กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร [ ธุรกิจพอดีคำ ] : “ต่อจุด”

ณบริษัทผลิตฟูกที่นอนแห่งหนึ่ง ใจกลางกรุงเทพฯ

กรวิชญ์ พนักงานหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง กำลังนำเสนอไอเดียใหม่ล้ำต่อผู้บริหารระดับสูง

“พวกเราเคยตั้งคำถามมั้ยครับ ว่าทำไมคนเราถึงต้องนอนราบด้วย ฟูกที่นอนที่เรามีกันอยู่นั้น ตอบสนองความต้องการที่จะนอนราบเพียงอย่างเดียว ทั้งๆ ที่สรีระของคนเรา เวลาที่จะหลับ อาจจะมีแบบอื่นได้ จะดีไหมครับ ถ้าหากเราสามารถมีฟูกที่รองรับสรีระเราได้ทุกท่วงท่า ผมขอเสนอให้พวกเราทำ “ฟองสบู่อเนกประสงค์” กันครับ”

ฟองสบู่นี้จะเป็นวัสดุชนิดพิเศษ มีลักษณะเหมือนเจลใสๆ มีขนาดใหญ่เท่าตัวคน

เราสามารถเข้าไปอยู่ตรงกลาง “เจล” นี้ได้

เจลจะรองรับสรีระเราทุกท่วงท่าที่เราอยากจะพักผ่อน

การพักผ่อน ไม่จำเป็นต้องนอนราบเสมอไปอีกแล้ว

ไม่ว่าเราจะพักผ่อนท่าไหน เจลก็จะรองรับน้ำหนักได้ทุกส่วน

อีกทั้งเมื่อคุณเข้าไปอยู่ในเจลชิ้นนี้แล้ว

มลภาวะทางเสียงทุกอย่างจะหายไป

ราวกับว่าคุณก้าวเข้าไปอีกโลกหนึ่ง

โลกส่วนตัวของคุณเอง ที่คุณสามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่

ตัดขาดจากสภาพแวดล้อมอย่างแท้จริง

เป็นสุดยอดของ “การพักผ่อน”

ที่จะทำให้ “ฟูกที่นอน” ขายไม่ได้อีกต่อไป

คุณคือผู้บริหารของบริษัทฟูกที่นอนแห่งนี้

ฟังเจ้าหนุ่มเสร็จแล้ว คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง

เวลาพูดถึงเรื่อง “นวัตกรรม (Innovation)”

คนเรามักจะนึกถึง “เทคโนโลยี” อะไรที่มันล้ำๆ เท่ๆ ในแบบ “ดิจิตอล”

ไม่ว่าจะเป็น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)

รถยนต์ขับเองได้ แอพพลิเคชั่นเจ๋งๆ ในโทรศัพท์มือถือ

ของเหล่านี้ แน่นอนเป็นเรื่องของเทคโนโลยีแห่งอนาคต ที่จะมาตอบโจทย์การใช้ชีวิตของมนุษย์เรา

แต่หลายครั้ง ผมมักจะถาม “ผู้บริหาร” ที่มาเรียนเรื่อง “ความคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)” กับผมว่า

แล้ว “เก้าอี้” ที่วางอยู่มุมห้องตัวนั้นล่ะ เป็น “นวัตกรรม” รึเปล่า

ห้องเรียนก็มักจะเงียบไปสักนิดหนึ่ง ซุบซิบกันเล็กน้อย ว่านี่คงจะเป็น “คำถามหลอก” แน่ๆ

หลายคนตอบว่า “เป็นสิ”

ก็เมื่อวันหนึ่งที่โลกนี้ มันยังไม่มี “เก้าอี้” แม้แต่ตัวเดียว

คนที่ช่างคิด ช่างออกแบบเก้าอี้ออกมาให้ผู้คนได้นั่งกัน

ให้นั่งได้นาน ไม่เมื่อยก้น ทำงานได้นานขึ้น ส่งเสริมเศรษฐกิจกันไปต่างๆ นานา

บุรุษผู้สร้าง “เก้าอี้” ตัวแรกของโลกนั้น

ช่างเป็นอัจฉริยะนวัตกรอย่างแท้จริง

หลายคนว่าเข้าไปนั่น

อีกหลายคนก็มักจะกล่าวเสริมว่า

นวัตกรรมนั้น มีเรื่องของ “เงื่อนเวลา” มาเกี่ยวข้องด้วย

ของที่เรามองเป็นเรื่องปกติๆ ในวันนี้ โต๊ะ ตู้ เตียง เก้าอี้

ต่างก็เคยเป็นของใหม่ เป็น “นวัตกรรม” ที่ทำให้ชีวิตผู้คนในสมัยหนึ่ง ดีขึ้นได้อย่างก้าวกระโดด

นวัตกรรมนั้น ต้องศึกษาถึงที่มาที่ไปด้วย ต่างๆ นานาจะวิเคราะห์กันไป

เมื่อพี่ๆ ผู้บริหารแสดง “วิสัยทัศน์” กันเสร็จแล้ว

ผมก็มักจะยิ้มๆ แล้วขออนุญาตเล่าเรื่องอุปมาอุปไมยให้ฟังเรื่องหนึ่ง

แบบนี้ พี่ๆ ลองนึกดูนะครับ

ในวันที่โลกใบนี้ยังไม่มีเก้าอี้เลยแม้แต่ตัวเดียว

ผู้คนยังไม่รู้จักว่าเก้าอี้คืออะไร

มนุษย์มีท่านั่งอยู่ท่าเดียวคือ “นั่งขัดสมาธิ” ที่พื้นราบ

ผมเดินเข้ามาในห้องประชุม ที่มีพี่ๆ ในที่นี้ เป็นผู้บริหารของบริษัทผม

ผมนำเสนอแบบนี้

“พี่ๆ ครับ ต่อไปนี้คนเราจะมีท่าใหม่ครับ”

เราเรียกว่าท่า “นั่งเก้าอี้”

ท่านี้ นั่งสบายกว่านั่งพื้นครับ ไม่ต้องพับขา ลดอาการปวดเมื่อย

นั่งได้นานขึ้น ทำอะไรต่างๆ ได้นานขึ้น ชีวิตของลูกค้าก็จะดีขึ้นครับ

พี่ๆ อาจจะสงสัยแล้วว่า “เก้าอี้” คืออะไร

ผมจะประดิษฐ์ของสิ่งหนึ่ง มีขาสี่ขา ทำด้วยเหล็ก

ตรงด้านบน ผมจะหุ้มด้วยฟองน้ำนุ่มๆ

ของสิ่งนี้ผมจะเรียกมันว่า “เก้าอี้” ครับ

ลูกค้าสามารถเคลื่อนย้ายมันไปในที่ต่างๆ ได้ สามารถจะ “นั่งเก้าอี้” ได้ทุกที่ ทุกเวลา

ไม่ต้องนั่งพื้น นั่งโขดหิน กันต่อไปแล้ว

นี่คือ “ผลิตภัณฑ์” ที่ผมคิดว่าจะเปลี่ยนการใช้ชีวิตของมนุษย์ไปตลอดกาล

พี่คิดว่าอย่างไรบ้างครับ

เมื่อผมพูดตัวอย่างการขายงานนี้จบ

พี่ๆ ผู้บริหารก็มักจะหัวเราะออกมา

เริ่มจะเข้าใจถึง “บทเรียน” ของเรื่องนวัตกรรมที่สำคัญมากๆ อย่างแรกๆ

เป็นสิ่งที่ “สตีฟ จ็อบส์” เคยบอกไว้ในสุนทรพจน์ที่โด่งดัง เมื่อเข้าไปพูดงานปัจฉิมนิเทศที่มหาวิทยาลัย “สแตนฟอร์ด”

“เป็นเรื่องง่ายที่คุณจะต่อจุดย้อนกลับไปในอดีต

คุณจะเห็นชัดเจนว่า อะไรในชีวิตที่คุณทำมา พาคุณมาจนถึงทุกวันนี้

แต่เป็นเรื่องยากมาก ที่คุณจะต่อจุดไปในอนาคต

จุดที่คุณจุดใหม่ทุกครั้ง อาจจะพาคุณไปในที่ที่คุณไม่รู้เลย ก็เป็นได้

แต่คุณก็ต้องลองก้าวออกไป แล้วเปิดรับสิ่งใหม่ๆ”

นวัตกรรมก็เป็นเช่นนั้น

เก้าอี้ ถ้าจะให้วิเคราะห์ว่า ทำไมมันถึงเกิดขึ้น

ผู้บริหารประสบการณ์สูง ที่ปรึกษาชื่อดัง นักวิชาการ ก็สามารถอธิบายได้เป็นฉากๆ เขียนหนังสือกันได้เป็นเล่มๆ

แต่ถ้าในวันนั้น ให้คนเหล่านี้เป็นคนตัดสินใจว่าจะทำ “ผลิตภัณฑ์” ใหม่ๆ อย่างเก้าอี้หรือไม่

คำตอบส่วนใหญ่คือ “ไม่”

ของใหม่ที่ยังไม่มีใครทำ

ถ้าอยากจะพิสูจน์ว่า “สำเร็จ” หรือไม่

มีวิธีเดียวคือต้อง “ลงมือทำ”

การเข้าใจที่มาที่ไปของ “นวัตกรรม” ในเชิงทฤษฎี

กับการตัดสินใจ “สร้าง” นวัตกรรม ในวันที่มันยังเป็นเพียงแค่ “ความคิด” ที่รอการพิสูจน์นั้น

เป็น “ทักษะ” คนละอย่างโดยสิ้นเชิง

อย่างแรก คือ “นักวิชาการ” บ้าทฤษฎี พูดแล้วดูดี แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

อย่างหลัง คือ “ผู้ประกอบการ” ที่มีวิสัยทัศน์ สร้างสรรค์โลกให้สวยงามขึ้นมาจนทุกวันนี้

กลับมาห้องประชุมบริษัททำ “ฟูก” ของคุณ กับนาย “กรวิชญ์” พนักงานไฟแรง

“ฟองสบู่อเนกประสงค์” ที่จะมาทำให้ “ฟูก” ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

ลงทุนมั้ยครับ ผู้บริหารทั้งหลาย