ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 กรกฎาคม 2564 |
---|---|
เผยแพร่ |
สรุปข่าวมติชนสุดสัปดาห์
ครม.ยกเลิก 27 ก.ค.เป็นวันหยุด
สกัดเที่ยวยาว-ป้องโควิดแพร่
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบยกเลิกวันหยุดพิเศษวันอังคารที่ 27 กรกฎาคม 2564 เนื่องจากปลายเดือนกรกฎาคมมีวันหยุดพิเศษติดกันหลายวัน ได้แก่ วันที่ 24 กรกฎาคม วันอาสาฬหบูชา วันที่ 25 กรกฎาคม วันเข้าพรรษา วันที่ 26 กรกฎาคม วันหยุดชดเชยวันอาสาฬหบูชา วันที่ 28 กรกฎาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษารัชกาลที่ 10 เพื่อให้เข้มงวดมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัด ส่วนประชาชนที่เคยวางแผนเดินทางท่องเที่ยวไปแล้ว ครม.ได้กำชับให้ส่วนราชการและองค์กรที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการยกเลิกตั๋วเดินทางและการจองที่พัก
“บิ๊กป้อม” ตั้ง “สันติ” นั่ง ผอ.พรรค
ดัน “ไผ่ ลิกค์-นิโรธ” รองเลขาฯ พปชร.
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคใหม่ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรค ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่นั้น ล่าสุด พล.อ.ประวิตรได้แต่งตั้งรองเลขาธิการพรรคจำนวน 2 คน ได้แก่ นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร และนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ ส่วนตำแหน่งผู้อำนวยการพรรค แต่งตั้งนายสันติ พร้อมพัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่นั่งควบตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคเป็นผู้อำนวยการพรรค
ป.ป.ช.มีมติเอาผิด “กิตติรัตน์”
เอื้อเอกชนระบายข้าวไปอินโดฯ
จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนขึ้นมารับผิดชอบคดีการระบายข้าวจำนวน 3 แสนตันให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ปรับปรุงข้าวเพื่อส่งมอบให้แก่ประเทศอินโดนีเซีย (BULOG) จำนวน 30,000 ตัน ตามสัญญาการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าคดีข้าวบูล็อค โดยปรากฏรายชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ขณะนั้น พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ เจ้าหน้าที่กรมการค้าต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้ถูกกล่าวหานั้น
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน กรรมการ ป.ป.ช.มีมติ 7 ต่อ 2 ว่า นายกิตติรัตน์มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วนอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ เจ้าหน้าที่กรมการค้าต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า อีกประมาณ 10 ราย ถูกชี้มูลความผิดตามกฎหมายอื่น โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่า หลังจากมีการประมูลการปรับปรุงข้าวบูล็อค โดยบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นผู้ชนะนั้น มีเอกชนร้องเรียนว่าอาจมีการฮั้วประมูลเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์อ้างว่า สาเหตุที่เลือกบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียต้องการบริษัทนี้ เลยไม่มีการดำเนินการแก้ไข ขณะที่นายกิตติรัตน์อ้างว่า มอบอำนาจให้นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ขณะนั้นกำกับดูแล แต่พยานหลักฐานรับฟังได้ว่า นายกิตติรัตน์คือผู้ดำเนินการ
ดังนั้น จึงเข้าข่ายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ดังกล่าว