คุยกับทูต ตีแยรี มาตู นักการทูตอาชีพ และผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียจากฝรั่งเศส (ตอน 3)

 

คุยกับทูต ตีแยรี มาตู

นักการทูตอาชีพ

และผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียจากฝรั่งเศส (ตอน 3)

 

ในขณะที่มหาอำนาจจ้องภูมิภาคนี้โดยมีประเทศไทยและประชาคมอาเซียนเป็นสะพานเชื่อมโยงทางภูมิศาสตร์ของสองมหาสมุทรอย่างแท้จริง ในเวลาที่มหาอำนาจทุกๆ ฝ่ายต้องการทั้งแข่งขัน และในขณะเดียวกันก็ต้องการผูกขาด ในเวลาที่มหาอำนาจทุกๆ ฝ่ายต้องการเปิดเสรี แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของมหาอำนาจอื่นๆ เราจะวางตัวอย่างไร

 

นายตีแยรี มาตู (H.E. Mr. Thierry Mathou) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

 

นายตีแยรี มาตู (H.E. Mr. Thierry Mathou) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย กล่าวว่า

“มุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก มีความสำคัญ ผมได้เริ่มเข้ามาดูแลประเด็นนี้ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเรา เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ฝรั่งเศสได้สร้างความเป็นหุ้นส่วนกับหลายประเทศในภูมิภาค ผมได้ริเริ่มหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างฝรั่งเศสกับอาเซียน และได้มีการประกาศให้ประเทศฝรั่งเศสได้รับสถานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของอาเซียน เมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ.2020 เมื่อครั้งที่ผมยังเป็นอธิบดีกรมเอเชีย-โอเชียเนีย ถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ของฝรั่งเศสกับอาเซียนโดยทั้งสองฝ่ายแบ่งปันวิสัยทัศน์ร่วมกันเกี่ยวกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก”

ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ.2020 ได้เห็นชอบให้ฝรั่งเศสได้รับสถานะ “หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของอาเซียน” และพร้อมเดินหน้าความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สาธารณสุข และการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

ฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในรูปแบบของความร่วมมือที่ยาวนานและมุ่งสู่อนาคต ผ่านเครือข่ายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยหน่วยงาน ศูนย์ และสถาบันวิจัยฝรั่งเศสซึ่งมีที่ตั้ง 140 แห่งในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ในภูมิภาคแห่งนี้มานานกว่า 25 ปี และได้ให้การสนับสนุนทางการเงินมากกว่าสี่พันล้านยูโร แก่โครงการมากกว่า 170 โครงการ นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2010

“วิสัยทัศน์ดังกล่าวนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ ความเป็นพหุภาคีและความร่วมมือระหว่างประเทศ และอย่างที่ทราบกันดีว่า ความท้าทายที่ต้องเผชิญในพื้นที่อินโด-แปซิฟิกนั้นมีมากมาย หนึ่งในนั้นคือการแข่งขันระหว่างจีน-สหรัฐที่กำลังดำเนินอยู่ การเผชิญหน้ากันระหว่างสองยักษ์ใหญ่นี้ดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้น”

“และบางครั้งประเทศในภูมิภาคและกลุ่มประเทศอาเซียนก็ลังเลที่จะเลือกระหว่างข้อเสนอด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของปักกิ่ง กับข้อเสนอของวอชิงตัน ฝรั่งเศสและอียูต่างก็มีบทบาทที่ต้องแสดงในบริบทนี้ด้วย”

 

ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส นายเอมานุแอล มาครง (Emmanuel Macron) ภาพ -AFP via Getty Images

 

นับเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับอาเซียน ซึ่งต่างมีวิสัยทัศน์ร่วมกันต่อพื้นที่อินโด-แปซิฟิก บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย การได้รับสถานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของอาเซียนสอดรับกับยุทธศาสตร์ของฝรั่งเศสในอินโด-แปซิฟิก ซึ่งจะช่วยให้ฝรั่งเศสมีส่วนร่วมมากขึ้นในการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน สันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพในภูมิภาค

“อย่าลืมว่าฝรั่งเศสไม่ใช่คนนอก เราอยู่ในภูมิภาคนี้ เราเป็นมหาอำนาจอินโด-แปซิฟิกผ่านดินแดนของเราในแถบมหาสมุทรอินเดียและในแปซิฟิก ดินแดนของฝรั่งเศสครอบคลุมพื้นที่ 11.7 ล้านตารางกิโลเมตรของมหาสมุทรอินเดียตอนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิก จึงทำให้ฝรั่งเศสเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEZs) ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก”

“ดังนั้น ผมมาอยู่ที่นี่ด้วยภารกิจที่ริเริ่มโดยประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส นายเอ็มมานูแอล มาครง (Emmanuel Macron) เพื่อย้ำเตือนทุกคนว่า ฝรั่งเศสเป็นชาติทางทะเลที่รวมอยู่ในพื้นที่อินโด-แปซิฟิก และกำลังมีเป้าหมายที่จะเป็นมหาอำนาจที่ถ่วงดุลอำนาจและมุ่งมั่นในการสร้างความเป็นพหุภาคีเพื่อสันติภาพและความมั่นคง”

“เราไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เพียงลำพัง เราพร้อมต้อนรับประเทศหุ้นส่วนของเราในยุโรปที่เข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องมีวิสัยทัศน์อินโด-แปซิฟิก อย่างเมื่อไม่นานมานี้ก็มีเยอรมนี และแม้แต่สหภาพยุโรป ซึ่งขณะนี้ก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของภูมิภาคและให้คำมั่นที่จะเสริมสร้างบทบาทร่วมกับหุ้นส่วนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก”

“ภูมิภาคนี้ไม่จำเป็นต้องถูกกำหนดโดยความสัมพันธ์ที่แต่ละประเทศมีกับประเทศมหาอำนาจ ประเทศไทยและประเทศอื่นในอาเซียนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของอินโด-แปซิฟิกในศตวรรษที่ 21 โดยฝรั่งเศสและประเทศหุ้นส่วนในยุโรปต่างมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะทำหน้าที่เป็นมหาอำนาจผู้ไกล่เกลี่ย รักษาเสถียรภาพในภูมิภาค และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย”

 

สถานีวืจัย อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

 

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศสเป็นอย่างไร

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในอาเซียน และเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสามของฝรั่งเศสในอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ฝรั่งเศสส่งออกมายังไทยคิดเป็นมูลค่า 1.9 พันล้านยูโร”

“ฝรั่งเศสเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของยุโรปในประเทศไทย บริษัทขนาดใหญ่ทั้งหมดของเราตั้งอยู่ที่นี่และมีผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมากเช่นกัน เรามีบทบาทอย่างมากในหลายด้าน ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงพลังงาน ตั้งแต่ธุรกิจการเกษตรไปจนถึงภาคบริการ รวมถึงการท่องเที่ยว และบริการโซลูชั่นไฮเทคของเราก็มีอยู่มากมายทีเดียว”

สถานีวืจัย อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

“บริษัทฝรั่งเศสที่มีมากกว่า 280 แห่งในประเทศไทยได้ทำให้เกิดการจ้างงานหลายหมื่นตำแหน่ง นอกจากนี้ หน่วยงานวิจัยที่สำคัญของฝรั่งเศส ได้แก่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศฝรั่งเศส (IRD) ศูนย์วิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมสมัย (IRASEC) และศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการวิจัยเกษตรกรรมเพื่อการพัฒนา ประเทศฝรั่งเศส (CIRAD) ก็สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน (PPP) ในด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยทุกวัน”

“ด้วยเหตุนี้ฝรั่งเศสจึงเป็นหุ้นส่วนทางวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของไทยในอาเซียนซึ่งสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจด้วย”

“ในทางกลับกัน บริษัทไทยที่มีชื่อเสียงมากบางส่วนก็ได้ไปลงทุนรวมถึงตั้งโรงงานในฝรั่งเศส ซึ่งผมไม่จำเป็นต้องเอ่ยชื่อเพราะทุกคนก็รู้จักทั้งหมด เรายินดีต้อนรับบริษัทของไทยที่จะไปลงทุนในฝรั่งเศส และสร้างงาน สร้างรายได้ในฝรั่งเศส เรามีเจ้าหน้าที่ที่สถานเอกอัครราชทูต ซึ่งพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทุกโครงการ”

 

สถานีวืจัย อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

 

“ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเหล่านี้เป็นวิธีเสริมสร้างและรักษามิตรภาพระหว่างประเทศที่ทำได้ในทุกวัน ถ้าคุณสามารถทำงานร่วมกันได้บ่อยครั้ง นั่นก็หมายความว่า คุณเข้ากันได้และสามารถเป็นเพื่อนกันได้เป็นอย่างดี”

“ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับสองของอาเซียนในฝรั่งเศสและเป็นผู้ลงทุนชั้นนำในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเกษตรอาหาร”

“เราประสบความสำเร็จด้วยกันอย่างมากในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งผมเชื่อว่าเรายังสามารถทำได้มากกว่านี้ในอนาคต ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างฝรั่งเศสกับไทยมีความละเอียดอ่อนมากกว่านี้”

 

ท่านทูต ตีแยรี มาตู เปิดเผยเรื่องราวที่น่าสนใจอีกด้านหนึ่ง

“ประเทศไทยมีชุมชนชาวฝรั่งเศสอาศัยอยู่มากเป็นอันดับสองในเอเชีย มีชาวฝรั่งเศสที่ขึ้นทะเบียนเกือบ 13,000 คน มากกว่าปี ค.ศ.2000 ถึง 4 เท่า นี่คือจำนวนผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับสถานเอกอัครราชทูตในปัจจุบัน แต่ในความเป็นจริง ประเมินว่าชุมชนชาวฝรั่งเศสในประเทศไทยทั้งประเทศมีอยู่ระหว่าง 30,000 ถึง 40,000 คน ชาวฝรั่งเศสเหล่านี้เกษียณอายุ หรือใช้ชีวิตที่นี่จากเงินออม หรือมาทำงานอยู่ที่นี่ ซึ่งทุกคนมีส่วนสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศไทย”

“ผมขอยกตัวอย่าง ลองนึกถึงภาพช่างทำขนมปังฝรั่งเศสหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งมีเงินจำนวนหนึ่งและได้ตัดสินใจเปิดร้านขนมปังและเบเกอรี่ในประเทศไทย จากนั้นก็ประสบความสำเร็จ มีรายได้ดี และจ้างงานคนไทย 4-5 คน”

 

 

“เช่นเดียวกับช่างทำขนมปังคนดังกล่าวและธุรกิจขนาดเล็กของเขา มีเจ้าของกิจการชาวฝรั่งเศสอีกนับไม่ถ้วนที่มาลงทุนในประเทศไทยและเริ่มต้นธุรกิจขนาดเล็กที่นี่ บริหารจัดการจนสร้างความมั่งคั่งในประเทศนี้ มีส่วนร่วมในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ แต่ไม่มีใครรู้ว่าคนเหล่านี้มีตัวตนเพราะไม่ได้อยู่ในข้อมูลสถิติ”

“เชื่อผมเถอะ มีคนเหล่านี้เป็นจำนวนมาก พวกเขามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยและบทบาทของประเทศฝรั่งเศสในประเทศไทยด้วยเช่นกัน เพราะอย่างน้อยก็ได้นำ ‘จิตวิญญาณของฝรั่งเศส’ เข้ามาในประเทศแห่งนี้”

“สำหรับในฝรั่งเศสก็เหมือนกัน มีคนไทยจำนวนมากที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในฝรั่งเศสและเปิดธุรกิจขนาดเล็ก เศรษฐกิจของเราจึงมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของเราก็ได้ดำเนินไปอย่างลึกซึ้งและในทุกระดับ ตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่”

“คุณอาจจะประหลาดใจมากถ้าได้ทราบว่า ฝรั่งเศสเข้าถึงชีวิตของคนไทยได้อย่างลึกซึ้งเพียงใด ทราบหรือไม่ว่า พริกที่บริโภคกันในประเทศนี้ ร้อยละ 30 มาจากเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตโดยบริษัทฝรั่งเศสซึ่งตั้งอยู่ใกล้จังหวัดขอนแก่น”