เทศมองไทย : ค่าเงินบาท กับทิศทางประเทศไทย

เมื่อ 2 กรกฎาคม ปี 1997 ทางการไทยตัดสินใจยกเลิกระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดตายตัวอยู่กับค่าเงินดอลลาร์ ปล่อยให้เงินบาท “ลอยตัว” ขึ้นลงได้โดยอิสระตามกลไกตลาด เชื่อมโยงและสะท้อนกับภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ

การตัดสินใจที่เกิดขึ้นจาก “ความจำเป็น” และ “หมดทางเลือก” เพราะทุนสำรองเหลือน้อยเต็มทีในครั้งนั้นส่งผลให้ค่าบาทดิ่งพังพาบลงกับพื้น หนี้ที่เป็นเงินดอลลาร์ถีบตัวสูงขึ้นพรวดพราด ลูกหนี้เบี้ยวหนี้กันระนาว กระทบต่อเนื่องไปถึงสถาบันการเงินทั้งระบบ

และแน่นอน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยสาหัส

ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของวิกฤตที่ลามออกไปทั่วภูมิภาค สะเทือนถึงระดับโลก และจำต้องกู้ยืมเงินช่วยจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มาเพื่อใช้ในการฟื้นฟู 14,100 ล้านดอลลาร์

นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีก่อน เป็นบทเรียนเศรษฐกิจการเงินครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศ ที่ถูกใช้เป็น “หมุดหมาย” ไว้อ้างอิง ไว้ทบทวนกันเสมอมา

แม้นานเข้า เรามักจะลืมเลือนเรื่องนี้ กระนั้นก็ยังมีอีกหลายๆ คนและสื่อในระดับโลกที่คอยกระตุ้นเตือนให้เรารำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นอยู่เสมอมา

 

เมื่อ 30 มิถุนายน สุนิล จักเทียนี แห่งบลูมเบิร์กนิวส์ ก็เขียนถึงเรื่องนี้ เขามองค่าเงินบาทและภาวะแวดล้อมทางการเงินการคลังของไทยในอดีตโยงมาถึงสภาวะปัจจุบัน แล้วแสดงความกังขาออกมาว่า ทำไมยังเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถาม เต็มไปด้วยความท้าทาย?

ตัวอย่างเช่น เรื่องค่าเงินบาท ที่ตอนนี้แข็งค่าขึ้นสูงมาก ไต่ขึ้น 3.4 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ทั้งเอเชียจะเป็นรองก็แต่ดอลลาร์ไต้หวันกับรูปีของอินเดียเท่านั้นเอง

ถามว่าสภาพที่เป็น “ตรงกันข้าม” กับค่าบาทเมื่อ 20 ปีก่อนนี้ดีหรือไม่?

คำตอบของไอเอ็มเอฟคือ ไม่-เป็นค่าเงินที่แข็งค่ามากเกินไป ไม่เป็นผลดีโดยเฉพาะกับประเทศที่การส่งออกมีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์อย่างเช่นไทย

ภายใต้กระบวนการซ่อมแซมและปฏิรูปภาคการเงินยาวนานและเจ็บปวด ปัญหาของไทยย่อมไม่ย้อนกลับไปอยู่ในสภาพเดียวกันกับเมื่อ 20 ปีก่อน

ทุกวันนี้ ทุนสำรองของไทยอยู่ที่ 184,500 ล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สูงเกินกว่าปริมาณหนี้ต่างประเทศระยะสั้นอยู่กว่า 3 เท่าตัว

ดุลบัญชีเดินสะพัดของไตรมาสแรกเกินดุลอยู่เท่ากับ 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

แต่นั่นไม่ใช่ไม่เป็นปัญหา ปัญหาอยู่ตรงที่ทุกอย่างสูงเกินไป มีมากเกินไป

 

ราหุล บาโจเรีย นักเศรษฐศาสตร์ของบาร์เคลย์ประจำสิงคโปร์บอกกับสุนิลว่า ทุนสำรองมีมากเกินไปทำให้ผู้รับผิดชอบนโยบายการเงินต้องคลายกฎสำหรับการลงทุนในต่างประเทศลง เมื่อปี 2016 มีเงินทุนไหลออกจากไทยไปลงทุนในต่างประเทศสูงเป็นประวัติการณ์ 13,000 ล้านดอลลาร์

ส่วนเงินไหลเข้ามาเพื่อลงทุนในประเทศมีเพียง 1,600 ล้านดอลลาร์เท่านั้นเอง

เงินทุนทั้งขาเข้า ขาออกต้องสมดุล ระบบปริวรรตเงินตราของไทยจึงจะสมดุลตามไปด้วย

สุนิลบอกว่า นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมรัฐบาลจึงต้องประกาศโครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ 56 โครงการ มูลค่าสูงถึง 2.3 ล้านล้านบาท ที่ส่วนสำคัญที่สุดคือ ไทยแลนด์ 4.0 ที่มีมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท ทั้งระบบราง, เมืองใหม่ และอุตสาหกรรมทันสมัย ที่จะเชื่อมโยงเข้ากับโปรเจ็กต์ยักษ์ “เบลต์แลนด์โรด” ของจีน

เงินทั้งหมดนั่นส่วนใหญ่จะมาจากภาคเอกชน ซึ่งหมายความว่า ไทยจำเป็นต้องแข่งกัน “ดูด” เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ กับอีกหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม กัมพูชา และพม่า

 

อุลริช ซาชอ ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกว่า เพราะต้องแข่งขัน ไทยจึง “จำเป็น” ต้องพัฒนาทักษะแรงงานผ่านการศึกษาให้สูงกว่า ดีกว่าและดึงดูดใจนักลงทุนให้ได้มากกว่า

การพัฒนาแรงงานดังกล่าวในสภาวะทางสังคมที่มีประชากรสูงอายุเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วและประชากรวัยแรงงานหดตัวลงตามลำดับ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องใหญ่โตอย่างยิ่ง

อุลริช ซาชอ เรียกมันว่า “ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ใหญ่โต” สำหรับประเทศไทย

ธนาคารโลกชื่นชมการพัฒนาประเทศของไทยในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาไม่น้อยที่ดิ้นรนจนพ้นจากความเป็นประเทศยากจนสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง หนีจากวิกฤตการเงินมาเป็นประเทศที่มีทุนสำรองมากพอที่จะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตซ้ำรอยอีกครั้งได้ แต่เราสามารถทำให้ประเทศก้าวไปอีกขั้นในอีก 40 ปีข้างหน้าได้หรือไม่? คือคำถามสำคัญ

ดูเหมือนเรารู้ว่าจำเป็นต้องทำอะไร และกำลังเริ่มทำเพื่อพัฒนาทักษะแรงงาน ปรับปรุงเทคโนโลยี และมุ่งเน้นไปที่การวิจัยและพัฒนามากขึ้น เพื่อก้าวให้พ้นกับดักรายได้ปานกลางเสียที

แต่ระหว่าง “ได้ทำ” กับ “ทำได้” นั้น มีความท้าทายใหญ่หลวงคั่นกลางอยู่ชัดเจนเช่นกัน