2503 สงครามลับ  สงครามลาว (36) /บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ 

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ 

  

2503 สงครามลับ 

สงครามลาว (36) 

  

เส้นทางโฮจิมินห์ 

ต้ นปี 2507 ซีไอเอโดยบิลล์ แลร์ พยายามขยายความสำเร็จของ “ปฏิบัติการโมเมนตัม” จากทุ่งไหหินไปยังแขวงซำเหนือ รวมทั้งที่พงสาลีซึ่งอยู่ไกลจากเวียงจันทน์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ติดกับดินแดนเวียดนามเหนือซึ่งได้รับความเห็นชอบจากวอชิงตัน รวมทั้งวังเปาก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ 

ในกรุงวอชิงตัน จอห์นสัน ประธานาธิบดีคนใหม่ของอเมริกา และเจ้าหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติกำลังวิตกเกี่ยวกับเส้นทางส่งกำลังบำรุงที่เชื่อมเวียดนามเหนือและใต้โดยตัดผ่านลาว 

เส้นทางที่ว่านี้หากได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นก็จะทำให้สถานการณ์ในลาวยิ่งเลวร้ายลงอีก 

รวมทั้งจะสร้างความยากลำบากแก่ทหารเวียดนามใต้ซึ่งกำลังเป็นรองในขณะนั้น พร้อมสั่งการให้ฝูงบินที่ประจำอยู่ในฐานบินตาคลีส่งเครื่องบินตรวจการณ์ชั้นสูงแบบ U-2 ที่มีเพดานบินสูงมากขึ้นบินสอดแนมในเขตแดนประเทศจีน รวมทั้งเมืองเซโปนและบริเวณเทือกเขาอันนัมอีกด้วย 

เมืองเซโปนเป็นชุมทางการค้าขายซึ่งอยู่ในดินแดนลาว ใกล้กับเขตปลอดทหารที่แบ่งแยกเวียดนามเหนือออกจากเวียดนามใต้ ที่นี่มีกองกำลังของเวียดนามเหนือประมาณ 3,000 คนแทรกซึมประจำการอยู่โดยรอบ ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดของทหารเวียดนามเหนือที่ประจำการอยู่ในลาวขณะนั้น 

เครื่องบิน U-2 กลับมาพร้อมรูปถ่ายที่ตั้งทหารเวียดนามเหนือซึ่งมีปืนต่อสู้อากาศยานติดตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ป่ารอบเมืองเซโปน 

ทีมข่าวของซีไอเอก็ได้ข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของทหารเวียดนามเหนือมาเพิ่มเติมเช่นเดียวกัน 

สหรัฐเชื่อว่ากองกำลังเวียดนามเหนือที่ว่านี้มิได้เข้าร่วมในการสู้รบที่เกิดขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของลาวโดยตรง 

แต่น่าจะเป็นกำลังส่วนหนึ่งของแผนระยะยาวที่จะเปิดเส้นทางยุทธศาสตร์อันเป็นเสมือนประตูหลังจากเวียดนามเหนือเข้าสู่เวียดนามใต้ 

ทหารเวียดนามเหนือได้ยึดครองพื้นที่บริเวณเมืองเซโปนมานานกว่า 10 ปีแล้ว และกักตุนเสบียงต่างๆ จำนวนมากซ่อนไว้ในถ้ำ 

ในแต่ละปีทหารเวียดนามเหนือประมาณ 200-300 คนเดินทางจากเวียดนามเหนือตัดผ่านเส้นทางทุรกันดารนี้เข้าสู่เขตแดนเวียดนามใต้โดยใช้การเดินเท้าหรือใช้ช้างเป็นพาหนะในการเดินทางเป็นหลัก 

บิลล์ แลร์ เองก็ได้ส่งทีมสอดแนมของพวกชาวเขาจากสุวรรณเขตและปากเซเข้าไปปฏิบัติการในหลายพื้นที่บริเวณที่ราบสูงทางตอนใต้ของเวียดนามเช่นเดียวกัน 

ขณะที่ทหารกรีนเบเร่ต์นำกำลังทหารจากหน่วยคอมมานโดของเวียดนามใต้และกองกำลังชาวเขาข้ามเข้ามาในลาวเพื่อช่วยเหลืออีกแรงหนึ่ง 

อเมริกาในพื้นที่เฝ้าสังเกตการณ์ความเติบโตของเครือข่ายเส้นทางลำเลียงของพวกคอมมิวนิสต์เส้นทางนี้ด้วยความสนใจเป็นพิเศษ และให้ชื่อว่า “HO CHI MINH TRAIL-เส้นทางโฮจิมินห์” 

วันที่ 28 พฤษภาคม 2507 ไม่ถึง 1 ปีนับจากวันเริ่มต้นปฏิบัติการทางอากาศของอเมริกา หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สได้ตีพิมพ์ภาพถ่ายทางอากาศจากเครื่องบินตรวจการณ์อเมริกาซึ่งเปิดเผยให้เห็นขบวนรถบรรทุกทหารเวียดนามเหนือได้ถูกนำมาใช้สนับสนุนทหารฝ่ายประเทศลาวในบริเวณทุ่งไหหิน 

1 เดือนต่อมาในวันที่ 26 มิถุนายน นิวยอร์กไทม์สตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับลาวอีกครั้ง เจาะจงไปยังเส้นทางส่งกำลังบำรุงของเวียดนามเหนือที่ตัดผ่านลาวสู่เวียดนามใต้ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมาก่อน 

ในบทความให้รายละเอียดว่า “เครื่องบินของกองทัพอากาศยืนยันรายงานที่ได้รับก่อนหน้านี้ว่าพวกคอมมิวนิสต์ได้ปรับปรุงและก่อสร้างเครือข่ายถนนทางภาคใต้ของลาวและเพิ่มปริมาณการส่งกำลังบำรุงผ่านเส้นทางดังกล่าว” 

ในรายงานข่าวยังกล่าวต่อไปอีกว่า “เครือข่ายถนนดังกล่าวตัดลงใต้มุ่งสู่เมืองเซโปน” 

รายงานข่าวนี้แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในลาวและเวียดนามนั้นล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ซึ่งทางอเมริกาก็ได้คาดการณ์ไว้แล้วว่าจะเป็นเช่นนั้น 

  

กองร้อยทหารปืนใหญ่จากไทย 

 ดยภาพรวมของปฏิบัติการทางการทหาร ทั้งสองฝ่ายต่างเพิ่มความเข้มข้นในการใช้กำลังของตน แม้ว่าอัตราส่วนการใช้กำลังในแต่ละกลุ่มจะเปลี่ยนไปด้วยก็ตาม 

ฝ่ายนิยมคอมมิวนิสต์ลดบทบาทของขบวนการประเทศลาวลง แต่เพิ่มบทบาทของเวียดนามเหนือมากขึ้น เวียดนามเหนือเป็นผู้วางแผน ควบคุมการส่งกำลังบำรุงและส่งทหารไปประจำในหน่วยทหารของฝ่ายขบวนการประเทศลาวมากยิ่งขึ้น 

ขณะที่ฝ่ายขวา อิทธิพลของฝ่ายกษัตริย์นิยมและนายพลภูมีก็ค่อยๆ ลดน้อยลง วังเปากลายเป็นผู้บัญชาการทางทหารที่มีความสำคัญที่สุดในลาว ส่วนทางด้านอเมริกาก็ยกระดับการใช้กำลังทางอากาศของตนต่อสนามรบในลาวมากยิ่งขึ้น 

ทั้งอเมริกาและเวียดนามเหนือไม่รีบร้อนนักในการเอาชนะสงครามลาว เพราะต่างก็ออมกำลังเอาไว้ชี้ขาดกันในสมรภูมิเวียดนามใต้ 

สงครามในลาวจึงมีรูปแบบที่ต่างฝ่ายต่างผลัดกันรุกผลัดกันรับมาโดยตลอด 

ฝ่ายคอมมิวนิสต์จะเข้าโจมตีในฤดูแล้งเมื่อเส้นทางถนนอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคม ขบวนรถบรรทุกจะลำเลียงทหารเวียดนามเหนือจะเข้ายึดพื้นที่ ครั้นถึงฤดูฝนระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน เมื่อเส้นทางถนนกลายเป็นปลักโคลน ก็จะเป็นทีของทหารฝ่ายขวาเข้ายึดพื้นที่กลับคืน 

เครื่องที-28 เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินลำเลียงขนาดใหญ่ และเครื่องบินไอพ่นอเมริกาจะออกปฏิบัติการเต็มอัตราศึก ทำให้ฝ่ายขวาได้เปรียบในการรบ โดยที่พวกคอมมิวนิสต์ไม่สามารถเทียบได้ 

สงครามแบบผลัดกันรุกผลัดกันรับแบบนี้ เริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้าโจมตีทุ่งไหหินในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2507 โดยสามารถยึดครองพื้นที่ราบในทุ่งไหหินไว้ได้ แต่ก็ไม่สามารถครอบครองความได้เปรียบอย่างเด็ดขาด เนื่องจากฝ่ายวังเปายังคงยึดครองที่บ้านบนภูเขาสูงรอบๆ บริเวณตัวทุ่งไหหินเอาไว้ได้ 

เมื่อถึงหน้ามรสุมของปี พ.ศ.2507 เดือนมิถุนายน ทหารลาวฝ่ายขวาก็เข้ารุกโต้ตอบเพื่อแย่งยึดพื้นที่คืน 

การรุกโต้ตอบครั้งนี้เกิดขึ้นในชื่อปฏิบัติการลับ Operation Tri Angle ซึ่งได้รับอนุมัติโดยตรงจากประธานาธิบดีจอห์นสัน ควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงในวอชิงตัน เป้าหมายของปฏิบัติการคือการโจมตีกองทหารของขบวนการประเทศลาวที่ได้ยึดครองบริเวณจุดตัดของเส้นทางถนนหมายเลข 7 และ 8 อันเป็นทางสัญจรเชื่อมทุ่งไหหินเข้ากับเวียงจันทน์และหลวงพระบาง 

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ นอกจากการใช้ “อาวุธใหม่” ด้วยการโจมตีจากเครื่องบินรบแล้ว สหรัฐและลาวยังได้ร้องขอให้ไทยเพิ่มอำนาจการยิงด้วยอาวุธหนักในพื้นที่ทุ่งไหหินด้วย อันเป็นที่มาของฐานยิงสนับสนุนของทหารปืนใหญ่เพื่อป้องกันจุดยุทธศาสตร์ “เมืองสุย” ที่ควบคุมจุดตัดของถนนหมายเลข 7 และ 8 ที่เชื่อมต่อเวียงจันทน์กับหลวงพระบางดังกล่าว 

“กองร้อยเอสอาร์” จากไทยสถาปนาฐานยิงสนับสนุนที่เมืองสุยเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2507