งานกับคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่/บทความพิเศษ สุภา ปัทมานันท์

Japanese businessmen walk with their head down in Tokyo on November 17, 2008. Japan's economy slipped into recession in the third quarter as companies slashed investment to weather the financial crisis. Japan's economy contracted by 0.1 percent in the three months to September, after shrinking 0.9 percent in the second quarter of the year, according to a preliminary estimate released by the Cabinet Office. AFP PHOTO / Yoshikazu TSUNO (Photo credit should read YOSHIKAZU TSUNO/AFP/Getty Images)

บทความพิเศษ

สุภา ปัทมานันท์

 

งานกับคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่

 

การรับพนักงานเข้าทำงานของบริษัทต่างๆในญี่ปุ่นจะเปิดรับเพียงปีละครั้งพร้อมๆกัน โดยรับนักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษาในปีการศึกษานั้นๆ บริษัทจะทำการคัดเลือกผ่านกระบวนการคัดกรองต่างๆเริ่มตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาปลายปีที่ 3 หรือต้นปีที่ 4 เพื่อเข้าทำงานในเดือนเมษายน อันเป็นเดือนเริ่มต้นของปีงบประมาณ นักศึกษาต้องฝ่าด่านหินต่างๆอย่างเหนื่อยยากกว่าจะได้เข้าทำงาน บางคนได้ตามที่มุ่งหวัง บางคนพลาดหวัง แต่ก็ยังดีที่มีงานทำแล้ว

ในอดีตที่ญี่ปุ่นมีการจ้างงานแบบตลอดชีพ(終身雇用制度)เมื่อเริ่มเข้าทำงานที่ใดแล้วก็ทำเรื่อยไปจนถึงเกษียณอายุ อุทิศแรงกาย แรงใจและมอบความภักดีต่อองค์กรแห่งเดียวตลอดไป เพื่อแลกกับความมั่นคงในการดำรงชีพ เพราะบริษัทจะดูแล มีเงินเดือน สวัสดิการให้พนักงานและครอบครัวไปตลอด

แต่…ยุคสมัยและสภาพสังคมญี่ปุ่นได้เปลี่ยนไปแล้ว คนรุ่นใหม่ หนุ่มสาวญี่ปุ่น อยากมีอิสระในการดำเนินชีวิต ไม่อยากทุ่มเทแรงกายทั้งชีวิตเพื่อการทำงาน อยากมีเวลาทำสิ่งที่ตัวเองสนใจและชอบ

หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจนิคเคอิ ของญี่ปุ่นได้ทำการสำรวจคนหนุ่มสาวในวัยทำงานของญี่ปุ่นที่เข้าทำงานในบริษัทได้ 1- 3 ปี เกี่ยวกับความภักดีต่อองค์กร หรือพูดง่ายๆก็คือ คุณอยากทำงานบริษัทที่ทำอยู่ต่อไปอีกนานเท่าใดนั่นเอง โดยทำการสำรวจทางอินเตอร์เน็ต ให้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,148 คน แบ่งเป็น ผู้ชาย 629 คน ผู้หญิง 519 คน เป็นผู้จบการศึกษาสายมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ 714 คน สายวิทยาศาสตร์ 434 คน ขนาดขององค์กรที่ทำงานอยู่มีพนักงานต่ำกว่า 299 คน (13.9%) 330 – 999 คน (19.2%) 1,000 – 4,999 คน (26.4%) และ 5,000 คนขึ้นไป (40.5%)

ผลสำรวจทำให้เข้าใจถึงแนวโน้มของทัศนคติการทำงานของหนุ่มสาวญี่ปุ่นที่ผิดไปจากคนรุ่นเบบี้บูม หรือรุ่นปู่ ย่า พ่อแม่ แบบหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว

พนักงานที่เข้าทำงานได้ 1 – 3 ปีแล้ว มีเกินครึ่งที่กำลังคิดจะเปลี่ยนงาน แยกเป็นผู้ที่กำลังดำเนินการหางานใหม่ 4.3% และผู้ที่ยังไม่เริ่มแต่กำลังคิดอยู่ 46% เป็นผู้ที่ทำงานสายการเงินการธนาคาร 57.6% และสาย IT 55% มากที่สุด เหตุผลที่อยากเปลี่ยนงาน (ตอบได้หลายข้อ) ลำดับแรกๆ เช่น รู้สึกไม่มั่นคงในตัวบริษัทและสายงานในอนาคต 39.4% อยากได้เงินเดือนสูงขึ้น 38.4% งานไม่เหมาะกับความสามารถและนิสัย 31.6% ไม่ได้ฝึกฝนความชำนาญ 28.6% งานที่ทำไม่เป็นตามที่คาดหวัง 27.1% เป็นต้น

ผู้ที่อยู่ในธุรกิจการเงิน การธนาคาร ที่ให้เหตุผลว่า “รู้สึกไม่มั่นคง” มีถึง 45.9% จุดนี้น่าสนใจ

เพราะว่าในอดีต การได้เข้าทำงานในธนาคารยักษ์ใหญ่เป็นสิ่งที่นักศึกษาใฝ่ฝัน แต่ในอนาคต “ธุรกิจมีแนวโน้มหดตัว” “เป็นธุรกิจแบบตะวันตกดิน(斜陽産業)” เมื่อประเมินเช่นนี้แล้วจึงอยากรีบเปลี่ยนงานแต่เนิ่นๆ

ส่วนผู้ที่อยู่ในแวดวงงานด้าน IT ซึ่งขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในปัจจุบันและยังมีความต้องการอีกมากในอนาคตสำหรับยุคดิจิตอล ผู้ที่ทำงานด้านนี้จึง “อยากได้รับการยอมรับความสามารถและคุณค่าที่มีอยู่ให้มากขึ้น” ผู้ให้เหตุผลว่า “อยากได้เงินเดือนสูงขึ้น” จึงมีถึง 50%

ส่วนธุรกิจด้านอุตสาหกรรมการผลิต 43.8% ตอบว่า “เพื่ออนาคตที่ดีกว่า” “ไม่ค่อยมีคนมีความสามารถ ต่อไปถ้าผมเป็นผู้บังคับบัญชาจะทำงานลำบาก” (คนนี้คิดไกลมาก…)

อยากรู้ว่าพวกเขาเริ่มมีความคิดอยากเปลี่ยนงานตั้งแต่เมื่อไร 13.4% ตอบว่า “คิดไว้ตั้งแต่ก่อนเข้าทำงาน (อยากเลือกอาชีพเองได้อย่างยืดหยุ่น ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบแล้ว)” อันนี้น่าตกใจไม่น้อยเลย

เมื่อถามว่าหากรู้สึกว่าเข้ากับบริษัทหรืองานที่ทำไม่ได้ “จะทำงานต่อไปอีกสัก 3 ปี” หรือ “จะลาออกทันที” มีผู้เลือกตอบอย่างหลังสูงถึง 54.8% คนรุ่นพ่อแม่ ลุงป้า คงถึงกับอ้าปากค้างเมื่อรู้ความในใจของคนรุ่นใหม่นี้ (…รับไม่ได้แน่นอน)

ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของบริษัท IT ยักษ์ใหญ่ให้ความเห็นว่า คนหนุ่มสาวยุคนี้ไม่รู้จักสุภาษิต “ฝนทั่งให้เป็นเข็ม” (石の上にも三年 คือ นั่งบนก้อนหินเย็นๆสามปีก็ทำให้อุ่นได้)กันแล้ว ไม่มีความอดทน มุ่งมั่นทุ่มเท ยุคนี้จึงมีกระแสการเปลี่ยนงานเกิดขึ้น

อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมีชื่อในญี่ปุ่นให้ความเห็นว่า จากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน มีความเสี่ยงของธุรกิจที่จะประสบกับภาวะล้มละลายได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ดังนั้นจึงไม่แปลกที่บรรดานักศึกษาหัวกะทิทั้งหลายจะไม่ทนทำงานอยู่กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งนาน แต่จะกระตือรือร้นอยากก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างรวดเร็ว ในขณะที่มีคนไม่น้อยที่ทุกข์กับการหางานที่อยากทำไม่ได้

อีกประการหนึ่งก็คือ ในยุคสมัยที่คนญี่ปุ่นมีอายุเกิน100 ปี กันมากขึ้น คนรุ่นใหม่จะจัดระบบชีวิตของเขาเอง คือช่วงวัย 20 ปี เป็นเวลาที่สะสมประสบการณ์ต่างๆให้มาก และเป็นช่วงสำคัญในการค้นหาตัวเองให้พบ ต่อจากนั้น ช่วงวัย 30 ปี จึงพร้อมเข้าสู่วัยทำงานเป็นผู้ใหญ่เต็มที่

คำถามต่อไปคือ คุณคิดว่า “ได้ทำงานเป็นพนักงานดีแล้ว” หรือว่า “เป็นนักศึกษาดีกว่า” มีผู้ตอบอย่างแรกถึง 63.2% อย่างนี้ค่อยอุ่นใจได้หน่อยว่า เมื่อเรียนจบแล้วก็อยากทำงานเป็นหลักเป็นฐาน ไม่ใช่คิดถึงแต่ความสนุกในวัยเรียน นอกจากนี้ มีถึง 65.3% ที่ตอบว่า “อยากทำงานอื่นนอกจากงานที่ได้รับมอบหมาย” มากกว่าคนที่ตอบว่า “งานของตัวเองยิ่งน้อยก็ยิ่งดี” นับได้ว่ายังมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน

มีผู้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “พอนำสิ่งที่เรียนรู้จากการทำงานมาคิดพิจารณาก็ทำให้เข้าใจ

สังคมและการใช้ชีวิตได้ดีขึ้นและพบว่ายังมีสิ่งน่าสนใจอื่นๆอีกมาก” และ “การที่รู้ว่าความสามารถของผมเป็นที่ยอมรับ เป็นแรงผลักดันที่สำคัญสำหรับผม” ความเห็นเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่ายังมีคนไม่น้อยที่พยายามทำให้งานที่ทำอยู่มีค่าและยังสนุกกับสิ่งที่ทำอยู่

การสำรวจนี้เกิดขึ้นก่อนหน้าการระบาดอย่างหนักของโควิด19 เล็กน้อย หากทำการสำรวจในปีหน้า มีความเป็นไปได้ว่าผลที่ได้อาจเปลี่ยนไปอย่างมาก เพราะผลกระทบของโควิด19 ทำให้บริษัทต่างๆต้องปรับตัวหรือล้มหายตายจากไปก่อนแล้ว มิทันที่พนักงานจะได้มีโอกาสแม้แต่จะคิดเปลี่ยนงานเลย… เศร้า…

—————————