เครื่องเสียง/พิพัฒน์ คคะนาท/Passive & Active Speakers

เครื่องเสียง/พิพัฒน์ คคะนาท [email protected]

Passive & Active Speakers

จากที่ได้พูดคุยเรื่องหาลำโพงให้ชุดคอมพิวเตอร์ไป ทำให้นึกถึงเรื่องหนึ่งที่ไม่เคยหยิบยกมาพูดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาได้ นั่นก็คือเรื่องของ Active Speakers หรือบ้างก็เรียกว่า Powered Speakers ที่หากจะว่าไปสองชื่อเรียกนี้แม้ภาพรวมแล้วจะไม่แตกต่างกัน คือต่างก็เป็นลำโพงที่มีแอมป์หรือภาครับและขยายสัญญาณในตัว แต่ในรายละเอียดของโครงสร้างทางทฤษฎีแล้ว ออกจะไม่เหมือนกันสักเท่าไรนัก

แต่ผมว่าอย่าได้สนใจลึกไปถึงตรงนั้นเลย ในฐานะคนเล่นและนิยมชมชอบเรื่องดูหนัง ฟังเพลง ขอแค่ได้เสพความสุนทรีย์ในสิ่งที่ชื่นชอบ พร้อมมีพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจ ในหลักใหญ่ใจความของเรื่องที่ชอบนี้ ที่ทำให้ไม่เดินผิดทาง ก็น่าจะพอแล้ว

ก่อนจะไปถึงที่จ่าหัวเอาไว้ ขอย้อนไปตั้งต้นที่คืนวันเก่าๆ ครั้งผมยังเป็นละอ่อนในวงการ เพื่อปูทางมาก่อนละกันนะครับ เผื่อจะเห็นภาพชัดขึ้น

 

ปกติแล้วลำโพงชุดหลักในระบบเสียงทั้ง 2-Channel Stereo ที่ใช้ฟังเพลง และแบบ Multi-Channel ที่ใช้ในระบบเสียงแบบ Home Theatre จะเป็นลำโพงแบบ Passive ที่ไม่มีแอมป์ในตัว มีก็แต่วงจรอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Crossover Network ซึ่งจะทำงานส่งเสียงออกมาได้ ก็ต้องมีสัญญาณทางไฟฟ้าจากภาคขยายเสียงส่งเข้ามา แล้วค่อยแปลงสัญญาณไฟฟ้านั้นเป็นคลื่นเสียงที่ถ่ายทอดออกมาผ่านชุดตัวขับเสียง หรือไดรเวอร์แต่ละตัว ซึ่งมีหน้าที่แตกต่างกันไปตามแต่การออกแบบ

ในยุคที่ระบบเสียงโฮม เธียเตอร์ยังไม่เป็นที่รู้จักกันนั้น คนเล่นเครื่องเสียงก็มีแต่ฟังเพลงจากลำโพงซ้าย/ขวา (2-แชนเนล) ซึ่งทั้งระบบมีองค์ประกอบสำคัญ คือ แหล่งโปรแกรม หรือ Source ที่เป็นต้นกำเนิดสัญญาณเสียง เช่น จูนเนอร์ที่ใช้รับคลื่นความถี่จากสถานีวิทยุ, เครื่องเล่นแผ่นเสียง, เครื่องเล่นเทปแบบโอเพ่น รีล (ถัดมาก็เป็นยุคเทปคาสเส็ต แล้วก็มาถึงยุคเรืองรองของคอมแพ็กต์ ดิสก์ ช่วงต้นทศวรรษที่ 80s ซึ่งเป็นการเริ่มต้นยุคดิจิตอล เทคโนโลยี ที่เข้ามามีบทบาทในวงการภาพและเสียง และจากนั้นอีกไม่นานก็ถึงยุคโฮม เธียเตอร์ กับระบบเสียงแบบมัลติ-แชนเนล)

โดยแหล่งโปรแกรมข้างต้นทำหน้าที่ส่งสัญญาณไปยังเครื่องรับและขยายสัญญาณ หรือ Amplifier (ซึ่งมีทั้งแบบแยกชิ้นคือเครื่องรับและปรับแต่งสัญญาณหรือ Preamp. กับเครื่องขยายสัญญาณหรือ Power-Amp. และแบบรวมกันอยู่ในเครื่องเดียวกันที่เรียกว่า Integrated Amp.)

จากนั้นสัญญาณที่ได้รับการขยายแล้วก็จะถูกส่งต่อไปยังลำโพง หรือ Passive Speakers ที่เราท่านคุ้นเคยกันดีนั่นเอง

 

คนเล่นเครื่องเสียงมาเริ่มรู้จักลำโพงที่มีแอมป์ในตัวมากขึ้น เป็นวงกว้างขึ้น ก็เมื่อระบบเสียงโฮม เธียเตอร์ เป็นที่นิยมได้สักพักแล้วนั่นแหละครับ แต่ก็ไม่ใช่เป็นแอมป์ในตู้ลำโพงของแชนเนลหลัก หากเป็นลำโพงแชนเนลพิเศษที่ทำงานในย่านความถี่ต่ำๆ โดยเฉพาะที่เรียกกันว่า Low-Frequency Effects: LFE Channel ซึ่งลำโพงที่ทำงานในแชนเนลนี้ก็คือ Sub-Woofer ที่เมื่อใส่แอมป์เข้าไปก็รู้จักกันในชื่อ Active Sub-Woofer หรือที่ผู้ผลิตบางรายเรียกว่า Powered Sub-Woofer นั่นแหละครับ

โดยผู้ใช้มีเข้าความใจเหมือนๆ กัน ว่าเป็นลำโพงสับ-วูฟเฟอร์ที่ผนวกแอมป์ในตัว

ก่อนหน้านั้นสับ-วูฟเฟอร์ ที่ไม่มีแอมป์ในตู้หรือ Passive Sub-Woofer ยังไม่เป็นที่รู้จักกันสักเท่าไรนักในหมู่คนเล่นเครื่องเสียงที่ฟังเพลงในระบบสเตอริโอ 2-แชนเนล เพราะหากต้องการลำโพงที่ให้เสียงเบสได้หนักๆ มีพลัง แบบทำงานลงไปได้ถึงย่านความถี่ที่ต่ำลึกมากๆ ก็มักจะมองหาลำโพงที่มีไดรเวอร์ให้เสียงเบส หรือตัววูฟเฟอร์ ที่มีขนาดใหญ่ๆ ระดับ 10-12 นิ้ว ส่วนพวกขาใหญ่มือโปร’ ในยุคนั้น ก็มักจะใช้ลำโพงวางพื้นประเภทสูงท่วมอก เหนือหัว ที่แต่ละตู้มักจะมีวูฟเฟอร์มากกว่าหนึ่งตัวขึ้นไป

ช่วงยุคทองของระบบเสียง Hi-Fi Stereo นับแต่ช่วงท้ายๆ ของทศวรรษที่ 70s คนนิยมเล่นเครื่องเสียงกันมากขึ้น มีเครื่องเสียงและลำโพงแจ้งเกิดในยุค 80s และ 90s มากมายหลายแบรนด์ ทั้งของยุโรปและอเมริกา บ้านเราเองวงการเครื่องเสียงฟูเฟื่องมากนับแต่ต้นทศวรรษที่ 80s เป็นต้นมา นอกจากจะมีผู้นำเข้าเครื่องและลำโพง Hi-End มาให้นักเล่นระดับเงินไม่ใช่ปัญหาได้เลือกเล่น เลือกลอง กันอย่างละลานหูแล้ว มีกลุ่มนักเล่นมือใหม่กับชุดเครื่องเสียงที่เรียกกันว่า Entry Level เข้ามาให้เลือกมากกว่ามากด้วย

ทั้งยังมีแบรนด์ฝีมือคนไทยอย่าง BT Phoenix กับ Centco ได้แจ้งเกิด และเป็นที่นิยมเล่นกันในยุคนั้นอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะกับชื่อแรกนั่นโด่งดังข้ามแดนไปเป็นขวัญใจนักเล่นชาวสิงคโปร์อีกด้วย

ยุคนั้นสินค้ากลุ่มมือใหม่ทั้งเครื่อง และลำโพง ขายดีมาก ลำโพงวางหิ้งที่เรียกกันว่า Bookshelf Speakers แบบ 2-ทาง เป็นที่นิยมกันมาก และมีอยู่สองสามรุ่นที่เป็นขวัญใจนักเล่นยุคนั้น

จำได้ว่าประมาณ พ.ศ.2522-23 หนังสือเครื่องเสียงที่ผมเริ่มเข้ามาเกะกะอยู่ในกอง บ.ก. ได้เปิดให้ผู้อ่านลงคะแนนโหวตเครื่องเสียงยอดนิยมในสาขาต่างๆ นั้น ปรากฏว่า Bose 301 กับ AR 18 จากค่าย Acoustic Research มีคะแนนเบียดกันเข้ามาทุกวันที่เปิดซอง จนปิดกล่องวันสุดท้ายลำโพงจากค่าย Bose Corp. ก็เฉือนชนะไปอย่างฉิวเฉียด

 

ช่วงต้นทศวรรษ 90s ลำโพงเล็กแบบวางหิ้งมีพัฒนาการที่โดดเด่นมาก เพราะสามารถให้มิติเสียงออกมาได้ดีมากๆ ชนิดที่ลำโพงใหญ่หรือลำโพงวางพื้นบางคู่ก็ให้ออกมาไม่ได้ ลำโพงอย่าง PSB Alpha กับ NHT SuperZero ให้คุณภาพเสียงที่แม้แต่หนังสือที่เป็นคัมภีร์ของนักเล่นกลุ่มไฮ-เอนด์อย่าง Stereophile และ The Absolute Sound ยังต้องหยิบไปพูดถึงด้วยความชื่นชม พร้อมให้ความเห็นทำนองว่าหากจะมีอะไรที่ขาดหายไปจากลำโพงพวกนี้ ก็คือเสียงเบสนั่นเอง แต่ที่แน่ๆ ก็คือใครที่เป็นมือใหม่แล้วได้เริ่มต้นกับลำโพงสองคู่นี้ รับรองได้ว่าก้าวต่อไปที่พวกเขาจะเดินบนเส้นทางสายนี้ จะไม่มีวันเดินผิดทางอย่างแน่นอน

คือได้เริ่มต้นและฝึกทักษะกับคุณภาพเสียงที่ดี ย่อมต้องพานพบและก้าวไปสู่สิ่งที่ดียิ่งกว่าขึ้นไปอีกได้นั่นเอง

NHT SuperZero ออกสู่ตลาดช่วงต้นๆ ยุค 90s น้อมรับคำวิจารณ์เหล่านั้นเอาไว้ พร้อมๆ กับคิดหาทางออกเพื่อมาชดเชยเสียงเบสที่ขาดหายไป กระทั่งไม่นานเวลาต่อมาสับ-วูฟเฟอร์ Model SW2P ก็เผยโฉมออกสู่ตลาด ซึ่งเป็นแบบพาสซีฟที่ต้องหาแอมป์มาทำงานด้วย แต่ยุคนั้นแอมป์ที่พอเหมาะพอควรกับมันก็มีแต่พวกสเตอริโอ 2-แชนเนล ทั้งสิ้น แต่มันต้องการแอมป์แบบ Mono ที่ทำงานแชนเนลเดียวเท่านั้น หากจะไปหา Mono-Amp. หรือพวก Monoblock มาใช้ ก็มีแต่เครื่องระดับพระกาฬของพวกขาใหญ่ที่มักจะเอาไปใช้เล่นแบบ Bi-Amp. หรือหนักข้อถึงระดับ Tri-Amp. ทั้งสิ้น หากจะเอามาใช้ก็คงไม่ต่างอะไรกับเอา Super Car มาวิ่งเป็นตุ๊กตุ๊กนั่นแหละครับ

NHT จึงต้องหาทางออกให้กับตัวเองด้วยการทำแอมป์สำหรับใช้กับสับ-วูฟเฟอร์โดยเฉพาะมาคู่กัน นั่นก็คือ Model MA-1A ที่มาพร้อมวงจรครอสส์โอเวอร์ กับกำลังขับ 80W เพื่อขับสับ-วูฟเฟอร์ที่ใช้ไดรเวอร์ขนาด 10 นิ้ว

ทั้งหมดก็ดังที่เห็นในภาพนั่นแหละครับ, เที่ยวหน้ามาคุยเรื่องนี้กันต่อ