้งนับตั้งแต่โอลิมปิก 1988 ที่เกาหลีใต้

แต่แจกแบบนิวนอร์มอล คือแจกในวันเก็บของออกจากหมู่บ้านนักกีฬา ให้นำถุงยางอนามัยไปใช้ที่บ้าน หรือเก็บไว้เป็นที่ระลึก ไม่ได้แจกทุกวันระหว่างการแข่งขัน วันที่ 23 กรกฎาคม ถึง 8 สิงหาคม เพื่อใช้งาน “ตามอัธยาศัย” เหมือนโอลิมปิกทุกครั้งที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19

ไจล์ส ลอง (Giles Long)

หลังจากโอลิมปิกสิ้นสุดลงสองสัปดาห์เศษๆ การแข่งขันพาราลิมปิก หรือโอลิมปิกสำหรับผู้พิการที่กรุงโตเกียว จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม ถึง 5 กันยายน 2021

ที่ผ่านมา ข่าวเรื่องการกุ๊กกิ๊กของนักกีฬาพาราลิมปิกมีออกมาน้อยเพราะเป็นเรื่องที่เจ้าตัวอาจไม่อยากพูดถึง อึดอัดที่จะตอบ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วนักกีฬาพาราลิมปิกหรือคนพิการก็มีความต้องการและสามารถกุ๊กกิ๊กได้เหมือนคนทั่วไป

การแข่งขันพาราลิมปิกที่ผ่านๆ มา ก็มีการแจกถุงยางอนามัยให้กับนักกีฬาพาราลิมปิก

ในพาราลิมปิกที่กรุงลอนดอน ปี 2012 ผู้จัดได้แจกถุงยางอนามัย 11,000 ชิ้น ให้กับนักกีฬาพาราลิมปิก 4,302 คน ในการแข่งขันระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม ถึง 9 กันยายน 2012 รวม 12 วัน

เฉลี่ยแล้ว นักกีฬาพาราลิมปิกได้ถุงยางอนามัยคนละ 2.5 ชิ้น

ซึ่งผลออกมาว่า ถุงยางอนามัยไม่พอใช้ ต้องสั่งเพิ่มอีก รวมทั้งสิ้นในการแข่งขันพาราลิมปิกที่กรุงลอนดอน ปี 2012 มีการเตรียมถุงยางอนามัยให้นักกีฬา 43,000 ชิ้น เฉลี่ยแจกคนละ 10 ชิ้น

ไจล์ส ลอง (Giles Long)-2

นักกีฬาพาราลิมปิกที่ใช้ถุงยางมักจะเป็นนักกีฬาที่ร่วมแข่งขันโดยไม่หวังเหรียญ เช่นเดียวกับโอลิมปิก ที่นักกีฬาที่ไม่ได้หวังเหรียญ มาร่วมแข่งขันเพื่อประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต

อาลี จาวาด (Ali Jawad) นักยกน้ำหนักทีมสหราชอาณาจักร เชื้อสายเลบานอน วัย 32 ปี ที่ไม่มีขาสองข้างตั้งแต่เกิด แต่ร่างกายส่วนอื่นปกติทุกอย่าง บอกว่าในพาราลิมปิก ปี 2012 ที่กรุงลอนดอน นักกีฬาพาราลิมปิกใช้ถุงยางอนามัยประมาณ 90% ของ 43,000 ชิ้นที่ผู้จัดเตรียมให้

ต่อมาในพาราลิมปิก ปี 2016 ที่ริโอ อาลีได้เหรียญเงินจากการยกน้ำหนัก

ไจล์ส ลอง (Giles Long) นักว่ายน้ำพาราลิมปิก วัย 45 ปี ทีมสหราชอาณาจักร เจ้าของเหรียญทองพาราลิมปิก 3 เหรียญ ในพาราลิมปิก ปี 1996 ที่แอตแลนต้า และปี 2000 ที่ซิดนีย์

ไจล์สไหล่ขวาไม่สมบูรณ์ เพราะเป็นมะเร็งที่กระดูกตอนอายุ 13 ปี บอกว่าคนพิการนั้นบางครั้งยากที่จะหาคนกุ๊กกิ๊กด้วยเวลาที่อยู่ที่ประเทศตัวเอง

เมื่อได้เข้าร่วมแข่งขันพาราลิมปิก สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป ได้เจอคนพิการจากทั่วโลก มีประสบการณ์ชีวิตเหมือนกัน เข้าอกเข้าใจกัน เวลาพบกันครั้งแรก ก็ไม่ต้องอธิบายว่าชีวิตที่เดินไม่ได้ มองไม่เห็น หรือร่างกายไม่เหมือนคนทั่วไป นั้นมันเป็นอย่างไร

ไม่ต้องเสียเวลามาย้อนอดีตถึงที่มาของความพิการ สามารถคุยเรื่องอื่นที่อยากจะคุยได้เลย

อาลี จาวาด (Ali Jawad)

ดร.ทัพพี โอเวนส์ (Dr. Tuppy Owens) ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศสัมพันธ์ของคนพิการ และมีศูนย์ชื่อ Outsiders เพื่อให้คำปรึกษาช่วยเหลือเรื่องเพศสัมพันธ์กับคนพิการ บอกว่าคนพิการจะเข้าใจร่างกายของตัวเองมากกว่าคนทั่วไป และมักจะใช้ถุงยางอนามัย เพราะเป็นกลุ่มคนที่ดูแลสุขภาพตัวเองดีมาก

ดร.ทัพพีบอกว่า จากประสบการณ์ของเธอ คนพิการเพศชายที่ตัวเล็กมักจะมีความต้องการทางเพศสูง จากทฤษฎีส่วนตัวของเธอคิดว่าอาจเป็นเพราะมีศีรษะที่ใหญ่และอวัยวะเพศที่ใหญ่เมื่อเทียบกับร่างกายส่วนอื่น

นอกจากนี้ ดร.ทัพพีเห็นว่าสำหรับคนพิการผู้ชายที่ร่างเล็ก น่าจะมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายพลุ่งพล่านหมุนเวียนในร่างกายเยอะกว่าผู้ชายปกติ เมื่อเทียบกับขนาดตัว

ดร.ทัพพีบอกว่า ที่พูดข้างต้นเป็นความเห็นส่วนตัวของเธอ ยังไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์