สงครามประชาธิปไตยในเมียนมา สงครามการทูตในเวทีสากล!/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

สงครามประชาธิปไตยในเมียนมา

สงครามการทูตในเวทีสากล!

 

“เขายิงเราที่หัว แต่พวกเขาไม่เคยรู้เลยว่า การปฏิวัติอยู่ที่หัวใจของพวกเรา”

Khet Thi

 

บทความวันนี้ขอเปิดด้วยคำกล่าวของ “Khet Thi” กวีชาวเมียนมา (คำแปลเป็นของผู้เขียน ไม่ใช่คำแปลที่เป็นทางการ) เขาถูกรัฐบาลทหารจับกุม และเสียชีวิตในเวลาต่อมา…

ขอคารวะต่อการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของกวีท่านนี้ และนักต่อสู้อีกหลายคนที่เอาชีวิตเข้าแลกกับประชาธิปไตยอย่างกล้าหาญ!

เราคงต้องยอมรับว่า แทบจะเป็นเรื่อง “เหลือเชื่อ” ที่เวทีสหประชาชาติสามารถเปิดการประชุม และผลักดันให้เกิดข้อมติต่อต้านการรัฐประหารในเมียนมาได้สำเร็จ

และสื่อหลายสำนักมีทัศนะที่คล้ายกันว่า ความสำเร็จในเรื่องนี้เป็น “เรื่องน่าประหลาดใจ” ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนักในทางการทูต (ดูทัศนะเช่นนี้ใน The Guardian และใน Al Jazeera เป็นต้น)

และมีนัยสำคัญคือการยกระดับการต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาขึ้นเป็น “กระแสโลก”

การเปิดการเคลื่อนไหวในสหประชาชาติครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า การต่อต้านการรัฐประหารในเมียนมาเดินมาถึงจุดสำคัญในเวทีระหว่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง

ผลจากการประชุมสหประชาชาตินำไปสู่การออกข้อมติในการประณามการรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2021

และที่สำคัญคือการลงมติการห้ามส่งอาวุธให้แก่กองทัพเมียนมา พร้อมทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลทหารยอมรับการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ตลอดรวมถึงการปล่อยตัวผู้นำพลเรือนและบรรดาผู้ที่ถูกจับกุมจากความเห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะเรียกร้องให้กองทัพยุติการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามการประท้วงของประชาชน

สัญญาณจากเวทีสหประชาชาติเช่นนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงแรงต้านที่เกิดขึ้นในประชาคมระหว่างประเทศ และต้องถือว่าเป็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยเมียนมาในเวทีสากลครั้งสำคัญ หลังจากความสำเร็จในการผลักดันให้อาเซียนต้องจัดประชุมพิเศษในเรื่องนี้มาแล้วที่อินโดนีเซีย

(น่าสนใจในเชิงเปรียบเทียบว่า รัฐประหารไทยไม่เคยถูกส่งเข้าสู่วาระการประชุมของสหประชาชาติ หรือถูกประนามอย่างหนักในเวทีสากลเช่นที่รัฐบาลทหารเมียนมาต้องเผชิญแต่อย่างใด)

สงครามการทูต

 

ข้อมติในเรื่องของ “การห้ามส่งอาวุธ” (arms embargo) นั้น เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในยุคสงครามเย็นมาแล้ว ซึ่งในครั้งนั้นมีเป้าหมายในการห้ามการส่งอาวุธให้แก่แอฟริกาใต้และอิสราเอล

ฉะนั้น ข้อมติเรื่องการห้ามส่งอาวุธในครั้งนี้ ต้องถือว่ามีนัยสำคัญในทางการเมือง และต้องยกเครดิตให้กับนักการทูตของสหภาพยุโรป และนักการทูตประเทศตะวันตกที่ผลักดันข้อมตินี้

เพราะโดยลำพังแล้ว เป็นที่ทราบกันดีว่าเราไม่อาจคาดหวังแรงผลักจากอาเซียนได้แต่เพียงฝ่ายเดียว

เนื่องจากชาติสมาชิกอาเซียนบางส่วนมีท่าทีที่สนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของความต้องการที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลทหาร หรือต้องการเดินไปในแนวทางเดียวกับจีน

ประเทศผู้เสนอข้อมติดังกล่าวคาดหวังว่า สมาชิกของสหประชาชาติทั้งหมดจะมี “ฉันทานุมัติร่วมกัน” ในการแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันในการไม่ตอบรับรัฐบาลทหารเมียนมา

แต่เบลารุสได้เสนอให้มีการลงมติ ผลจากการลงมติสะท้อนชัดเจนถึงท่าทีของเวทีโลก กล่าวคือ มี 119 ประเทศลงเสียงประณามรัฐบาลทหารและรับข้อเสนอในมติห้ามส่งอาวุธให้กองทัพเมียนมา

ส่วนอีก 36 ประเทศงดออกเสียง และน่าแปลกใจที่เบลารุสออกเสียงคัดค้านโดยตรง

ข้อมตินี้จะไม่มีผลผูกมัดในทางกฎหมาย (no legal binding) แต่ก็สะท้อนให้เห็นทัศนะของเวทีสากลอย่างชัดเจน แม้ว่าจำนวนประเทศที่ออกเสียงสนับสนุนจะไม่มากอย่างที่คาดหวังไว้ในตอนต้นก็ตาม

แต่ข้อมติเช่นนี้ก็เป็นสัญญาณทางการเมืองที่ชัดเจนต่อผู้นำทหารที่เนปิดอว์ และเป็นคำเตือนอย่างดีว่า ผู้นำทหารที่แม้จะประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจ

แต่ชีวิตทางการเมืองหลังรัฐประหารไม่ง่ายเหมือนตอนประกาศยึดอำนาจ

หรือเป็นสัจธรรมสำหรับนักรัฐประหารทั่วโลกว่า “การยึดอำนาจไม่ยาก การยึดกุมอำนาจรัฐหลังรัฐประหารยากกว่า”

ประชาธิปไตยและผลประโยชน์

 

การลงมติของสหประชาชาติครั้งนี้ มีความคาดหวังว่าอาเซียนจะเป็นตัวจักรสำคัญที่จะช่วยผลักดัน เพราะอาเซียนเองได้จัดประชุมในปัญหาวิกฤตเมียนมาที่อินโดนีเซีย และมีข้อมติ 5 ประการออกมาแล้ว แต่ในครั้งนี้ผลกลับเป็นว่าอาเซียนเสียงแตกกันเอง ในขณะที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ลงเสียงสนับสนุนข้อมติที่จะประณามการยึดอำนาจ แต่ไทย กัมพูชา ลาว และบรูไนได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนที่จะงดออกเสียง และมองว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็น “กิจการภายใน” ของเมียนมา

หลายฝ่ายคาดไม่ผิดว่ารัฐบาลไทยจะงดออกเสียงในกรณีเช่นนี้ เพราะการประณามรัฐบาลทหารเมียนมาก็เสมือนหนึ่งการประณามตัวเอง

เนื่องจากรัฐบาลไทยในปัจจุบันก็มีรากเง้ามาจากการรัฐประหารเช่นกัน

อีกทั้งรัฐบาลกรุงเทพฯ มีท่าทีในลักษณะ “ไม่ต่อต้าน” การรัฐประหารอย่างชัดเจน

หรือในกรณีของกัมพูชาซึ่งมีระบอบการปกครองที่เป็นอำนาจนิยม และเป็นประเทศในภูมิภาคที่การแสดงท่าทีทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกับจีน

ดังนั้น ในกรณีของไทย จึงเป็นที่รับรู้กันอย่างชัดเจนว่า ไทยจะไม่ทำอะไรให้กระทบต่อรัฐบาลทหารของเมียนมาเป็นอันขาด

ซึ่งอาจจะเป็นเพราะปัจจัยร่วมของความเป็นผู้นำทหารของทั้งสองประเทศ

ผู้นำทหารในรัฐบาลไทยจึงแสดงออกในแบบที่ “ทะนุถนอม” รัฐบาลทหารของเมียนมาอย่างชัดเจน

อีกทั้งอาจเกิดจากความกังวลว่า การพ่ายแพ้ของรัฐบาลทหารที่เนปิดอว์จะส่งผลร้ายต่อรัฐบาลกรุงเทพฯ ที่มีทหารเป็นผู้นำด้วย

รัฐมหาอำนาจที่แสดงตนเป็น “ผู้พิทักษ์เผด็จการทหาร” อย่างเต็มที่คือจีน ทุกฝ่ายคาดได้เสมอว่า จีนจะไม่ทำอะไรที่จะเป็นผลลบในทางการเมืองต่อรัฐบาลทหารเนปิดอว์เป็นอันขาด

แต่จีนแสดงออกในเวทีระหว่างประเทศมาโดยตลอดในการปกป้องรัฐบาลทหารเมียนมา (อาจจะไม่ต่างจากการสนับสนุนจากปักกิ่งในกรณีของรัฐประหารไทย 2557) เพราะรัฐบาลทหารจะเป็นโอกาสให้จีนกลับไปขยายอิทธิพลในเมียนมาได้อีกครั้ง

หรือข้อสรุปที่ชัดเจนคือ ระบอบทหารเอื้อประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ให้แก่จีนมากกว่าระบอบประชาธิปไตย

ซึ่งท่าทีเช่นนี้ทำให้จีนเป็น “ผู้ร้ายตัวสำคัญ” ในมุมมองของฝ่ายประชาธิปไตยเมียนมา

ดังจะเห็นได้จากกระแสต่อต้านจีนที่เกิดขึ้นในเมียนมา และยังเป็นผลจากการที่จีนเป็น “ผู้สนับสนุนอาวุธ” รายหลักให้แก่กองทัพเมียนมา

รัสเซียเป็นอีกรัฐมหาอำนาจที่แสดงท่าทีเป็น “ผู้พิทักษ์รัฐบาลทหาร” ในเมียนมา เพราะรัสเซียต้องการใช้เมียนมาเป็นฐานทางการเมืองในภูมิภาค และการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดทางการเมืองระหว่างสองประเทศ

อีกทั้งกองทัพเมียนมาเป็น “ลูกค้าอาวุธ” คนสำคัญของรัสเซียในภูมิภาค (ไม่ต่างจากการนำอาวุธเข้าจากจีน)

ข้อมติในการห้ามส่งอาวุธให้กองทัพเมียนมา จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าจีนและรัสเซียจะยอมรับข้อมติของสหประชาชาติในเรื่องนี้เพียงใด

เพราะองค์การนิรโทษกรรมสากล (AI) มีแผนที่จะผลักดันเพื่อให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ออกข้อมติเรื่อง “การห้ามส่งอาวุธแบบรอบด้าน” (comprehensive arms embargo) ต่อรัฐบาลทหารเมียนมา

ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะเป็นไปได้ยาก เพราะจีนกับรัสเซียคงใช้อำนาจวีโต้เพื่อไม่ให้มติเช่นนี้ผ่านออกมาได้ วิกฤตเมียนมาจึงเป็นภาพสะท้อนสงครามการทูตในเวทีสากลที่ชัดเจน

แต่การมีข้อมติในเรื่องการห้ามส่งอาวุธที่แม้จะไม่มีผลผูกพันรัฐสมาชิกโดยตรง แต่ก็อาจทำให้รัฐบาลผู้ส่งอาวุธออกตระหนักว่า การสนับสนุนด้านอาวุธแก่กองทัพเมียนมาอาจถูก “เปิดโปง” และทำลายภาพลักษณ์ของรัฐบาลนั้น

และถูกมองจากฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยว่า การสนับสนุนด้านอาวุธแก่ทหารเมียนมาคือ การก่ออาชญากรรมโดยตรงต่อประชาชนชาวเมียนมา

ดังนั้น จึงเป็นความหวังว่า การห้ามส่งอาวุธจะเป็นเครื่องมือของการป้องกันการปราบปรามประชาชน

ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย!

 

การที่สหประชาชาติมีข้อมติดังกล่าวมีผลโดยตรงต่อสถานะทางการเมืองของรัฐบาลทหาร และทำให้ “ความชอบธรรม” เป็นปัญหาอย่างมาก หรือเป็นสัญญาณจากเวทีสากลที่จะ “โดดเดี่ยว” รัฐบาลทหาร

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็น “สัญญาณที่เข้มแข็งและมีพลัง” จากสากลถึงผู้นำที่เนปิดอว์ (ดังได้กล่าวแล้วว่ารัฐบาลทหารไทยไม่เคยเผชิญแรงกดดันเช่นนี้อย่างจริงจัง)

โดยเฉพาะจนถึงปัจจุบันนั้น มีประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 860 ชีวิต และมีผู้ถูกจับกุมคุมขังเกือบ 5,000 คน (ตัวเลขปรากฏในรายงานของสำนักข่าว BBC, 19 มิถุนายน 2021, อ้างจากองค์กรที่ติดตามเรื่องนักโทษการเมืองคือ The Assistance Association for Political Prisoners)

ผลจากการปราบปรามประชาชนผู้เห็นต่างอย่างรุนแรงเช่นนี้ ทำให้รัฐบาลทหารถูกวิจารณ์อย่างหนักและไม่เป็นที่ยอมรับ

แต่ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาอาจจะประเมินว่า ข้อมติของสหประชาชาติเป็นเพียง “ข้อเรียกร้องบนกระดาษ” เพราะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย

แต่การออกมติเช่นนี้ได้ต้องถือว่า ฝ่ายประชาธิปไตยเมียนมาได้รับชัยชนะทางการเมืองในอีกขั้นหนึ่ง แม้ข้อมติของสหประชาชาติอาจจะไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลทหารลงได้ทันที แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้เกิดข้อจำกัดทางการเมืองกับรัฐบาลทหารมากขึ้น และทำให้การมีความสัมพันธ์กับรัฐอื่นในเวทีโลกมีข้อจำกัดมากขึ้นด้วย (ยกเว้นความสัมพันธ์กับจีนและรัสเซียที่สนับสนุนรัฐบาลทหาร)

นอกจากนี้ การยืนยันว่า “สมาชิกสหประชาชาติจะไม่กวาดเรื่องรัฐประหาร [ในเมียนมา] ไปไว้ใต้พรมเด็ดขาด” อาจจะพอเป็นหลักประกันให้ฝ่ายประชาธิปไตยได้ในระดับหนึ่งว่า วันนี้รัฐบาลทหารเมียนมากลายเป็น “จำเลย” ในเวทีสหประชาชาติไปแล้ว ซึ่งอาจเทียบเคียงได้กับแรงต้านรัฐประหารที่เพิ่งเกิดขึ้นในมาลีเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา

รัฐประหารครั้งนี้ทำให้องค์กรระหว่างประเทศในภูมิภาคคือ ประชาคมเศรษฐกิจของประเทศแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) และสหภาพแอฟริกัน (African Union) ประกาศไม่ยอมรับรัฐบาลทหารของมาลี (อาเซียนในความเป็นองค์กรในภูมิภาคไม่เคยแสดงบทบาทในการแทรกแซงรัฐประหารในลักษณะเช่นนี้) และสหประชาชาติได้ประกาศประณามการรัฐประหารดังกล่าวด้วย

ฉะนั้น รัฐประหารจึงไม่ใช่สิ่งที่จะต้องทำให้รัฐอื่นๆ ในเวทีโลกต้อง “ตกกระไดพลอยโจน” และต้องยอมรับรัฐบาลทหารไปโดยปริยาย ดังเช่นในกรณีของเมียนมาและมาลี

เรื่องราวเช่นนี้สะท้อนถึงประชาธิปไตยในเวทีโลก ที่แม้จะไม่ขึ้นสู่กระแสสูงเช่นในยุคโลกาภิวัตน์

แต่ข้อมติของสหประชาชาติคือ สัญญาณที่ส่งถึงบรรดานายพล ไม่ว่าจะที่เนปิดอว์หรือที่ใดก็ตามว่า ชีวิตหลังรัฐประหารไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างแน่นอน!