การกลับมาของ MWC และแวร์เอเบิลที่รุ่งโรจน์/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
People visit the Mobile World Congress (MWC) fair in Barcelona on June 29, 2021. (Photo by Josep LAGO / AFP)

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

การกลับมาของ MWC

และแวร์เอเบิลที่รุ่งโรจน์

 

สถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศค่อยๆ คลี่คลายลงถึงขั้นที่สามารถกลับมาจัดงานระดับนานาชาติกันได้อีกครั้ง

หนึ่งในนั้นก็คืองาน Mobile World Congress หรือ MWC งานจัดแสดงเทคโนโลยีด้านเทคโนโลยีและโทรคมนาคมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่บาร์เซโลนา แต่ปีที่แล้วมีอันต้องสั่งงดจัดงานกะทันหันชนิดที่แม้ฉันจะถือทั้งวีซ่าและตั๋วเครื่องบินไว้ในมือแล้วก็หมดโอกาสจะไปเข้าร่วม

ปีนี้ MWC กลับมาจัดงานได้อีกครั้งแม้ว่าจะช้ากว่ากำหนดการปกติไป 4-5 เดือนก็ตาม

และเป็นการจัดควบคู่ไปทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์พร้อมๆ กัน

ถึงคนทั่วโลกจะปรับตัวให้เข้ากับการร่วมงานแบบออนไลน์ไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าในบางแง่มุมแล้วมันสู้การไปยืนอยู่ที่นั่นด้วยตัวเองไม่ได้จริงๆ

คนที่ไปร่วมงาน MWC ในปีนี้ก็บอกว่าการได้กลับมาพูดคุย พบหน้าพบตา เจอตัวเป็นๆ แลกนามบัตรกันอีกครั้งมันช่างเป็นอะไรที่น่าสดชื่นยิ่งนัก ถึงแม้จำนวนคนเข้าร่วมงานจะน้อยลงจากปีก่อนๆ มากกว่าเท่าตัว

แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

 

งานอย่าง MWC และอีกหลายๆ งานที่จัดขึ้นทั่วโลกมีจุดประสงค์หลักก็คือการให้บริษัทที่มาออกบูธได้โชว์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และให้ผู้บริหารของแบรนด์นั้นๆ ได้ทำความรู้จัก ขยายเครือข่าย หรือปิดดีลสวยๆ ได้สำเร็จ

ดังนั้น จึงต้องอาศัยผู้เข้าร่วมงานจำนวนมากจึงจะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้ได้ ปีนี้คนร่วมงานต่างก็เข้าใจและคาดหวังอยู่แล้วว่าหลายๆ อย่างในงานจะต้องเปลี่ยนไป อย่างการที่มีคนเข้าร่วมน้อยลง หรือการต้องคอยปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงโควิด

แต่ถ้าหากปีหน้า งานยังไม่สามารถกลับมาจัดได้ตามปกติหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็น่าจะทำให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่สำหรับปีต่อๆ ไปอย่างแน่นอน

แม้การเจอหน้ากันในงานจะไม่เหมือนเก่าเสียทีเดียว แต่เทคโนโลยีที่นำมาจัดแสดงก็ไม่ได้ด้อยลงไปสักเท่าไหร่ เพราะก็ทำให้เราได้เห็นเทรนด์เทคโนโลยีเด่นๆ ประจำปีนี้ได้ชัดขึ้น

หนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับการผลักดันให้เติบโตอย่างรวดเร็วหลังจากช่วงไวรัสระบาดเป็นต้นมาก็คือเทคโนโลยีแวร์เอเบิล หรือเทคโนโลยีสวมใส่ได้

 

ช่วงปีที่ผ่านมา ตัวเลขยอดขายสมาร์ตโฟนทั่วโลกลดลง แต่ยอดขายของแวร์เอเบิลกลับทำได้สูงถึง 527 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ 384 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 ก็นับว่าเป็นพัฒนาการที่ดีเลยทีเดียว

นับเป็นครั้งแรกที่ยอดขายทั่วโลกทะยานขึ้นไปแตะหลักห้าร้อยล้านได้ และนักวิเคราะห์ก็เชื่อว่าเทรนด์ขาขึ้นแบบนี้ก็จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ และยังเชื่ออีกว่าภายในสิ้นทศวรรษนี้ ยอดขายแวร์เอเบิลจะสามารถแซงหน้ายอดขายสมาร์ตโฟนได้ในที่สุด

เมื่อพูดถึงแวร์เอเบิลที่ได้รับความนิยมในตอนนี้ อย่างแรกที่นึกถึงก็คือสมาร์ตวอตช์ใช่ไหมคะ

สมาร์ตวอตช์ถูกยกให้เป็นแก็ดเจ็ตที่จะช่วยให้เรารักษาสุขภาพได้ดีขึ้น รักษาความฟิตของร่างกายได้แม้จะอยู่ในช่วงล็อกดาวน์ที่สถานที่ออกกำลังกายต่างๆ ถูกสั่งปิด ไปจนถึงการใช้เพื่อช่วยบ่งชี้สัญญาณรุนแรงของอาการที่อาจมาจากการติดเชื้อไวรัส

อย่างเช่น ความสามารถในการวัดค่าออกซิเจนในเลือด ให้ผู้สวมใส่ตรวจจับอาการ Happy Hypoxia ได้ การตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจ คุณภาพการนอน จำนวนก้าวเดิน และอีกหลายๆ ฟีเจอร์ สมาร์ตวอตช์ก็เลยกลายเป็นแก็ดเจ็ตที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยดูแลรักษาสุขภาพ

นอกจากสมาร์ตวอตช์แล้ว แวร์เอเบิลอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมพ่วงไปพร้อมๆ กันก็อย่างเช่นหูฟัง เราจะสังเกตเห็นได้ว่าผู้คนมองหาหูฟังสำหรับมาใช้งานส่วนตัวกันมากขึ้น

ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะการต้องทำงานจากที่บ้านทำให้เราต้องมองหาอุปกรณ์ต่างๆ มาช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หูฟังก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะวันหนึ่งๆ เราต้องวิดีโอคอลล์เพื่อประชุมงานหลายครั้ง ถ้าไม่มีหูฟัง หรือหูฟังที่ใช้อยู่ไม่ดีพอ ก็จะทำให้การทำงานติดขัดได้ ยอดขายหูฟังก็เลยเพิ่มขึ้นไปด้วย

 

บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งก็เลยแข่งกันออกทั้งสมาร์ตวอตช์ใหม่และหูฟังใหม่ในช่วงนี้ ถึงแม้จะมีเจ้าใหญ่อย่าง Apple หรือ Samsung ที่ครองตลาดอยู่แล้ว แต่เจ้าเล็กๆ ก็ไม่ยอมแพ้ อย่างบริษัท boAt ของอินเดียก็เติบโตจนสามารถครองอันดับห้าของผู้ผลิตแวร์เอเบิลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกไปครองได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากโฟกัสหลักๆ ไปที่ตลาดอินเดียที่มีขนาดใหญ่มหึมา และเน้นการทำหูฟังราคาประหยัดโดยเฉพาะ

เมื่อผลิตภัณฑ์แวร์เอเบิลล้นตลาด นักวิเคราะห์ก็เลยต้องออกมาเตือนว่าแต่ละชิ้นแทบจะไม่มีความแตกต่างที่จะทำให้ตัวเองโดดเด่นขึ้นมาได้สักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็จะเหมือนๆ กันไปหมดโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในกลุ่มระดับล่าง ดังนั้นการทำตัวเองให้แตกต่างจากคู่แข่งจึงจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุด

จุดเปลี่ยนที่ว่าอาจจะเริ่มต้นจากการออกแบบที่ดีกว่า หรือก็คือการทำให้แวร์เอเบิลของตัวเองดูดีกว่าของคู่แข่งนั่นเอง

ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงการออกแบบของแวร์เอเบิล สิ่งที่ผู้ผลิตอยากทำให้ได้คือทำให้อุปกรณ์ของตัวเองมีความบางและเบา และใกล้เคียงธรรมชาติของการเป็นเครื่องประดับดีไซน์เก๋ ออกห่างจากความเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ได้มากที่สุด

 

บริษัท NOVA จากเยอรมนีที่มาออกบูธในงาน MWC ครั้งนี้ด้วยก็ตีโจทย์เรื่องนี้แตกด้วยการนำเอาหูฟังไร้สายไปฝังเอาไว้ในต่างหูมุกแบบหนีบ ทำให้ผู้สวมใส่สามารถใช้ฟังก์ชั่นของหูฟังในการทั้งฟังเพลง ทั้งคุยโทรศัพท์ พร้อมๆ ไปกับการได้โชว์ความสวยงามของต่างหูด้วย เป็นทูอินวันที่ผสมผสานลงตัวอย่างแท้จริง

ส่วนเทคโนโลยีที่แบรนด์นี้ใช้ก็ถือว่าค่อนข้างล้ำหน้าและเป็นเทคโนโลยีที่บริษัทจดสิทธิบัตรไว้แล้ว ก็คือการส่งเสียงจากติ่งหูตรงไปยังรูหูโดยในระหว่างทางจะไม่มีเสียงเล็ดลอดออกไปเลย อันนี้ถือว่าตอบโจทย์พื้นฐานของการทำให้แวร์เอเบิลกลมกลืนไปกับการใช้ชีวิตของผู้สวมใส่ได้อย่างแท้จริง

ในขณะที่บริษัท Oura จากฟินแลนด์ก็ไม่น้อยหน้า ออกแบบแหวนแต่งงานที่สามารถแทร็กข้อมูลทางสุขภาพของผู้สวมใส่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการนอน จำนวนก้าวเดิน อัตราการเต้นของหัวใจ ไปจนถึงอุณหภูมิร่างกาย ส่วนเรื่องดีไซน์ก็ทำมาให้เลือกในรูปแบบของโลหะหลากหลายประเภท หรือจะฝังหัวเพชรเอาไว้เพิ่มความหรูด้วยก็ได้ กลายเป็นที่นิยมในกลุ่มเซเล็บวงการกีฬาอย่างรวดเร็ว แม้แต่เจ้าชายแฮร์รี่เองก็กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มลูกค้าไปแล้ว

เราค่อยๆ เห็นเทรนด์ของแวร์เอเบิลขยับเปลี่ยนแปลงไปทีละนิด จากเดิมที่คนที่สวมใส่อะไรที่เป็นดิจิตอลอยู่บนเรือนร่างจะถูกมองว่าเป็นเนิร์ด เป็นกีค เข้ากับคนทั่วไปไม่ค่อยได้ ตอนนี้อุปกรณ์เหล่านี้กลายเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแวร์เอเบิลได้รับการออกแบบให้กลมกลืนกับเสื้อผ้าการแต่งกายจนไปถึงจุดหนึ่งที่เราอาจจะแยกไม่ออกแล้วก็ได้ว่าอะไรดิจิตอล อะไรไม่ดิจิตอล

ส่วนตัวฉันเองก็หวังว่าปีหน้าสถานการณ์ทุกอย่างภายในประเทศจะดีขึ้นจนฉันสามารถเดินทางไปสัมผัสและทดลองใช้แก็ดเจ็ตล้ำๆ เหล่านี้

ได้ด้วยตัวเองเสียที