เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | “ภาษา” วิกฤตซ้อนวิกฤต

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

วิกฤตซ้อนวิกฤต

 

เคยเขียนถึงวิกฤตภาษาว่าเป็นหนึ่งในวิกฤตชาติ ขอยืนยันว่ายิ่งกว่าวิกฤตก็คือการยอมรับสภาวะวิกฤตว่าไม่เป็นวิกฤตนั่นเอง

ดังยอมรับศัพท์แสงภาษาอังกฤษที่ใช้สื่อสารกันอยู่จนเป็นธรรมดาเหมือนเป็นคำไทยไปแล้ว โดยเฉพาะศัพท์แสงที่มาทางวิชาการและสถานการณ์

ศัพท์เฉพาะอันเป็นสากลมิอาจเลี่ยงได้ เช่น โควิด-19 และวัคซีน เป็นต้น

คำเหล่านี้กลายเป็นคำสากล ยอมรับกันทั่วโลก ดังเช่นมีใช้จนเป็นที่รับรู้อยู่ เช่น ชอล์ก ล็อก สตาร์ต เกียร์ สวิตช์ ฯลฯ

ไม่มีใครเรียกชอล์กว่าดินสอขาว ล็อกว่าปิดหรือลั่นดาน สตาร์ตว่าติดเครื่อง

เข้าเกียร์หรือปลดเกียร์ ปิด-เปิดสวิตช์ ชาร์จแบตเตอรี่ เป็นที่รู้กันได้เลย

เพื่อนนักค้นคิดประดิษฐ์คำเคยพยายามบัญญัติศัพท์คำ เซ็นทรัลล็อก เป็นคำไทยว่า “ลั่นดานรวม” และคำโฟร์วีลไดรฟ์ว่า “จตุจักรบันดาล” เพื่อนอีกคนได้ยินแล้วก็อุทานว่า

“ไม่เวิร์กว่ะ”

นี่ก็อีกคำ หาคำแทนเวิร์กไม่เวิร์กจริงๆ

 

ท่านอาจารย์สถิต เสมานิล ผู้ล่วงลับเคยเล่าว่ามีการพยายามบัญญัติศัพท์แสงใหม่ๆ ที่เริ่มแพร่เข้ามาให้เป็นคำไทย เช่น คำบราเซีย ก่อนที่เรามาเรียก “ยกทรง” ดังรับรู้กันอยู่นี้ ดูเหมือนท่านอาจารย์สถิต เสมานิล จะบัญญัติเรียกบราเซียว่า “กรวยนม”

ซึ่ง “ไม่เวิร์ก” อีกเหมือนกัน

อีกศัพท์ที่ท่านอาจารย์เอ่ยถึงคือ ฟุตบอล อาจารย์ว่าให้เรียก “หมากตีน” ซึ่งสู้คำเดิมคือฟุตบอลไม่ได้อีก เห็นมีอยู่ก็แต่ “หมากแข้ง” ซึ่งเป็นชื่ออำเภอหนึ่งในของจังหวัดอุดรธานีนั่น

ศัพท์แสงทางวิชาการกับศัพท์ที่เป็นชื่อเฉพาะคือวิสามัญนามนั้นเป็นข้อยกเว้น ไม่จำเป็นและไม่ควรไปแปล

แต่ศัพท์นอกนั้นที่เป็นสามัญนั้น เห็นควรและจำเป็นยิ่งที่ต้องแปลเป็นคำไทย ในเมื่อเรามีคำให้เข้าใจและมีใช้กันอยู่แล้ว

อุปสรรคของคำศัพท์เหล่านี้ก็คือ มักเกิดจากสถานการณ์ที่เราหาคำนิยามหรือคำแปลไม่ทันแม้จะมีคำใช้อยู่เข้าใจอยู่ก็ตาม

เช่น คำคลัสเตอร์ที่กำลังใช้ในสถานการณ์โควิดนี้ จนเหมือนจะกลายเป็นคำธรรมดาสามัญ เป็นที่รู้อยู่ทั่วไปแล้ว

โดยไม่รู้คำแปล แต่ก็รู้โดยความหมาย

คือ คลัสเตอร์ไง

ความหมายคือ กลุ่มผู้ที่ติดเชื้อ

จริงนะเอ้า ชาวบ้านที่เขาไม่รู้ความหมายของศัพท์คลัสเตอร์ ก็จะเข้าใจจากที่พูดประกอบข่าวการติดเชื้อโควิดว่าหมายถึง “กลุ่มผู้ติดเชื้อ” เพียงเท่านั้น

ไม่ได้เข้าใจว่าหมายถึง “กลุ่มก้อน” ที่เป็นคำจำกัดความของคำนี้เลย กลุ่มก้อนอะไรก็ได้ ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อเพียงเท่านั้น

นี้เป็นวิกฤตความเข้าใจที่ไม่ตรงกันแม้ในคำคำเดียวกัน

 

อย่าว่าแต่ภาษาฝรั่งที่กำลังมาแรงอยู่นี้เลย แม้คำไทยเราเองก็เถิด ได้ถูกศัพท์บาลีสันสกฤตกลืนความกระทั่งก่อวิกฤตความเข้าใจที่ไม่ตรงกันว่าเป็นความเข้าใจที่ตรงกันโดยไม่รู้ตัวอยู่ จนเกิดภาวะที่เรียกว่า ช่องว่างทางความเข้าใจ คือ “ไม่เข้าใจ” กันนั่นเอง

เช่นคำ “ประชาธิปไตย” ดังเป็นปัญหาวิกฤตการเมืองอยู่ในเวลานี้

ด้วยความเข้าใจความหมายกันไปคนละทางสองทาง กระทั่งว่า ประชาธิปไตย คือการเลือกตั้งเพียงเท่านั้นก็มี เช่นกันกับความเข้าใจว่าคลัสเตอร์ คือกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิดเพียงเท่านั้น

เพราะคำประชาธิปไตยไม่ใช่คำไทย เป็นศัพท์จากภาษาอินเดีย คือบาลี สันสกฤต จากบาลีคือปชา แปลว่าหมู่คน อธิปไตยจากบาลีคือ อธิปเตยย แปลว่าอำนาจสูงสุด สองคำรวมกันเป็นศัพท์ว่าประชาธิปไตย คืออำนาจสูงสุดของประชาชน หรืออำนาจของหมู่คน

แล้วกลายเป็นกระบวนการโครงสร้างอำนาจคือการเลือกตั้ง พรรคการเมือง สภาผู้แทนฯ รวมถึงสถาบันแห่งอำนาจทั้งสามคือ อำนาจปกครอง นิติบัญญัติ ตุลาการนั้น

และบทบาทที่เป็นรูปธรรมโดยตรงของผู้คนคือประชาชนในกระบวนการเหล่านี้ก็คือการเลือกตั้ง

กระทั่งกลายความเป็นประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง

ทั้งที่แท้ความหมายโดยรวมของคำประชาธิปไตยนั่นคือ “อำนาจอันชอบธรรมของประชาชนในการบริหารจัดการเรื่องที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นหลักและเป็นใหญ่”

ประชาธิปไตยคำเดียวนี้เป็นปัญหาทางความเข้าใจที่ไม่ตรงกันอยู่ไม่น้อยเลย จนกลายเป็นวิกฤตทางการเมืองแม้จนวันนี้

 

ยังมีคำบาลีสันสกฤตเกลื่อนกลืนอยู่ในภาษาไทยที่ทำให้คนไทยไม่เข้าใจหรือเข้าใจไม่ตรงกันอีกมากมายนัก แม้จนชื่อ-นามสกุลของเราเองก็เถิด ยิ่งรุงรังด้วยศัพท์บาลีสันสกฤต ซึ่งเป็นสมัยนิยมอยู่นี้ยิ่งยากจะแปลความได้ ยิ่งดูเหมือนจะยิ่งดียิ่ง

นี้คือวิกฤตภาษาที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตสังคมไทย

เราใช้ภาษาในลักษณะ “ฉวยใช้” มากกว่าจะเลือกใช้ให้ตรงกับความเข้าใจจริงๆ

นี้คือความไม่เป็นธรรมของภาษาที่เราให้ความสำคัญกับมันไม่พอเท่าที่ควร

ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุเคยตั้งข้อสังเกตว่า

“เวลานี้สิ่งที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมที่สุดก็คือคำว่าธรรมนั่นเอง”

นี่ก็เป็นวิกฤต