คำ ผกา | เชื่องใดไหนจะเชื่องเท่าเรา

คำ ผกา

สารภาพว่าฉันเริ่มสับสน จับต้นชนปลายไม่ถูกกับสภาพของประเทศไทยตอนนี้

เท้าความเดิมว่า ก่อนจะมีการระบาดของโควิด สภาพของประเทศไทยก็ไม่ได้ดีเท่าไหร่นัก เศรษฐกิจของเราอยู่ในสภาวะถดถอย อุตสาหกรรมเดียวที่พยุงรายได้ของประเทศเอาไว้คือการท่องเที่ยว

ณ เวลานั้น รัฐบาลยังพยายามขายฝันโครงการระเบียงเศรษฐกิจ อีอีซี รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน รถไฟความเร็วสูงกรงเทพฯ-โคราช

แต่ดูเหมือนสิ่งเดียวที่รัฐบาลทำสำเร็จคือโครงการ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” คำว่าสำเร็จในที่นี้หมายถึง บอกว่าจะทำแล้วก็ทำออกมาจนได้ ไม่ได้หมายถึงความสำเร็จในความหมายที่ว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐนี้ไป empower หรือไปช่วยให้ “คนจน” ฟื้นตัว เข้มแข็งทางเศรษฐกิจขึ้นมาอย่างไร

ไม่นับข้อครหาเรื่อง “เงื่อนไข” ในการใช้เงินที่มากเกินไปและเงินที่ให้กับ “คนจน” ก็น้อยเกินกว่าจะกลายเป็นต้นทุนอะไรในชีวิตเขาเหล่านั้น

ณ เวลานั้น รัฐบาลถูกวิจารณ์เรื่องความล้มเหลวในการแกปัญหาเศรษฐกิจจนมีการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ “สี่กุมาร” ออก แล้วตั้งทีมเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่

 

ยังไม่ทันที่เราจะได้วัดความสามารถของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ว่าจะนำพาประเทศชาติไปทางไหน โลกก็เผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโรคอุบัติใหม่คือโควิด-19

ก่อนมีวัคซีน หลายประเทศไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา อิตาลี สวีเดน ออสเตรเลีย เป็นต้น ต้องเผชิญกับการระบาดอย่างหนัก ตัวเลขผู้ติดเชื้อ และยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูง

ทำให้บางประเทศเลือกวิธีการล็อกดาวน์

บางประเทศอย่างสวีเดนเลือกไม่ล็อกดาวน์เพราะประเมินความสามารถทางการคลังของประเทศแล้วเห็นว่าแบกรับ “ราคา” ของการล็อกดาวน์ไม่ไหว

หันมามองประเทศไทยซึ่ง ณ เวลานั้นฉันคิดว่าประเทศไทยค่อนข้างโชคดีที่สถานการณ์โควิดของเราไม่รุนแรง อาจเป็นเพราะเราไม่ใช่เมืองหนาวที่คนใช้ชีวิตในที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท เมืองร้อนอย่างประเทศไทยคนล้างมือ อาบน้ำ ถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้าน ให้ความร่วมมือเรื่องใส่หน้ากากค่อนข้างเคร่งครัด การยุติการเดินทางระหว่างประเทศ ฯลฯ เหล่านี้เป็นมาตรการที่ทำให้โควิดในประเทศไทยอยู่ในจุดที่ “ปลอดภัย” เมื่อเทียบกับประเทศอื่น

แต่ในขณะที่สถานการณ์การระบาดของเราค่อนข้างปลอดภัย ภาครัฐกลับสร้างความตื่นกลัวจนเกินกว่าเหตุให้กับประชาชน พร้อมคำขู่ที่มาเป็นชุด เช่น “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”, “ประชาชนการ์ดอย่าตก”

ส่วนหมอ บุคลากรทางการแพทย์ ถูกเปรียบเสมือน “นักรบเสื้อกาวน์” หรือ “นักรบชุดขาว”

ซึ่งส่งนัยสองประการคือ

หนึ่ง ผลักให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้เสียสละ พร้อมพลีชีพเพื่อชัยชนะของประเทศชาติ ทั้งๆ ที่ในความจริง หมอและบุคลากรทางการแพทย์ก็เป็นอาชีพหนึ่งที่ต้องทำหน้าที่ ทำงานของตัวเอง และพึงได้รับการคุ้มครองทางแรงงาน รายได้ สวัสดิการอย่างเป็นธรรมเช่นเดียวกับอาชีพอื่น

ทว่าการยกให้เป็น “นักรบ” จึงเท่ากับเป็นการเอา “ความดี” ไปคล้องคอคนเหล่านั้นเพื่อให้พวกเขาต้องทำงานหนักเกินไป และเสี่ยงภัยโดยไม่จำเป็น แต่ก็พูดไม่ออก เพราะถูกยกให้เป็น “นักรบ” ผู้เสียสละเสียแล้ว

สอง เป็นกระบวนการฝัง guilt หรือความรู้สึกผิดไว้กับประชาชน ชาวบ้านร้านช่องประมาณว่า ถ้ามึงติดโควิด คือมึงไม่รู้จักระวังตัว มึงการ์ดตก มึงไม่อยู่บ้าน มึงไม่หยุดเชื้อ มึงไม่ทำเพื่อชาติ

มึงคือตัวการทำให้ “นักรบแถวหน้า” ของเราต้องลำบาก ทำงานหนัก เหนื่อยล้า หรือแม้กระทั่งอาจจะตายเพราะความหละหลวมของมึง

 

สองประการนี้รวมกันอยู่ในจิตสำนึกของคนไทยที่โดยทั่วไปมีแนวโน้ม “เชื่อฟัง” คำสั่งสอนของรัฐอย่างมากอยู่เป็นทุนเดิม และแทบจะหลงลืมไปเลยว่า โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์รักตัวกลัวตาย ไม่มีใครอยากติดโควิด ไม่มีใครอยากป่วย ดังนั้น คนย่อมพยายามดูแลตัวเองเท่าที่จะดูแลได้

และหากจะต้องติดโควิด จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม “รัฐ” มีหน้าที่เดียวคือ มองว่าเป็นเรื่อง “สุดวิสัย” ห้ามกล่าวโทษประชาชน หลังจากนั้นคือ มีหน้าที่ดูแล รักษาประชาชนให้ดีที่สุด

ย้ำ – รัฐไม่มีหน้าที่ ไม่มีสิทธิ์กล่าวโทษประชาชน และต่อให้ประชาชนจะประมาท รัฐก็มีหน้าที่ก้มหน้าก้มตาทำงานของตัวเองให้ดีเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อเกิดการระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่ค่อนข้างรุนแรง รัฐมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

หนึ่ง จัดสรรทรัพยากรทางสาธารณสุขเพื่อดูแล “ความป่วยไข้” อย่างเต็มความสามารถ พร้อมๆ ไปกับการดูแล อำนวยความสะดวกแก่บุคลากรทางการแพทย์ ให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตในห้วงแห่งการทำงานหนักที่ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ เพิ่มเงิน เพิ่มเบี้ยเลี้ยง ให้กำลังใจคนหน้างานเป็นค่าตอบแทนและการจัดสรรเวลาทำงานที่เหมาะสม ไม่ใช่ไปยกเขาเป็นนักรบแล้วทิ้งเขาให้ตายกลางสนามรบ

สอง รัฐมีหน้าที่ที่สำคัญมากคือ ประคองสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในระดับบุคคล แรงงาน และผู้ประกอบการ ฉันจะไม่เขียนซ้ำว่า รัฐต้องชดเชยรายได้ของประชาชนอย่างไม่มีเงื่อนไข ต้องมีแผนดูผู้ประกอบการผ่านซอฟต์โลน ผ่านเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย อย่างจริงจังและทันท่วงที – ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจว่ารัฐบาลไทยทำเรื่องเหล่านี้อย่างขอไปที จนเหมือนไม่ได้ทำ

สาม เพื่อความอยู่รอดในระยะยาว รัฐบาลต้องมีแผนการจัดหาวัคซีนแก่ประชาชน บนข้อแม้ว่า เราต้องได้วัคซีนคุณภาพดีที่สุด และหากเป็นไปได้เราควรมีตัวเลือกวัคซีนอย่างหลากหลาย หรืออย่างน้อยเหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดที่เราเผชิญอยู่

เช่น เราอาจใช้ซิโนแวคเพื่อเป็นวัคซีนฉุกเฉิน แต่วัคซีนเพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ ชีวิตของผู้คน และเศรษฐกิจ ควรเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าวัคซีนที่ดีที่สุดคือ วัคซีน MrNA

สำคัญกว่านั้น รัฐมีหน้าที่บริหารวัคซีนเหล่านี้กับประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และต้องหมายเหตุไว้ว่า หากประชาชนจะเลือกวัคซีนเชื้อตาย เช่น ซิโนฟาร์ม หรือซิโนแวค ก็ไม่แปลก รัฐมีหน้าที่แค่จัดหามาให้ประชาชนเลือก

ส่วนจะช้าหรือเร็ว ยังไม่สำคัญเท่ากับความจริงใจ และความพยายามที่จะได้มาซึ่งวัคซีนตามหลักคิดที่ว่า รัฐบาลมีหน้าที่จัดหาสิ่งที่ดีที่สุดมาให้ประชาชน

ส่วนการกระจายวัคซีน รัฐจะให้วัคซีนตามอายุ และกลุ่มเสี่ยง จะไล่จากอายุน้อยไปมาก หรือมากไปน้อยก็ไม่ใช่ปัญหา แต่สิ่งที่ไม่พึงเกิดขึ้นคือ การปาดหน้า การใช้เส้นสาย ความไม่โปร่งใสของการจัดซื้อวัคซีนและการกระจายวัคซีนที่อธิบายไม่ได้ว่า กระจายบนฐานคิดชุดไหน?

 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับสถานการณ์วัคซีนของไทยนั้นชวนให้งุนงงมาก เพราะมันเริ่มต้นจากที่รัฐบาลของเรายืนยันจะแทงม้าที่ตัวเองบอกว่าเป็นม้าตัวเต็งแค่ “ตัวเดียว” คือแอสตร้าเซนเนก้า

แต่สิ่งที่เกิดขึ้น วัคซีนที่สั่งมาเยอะที่สุด ใช้ฉีดมากที่สุดกลับเป็นซิโนแวค

หนักกว่านั้นคือซิโนแวคถูกนำไปฉีดให้บรรดาคนที่พวกคุณเรียกว่า “นักรบด่านหน้า”

ส่วนแอสตร้าฯ สุดท้ายอ้ำอึ้งว่า เราจะได้หนึ่งในสามของกำลังการผลิต อันไม่รับปากว่า กำลังการผลิตมีเท่าไหร่ ผลิตมากก็ได้มาก ผลิตน้อยก็ได้น้อย-เข้าใจให้ตรงกันนะ

ที่น่าอดสูชวนหัวมากขึ้นไปอีกคือ หน่วยงานภาครัฐ และหมอ ที่เขาว่า “เชื่อหมอไม่เชื่อหมา” ยังมีหน้ามาออกแคมเปญ “ถกแขนเสื้อเพื่อเราทุกคน” ในขณะที่คนไทยต้องออกไปแย่งจองวัคซีนที่นำเข้าโดยโรงพยาบาลเอกชนเหมือนจะชิงเปรต

ในต่างประเทศมีกลุ่มคนที่ต่อต้านการฉีดวัคซีน หรือ antivac บางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย คนต้องการไฟเซอร์ไม่ต้องการแอสตร้าฯ ที่รัฐบาลเลือกใช้เป็นวัคซีนหลัก ดังนั้น แคมเปญกระตุ้นให้คนออกไปฉีดวัคซีนเป็นแคมเปญของประเทศที่สั่งวัคซีนมาให้ประชาชนอย่างเพียงพอ แต่ประชาชนไม่ค่อยยอมฉีด

ทว่าสถานการณ์ในประเทศไทยตรงกันข้าม

แม้แต่ซิโนแวคที่ประสิทธิภาพยังเป็นที่ “ตั้งคำถาม” คนไทยก็ยังไม่ลังเลที่จะแห่กันลงทะเบียนไปฉีด ฉีดเสร็จก็แข่งกันรีวิว ถ่ายรูปอวดว่าฉีดแล้ว มีแอสตร้าฯ ออกมาให้จองคนก็แย่งกันไปจอง บางคนร้องห่มร้องไห้ จองให้พ่อให้แม่จองไม่ได้ หรือจองแล้วโดนเท

ตัดภาพมาอีกที ข่าวออกมาทุกวันว่าหมอ ประชาชนที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มแล้วยังติดโควิดอยู่ หมอโรงพยาบาลรามาฯ ถึงกับออกมาโพสต์เฟซบุ๊กว่าหมอติดโควิดกันเป็นใบไม้ร่วง ต้องสั่งโมเดอร์นามาให้หมอแล้ว

หรือล่าสุด ประธานหอการค้าสุรินทร์ติดโควิดทั้งๆ ที่ฉีดแล้วสองเข็ม – เมื่อเป็นอย่างนี้ คนที่เขารักตัวกลัวตาย คนที่อยากทำมาหากินต่อก็ต้องกระเสือกกระสนไปหาวัคซีนที่รัฐไม่จัดหาให้

โรงพยาบาลเอกชนเปิดจองโมเดอร์นา คนแห่กันลงทะเบียนจนระบบล่ม คนแห่กันขับรถไปจอง บางคนขับรถมาเป็นร้อยกิโล หอบเงินหลายหมื่นบาทมาจอง บางคนไปจองเพื่อขายใบจอง

สภาพแบบนี้ ยังมีหน้ามาออกแคมเปญถกแขนเสื้ออะไรกันอีก?

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่นับถ้อยคำในที่ประชุมของเหล่าหมอที่ว่า ถ้าฉีดไฟเซอร์เข็มสาม เท่ากับยอมรับว่าซิโนแวคไม่มีประสิทธิภาพ แล้วเราจะแก้ตัวยาก

ฉันสารภาพว่า มันเกินกำลังความสามารถของฉันที่จะวิเคราะห์ว่าทำไมรัฐบาลนี้จึงมีความชอบธรรมที่จะอยู่ในอำนาจได้?

และยังอยู่อย่างชื่นมื่นเหมือนเอาตีนมาลูบหน้าประชาชนอย่างเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

คนจน คนไร้เสียง ไร้อำนาจ ไม่พูดอะไรฉันยังเข้าใจได้

แต่คนชั้นกลาง คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ยังคงนิ่งและเงียบ ทั้งๆ ที่เสียงของคนเหล่านี้จะดังและมีพลังมากพอหากตั้งใจจะส่งเสียงอย่างจริงจังเท่ากับสมัยไล่ทักษิณ

แต่ฉันไม่ได้ยินเสียงจากคนเหล่านั้น หรือหากจะมีบ้าง ก็เป็นเสียงที่เต็มไปด้วยความ “เกรงใจ”

สันดานหมูหมากาไก่ในฟาร์ม อย่างที่เขาว่า มันมักจะเก่งแต่กับหมูหมากาไก่ด้วยกันเท่านั้นแหละ แต่กับ “นาย” ไม่พอใจแค่นี้ก็ทำได้แค่ส่งสายตาตัดพ้อ เว้าวอน

ทำได้แค่นั้นจริงๆ หงุดหงิดมากก็หันมากัดหมูหมากาไก่ด้วยกันนี่แหละ ถ้านายจะโยนเศษเนื้อให้สักชิ้นก็รีบปรี่ไปประจ๋อประแจ๋ด้วยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ก็ได้แต่หวังว่าในสังคมของเราจะไม่เป็นแบบนี้ และยังหลือกลิ่นอายศักดิ์ศรีของความเป็นคนกันอยู่บ้าง