ชิมแปนซี 90% ผึ้ง 10%/มิตรสหายเล่มหนึ่ง นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

ชิมแปนซี 90% ผึ้ง 10%

 

“เราเป็นชิมแปนซีร้อยละ 90 และเป็นผึ้งร้อยละ 10”

โจนาธาน ไฮด์ต เปรียบเปรยไว้เช่นนั้นในหนังสือ The Righteous Mind โดยบอกว่ามนุษย์เรามีธรรมชาติสองอย่างคู่กัน เราเป็นไพรเมตที่เห็นแก่ตัว ผู้ต้องการจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของของบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า สูงส่งกว่าตัวเอง

เมื่อพูดกันถึงทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (nature selection) ของดาร์วินที่ทำงานในระดับปัจเจก ยีนเห็นแก่ตัวสร้างมนุษย์ที่มีความสลับซับซ้อนของจิตใจขึ้นมา เพราะบางส่วนก็เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ขณะที่อีกส่วนเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นอย่างมีกลยุทธ์

คำว่า ‘อย่างมีกลยุทธ์’ นี่แหละที่น่าสนใจ

มันคือการทำเพื่อคนอื่นเมื่อตัวเองได้ประโยชน์ ไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นไปเสียทุกเรื่อง และก็ไม่ใช่กับทุกคนด้วย-เราไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใจดีมีเมตตาขนาดนั้น

ความถือดี (ว่าตัวเองถูก) ของเราก่อร่างขึ้นมาจากการคัดเลือกโดยเครือญาติ (kin selection) รวมกับการเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นแบบต่างตอบแทนกัน (reciprocal altruism) ที่ขยายขึ้นโดยการซุบซิบนินทาและการดูแลชื่อเสียงของตัวเอง ทั้งสองอย่างหลังคือกลไกบังคับให้สมาชิกกลุ่มต้อง ‘ทำตัวดี’

เพราะถ้าเป็นคนแย่ๆ ไม่รู้จักเสียสละเพื่อกลุ่ม รับแล้วไม่รู้จักให้กลับคืน เวลายกพวกตีกับกลุ่มอื่นแล้วหลบหายไม่ยอมสู้ ย่อมถูกพูดถึงในทางเสียๆ หายๆ กระทั่งอาจถูกขับออกนอกกลุ่ม

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นย่อมเสี่ยงต่ออันตราย เพราะการอยู่โดดเดี่ยวง่ายต่อการถูกจู่โจมจากสัตว์ร้ายและเผ่าอื่น

เราถูกควบคุมด้วยการตรวจสอบและนินทาของสังคม เราค่อยๆ กลายเป็น ‘คนดีของสังคม’ เพราะอยากเป็นสมาชิกที่ถูกนับและได้รับการยอมรับ พอประพฤติตัวดีขึ้นเรื่อยๆ ก็สมาทานตัวเองเข้ากับ ‘ศีลธรรม’ ที่ใครๆ ก็ทำกัน เป็นศีลธรรมที่เชื่อว่าถูกต้องดีงาม

ขณะเดียวกันเราก็ใช้ศีลธรรมนี้ในการตรวจสอบคนอื่น เป็นเช่นนี้ไปมา กระทั่งศีลธรรมประจำกลุ่มกลายเป็น ‘สิ่งที่ควรเป็น’ หรือ ‘สิ่งที่ต้องเป็น’ เมื่อไปเจอกลุ่มอื่นจึงรู้สึกว่ากลุ่มอื่น ‘ผิดศีลธรรม’ หากพวกเขาเชื่อหรือทำในสิ่งที่ต่างไป

ด้วยเหตุผลที่ว่าทั้งหมดนี้ มนุษย์จึงสามารถทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับคนแปลกหน้าในกลุ่มได้ เมื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เพราะเราวิวัฒนาการขึ้นมาผ่านการคัดเลือกทางสังคมให้รู้จักทำงานเป็นทีม

ทีมจึงปะทะกับทีมเสมอ และทีมที่ผนึกกำลังได้ดีกว่าย่อมเป็นฝ่ายชนะ ได้สืบเผ่าพันธุ์ต่อไป

 

เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะเห็นการคัดเลือกในหลายระดับ ยีนที่มีนิสัยอุทิศตัวถึงขั้นยอมตายจะได้รับการคัดเลือกระดับกลุ่มเพราะมันจะช่วยทำให้ทีมชนะ แต่มันอาจขัดแย้งอย่างมากกับการคัดเลือกระดับปัจเจก เพราะถ้าเห็นแก่คนอื่นมากเกินไป คนอื่นรอดแต่เราอาจไม่รอด

ลองนึกภาพผู้เสียสละที่ให้คนอื่นกิน ขณะที่ตัวเองยอมอด หรือออกรบขณะที่คนอื่นซ่อนในที่ปลอดภัย ‘คนใจดี’ แบบนี้ไม่น่าเหลือรอดมาสืบเผ่าพันธุ์ได้ คงตายไปก่อน

ลักษณะนิสัย ‘คิดถึงทีมมากกว่าตัวเอง’ จึงสามารถวิวัฒน์ต่อไปได้แค่ในบางสปีชีส์ เช่น ผึ้ง ซึ่งการแข่งขันกันเองภายในรวงรังของพวกมันแทบไม่มีเลย และเกือบทั้งหมดของการคัดเลือกโดยธรรมชาติเป็นการคัดเลือกกลุ่ม ผึ้งและมดปลวกจึงเป็นสุดยอดของผู้ร่วมทีมแบบ ‘one for all’ หรือ ‘ตัวฉันเพื่อทั้งหมด’ รอดก็รอดด้วยกัน ตายก็ตายด้วยกัน

หันมามองมนุษย์ในระดับกลุ่ม ทีมไหนที่ ‘เห็นแก่กลุ่ม’ มากที่สุดก็มีโอกาสชนะทีมที่เต็มไปด้วยคน ‘เห็นแก่ตัว’ ซึ่งในทีมที่ให้คุณค่ากับกลุ่ม บุคคลที่คิดถึงแต่ตัวเองอาจถูกเฆี่ยนตี ทิ้งไว้ให้ตาย หรือยิงทิ้งเพราะการกระทำไร้เกียรติหรือผิดศีลธรรม หรือต่อให้รอด เขาก็ไม่ใช่บุคคลที่เพศตรงข้ามอยากได้เป็นคู่ครอง (เพราะเขาไม่คูล) นายจ้างก็ไม่อยากได้ทำงาน (เพราะไม่มีทีมเวิร์ก)

เมื่อเป็นเช่นนี้ การคัดเลือกระดับกลุ่มจึงสำคัญ กลุ่มที่รอดก็จะมีสมาชิกที่ ‘เห็นแก่ตัวน้อย’ มากกว่า

 

โจนาธาน ไฮด์ต อธิบายเส้นทางวิวัฒนาการกว่าจะกลายมาเป็นมนุษย์ผู้ทั้งเห็นแก่ตัวและเห็นแก่กลุ่มว่า ช่วงหนึ่งพันล้านปีแรกของชีวิตหรือนานกว่านั้น รูปแบบสิ่งมีชีวิต (organism) แบบเดียวที่มีคือเซลล์โพรแคริโอต ซึ่งทำงานตัวเดียว แข่งกับตัวอื่น แพร่พันธุ์ไปเรื่อยๆ

ต่อมา ประมาณ 2 พันล้านปีก่อน แบคทีเรียสองตัวมาร่วมมือกัน อยู่ภายในเยื่อหุ้มเซลล์เดียวกัน การทำเช่นนี้สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากความร่วมมือและการแบ่งงานกันทำ สองหน่วยย่อยจึงไม่ได้สู้กันอีกต่อไป เพราะพวกมันสามารถแพร่พันธุ์ได้ต่อเมื่อ ‘ทั้งเซลล์’ แพร่พันธุ์

จึงเริ่มมีคอนเซ็ปต์ของ ‘All for one, one for all’ การรวมกันเช่นนี้ส่งผลสำเร็จใหญ่หลวงและแพร่กระจายไปทั่วมหาสมุทร

อีกสองสามล้านปีต่อมา เกิดรูปแบบของสิ่งมีชีวิตแบบใหม่ที่ประกอบด้วยหลายเซลล์ ทุกเซลล์มียีนเหมือนกันหมด เมื่อประกอบร่างเข้าด้วยกันเช่นนี้ การต่อสู้กันเองระหว่างหลายเซลล์จึงถูกกดข่มเอาไว้ เพราะแต่ละเซลล์จะสืบเผ่าพันธุ์ได้เมื่อ ‘ร่าง’ นี้ผสมพันธุ์กับอีก ‘ร่าง’ หนึ่งผ่านสเปิร์มและไข่ มันไม่ได้ขยายพันธุ์ด้วยการแบ่งเซลล์แบบเดิม กลุ่มของหลายเซลล์จึงมารวมกันกลายเป็นอวัยวะต่างๆ ของ ‘ปัจเจก’ หนึ่ง หากนึกภาพแบคทีเรียกับสัตว์ย่อมเห็นความแตกต่าง

คราวนี้พอวิวัฒนาการมาถึงสังคมมนุษย์ หน่วยของปัจเจกต่างๆ ร่วมมือกันด้วยดี ทำงานเป็นทีม แบ่งหน้าที่กันทำ การคัดเลือกในระดับต่ำก็ลดความสำคัญลงไป สวนทางกับการคัดเลือกระดับสูงที่ทรงพลังขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดคือรูปแบบของสิ่งมีชีวิตแบบใหม่ที่รวมกันเหนียวแน่นที่สุดเรียกว่า ‘อภิองคาพยพ’ (superorganisms) หรือสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ประกอบร่างกันเป็น ‘ร่างยักษ์’

และเมื่อร่างยักษ์เหล่านี้ต่อสู้กันเองมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดเป็นการคัดเลือกแบบกลุ่ม ซึ่งกลุ่มที่เหมาะสมที่สุดจะได้ส่งต่อลักษณะของมันต่อไป

หากมองเข้าไปในรวงรังของผึ้งหรือมดปลวก เราอาจเห็นแมลงตัวเล็กๆ จำนวนมหาศาลดำเนินชีวิตแบบปัจเจก แต่ถ้าซูมภาพออกมาเราจะเห็นรังของมันเป็น ‘ร่าง’ ขนาดใหญ่ที่คล้ายสิ่งมีชีวิตแบบหนึ่ง แมลงที่รวมร่างกันเช่นนี้สามารถยึดครองแหล่งอาหารและแหล่งสืบพันธุ์ที่ดีที่สุดมาเป็นของพวกมันได้ ทั้งยังขับไล่คู่แข่งออกไป กระทั่งกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ในเหล่าแมลงบนโลกเรา-การรวมร่างจึงมีข้อได้เปรียบ

มนุษย์เองก็มีลักษณะของการ ‘รวมร่าง’ เช่นกัน เราค่อยๆ รวมกัน แบ่งงานกันทำจนก่อเกิดเป็น ‘อภิสังคม’ เหตุผลคือ

1. เราเป็นสัตว์ที่มีเขตแดนและหวงแหนรังจึงต้องรวมตัวช่วยกันปกป้อง

2. ทารกมนุษย์นั้นเรียกร้องการดูแลอย่างมาก จึงต้องรวมตัวช่วยกันดูแล

3. เราตกอยู่ภายใต้การคุกคามจากกลุ่มข้างเคียง ฉะนั้น เราจึงมีความเป็นผึ้งอยู่ในตัวด้วย!

มนุษย์ค่อยๆ สร้างรวงรังที่ใหญ่โตและซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งกลายเป็นอาณาจักรหรือนครรัฐซึ่งได้เปรียบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ผลักไสสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ออกไปอยู่ชายขอบ ทำให้สูญพันธุ์ หรือนำมาเลี้ยงเพื่อรับใช้เรา ไม่ต่างจากผึ้งและมดปลวกที่รวมตัวแล้วได้เปรียบจนเอาชนะยึดครองพื้นที่จากแมลงอื่นได้

เมื่อวิวัฒน์มาเช่นนี้ จะแปลกอะไรที่เรากลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่คิดถึงกลุ่มก๊วนของตัวเอง

 

“เหลือเชื่อมาก ถ้าคุณได้เห็นชิมแปนซีสองตัวช่วยกันแบกขอนไม้” ไมเคิล โทมาเซลโล ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการรู้คิดของชิมแปนซีกล่าวไว้เช่นนั้น ทั้งที่หลายคนยกให้ชิมแปนซีเป็นสปีชีส์ที่ฉลาดเป็นอันดับสองของโลก แต่นั่นคือในฐานะปัจเจก ต่อให้มันฉลาดขนาดไหนก็ไม่สามารถร่วมงานกันได้

สิ่งที่ทำให้มนุษย์ต่างไปจากไพรเมตอื่นก็คือการพัฒนาการมีเป้าหมายร่วมกัน เราสามารถสร้างภาพในใจร่วมกันได้ ความสามารถนี้ทำให้เวลาออกไปหาอาหารคนหนึ่งจึงโน้มกิ่งไม้ลงให้อีกคนเก็บผลไม้ได้ ซึ่งเจ้าจ๋อไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้ มันไม่พยายามสื่อสารกัน ไม่ยอมแบ่งของที่หาหรือล่ามาได้ แต่ละตัวจะแย่งชิงเนื้อหรือผลไม้ในมือเพื่อนร่วมฝูง เวลาออกล่าก็แค่วิ่งไปด้วยกัน ไม่ได้ ‘ร่วมมือ’ กันล่า

จาก ‘ภาพฝัน’ หรือ ‘เป้าหมายในจินตนาการ’ ร่วมกันนี้เอง หากใครคนหนึ่งเกิดขัดขวางไม่ให้ ‘เป้าร่วม’ สำเร็จ หรือโกงส่วนแบ่งไป ทุกคนในกลุ่มย่อมรู้สึกในแง่ลบกับผู้ละเมิดความคาดหวังร่วมกันนั้น และก็เป็นช่วงเวลาแบบนี้เองที่ ‘ศีลธรรม’ เกิดขึ้น

‘ใจที่โน้มเอียงเข้าหากลุ่ม’ คือความสามารถในการยอมรับบรรทัดฐานสังคม รู้สึกและมีอารมณ์ร่วมกับทีม สิ่งนี้ค่อยๆ สร้างสถาบันทางสังคมขึ้นมาพร้อมกับที่ผู้คนในกลุ่มยอมทำตามสถาบันนั้น และแน่นอนว่าหนึ่งในสถาบันทางศีลธรรมที่ชี้ให้เห็นความดีงามของกลุ่มก็คือศาสนา ซึ่งคนที่ไม่ทำตามจะโดนลงโทษ

ชุมชนทางศีลธรรมเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้ เมื่อเราเกาะกลุ่มเหนียวแน่นจนมีจินตนาการร่วมเดียวกัน จึงมีสิ่งดีเป็นการบรรลุเป้าหมาย สิ่งร้ายคือการขัดขวางไม่ให้ไปถึงเป้าหมายนั้น กลุ่มจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าสู่เป้าหมายได้ก็ต่อเมื่อทำให้คนทั้งหมดไปในทิศทางเดียวกัน ใครสวนทางหรือไม่เอาด้วยกับกลุ่มย่อมเป็นพวกนอกรีต นอกคอก และต้องถูกลงโทษ

ผิด-ถูก เกิดขึ้นจากเส้นทางที่ว่ามา

แต่แล้วเมื่อเดินทางมาถึงวันที่สังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น เกิดโครงสร้างลำดับชั้นที่หลากหลาย ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก็แตกต่างกันไปหลายแนวทาง ทั้งประเทศชาติ ศาสนา รสนิยม วัฒนธรรม ฯลฯ เราจึงมีชุดความดีที่แตกต่างกันไปและรบรากันได้ด้วยสาเหตุร้อยพัน

 

ตามข้อมูลที่บอกว่าดีเอ็นเอมนุษย์กับชิมแปนซีมีส่วนที่เหมือนกันถึง 98% กระนั้นจากทั้งหมดที่ว่ามาเราย่อมเห็นว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่เห็นแก่ตัวเหมือนชิมแปนซีก็จริง แต่ขณะเดียวกันเราก็แตกต่างด้วยธรรมชาติที่เห็นแก่กลุ่มเหมือนผึ้งซึ่งช่วยกันสร้างรวงรังจนกลายเป็น ‘ร่างยักษ์’ หรือ ‘อภิองคาพยพ’ เราจึงมีมหานครที่ลิงใดๆ ไม่มีทางสร้างได้

“เราเป็นชิมแปนซีร้อยละ 90 และเป็นผึ้งร้อยละ 10” โจนาธาน ไฮด์ต จึงสรุปไว้เช่นนั้น

ความน่าสนใจก็คือ เวลาเห็นแก่กลุ่มเราก็ฟาดฟันกับกลุ่มอื่น แต่เมื่อไม่มีกลุ่มอื่นให้ทะเลาะด้วย เราก็ฟาดฟันกับคนในกลุ่มกันเองด้วยธรรมชาติเห็นแก่ตัว เพราะ ‘ใจที่ถือดี’ ว่าตัวเองถูกนั้นฝังรากลึกผ่านเส้นทางวิวัฒนาการยาวนาน ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่คอยจับจ้องเพื่อตัดสินคนอื่นจากศีลธรรมที่ยึดถือไว้ หากจะพักการตัดสินบ้างก็เพราะเรายอมให้คนที่อยู่ในกลุ่มก๊วนเดียวกัน หรือเรารู้ว่าถ้าห้าวจะเอาชนะมากไปแล้วจะเป็นอันตรายต่อตัวเอง

แม้มีธรรมชาติของการเห็นแก่คนอื่นก็จริง แต่มันก็ยังเป็นส่วนน้อยกว่าการเห็นแก่ตัว เพราะในเวลาสนับสนุนกลุ่มนั้นแท้ที่จริงเราก็ต้องการบรรลุเป้าหมายที่ตรงกันกับเป้าหมาย ‘ของฉัน’

เราจึงเป็นชิมแปนซีที่แค่บางทีจะยอมเป็นผึ้ง

เพราะการอยู่ในฝูงทำให้ฉันบรรลุเป้าหมาย