เสื้อกาวน์ ขอเสื้อเกราะ (คุณภาพดี)/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

เสื้อกาวน์

ขอเสื้อเกราะ (คุณภาพดี)

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น

โดยเฉพาะการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย)

ที่ตอนนี้ระบาดทั่วประเทศถึง 30% เฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑลระบาดแล้ว 50%

คาดว่าอีกไม่นานจะระบาดมากกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ)

ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานกันอย่างหนัก เพราะคนไข้ทะลักล้น

จำนวนคนป่วยหนัก และเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน

คลิปซึ่งปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ ที่เป็นภาพรูปพยาบาลโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ซึ่งอยู่ในขณะสวมชุดพีพีอี (PPE) วูบเป็นลมหมดสติ ต้องมีเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยกันเอาตัวออกมาปฐมพยาบาลภายนอกเมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. ของวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา

เป็นภาพสะเทือนใจของคนทั้งประเทศ

 

ขณะเดียวกันก็เริ่มมีความวิตกกังวลสูงขึ้น ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไป

เมื่อเริ่มมีข้อมูลปรากฏว่า วัคซีน “หลัก” ที่ฉีดในประเทศ คือ ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 น้อยลง

โดยเฉพาะกับสายพันธุ์เดลต้า ที่แม้ฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้ว กลับมีการติดเชื้ออีก

ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ ที่ส่วนใหญ่ฉีดซิโนแวคอยู่ในแนวหน้าของสมรภูมิโรคระบาด หวาดกลัวจะติดเชื้อซ้ำสูง และยังจะแพร่ไปยังผู้เข้ารับการตรวจและรักษาอีก

ซึ่งหากบุคลากรทางการแพทย์ติด ระบบสาธารณสุขก็จะพลอยหยุดชะงักไปด้วย

จึงนำไปสู่การตั้งคำถามว่า หมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชน ต้องมีการฉีดวัคซีนเข้ม 3 หรือไม่

และเข็มที่ 3 นั้น ควรจะเปลี่ยนชนิดของวัคซีนหรือไม่

 

ขณะที่ยังไม่มีข้อสรุป

ปรากฏว่าเมื่อ 30 มิถุนายน 2564 มีการประชุมเฉพาะกิจร่วม ระหว่างคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทํางานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ปรากฏว่ามีเอกสารบันทึกการประชุม “หลุด” ออกมา

โดยในเอกสารระบุว่า มีการหารือถึงแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ที่คาดว่าจะนำเข้าจากสหรัฐมาสู่ประเทศไทยเดือนกรกฎาคม จำนวน 1.5 ล้านโดส ควรเน้นให้กลุ่มใดใน 3 กลุ่มบุคคล คือ

1. กลุ่มบุคคลอายุ 12-18 ปี

2. กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้วัคซีน ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์

3. ให้บุคลากรด่านหน้ากระตุ้นภูมิคุ้มกัน เป็นวัคซีนเข็มที่ 3

ที่ประชุมแสดงความคิดเห็นหลายแนวทาง บางส่วนเห็นว่า ควรให้กลุ่มที่ 2

ขณะที่กลุ่มบุคคลอายุ 12-18 ปี ยังสามารถรอวัคซีนจากการสั่งซื้อได้

ส่วนการฉีดเป็นวัคซีนเข็มที่สามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้านั้น

มีความเห็นบางส่วนที่เห็นว่า ถ้านำมาฉีดเป็นวัคซีนเข็มที่ 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์

อาจถือเป็นการยอมรับว่า “วัคซีนซิโนแวคไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น”

ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสดังกล่าว เป็นวัคซีนเข็มที่ 1 ให้ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง คือ กทม. และปริมณฑล

ส่วนกลุ่มบุคคลอายุ 12-18 ปี และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ยังไม่ได้รับความเห็นชอบ

 

จากเอกสารที่หลุดออกมานี้

ได้ส่งผลสะเทือนต่อความรู้สึกของบุคลากรทางการแพทย์อย่างรุนแรง

คือนอกจากจะไม่ได้รับการฉีดเข็มที่ 3 แล้ว

ยังต้องอยู่ภายใต้วาทกรรมชี้นำว่า “ถ้านำมาฉีดเป็นวัคซีนเข็มที่ 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์ อาจถือเป็นการยอมรับว่า วัคซีนซิโนแวคไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น”

ทั้งที่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ไม่ได้มีส่วนในการตัดสินใจใดๆ กับการใช้วัคซีนดังกล่าว

แต่กลับต้องมารับกรรมแทน

สร้างความไม่พอใจให้กับแพทย์ พยาบาล และบุคลกรอื่นๆ อย่างกว้างขวางและรุนแรง ทั้งในแง่ปัจเจกและองค์กร

อาทิ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กดุเดือดว่า

“เราเป็นคนไม่สุภาพมาก ทุกวันนี้

อุทานกันว่า…แม่…ง… เชี่…ย

หลังจากเราและแพทย์ประจำบ้าน เหล่าด่านหน้า ฉีดวัคซีนครบสองเข็มและดูระดับภูมิคุ้มกันแล้ว ต่ำต้อย

แถมพวกเรามีติดไประนาว แพร่ไปหลาย และในคนที่อยู่ในห้องปฏิบัติการด้วย

และท่านๆ ที่หอคอยสูงล้ำ เอาตำรา วารสารมาอ้างว่า มิเป็นไร มิจำเป็น

ที่มีอยู่ ที่สั่งมาก็ดีแล้ว

พวกตรู อ่านวารสารเป็น ทำวิจัยด้วย แถมอยู่ด่านหน้า

ขออภัยอย่างยิ่ง ที่ไม่สุภาพ”

 

ขณะที่ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุข้อความว่า

“ขอสนับสนุนให้วัคซีนเข็ม 3 กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า

ด้วยบุคลากรทางการแพทย์ในด่านหน้าเสมือนเป็นทหารอาสาสู้ศึก covid-19 ที่ต้องเสียสละตนเอง โดยมีโอกาสได้รับเชื้อจากผู้ป่วยตลอดเวลา ย่อมถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่สุดกว่ากลุ่มใดๆ

ในการออกรบจำเป็นต้องได้รับ “เกราะป้องกันที่ดีที่สุด”

เพื่อให้เขาสามารถ ‘อยู่รอด’ ปฏิบัติงานคุ้มครองผู้ป่วยได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เชื้อระบาดอย่างรุนแรงวิกฤต จนจำนวนบุคลากรไม่เพียงพออยู่แล้ว

การติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์คนหนึ่งไม่เพียงทำให้เขาหยุดงาน แต่กลายเป็นภาระของผู้ร่วมงานที่ต้องปฏิบัติงานแทน ขึ้นเวรแทน ทำงานมากขึ้น

…ขอให้ผู้เกี่ยวข้องโปรดพิจารณา เพิ่มเกราะอย่างดีให้กับนักรบเสื้อขาว

โดยสนับสนุนให้จัดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เพื่อให้เขาไปดูแลประชาชนอย่างเต็มที่…”

 

ความไม่พอใจยังลามไหลไปสู่ปริมณฑลทางการเมือง

เมื่อมีแถลงการณ์จากกลุ่มหมอไม่ทน เชิญชวนประชาชนแสดงพลังติดโบดำ สวมเสื้อดำ เพื่อไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิต ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 และผุดแคมเปญ โควิดอินเดียมาแล้ว โควิดแอฟริกามาแล้ว ปลดล็อกวัคซีนตัวอื่นด่วน ให้ร่วมลงชื่อได้ที่ http://www.change.org/VaccineWeTrust

ทั้งนี้ แถลงการณ์หมอไม่ทน ระบุว่า

จากเหตุการณ์เอกสารการประชุมเฉพาะกิจฯ ซึ่งเป็นการประชุมเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ในมติไม่ได้มีพูดถึงการฉีดวัคซีน Pfizer เพื่อเป็นการกระตุ้นเข็ม 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นด่านหน้า แม้จะได้รับวัคซีนครบแล้วแต่ยังมีการติดเชื้อโควิด-19 อยู่ ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนส่วนมากยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มแรก

หมอไม่ทนจึงขอเชิญชวนทั้งประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมสวมเสื้อดำ/ติดโบดำในวันพุธที่ 7 กรกฎาคม 2564 เพื่อเป็นการไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิต ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 และผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด

และยื่นข้อเรียกร้องต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ ผอ.ศบค. ดังนี้

1. นำเข้าวัคซีน mRNA ให้ได้เร็วที่สุด และนำมาใช้เป็นวัคซีนหลัก โดยจะต้องเปิดเผยขั้นตอนการดำเนินการให้ประชาชนทราบ

2. นำวัคซีน mRNA เป็นวัคซีนฉีดกระตุ้นเข็ม 3 แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ต้องการฉีดทุกท่าน

3. เปิดเผยสัญญาการสั่งซื้อวัคซีน AstraZeneca และ Sinovac รวมถึงวัคซีนอื่นๆ ที่ทางรัฐบาลไทยจะทำสัญญาในอนาคต เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส

4. เปิดเผยบันทึกการประชุมในการประชุมเรื่องวัคซีนและการบริหารจัดการการระบาด COVID-19 เป็นข้อมูลข่าวสารสาธารณะทั้งหมด

5. COVID-19 สามารถแพร่กระจายผ่านอากาศ การสวม N95 จึงไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อ รัฐจำเป็นต้องจัดหา FFP3 หรือ N99 เพื่อป้องกันการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์

 

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่า แม้นายอนุทินจะพยายามลดโทน โดยระบุว่า เป็นเพียงความเห็นทางวิชาการ ไม่ใช่มติของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือรัฐบาล

ขณะที่อธิบดีกรมควบคุมโรคปฏิเสธว่าไม่ใช่เอกสารจริงเพราะไม่ใช่บันทึกอย่างเป็นทางการของที่ประชุม จึงไม่ควรเผยแพร่

แต่กระแสไม่พอใจก็ยังไม่หยุด

จนเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ศ.เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร์ ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ต้องออกมาแถลงเกี่ยวกับประเด็นฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 3 หรือ “บูสเตอร์โดส” และกลุ่มผู้ที่ต้องฉีด

โดยปูพื้นคาดการณ์ว่าอีก 1-2 เดือนข้างหน้า โควิด-19 ที่ระบาดในประเทศไทยจะเป็นสายพันธุ์เดลต้าเกือบทั้งหมด เพราะเชื้อกระจายเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าประมาณ 40%

และออกตัวว่า ถึงแม้วัคซีนซิโนแวคจะป้องกันสายพันธุ์เดลต้าไม่ได้

แต่ซิโนแวค 2 เข็มสามารถป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย หรือทำให้ไม่ต้องไปโรงพยาบาล หรือไม่เสียชีวิต ได้มากกว่า 90%

และให้ข้อมูลว่า ทั่วโลกกำลังหาวัคซีนเจเนอเรชั่นใหม่ที่ครอบคลุมการป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์ทั้งหลาย

คาดว่าจะสำเร็จอย่างเร็วที่สุดปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565

ฉะนั้น ระหว่างที่รอวัคซีนเจเนอเรชั่นใหม่ ต้องหาทางแก้ไข

นั่นคือการให้บูสเตอร์โดส หรือเข็มกระตุ้น

ซึ่ง นพ.อุดมย้ำว่า ยังไม่อยากเรียกว่าเข็มที่ 3 เพราะตอนนี้ยังไม่มีแนวทางที่เป็นทางการจาก WHO หรือประเทศใดๆ ว่าต้องฉีดเข็มที่ 3

แต่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช และจุฬาฯ กำลังศึกษาเรื่องนี้ คาดว่า 1 เดือนจะทราบผล

นพ.อุดมบอกว่า ถ้าการใช้บูสเตอร์โดสได้ผล จะเริ่มให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานด่านหน้า ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 7 แสนคน

รองลงมาคือกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทั้งโรคหัวใจ โรคมะเร็ง ผู้ที่ได้ยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

โดยวัคซีนที่จะใช้กระตุ้นอาจเป็นแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ที่จะเข้ามา 1.5 ล้านโดส

ซึ่งในวันเดียวกัน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ได้มาเสริม

โดยแถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคจำนวน 10.9 ล้านโดส ด้วยวงเงิน 6,111.412 ล้านบาท

นอกจากนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนหลักอีก 1 ยี่ห้อ โดยมอบให้อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นผู้ลงนามในสัญญา จำนวน 20 ล้านโดส

นอกเหนือจากนี้ สหรัฐอเมริกาจะบริจาควัคซีนไฟเซอร์ให้กับรัฐบาลไทยอีกล็อตหนึ่ง

พร้อมกันนี้ ครม.เห็นชอบให้จัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา เพื่อเป็นวัคซีนทางเลือกโดยประชาชนต้องชำระกับภาคเอกชนเองอีกด้วย

 

คําแถลงของ นพ.อุดม ซึ่งเป็นเสมือนมือขวาของ พล.อ.ประยุทธ์และนายอนุชาข้างต้นนั้น

ว่าไปแล้ว เป็นเสมือนการผ่อนคลายความไม่พอใจของเหล่าคุณหมอ พยาบาล และประชาชน ที่เกิดขึ้น

โดยยืนกรานกลายๆ ว่า รัฐบาลและ ศบค.มิได้ละเลย หรือเพิกเฉยต่อการหา “เสื้อเกราะ” คุณภาพดีให้แก่กลุ่มคนเสื้อกาวน์

และพร้อมให้มีวัคซีนเข็มที่ 3

ฟังแล้ว คนไทยและคนในวงการแพทย์ พยาบาล จะทำใจรับ หรือเชื่อได้หรือไม่

ยังเป็นคำถามอยู่

เป็นคำถามขณะที่สถานการณ์โควิด-19 เลวร้ายลง ทั้งจำนวนผู้ป่วย คนตาย และความเสียหายที่เกิดขึ้น

มิได้มีทีท่าที่จะสามารถเปิดประเทศใน 120 วันอย่างที่นายกรัฐมนตรีตั้งเป้าไว้