100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน  กับลัทธิอาณานิคมใหม่ / อัญเจียแขฺมร์  อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์ 

อภิญญา ตะวันออก 

  

100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน 

กับลัทธิอาณานิคมใหม่ 

  

“เนากรอมสรอเมานาคา” หรือ “In the Dragon’s Shadow” โดย Sebastian Strangio ที่วิจัยแฉพฤติกรรมพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างถึงครอบคลุมหัวข้อและประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนังสือเล่มนี้เปิดตัวเมื่อไตรมาสสุดท้ายของปีกลาย แต่เชื่อไหม ไม่มีใครเขาสนหรอกว่า จีนจะครองโลกหรือไม่? 

โถ ก็มีแต่สื่อตะวันตกไม่กี่รายนั่นแหละ ที่มุ่งเค้นประเด็นนี้ 

ยิ่งชื่อ เซบาสเตียน สแตรนจิโอ ใครคะ? ในทำเนียบประวัติศาสตร์กัมพูชา นอกจากเดวิด พี แชนด์เลอร์ และนักข่าวสงครามเวียดนามแล้ว ยังไม่มีใครโดดขึ้นมาเลยนะในหลายทศวรรษนี้ 

แต่เพื่อนเอ๋ย ยุคตีแผ่ปีศาจเขมรแดงมันจบไปนานแล้ว แล้วการตีแผ่ความเลวร้ายแต่ฝ่ายเดียวแบบนั้นมันก็ใช้ไม่ได้อีกด้วยในยุคนี้ 

และถึงจะเปลี่ยนสเกลให้ใหญ่โตคลุมครอบไปทั่วเอเชียอาคเนย์เพื่อแฉความเลวร้ายนั้น มันก็ หึหึ ไม่เคยประสบความสำเร็จนะ เว้นเสียแต่จะทำให้เห็นว่า “จีนกับไวรัสโรคระบาด” มันเป็นเรื่องเดียวกันของการทำลายล้าง ซึ่งขณะนั้น งานชิ้นนี้ไม่ก้าวหน้าอะไรแบบนั้น แต่นั่นแหละ ปุบปับรับโชคเมื่อไวรัสโคโรนาบุกโลก 

และเหมือนกับว่า มันจะเป็นเรื่องเดียวกัน 

  

มี 2-3 หัวข้อที่เกี่ยวกัมพูชาอย่างน่าสนใจ สำหรับการล็อกเป้าว่าพรรคจีนคอมมิวนิสต์มีความเป็นทุนนิยมก้าวหน้าของศตวรรษที่ 21 ทั้งเขี้ยวเล็บและศักยภาพทุกๆ ด้าน และนั่นคือส่วนที่ทำให้คำว่า “ทุนผูกขาด-ทุนกินรวบ” มีประสิทธิภาพและอันตรายกว่ายุคใด 

เข้าใจนะว่า ปลายศตวรรษที่ 20 พล พต (สลอต ซอ) คือปีศาจแห่งความลึกลับในสายตาของชาวโลกที่เผยให้เห็นถึงความล้มเหลวทุกๆ ด้านในระบอบคอมมิวนิสต์ 

และเดวิด พี แชนด์เลอร์ ก็ทำให้มัน “สุกงอม” จนทำให้ประวัติศาสตร์เขมรยุคนั้น ยืนยงร่วมสมัยกว่ายุคใดที่ผ่านมา ทั้งคลาสสิคและตำนานสำหรับ “พล พต : พี่ชายหมายเลข 1” กับความทะเยอทะยานเอาชนะเวียดนามซึ่งขณะนั้นเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของไทยและภูมิภาคอินโดจีน 

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เดวิด พี แชนด์เลอร์ ซึ่งหายไปจากกรอบประวัติศาสตร์วิจัยในแบบตน เขากลับมาอีกครั้งเพื่อบอกเล่าความทะเยอทะยานย้อนหลังของพรรคคอมมิวนิสต์ 

ในสายตาฉัน เดวิดยังแหลมคมเสมอ ซึ่งความทะเยอทะยานของพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีต่อกัมพูชานั้น ไม่เคยเปลี่ยนไป ไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปหรือไม่ ความเห็นของเดวิด ซึ่งผู้นำตะวันตกต่างหากเล่าที่ทำใจไม่ได้ 

ด้วยเหตุนั้นหรือไม่ แผนอินโด-แปซิฟิกฉบับนโยบายสหรัฐจึงกลับมาอีกครั้ง เพื่อค้าน “เงามังกร” ของภูมิภาคนี้ซึ่งมันก็เห็นมากทุกทีว่า ฐานทัพเรือเรียมของกัมพูชา-สมบัติเพนตากอนตั้งแต่ปี ’70 ที่สมเด็จฮุน เซน จงใจทำลายตามความประสงค์ของปักกิ่งซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว ไม่น่าจะเป็นประเด็นอะไร แต่เชื่อมั้ย นี่คือจุดเปราะบางที่ทำให้เพนตากอนทนไม่ได้ 

ดังนั้น กรณีเปิดหน้าสืบสวนต้นตอที่มาของโควิด-19 ภายใน 120 วันของ ปธน.โจ ไบเดน ทำให้เห็นว่า สหรัฐจะกลับมามีบทบาทในอินโด-แปซิฟิกเพื่อสกัดพรรคคอมมิวนิสต์จีนและเรียกความนิยมของพันธมิตรเก่าในภูมิภาคมาอีกครั้ง 

ในรายงานของเซบาสเตียน ยังกล่าวถึงนโยบายกลืนชาติ-ประชากรของจีนในรูปการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ในกองทุน BRI ที่จีนตั้งขึ้นทั่วภูมิภาคซึ่งได้รับการตอบรับดีมากจากผู้นำกึ่งเผด็จการจากประเทศเหล่านั้น การส่งออกนักลงทุนชาวจีนทั้งในฐานะผู้อพยพถาวรและดูแลผลประโยชน์แต่ละประเทศในคราบเอกชนนั้น อย่างเห็นได้ว่านี่คืออันตรายรูปแบบหนึ่ง 

ไม่ต่างจากกการคุกคามอาณานิคมแนวใหม่ของศตวรรษที่ 21 เลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะกัมพูชา นับจากอาเซียนซัมมิต 2012 ที่ตนเป็นเจ้าภาพ กัมพูชาแสดงบทบาทปกป้องผลประโยชน์จีนที่ขยายวงกว้างไปทั่วภูมิภาค โดยเฉพาะในเขตที่ยังเป็นข้อพิพาทของน่านน้ำทะเลจีนใต้ 

และเรื่อยมาจากนั้นที่จีนเทเงินลงทุนอัดฉีดเขมรทุกด้าน ยิ่งทำให้ผู้นำกัมพูชามั่นใจไม่พึ่งพาตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐ อีกเมื่อจีนเข้ามา การปลดแอกความทะเยอทะยานของเวียดนามที่พยายามคงอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจในเขมรก็เปลี่ยนโฉมหน้า และชัดเจนว่ากัมพูชามีความมั่นคงทางเศรษฐกิจกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะการที่รัฐบาลปักกิ่งสร้างแหล่งท่องเที่ยวกัมพูชาให้เป็นเสมือนเขตพักร้อนของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งถิ่นอาศัยและอสังหาริมทรัพย์ 

แล้วโมเดลนี้ก็ไม่ต่างจากโดมิโนในอดีตตัวนั้น เพียงแต่มันได้วนกลับมาใหม่ โดยมหาอำนาจเดิมที่พยายามจะสกัดมันไว้ เช่นกรณีแผนฟื้นฟูอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐ รวมทั้งการรื้อฟื้นสืบค้นที่มาของการระบาดไวรัสโควิด-19 

ทั้งหมดที่ว่า แน่นอน ด้านหนึ่ง มันคือการขยายอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน 

  

นี่เราอยู่ในโลกแบบไหนกัน? 

วนเวียนเหมือนหลูปเดียวที่ถูกออกแบบไว้ ตั้งแต่สงครามเย็น พรรคคอมมิวนิสต์ สงครามเวียดนาม การมาของระบอบทุนนิยมและการล้มลงของระบอบคอมมิวนิสต์ ฟองสบู่ทุนนิยมที่แตกอยู่หลายที การดึงกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ให้กลับมาสู่ระบอบทุนนิยมเดียวกัน และจบลงที่ความเข้มแข็งเกินของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เก่าแก่ที่สุดนั่น 

แล้วตอนนี้ แบบจำลองบนห่วงโซ่และตัวละครเดิมๆ เหมือนยุคอาณานิคมก็วนเวียนกลับมา ไม่ว่าไทย ลาว เมียนมา หรือกัมพูชา? 

แน่นอน ความสัมพันธ์ในนามพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาร่วม 70 ปีโดยมีกลุ่มเขมรแดงพล พต-เอียง สารี ที่อาจดูเหมือนล้มเหลว แต่สำหรับปักกิ่งแล้ว นี่คือความสำเร็จในรอบ 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ไม่เพาะต่อกัมพูชาเท่านั้น แต่มันยังสยายปีกไปมาก 

คณะสีจิ้นผิงใช้เวลาอย่างก้าวกระโดดในกัมพูชา นับเป็นชัยชนะที่ยิ่งกว่าสมัยของพล พต และสีหนุราช จากทศวรรษ ’50 ถึง ’70 รวมกัน สำหรับการทำให้กัมพูชากลับมาสู่การปกครองแบบคอมมิวนิสต์ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

ฤๅเช่นนั้น? 

ทุกวันนี้ รัฐสภาแบบพรรคเดียวคือพรรคประชาชนกัมพูชาได้แสดงให้เห็นว่า ไม่ต่างอะไรจากระบอบคอมมิวนิสต์ ตามกลไกบริหารแบบพรรคคอมมิวนิสต์ที่พรรคแห่งนี้ดำเนินมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1981 และปฏิรูปใหญ่ครั้งสุดท้ายในปี 1992 

ทั้งด้านความมั่นคงกองทัพกัมพูชาทั้ง 3 เหล่าที่ได้รับความช่วยเหลือจากจีน หลักฐานล่าสุดคือฐานทัพเรือที่อ่าวเรียม ส่วนภาคเศรษฐกิจนั้น กัมพูชายังเป็นชาติเดียวที่จีนนำเข้าสินค้าเกษตรระยะยาวทดแทนตลาดสหภาพยุโรปที่หดหายจากมาตรการลงโทษและโควิด-19 

นอกจากนี้ ยังมี “เสาที่ 5” นโยบายอาศัยเครือข่ายพลเมืองจีนโพ้นทะเลทุกมุมโลก เพื่อสร้างความสำเร็จทั้งในอดีตแผ่นดินแม่และประเทศใหม่ในรูป “ครอบครัวเดียวกัน” ของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งกัมพูชา ประเทศแห่งหนึ่งได้เปลี่ยนตนเองในคราบอาณานิคมใหม่ภายใต้สังกัดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เพิ่งครบรอบ 100 ปีแห่งการก่อตั้ง 

ช่างเป็นความสัมพันธ์อันงดงามยิ่งนัก สำหรับภูมิภาคแห่งนี้ที่เต็มไปด้วยความเย้ายวนด้านยุทธศาสตร์แห่งการแย่งชิงของมหาอำนาจรุ่นแล้วรุ่นเล่า 

ก่อนหน้านี้ เราเคยประสบเคราะห์กรรมจากโดมิโนครั้งแรกในสงครามตัวแทนเมื่อครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา 

แล้วตอนนี้ ความสำเร็จลูกผสมฉบับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่กัมพูชามองเห็นเป็นต้นแบบนั้นกำลังจะกลับมา และในอีกทศวรรษหน้า 

มาดูกันว่าไทยจะอยู่ตรงไหน?