ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 กรกฎาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | จ๋าจ๊ะ วรรณคดี |
ผู้เขียน | ญาดา อารัมภีร |
เผยแพร่ |
เฮฮาภาษาไทย
ที่ซอยสะพานคู่ย่านบ่อนไก่กรุงเทพฯ สมัยยังเด็กสัก 7-8 ขวบ เวลาไปบ้านคุณปู่-คุณย่าทีไร มักได้อะไรดีๆ จำกลับบ้านเสมอ เช่น “รถไฟไปโคราช ตดดังป้าดไปราชบุรี” ได้มาจากเด็กผู้ชายคนหนึ่งแหกปากร้องลั่นซอย หลายต่อหลายครั้งจำไปร้องเล่นไม่เห็นมีใครว่า
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ได้เรื่องเลย
“รำวงแห่ยายกี๋ หอกสามสีก็มารำด้วย
มาถึงวัดเขาเท่าซวย แคตาก่วยก็ออกมารำ”
ทั้งร้องทั้งรำอวดพี่เลี้ยงทำเอาพี่เขาหัวร่อน้ำหูน้ำตาไหล ผู้เขียนเลยเอาไปร้องให้คุณพ่อ-คุณแม่ฟังบ้าง ร้องยังไม่จบก็เจ็บจี๊ดที่ปากเพราะคุณแม่เอานิ้วดีดเต็มแรงและสั่งห้ามเด็ดขาด “หยาบคาย แม่ไม่ชอบ อย่าร้องอีก” ก็มันจำไปแล้ว ทำไงได้ ยังแอบร้องให้เพื่อนๆ ที่โรงเรียนฟังหลายครั้ง ตอนนั้นหัวเราะกันคิกคักทั้งๆ ที่ไม่รู้ความหมาย
แห่ยายกี๋ หอกสามสี เขาเท่าซวย และแคตาก่วย คือ คำผวน หรือคำที่พูดกลับเสียงคำเดิมโดยใช้สระและตัวสะกดของพยางค์หน้าและพยางค์สุดท้ายมาสลับกัน จะได้คำที่มีความหมายใหม่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะมีความหมายหยาบคายไปในทางเพศ หรือตลกขบขัน จัดเป็นศิลปะการเล่นคำ เล่นสนุกกับภาษาอย่างหนึ่งที่มีมาแต่โบราณ
แสดงถึงความร่ำรวยอารมณ์ขันของคนไทย
ในปริศนาคำทาย 4 ภาคก็มีคำผวนทั่วถึง
ภาคเหนือ – ตกโป๊ะข้างจี้ บ่หื้อว่าขี้จ้าง
ภาคเหนือ – ก้นหย่อน หัวงำ แม่นหยัง
(เฉลย ‘หำงัว‘ – อวัยวะเพศของวัวตัวผู้)
ภาคกลาง – อะไรเอ่ย ปี่แจ้ง แขนงเดียว
(เฉลย ‘แป้งจี่ ข้าวเหนียวแดง‘)
ภาคใต้ – ไอ้ไหรหา สองหนำ สามหนำ ข้างหนำเดียว
(เฉลย ‘ข้าวเหนียวดำ‘)
เหล่านี้สะท้อนถึงบุคลิกคนไทยที่สนใจเรื่องเพศ มีอารมณ์ขัน รักสนุก มีไหวพริบปฏิภาณและเจ้าบทเจ้ากลอน
ในวรรณคดีมีคำผวนนิดๆ หน่อยๆ พอเป็นน้ำจิ้ม
ดังที่สุนทรภู่บรรยายถึงผมเปียของจีนเจ้าสัวโดยเปรียบกับ ‘หางหนู’ หรือหางเปียขนาดเล็กและสั้น ลองนึกถึงภาพคนโกนผมออกจนเกือบเกลี้ยง คือ หัวล้านแต่ไว้หางเปียห้อยดุ๊กดิ๊กที่ท้ายทอย สุนทรภู่มีอารมณ์ขันและความหมั่นไส้จีนเจ้าสัวที่นั่งนับเงินอย่างเพลิดเพลิน มีเมียคอยปรนนิบัติไม่ห่างกาย แทนที่จะใช้คำว่า ‘หางหนู’ ก็ผวนเสียว่า ‘หูหนาง’ ดังนี้
“ลุดลชนบทบ้าน ขนมจีน
โรงเจ๊กตั้งริมตีน ท่าน้ำ
นั่งนับทรัพย์สิ่งสีน สยายเพ่า เล่าแฮ
เมียช่างสางสลวยล้ำ สลับผู้หูหนาง” (นิราศสุพรรณ)
ซึ่งต่างกับเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ที่ใช้คำตรงไปตรงมาว่า ‘หางหนู’ ถึงสองครั้งสองคราเมื่อพูดถึงผีเจ๊กและคนจีน
“ศรีประจันคิดได้เหลียวไปดู เป็นไรหางหนูหามีไม่
เทพทองร้องอึงคะนึงไป ก็นั่นฤๅมิใช่ไว้หางเปีย”
“อ้ายเจ๊กขายขนมล้มปั่นเป๋ อ้ายพวกโลนเสเพลเหนี่ยวหางหนู
ไอ๊ย่าลั่นเจี้ยวอย่าเหนี่ยวกู ลงหมอบมุดคุดคู้ไม่เข้าไป”
ในการเล่นสักวาก็ใช้คำผวนเพื่อให้เกิดความสนุกสนาน ดังจะเห็นได้จากสักรวาไปรษณีย์ เรื่อง “สุวรรณหงส์” นำชื่อคนมาผวนเพื่อให้เกิดความขบขันแก่ผู้บอกสักวาและผู้ฟัง
“นางคิดลึกคึกฤทธิ์คิดจะสวย ทำสำรวยมเหสีให้ดีสม
พอเดินหน่อยแกล้งเหนื่อยเมื่อยระบม ขึ้นแท็กซี่มีถมได้ชมเอย”
ทำนองเดียวกับสักรวาไปรษณีย์ เรื่อง “รามเกียรติ์” ตอนศึกทศกัณฐ์ที่นำคำทั่วๆ ไปมาผวนเล่น
“สักรวาน่ารำคาญมารขี้เกียจ ลงนอนเหยียดเอนตัวหัวปะหลก
ลิงชิงหลักยักษ์ละเมออยู่เพ้อพก เสียงหักหลกหกหลักแล้วพักกรน”
คำผวนยังเป็นเครื่องมือกระทบกระเทียบคนที่อาศัยความสนิมสนมส่วนตัวเป็นหนทางก้าวหน้าในราชการ ดังที่ ‘ศรีอยุธยา’ (พระนามแฝงของรัชกาลที่ 6) ใช้คำว่า ‘ลีนเตีย’ แทนคำว่า ‘เลียตีน’ ซึ่งเป็นสำนวนเปรียบเทียบที่มีความหมายว่า ประจบสอพลอเจ้านายจนออกนอกหน้าเพื่อตำแหน่งหน้าที่การงานโดยตรง ดังปรากฏใน “สักระวาน่าหนาว” ตอนหนึ่งว่า
“สักระวานายสวัสดิ์สบัดหน้า คำนับลาเจ้าคุณขุ่นไปบ้าน
บอกบิดาว่าลาออกจากงาน เพราะนายท่านไม่ชอบตัวลูกยา
อันลูกไซร้ไม่เปนหัวประจบ ไม่นอบนบลีนเตียเคลียเปนข้า
ทุกวันนี้คนดีมีวิชา ต้องเสียท่าคนช่าง ป. จ. เอยฯ”
(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)
มีวรรณกรรมคำผวนอยู่เล่มหนึ่งโด่งดังจากอดีตถึงปัจจุบัน ผวนตั้งแต่ชื่อเรื่องซึ่งมีสารพัดชื่อ เรียกกันผิดเพี้ยนไปตั้งแต่ “สรรพลี้หวน สรรพลีหวน สับพะลีหวน สรรพหวน ไปจนถึง ศัพท์หวน” แต่ชื่อที่แพร่หลายมากคือชื่อแรก เป็นผลงานของกวีชาวนครศรีธรรมราช นิทานคำกลอนเรื่องนี้ใช้คำผวนแพรวพราย ทั้งชื่อตัวละคร ชื่อสถานที่ และถ้อยคำที่บรรยายสะท้อนถึงอารมณ์ขันทางเพศอย่างไร้ขีดจำกัด อ่านแล้วกรามค้างไปหลายวัน
“นครังยังมีเท่าผีแหน กว้างยาวแสนหมื่นคืบสืบยศถา
เมืองห้างกวีรีหับระยับตา พันหญ้าคาปูรากเป็นฉากบัง
สูงพอดีหยีหิบพอหยิบติด ทองอังกฤษสลับสีด้วยหนีหัง
กำแพงมีรีหายไว้ขอดัง เจ้าจอมวังพระราโชท้าวโคตวย
มีเมียรักพักตร์ฉวีดีทุกแห่ง นั่งแถลงชมเชยเคยฉีหวย
เจ้าคีแหมรูปโอเมียโคตวย ท้าวหวังรวยกอดินอยู่กินกัน”
โอ้โฮ ! ของส่วนตั๊วส่วนตัวทั้งชายหญิงเรี่ยราดไปหมด
เก็บกันไม่หวาดไม่ไหว