เครื่องเคียงข้างจอ : การแข่งขันที่แท้จริง / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

 

 

การแข่งขันที่แท้จริง

 

ผมเคยผ่านหูผ่านตาหนังสือที่มีภาพปกง่ายๆ แต่สะดุดตาอยู่เล่มหนึ่ง

และเมื่อวันก่อนก็ได้ไปจับจองมา เป็นหนังสือแปลจากนักเขียนชาวเกาหลีใต้ที่ใช้นามปากกาว่า “ฮาวัน” และหนังสือนี้มีชื่อภาษาไทยว่า “นี่เราใช้ชีวิตยากเกินไปหรือเปล่านะ”

ชื่อเก๋ไก๋ด้วยคำถามที่ชวนให้คิดต่อไม่น้อย แปลโดย ตรองสิริ ทองคำใส

ปกหนังสือเป็นรูปคนนอนคว่ำหน้าสบายๆ น่าจะอาบแดดอยู่ โดยมีแมวเกาะอยู่บนหลังอย่างเกียจคร้าน

ผมอ่านแล้วก็รู้สึกว่าอยากเขียนลงในคอลัมน์เครื่องเคียงฯ นี้ ในเนื้อหาที่มาจากหนังสือและในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกัน

 

“ฮาวัน” เป็นผู้ทั้งเขียนเรื่องและวาดภาพประกอบน่ารักๆ เองทั้งเล่ม เพราะนี่คือหนึ่งในอาชีพของเขา คือการเป็นนักวาดภาพประกอบหนังสือ ส่วนอีกงานหนึ่งเป็นงานประจำที่เป็นแหล่งรายได้หลักและเขาได้ลาออกมา นั่นเป็นประเด็นของหนังสือเล่มนี้

ฮาวันตั้งคำถามว่า เขาจะมีชีวิตอย่างนี้ไปอีกนานแค่ไหน จึงจะพบกับชีวิตตามวิถีที่ตนปรารถนาอย่างแท้จริง

นั่นคือ การเป็นมนุษย์เงินเดือน ตั้งใจมุมานะทำงาน เพื่อให้บริษัทยังคงจ้างต่อไปเรื่อยๆ เพราะลำพังงานจากการวาดภาพประกอบนั้นมีรายได้ไม่แน่นอน ไม่สามารถดูแลชีวิตของเขาได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นงานที่เขารัก แต่เมื่อต้องทำเป็นอาชีพ ความสนุกจากการทำงานที่รักก็ลดน้อยลง

ที่เขาตัดสินใจลาออก เพราะเขาอยากมีชีวิตที่อิสระกว่านี้ สามารถทำตามใจตัวเองได้มากกว่านี้ ไม่ต้องอยู่ในเส้นทางที่คนอื่นขีดไว้ให้ว่าต้องเดินแนวนี้ ชนิดที่ว่าหากแปลกไปกว่านี้คือ “ผิด”

ต้องยอมรับว่าสังคมของเกาหลีใต้เต็มไปด้วยการแข่งขันที่สูงยิ่ง หากใครเป็นติ่งซีรีส์เกาหลีคงทราบดี เพราะในซีรีส์จะเห็นตัวละครที่ทุ่มเทถวายหัวกับการทำงานอย่างมาก รวมทั้งพยายามที่จะถีบตัวเองให้สำเร็จและสูงยิ่งๆ ขึ้นไป

จึงมีข่าวนักแสดง-นักร้องหลายคนจบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตาย ทั้งที่อายุยังน้อย เพราะแรงกดดันจากการแข่งขันนั่นเอง รวมทั้งพวกเขาต้องแบกรับความคาดหวังจากแฟนๆ และสังคมอีกด้วย

แม้ไม่ใช่ศิลปินดัง แต่ฮาวันก็ต้องเผชิญเรื่องนี้ไม่ต่างกัน

 

เขาเล่าว่าศัตรูของเขาในวัยเด็กคือ “ลูกเพื่อนพ่อหรือเพื่อนแม่” เพราะพ่อ-แม่มักจะพูดเปรียบเทียบลูกคนอื่นกับตัวเขาเสมอด้วยความรู้สึกว่าไม่ได้ดั่งใจ บางพ่อ-แม่ถึงกับใช้คำกับลูกว่าเหมือนลูกที่ขอมาเลี้ยง เพราะไม่เป็นไปตามที่คาดหวังเท่านั้น

ฮาวันมีสำนวนการเขียนและการเปรียบเทียบที่กระตุกให้คิดอยู่ตลอดทั้งเล่ม อย่างประโยคที่ว่า “ถ้าคุณจะทำตามความฝันได้ คุณต้องเป็นลูกอกตัญญู”

เพราะพ่อ-แม่มักจะขีดเส้นไว้ให้แล้วว่าคุณต้องทำอะไร ซึ่งก็คือการเรียนๆๆๆ และเรียนในสิ่งที่เขาคิดให้เสียด้วย พอจบมาก็จะได้ “รีบหางานทำ”

ฮาวันและคนอื่นๆ อีกมากตะเกียกตะกายเพื่อจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยฮงอิก ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้านศิลปะที่มีชื่อเสียงที่สุดในเกาหลีใต้ ตัวเขาสอบติดที่อื่นในปีแรก แต่ก็สละสิทธิ์ไม่เรียนเพื่อใช้เวลาเตรียมตัวสอบใหม่ในปีหน้า แล้วก็ยังไม่ติด

จากนั้นเขาต้องสอบถึงสี่ครั้งจึงจะมีโอกาสเข้าไปเรียน เคยมีคนสอบถึง 7 ครั้งก็มี

นั่นมาจากเสียงที่บอกว่า ถ้าใครจบจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้แล้วจะมีโอกาสสู่ความสำเร็จได้ไม่ยาก จะมีบริษัทมาจองตัวตั้งแต่ก่อนจะจบ ได้ทำงานในตำแหน่งดีๆ เงินเดือนสูง มีโอกาสเป็นเศรษฐีและมีชื่อเสียงได้

ซึ่งเอาเข้าจริงๆ มันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นทุกคน

แต่ที่หลายคนยอมหัวปักหัวปำพุ่งเข้าหาความสำเร็จดังว่า นั่นเพราะการแข่งขันนั่นเองที่ตีกรอบให้เราต้องเดิน

แข่งว่าใครจะหาเงินได้เยอะกว่า ใครจะซื้อบ้านได้เร็วกว่า ใครจะประสบความสำเร็จก่อน ใครไม่แข่งคือ “แพ้”

 

สุดท้ายในหนังสือเล่มนี้ ฮาวันบอกว่าบางทีเราแพ้บ้างก็ได้ ถ้าเราเลือกแล้วว่าดี และมีความสุขกับมัน

เพราะการแข่งขันที่สูง จึงมีเกมที่ท้าทายกันว่า “ใครอิจฉา คนนั้นแพ้” แสดงว่าคุณไม่ได้เท่าเขา คุณเลยอิจฉาเขาไงล่ะ

ในซีรีส์เกาหลีหลายเรื่องเราจะเห็นความอิจฉาเป็นตัวแก่นของการเดินเรื่อง ทำให้เกิดเรื่องราวโศกนาฏกรรมขึ้นได้ เพราะความอิจฉาอยากเป็นผู้ชนะนั่นเอง

ตอนหนึ่งในหนังสือเขียนเรื่องนี้ไว้ว่า

“เราเรียนรู้มาตลอดว่าการยอมแพ้คือความล้มเหลวแสนขี้ขลาด แต่ไม่จริงเลย เราจำเป็นต้องรู้จักศิลปะแห่งการยอมแพ้ เพื่อใช้ชีวิตอย่างผู้มีปัญญา…เราเรียนรู้กันมาว่าจงอย่ายอมแพ้ ถึงได้ยอมแพ้กันไม่เป็น กระทั่งสูญเสียมากขึ้นทุกที”

ในหนังสือได้พูดถึงแนวทางการศึกษาของประเทศเกาหลีใต้ ที่สร้างสมให้เด็กออกมาในแบบที่มีกรอบแห่งความสำเร็จอันเป็นค่านิยมที่เชื่อถือกันมานาน แต่ขณะเดียวกันก็มักเรียกร้องให้ทุกคนต้องรู้จักฝัน มีจินตนาการ มีแพสชั่นในการทำงาน ซึ่งตรงกันข้ามกับระบบที่มี

 

ฮาวันเป็นคนชอบวาดรูป แม้จะวาดไม่ถึงกับเลอเลิศ แต่ก็เป็นสิ่งที่เขาทำได้ อย่างน้อยก็ใช้หาเลี้ยงชีพได้บ้าง เขารู้สึกว่าเขาน่าจะใช้ความกล้าที่จะเลือกทำในสิ่งที่ตนเองรักให้มากกว่านี้ เขาอาจจะวาดรูปเก่งกว่านี้ ดีกว่านี้ ประสบความสำเร็จมากกว่านี้ก็ได้

แต่เพราะเขามัวไปหลงทางกับกับดักความสำเร็จที่ว่า และจมอยู่กับการทำงานที่เหมือนหลอกตัวเองไปวันๆ ว่า “เพื่ออิสระของชีวิตที่จะทำอะไรก็ได้ตามใจเรา” แต่นั่นคือวงเล็บว่าเมื่อต้องมีเงินมากพอ มีความสำเร็จมากพอ ซึ่งจะมาเมื่อไหร่ไม่รู้

เขาเขียนถึงตัวเองตอนช่วงวัยรุ่นไว้ว่า

“…หากผมกล้าอีกสักนิด บ้าบิ่นอีกสักหน่อย คงได้ลองทำสิ่งต่างๆ แทนการคิดมาก กลุ้มใจ แล้วก็คงเป็นคนที่ต่างจากทุกวันนี้…”

“ผมไม่ค่อยเสียดายเมื่อเลือกแล้ว ไม่ว่าผลลัพธ์จะดีหรือร้ายก็ตาม แต่ดันชอบเสียดายต่อสิ่งที่ไม่เคยได้เลือก ทั้งความฝันมากมายที่เคยปล่อยมือง่ายๆ ความรักที่ทำแค่มอง ไม่เคยกล้าเอ่ยปากว่าชอบสักครั้ง…”

จะว่าไปความฝันของเราอาจไม่ออกมาเป็นตามที่ฝันก็ได้ แต่หากเราได้ลงมือทำ แม้จะพบข้อผิดพลาด หรือไม่เป็นไปตามแผน เราก็สามารถเรียนรู้และมีความสุขกับมันได้

ฮาวันเล่าถึงตัวเอกในการ์ตูนเรื่อง “บังเอิญเดินเล่น” ว่า ชอบเดินเล่นเตร็ดเตร่ตามย่านแปลกถิ่น พระเอกจะเดินเอ้อระเหยหลังเสร็จงานนอกสถานที่ หลายครั้งเผลอหลงไปโผล่ในที่ที่ไม่รู้จักบ้าง เขามักรำพึงว่า

“ฉันนี่เป็นอัจฉริยะด้านการเดินเล่นชะมัด การไปเดินเล่นที่เคยออกโทรทัศน์หรือลงนิตยสารน่ะ ไม่ใช่การเดินเล่นหรอก นิยามของคนเดินเล่นในอุดมคติคงเป็น เด็กหลงทางผู้มีหัวใจไร้กังวลกระมัง”

และเขาเขียนเปรียบเทียบกับเรื่องการเดินทางท่องเที่ยวไว้ว่า

“การท่องเที่ยวไม่ใช่ภารกิจที่เราต้องดำเนินตามแผนการเท่านั้น แผนการเป็นเพียงแผนการ สถานการณ์จริงๆ ไม่เป็นตามแผนเสมอไป แล้วเราก็ไม่จำเป็นต้องผิดหวังด้วย แผนการคือสิ่งจำเป็นแน่นอน แต่เราไม่มีหน้าที่ต้องยึดติดกับแผนการนี่นา

สิ่งที่เราต้องเตรียมตัวก่อนออกเดินทาง คือ “ใจไร้กังวล” ในเมื่อเป็นการเที่ยวเล่น ไม่ใช่ไปทำงาน ทำไมยังต้องด่วนกังวลด้วยเล่า ผมหมายถึงรวมถึงทั้งกับการออกเดต เดินเลานจ์ ท่องเที่ยว และกระทั่งการดำเนินชีวิตก็ตาม”

 

จากหนังสือเล่มนี้ ได้บอกกับเราว่า ถ้าเราไม่ยึดติดกับแบบแผน กับความเชื่อของสังคมและเสียงของคนอื่นแล้ว เราก็จะไม่กังวลที่จะทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป อาจขรุขระบ้าง ไม่ตรงตามที่คาดหมายบ้าง แต่เราก็จะสนุกกับมัน และไปถึงปลายทางได้เช่นกัน ในแบบที่ไม่ยากเกินไปกับชีวิต

ฮาวันได้ลาออกจากงานประจำที่เขาทำตอนอายุ 40 ปี สำหรับเขาถือว่าเป็นครึ่งหนึ่งของชีวิต จึงทำให้เขาลุกขึ้นมาครุ่นคิดถึงอดีตกับอนาคต คิดทบทวนว่าวิธีใช้ชีวิตที่ผ่านมาถูกต้องหรือไม่ หากเดินทางผิดก็ควรแก้ไขเสียเดี๋ยวนี้ จะได้ใช้ครึ่งชีวิตที่เหลืออยู่ให้ถูกควร

แต่ในความเป็นจริงเราไม่อาจรู้กำหนดเวลาชีวิตของเราได้ ฉะนั้น ไม่ว่าวันนี้จะเป็นครึ่งทางชีวิต หรือเศษสามส่วนสี่ชีวิต หรืออีกปีเดียวที่จะมีชีวิต เราควรรีบทบทวนเสียแต่วันนี้ และไม่ว่าเราคิดทบทวนอย่างดีแล้ว ตัดสินใจไปแล้ว แม้จะหลงทางบ้าง แต่เราก็จะยอมรับและสนุกไปกับมัน

งานทุกงาน เราสนุกกับกระบวนการระหว่างที่ทำได้ โดยไม่ต้องรอไปจุดพลุให้เฉพาะตอนงานเสร็จออกมาแล้วเท่านั้น

มาจุดพลุให้กับความฝันและความต้องการในชีวิตที่แท้จริงกันดีกว่า แต่นั่นต้องมาจากการรู้จักการแข่งขันที่แท้จริงเสียก่อน

คือการแข่งขันกับใจตัวเองที่ชอบหลงไปกับสิ่งยวนยั่ว เพื่อจะได้รู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ ไม่ใช่แข่งขันกับเสียงของคนอื่น จนทำให้ชีวิตเรายากเกินไปเสียนักแล้ว