ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 กรกฎาคม 2564 |
---|---|
เผยแพร่ |
โฟกัสพระเครื่อง–(สุรินทร์ สรรพคุณ)
โคมคำ / [email protected]
มงคลเหรียญหล่อโบราณ
พิมพ์ใบตำลึง-อรุณเทพบุตร
หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม
พระเกจิอาจารย์สายแม่กลองที่อาวุโสรองจากหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย คือ “หลวงพ่อบ่าย ธัมมโชโต” แห่งวัดช่องลม ต.บ้านปรก อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม วัตถุมงคลได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังลุ่มแม่น้ำแม่กลอง เป็นทั้งน้องและศิษย์ของหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย และเป็นสหธรรมิกที่สนิทสนมกันมากกับหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม พระเกจิชื่อดังในยุคเดียวกัน
สร้างวัตถุมงคลไว้หลายชนิด ล้วนเป็นที่นิยมและเสาะแสวงหาอย่างสูง อาทิ เหรียญรูปเหมือน และเครื่องรางของขลังต่างๆ
แต่ที่ได้รับความนิยมคือเหรียญหล่อ
ในปี พ.ศ.2459 จัดสร้าง “เหรียญหล่อโบราณ พิมพ์ใบตำลึง” ถือเป็นเหรียญหล่อรุ่นแรกของหลวงพ่อบ่าย
ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณ มีหูในตัว ประกบพิมพ์หน้า-หลัง รูปร่างคล้ายใบตำลึง ชาวบ้านที่ได้รับแจกจึงเรียกกันว่าเหรียญใบตำลึงจนติดปาก สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธปางสมาธิพาดผ้าสังฆาฏิ องค์พระมีเส้นซุ้มและอาสนะ มีอักขระยันต์ล้อมรอบไปกับองค์พระล้อไปกับพิมพ์ทรงของเหรียญ
ด้านหลัง มีอักขระยันต์หัวใจพญาเสือโคร่ง อันเป็นเอกลักษณ์ของพระเกจิสายแม่กลอง ด้านล่างมีตัวเลขไทย “๒๔๕๙” ระบุปีที่สร้าง
นอกจากนี้ ยังมีเหรียญหล่อโบราณอีกหนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันคือ “เหรียญหล่อพิมพ์อรุณเทพบุตร”
จัดสร้างในปี พ.ศ.2460 จัดเป็นเหรียญหล่อโบราณที่ได้รับความนิยมอีกเหรียญ มีเอกลักษณ์ชัดเจน ทั้งยังสร้างก่อนเหรียญหล่ออรุณเทพบุตรของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ตัวเหรียญหล่อมีลักษณะเป็นรูปไข่ หล่อแบบเป้าประกบหน้า-หลัง มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ มีเม็ดบัวรองรับเป็นอาสนะ ด้านซ้าย-ขวาเป็นรูปเทวดาสวมชฎายอดแหลม ในมือถือพระขรรค์ ด้านล่างมีอักขระขอมอ่านได้ความว่า “ธัมมโชโต”
ด้านหลัง มีการผูกอักขระยันต์หัวใจพญาเสือโคร่ง “ภู ภิ ภุ ภะ” อันเป็นเอกลักษณ์ของพระเกจิสายแม่กลอง รอบขอบเหรียญมีลวดลายดอกไม้ล้อไปกับขอบเหรียญ
ชีวประวัติหลวงพ่อบ่าย ได้รับการบันทึกเป็นหลักฐานน้อยมาก แต่เท่าที่สืบค้นมาได้ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 8 ปีระกา ตรงกับพุทธศักราช 2404 ที่บ้านครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
เป็นเด็กกำพร้าซึ่งพระอาจารย์เกตุ วัดทองนพคุณ จ.เพชรบุรี พี่ชายหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย ได้นำมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม
เมื่ออายุ 10 ปี ศึกษาภาษาไทยและภาษาบาลีจากพระอาจารย์คล้ำ วัดสวนทุ่ง ก่อนบรรพชาเป็นสามเณร
อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ อุปสมบทที่วัดทองนพคุณ มีหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์พุก วัดสวนทุ่ง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เกตุ วัดทองนพคุณ เป็นอนุสาวนาจารย์
อยู่จำพรรษาที่วัดทองนพคุณ จ.เพชรบุรี
ด้านการศึกษาวิทยาคมนั้นเรียนกับหลวงพ่อพุก วัดสวนทุ่ง และพระอาจารย์เกตุ วัดทองนพคุณ อีกทั้งยังได้เรียนเพิ่มเติมจากหลวงพ่อแก้ว วัดช่องลม พร้อมกับเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานและพุทธาคมควบคู่กันไปด้วย ท่านจึงมีความใกล้ชิดกับหลวงพ่อแก้วเป็นอย่างยิ่ง
ปี พ.ศ.2437 ไปธุดงค์ที่จังหวัดสระบุรี เพื่อไปนมัสการพระพุทธบาทและพระพุทธฉาย โดยมีพระภิกษุติดตามไปด้วย 4 รูป คือ อาจารย์ไปล่ พระยา พระพลอย และโยมอุปัฏฐากหนึ่งคน ออกเดินทางในราวเดือน 12
เมื่อไปถึงและนมัสการพระพุทธบาทและพระพุทธฉายแล้ว พักแรมอยู่ประมาณเดือนเศษ ก่อนเดินทางต่อไปที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อไปนมัสการพระแท่นดงรัง ในราวเดือน 4 กลางเดือน พักแรมอยู่ที่พระแท่นดงรัง 7 วัน
ครั้นเสร็จภารกิจแล้วก็เดินกลับวัดช่องลม การไปธุดงค์ในครั้งนี้เป็นเวลา 4 เดือนเศษ
ขณะนั้นได้เป็นเจ้าอาวาสวัดช่องลมแทนหลวงปู่แก้ว ซึ่งย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพวงมาลัยในปี พ.ศ.2445
พ.ศ.2470 จึงคิดที่จะย้ายที่ตั้งวัดใหม่ เนื่องด้วยทำเลที่ตั้งวัดช่องลมเดิมติดโค้งน้ำของแม่น้ำแม่กลอง ทำให้เกิดน้ำกัดเซาะตลิ่งพังไปทุกปี จนท้ายที่สุดน้ำกัดเซาะพังจวนจะถึงกุฏิ จึงย้ายวัดมาตั้งวัดใหม่ในพื้นที่ปัจจุบัน
พ.ศ.2472 โยกย้ายก่อสร้างอุโบสถใหม่ ด้วยอุโบสถหลังเดิมถูกน้ำเซาะใกล้กำแพงอุโบสถ
การก่อสร้างหรือการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ นั้นไม่เคยบอกใคร ไม่เคยเรี่ยไรนอกวัด เมื่อชาวบ้านรู้ข่าวว่าจะทำอะไรก็จะมีผู้คนจำนวนมากมายมาร่วมทำบุญ บางรายถวายอิฐบ้าง บางรายถวายไม้บ้าง บางรายถวายกระเบื้องบ้าง บางรายไม่มีทรัพย์ก็เอาแรงมาถวาย บางรายถวายปัจจัยบ้าง สุดแต่ว่าใครมีอะไรก็นำมาทำบุญตามกำลังศรัทธา
มีความประสงค์จะสร้างพระพุทธฉาย (ถ้ำไห) ซึ่งท่านเป็นประธานฝ่ายสงฆ์
ด้วยการบอกบุญกับชาวบ้านขอไหต่างๆ เพื่อสร้างพระพุทธฉาย และก่อสร้างโดยพระสงฆ์ในวัด ขอร้องให้จางวางสอน (หลวงประดิษฐ์ไพเราะ) เป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง และได้สร้างแพะไว้หน้าถ้ำ 1 ตัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของหลวงพ่อบ่าย
ต่อมาในปี พ.ศ.2484 เกิดสงครามโลก พวกโจรมิจฉาชีพตัดหัวแพะและถอดเอาตรีที่ปักยอดเจดีย์ไปเกือบหมดเพื่อหวังทรัพย์ จึงเหลืออยู่แต่ยอดบนๆ
ซึ่งปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
ถือเป็นพระเกจิคณาจารย์ชื่อดังที่มีวิทยาคมเข้มขลังในยุคนั้น ได้รับนิมนต์เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลในงานหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธฯ เมื่อปี พ.ศ.2481 และงานพุทธาภิเษกใหญ่แทบทุกงาน
อีกทั้งยังเป็นสหธรรมิกที่สนิทสนมกันมากกับหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม พระเกจิชื่อดังในยุคเดียวกัน
วัตถุมงคลที่จัดสร้างล้วนแต่มีพุทธคุณโดดเด่น เป็นที่ปรารถนา ทั้งประเภทเครื่องรางของขลัง เหรียญหล่อโบราณ พระพิมพ์ พระผง ฯลฯ
มรณภาพลงอย่างสงบเมื่อวันอาทิตย์ แรม 3 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 4 มกราคม 2485
สิริอายุ 81 ปี พรรษา 60