ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ กับการปฏิวัติ 2475  : วิศวกรผู้เห็นชาติสำคัญสูงสุด / My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand 

ณัฐพล ใจจริง 

  

ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ กับการปฏิวัติ 2475 

: วิศวกรผู้เห็นชาติสำคัญสูงสุด 

  

“หม่อมหลวงกรีเป็นคนนิสสัยดี รักเพื่อนฝูง แต่รักมากที่สุดคือ รักชาติ…” 

(ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล, 2490) 

  

ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ เป็นพระราชวงศ์ ผู้เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าชนชั้น 

เขาร่วมการปฏิวัติ 2475 ต่อมาถูกคุมขังจากกบฏบวรเดชฐานเขาเป็นสมาชิกคณะราษฎร เมื่อหนีได้จึงข้ามไปจำปาศักดิ์เพื่อเข้ากรุงเทพฯ ร่วมพิทักษ์ประชาธิปไตย ร่วมก่อตั้งเสรีไทย พัฒนาการรถไฟ และพยาพยามฟื้นฟูทางรถไฟสายมรณะจนประสบอุบัติเหตุอสัญกรรมในหน้าที่ 

หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์ (ม.ล.กรี เดชาติวงศ์) (2445-2490) สมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน เขาสืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 15 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย 

ชีวิตในวัยเยาว์ของเขาไม่สุขสบาย เนื่องจากบิดา-มารดาถึงแก่กรรมแต่วัยเยาว์ เขาได้รับการอุปการะจาก ม.ล.สมบุญ พี่สาวของเขาเป็นภริยาของพระพิสัณห์พิทยาภูน-ครูที่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ 

การศึกษาในชั้นต้นเขาเรียนจากพี่เขย ต่อมาเข้าเรียนโรงเรียนวัดอนงคาราม โรงเรียนมัธยมวัดพิชัยการาม และเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ 

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ และผลการเรียนดี ทำให้เขาได้ทุนของกรมรถไฟหลวงไปศึกษาวิชาวิศวกรรมโยธาที่ประเทศอังกฤษ จนสำเร็จวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเบอร์มิ่งแฮม (2469) 

เขาเน้นเรียนทางวิศวกรรมรถไฟและการสร้างทางหลวง และกลับมารับราชการที่กรมรถไฟหลวง 

ม.ล.กรี เดชาติวงศ์

ายปรีดี พนมยงค์ บันทึกถึงเขาในฐานะสมาชิกคณะราษฎรว่า “เพื่อนที่ก่อตั้งในคณะราษฎรที่ปารีส… ได้ชวน ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ นักศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์, ม.ล.กรี เดชาติวงศ์, นายสพรั่ง เทพหัสดินทร ณ อยุธยา และนายเล้ง ศรีสมวงศ์ นักศึกษาจากอังกฤษ ฯลฯ” 

นายแนบ พหลโยธิน สมาชิกคณะราษฎรชักชวนนายทวี บุณยเกตุ ในยุโรป ต่อมานายทวีชักชวนสมาชิกในไทยเข้าร่วม ดังญาติของ ม.ล.กรี บันทึกไว้ว่า “หม่อมหลวงกรีมีเพื่อนรักๆ กันอยู่ 3-4 คน คือ หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ คุณทวี บุณยเกตุ คุณเล้ง ศรีสมวงศ์ และคุณหลวงสุนทรเทพหัสดิน” (สุมนชาติ, 2490) 

ในระหว่างที่เขาปฏิบัติงานที่กรมรถไฟ เขาเข้าร่วมการปฏิวัติ 2475 โดยมีหน้าที่ในด้านการจัดการตัดระบบคมนาคม ทั้งการสื่อสารและการรถไฟ 

โดยกลุ่มปฏิบัติการของเขามี 4 คน ประกอบด้วย นายแช่ม มุสตาฟา (พรหมยงค์) นายบรรจง ศรีจรูญ ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ และตัวเขา มีหน้าที่ไปตัดโทรเลข และขัดขวางเส้นทางรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ และหัวหิน 

แม้นเขาเป็นวิศวกร แต่มีความสนใจการเมือง ทำให้ห้องสมุดของเขาอัดแน่นไปด้วยหนังสือการเมืองของมาสซินี ตรอทสกี้ เลนิน สตาลิน รูสโซ อีกด้วย 

ด้วยความเป็นนักอ่านทำให้ “ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ เป็นผู้มีความคิดเฉียบแหลมลึกซึ้งและสุขุม จึงเป็นที่นับถือรักใคร่ของเพื่อนฝูงและเพื่อนร่วมงานกันเป็นอย่างมาก” 

ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ เคยเล่าถึง ม.ล.กรีผู้เป็นเพื่อนร่วมตายในปฏิบัติการที่ 24 มิถุนายน ซึ่งวันพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินที่เสี่ยงชีวิตว่า “มีพรรคพวกบางคน เช่น หลวงเดชาติวงศ์วรารัตน์ nerve กิน ป่วยไปหลายวัน” 

 

กรมพระยาเดชาดิศร และ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์

ายหลังการปฏิวัติสำเร็จ เขารับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่นายช่าง ณ โรงงานมักกะสัน ซึ่งเป็นภารกิจเขาที่เชี่ยวชาญ 

ไม่นานจากนั้น พระยามโนปกรณ์ฯ นายกรัฐมนตรีแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิวัติ 2475 และทำการปิดสภา (2476) เขาเป็นสมาชิกคณะราษฎรจึงถูกมองเป็นหอกข้างแคร่ และถูกย้ายออกจากกรุงเทพฯ ไปคุมก่อสร้างยังถิ่นทุรกันดาร-ขอนแก่น 

ต่อมาเกิดกบฏบวรเดช (ตุลาคม 2476) ขณะนั้น เขาคุมก่อสร้างที่ขอนแก่นอยู่ ฝ่ายกบฏเพ่งเล็ง ด้วยเหตุที่เขาเป็นสมาชิกคณะราษฎร เขาจึงมิอาจรอดพ้นจากอุ้งมือของฝ่ายกบฏไปได้ ในประวัติบันทึกไว้ว่า 

“ในฐานะที่ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ เป็นบุคคลสำคัญฝ่ายรัฐบาลที่ประจำการอยู่ในภาคนั้น จึงต้องถูกจำขังอยู่ ณ กองบัญชาการที่นครราชสีมาเป็นเวลาหลายวัน และพยายามออกจากที่คุมขังได้ เขาทำการติดต่อกับฝ่ายรัฐบาล รายงานสภาพการณ์เป็นไปในภาคนั้นในระหว่างความไม่สงบนั้นให้รัฐบาลทราบโดยละเอียด และอำนวยมิให้ฝ่ายปฏิปักษ์ของรัฐบาลทำการยึดภาคอีสานไว้ได้ โดยระดมกำลังตำรวจในภาคนั้นเข้าทำการรักษาความสงบ” 

หลังจากหลบหนีออกจากที่คุมขังของฝ่ายกบฏ เขาเร่งเดินมาที่กรุงเทพฯ ร่วมเป็นร่วมตายกับคณะราษฎร แต่ไม่สามารถเดินทางได้ เนื่องจากทางรถไฟถูกปิดกั้นจากฝ่ายกบฏ จึงข้ามพรมแดนไปยังนครจำปาศักดิ์ของฝรั่งเศส 

แต่ตำรวจฝรั่งเศสจับกุมคุมขังเขาที่นครจำปาศักดิ์ จวบจนเหตุการณ์สิ้นสุดลง 

 

ทีมคณะราษฎร จากซ้าย นายแช่ม ม.ล.อุดม ม.ล.กรี และนายบรรจง

ารร่วมพิทักษ์ประชาธิปไตยนี้ถูกบันทึกว่า “งานที่ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ ได้กระทำในเดือนตุลาคม พ.ศ.2476 นี้ ม.ล.กรีภาคภูมิใจนัก เพราะเป็นการช่วยระงับการปะทะให้เสร็จสิ้นลงโดยเร็ววัน โดยฝ่ายรัฐบาลเป็นฝ่ายที่ทำการได้เป็นผลสำเร็จ” 

เขาเคยเล่าให้ญาติสนิทฟังถึงความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการปฏิวัติว่า “ไม่ว่าจะทำการสิ่งใด ทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง คิดถึงความปลอดภัยหลายชั้นเสมอ และมักกล่าวว่า ทำอะไรระวัง Reactionary ให้จงหนัก และ Reactionary ในทางการเมืองร้ายแรงนัก” (สุมนชาติ, 2490) 

ต่อมา ในระหว่างที่เขาเป็นนายช่างกรมโยธาเทศบาล เขาริเริ่มโครงการฟื้นสวนลุมพินีเพื่อใช้เป็นที่สวนสาธารณะให้กับประชาชน (2478) เนื่องจากที่ผ่านมาสวนลุมฯ เป็นที่รกร้าง มีแต่อาชญากรรม ต่อมา เขาติดต่อโอวบุ้นโฮ่ว นายห้างยาหม่องตราเสือ สิงคโปร์ สร้างสนามกีฬาเด็กขึ้นเป็นแห่งแรกไว้ในสวนลุมฯ 

ด้วยเขาเป็นวิศวกร รัฐบาลจึงส่งเขาไปประชุมการวิศวกรรมที่โตเกียว (2483) ดูงานด้านการสร้างบำรุงทางในญี่ปุ่น แมนจูกัว 

ขากลับ เขาแวะศึกษาดูงานระบบรถไฟในอินโดจีนเพื่อเป็นแนวคิดพัฒนาการรถไฟไทยต่อไปอีกด้วย 

เมื่อญี่ปุ่นยาตราทัพเข้าไทยปลาย 2484 เขาเสียใจมาก แม้นก่อนหน้านั้น เขาคิดว่าญี่ปุ่นต้องเข้าไทยแน่ รัฐบาลจอมพล ป.จึงมอบหมายให้เขาทำสิ่งขวางญี่ปุ่นที่อรัญประเทศ 

ในระหว่างการสร้าง ปรากฏว่า ญี่ปุ่นยกพลเข้าไทยแล้ว เขาจึงหารือกับพระยาพหลฯ หาทางตั้งรัฐบาลไทยอิสระในภาคเหนือ 

แต่กองทัพญี่ป่นกระจายกำลังไปทั่ว จึงไม่อาจทำตามแผนได้ เขาจึงเพียรที่จะส่งข่าวให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทราบฐานะที่แท้จริงของไทย 

ซึ่งนายปรีดีบันทึกว่า เขามีส่วนในการร่วมก่อตั้งขบวนการเสรีไทยด้วย 

 

ภาพถ่ายหมู่คณะราษฎสายพลเรือน นายปรีดี พนมยงค์ (นั่งกลาง) ม.ล.กรี (ลูกศรชี้)

มื่อสงครามสิ้นสุดลง แม้นบทบาทของ ม.ล.กรีเป็นฝ่ายตรงข้ามกับจอมพล ป. แต่จอมพล ป.ยังคงเขียนไว้อาลัยเขาในหนังสืองานศพว่า 

“ผมจึงถือโอกาสนี้ทดแทนคุณ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ ในฐานะที่เคยทำงานแผ่นดินร่วมกันมานานด้วยดี ตลอดเวลาที่ท่านผู้นี้มีชีวิตได้ปฏิบัติตนสมควรยกย่องได้ผู้หนึ่ง… เป็นมิตรที่ไว้วางใจได้ พูดแล้วไม่ต้องมองดูตาเพื่อค้นหาความทรยศ ดังนั้น เมื่อได้ถึงแก่ความตายลงไปเช่นนี้ จึงมีผู้สรรเสริญมากคน ผมเคยเป็นมิตรและเคยเป็นผู้บังคับบัญชามานาน…จึงรู้สึกเสียดายไม่หาย” 

เขาเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ พฤฒิสภา เสรีไทย รัฐมนตรีว่าการหลายกระทรวง ตลอดจนเป็นกรรมการพรรคแนวรัฐธรรมนูญที่ยึดหลักของคณะราษฎร ในประวัติบันทึกว่า เขามีความคิดไปในทางสังคมนิยม 

เมื่อสงครามสิ้นสุดลง เขาเห็นว่าทางรถไฟสายพม่าที่ญี่ปุ่นสร้างขึ้น สมควรรื้อฟื้นขึ้นมาเพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมฟื้นฟูการค้าไทย เขาในฐานะรัฐมนตรีคมนาคมและคณะจึงเดินทางไปสำรวจเส้นทาง แต่ประสบอุบัติเหตุจากรถตรวจการรางรถไฟตกเหวที่ห้วยคอยท่า ถึงแก่อสัญกรรมในหน้าที่เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2490 สิริอายุได้เพียง 45 ปี 

หลังจากถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว ต่อมา รัฐบาลสมัยจอมพล ป.ได้ตั้งชื่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่นครสวรรค์ว่า “สะพานเดชาติวงศ์” (2493) เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึง ม.ล.กรีด้วย 

  

ทางรถไฟสายมรณะ และรถตรวจการทาง