ปรากฏการณ์ ‘สลิ่มกลับใจ’ ‘ตาสว่าง’ หรือ ‘ผิดหวังผู้นำ’? ชะตากรรม ‘อนุรักษนิยมไทย’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ปรากฏการณ์ ‘สลิ่มกลับใจ’

‘ตาสว่าง’ หรือ ‘ผิดหวังผู้นำ’?

ชะตากรรม ‘อนุรักษนิยมไทย’

 

ท่ามกลางวิกฤตศรัทธาต่อผู้นำและรัฐบาล ที่ผลพวงมาจากการบริหารจัดการสถานการณ์โควิดที่การแพร่ระบาดระลอกที่ 3 ส่งผลกระทบขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ เปรียบเป็น ‘ห่วงโซ่โควิด’ ที่ไม่มีใครหนีพ้น รวมไปถึงฐานเสียงและกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลด้วย จึงทำให้เสียงวิจารณ์ดังกว่าเสียงให้กำลังใจรัฐบาล มาพร้อมปรากฏการณ์ ‘สลิ่มกลับใจ’ ขึ้นมา แต่ก็เกิดคำถามขึ้นตามมาว่า

สุดท้ายแล้ว ‘ตาสว่างจริง’ หรือแค่ ‘ผิดหวังผู้นำ’ เท่านั้น

รวมทั้งการออกมา ‘สารภาพบาป’ ต่างๆ ก็เกิดคำถามขึ้นอีกว่า ‘สำนึก’ ระดับใดด้วย

ทำให้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้รับความสนใจ และมีการถกเถียงกันอย่างเป็นระบบตามมา

 

รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองปรากฏการณ์เหล่านี้ว่า

“เขาอาจจะไม่ถึงขั้นเปลี่ยนจุดยืนทางการเมือง เพราะเอาจริงๆ แล้วคนจำนวนมากเดิมทีที่สนับสนุนรัฐบาล แต่กลับมาวิพากษ์วิจารณ์ที่เราเห็นมากขึ้น ก็สะท้อนถึงความบกพร่องของรัฐบาลและความนิยมของรัฐบาลที่ถดถอยลง ทำให้กลุ่มคนที่เคยนิยมและยอมแบกหน้าให้ ก็ไม่แบกอีกต่อไป และไม่ว่ารัฐบาลจะทำเฟกโพลสักกี่ครั้ง ก็ไม่ช่วยอะไร”

ส่วนเหตุผลที่คนกลุ่มนี้ถึงไม่อยากจะแบกรัฐบาลนี้ต่อไป รศ.ดร.ยุกติมองว่า “พวกเขาเหล่านี้ยังไม่ถึงขั้นเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองแบบกลับขั้ว ผมไม่แน่ใจว่าเราจะใช้คำว่า ‘ตาสว่าง’ กับคนกลุ่มนี้ได้แค่ไหน เขาแค่หมดความนิยมในตัวรัฐบาลนี้ แต่ถามว่าถ้าเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว เขาอยากจะได้ใคร ผมก็ไม่คิดว่าเขาจะอยากได้รัฐบาลที่มาจากอีกฝั่งหนึ่ง รัฐบาลฝั่งที่เขาเคยรังเกียจหรือต่อต้าน แต่ประเด็นของผมคือ คนเหล่านี้ไม่ถึงกับไม่พอใจขั้วทางการเมืองเดิมที่เขาสนับสนุน แต่เขาแค่ไม่พอใจรัฐบาลนี้หรือไม่

สะท้อนว่าคนกลุ่มนี้ที่เปลี่ยนความคิด ก็ไม่ได้ไปถึง ‘ระดับโครงสร้าง’ ใช่หรือไม่

รศ.ดร.ยุกติมองว่า เขาคิดว่ารัฐบาลนี้คือคนที่เขาเลือกมา อย่างน้อยเขาก็สนับสนุน

แต่อีกด้านก็ทำให้เขาพร้อมไม่สนับสนุนเช่นกัน

 

ส่วนปรากฏการณ์ ‘ตาสว่าง’ และออกมาโพสต์ข้อความเชิง ‘สารภาพบาป’ ต่อการกระทำอดีตนั้น

รศ.ดร.ยุกติมองว่า เราต้องมองว่าการออกมาสารภาพบาปหรือการยอมรับการคอลเอาต์ไปถึงขั้นใด ถ้าไปถึงขั้นที่ยอมรับว่าการเข้าร่วมกับมวลชน กปปส. หรือแนวร่วม กปปส.โค่นล้มรัฐบาล นำไปสู่การสร้างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีปัญหาอย่างมาก ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ไม่สะท้อนเสียงประชาชน พวกเขายอมรับไปถึงขั้นนั้นหรือไม่

“อีกทั้งปรารถนาที่จะเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือรื้อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผมคิดว่าดีกรีของการกลับใจนั้นสำคัญเหมือนกัน ว่าเรากำลังพูดอยู่ในระดับไหน อย่างที่ผมพูดก็คือการด่ารัฐบาลยังคงเป็นเพียงแค่ระดับผิวเผิน

“หมายความว่า ถ้าวันนี้มีการเรียกร้องให้มีการไล่รัฐบาลอย่างจริงจัง ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีคนออกมาเยอะ แต่ถ้าเลยไปถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ เงื่อนไขสำคัญในรัฐธรรมนูญ เช่น ยกเลิก ส.ว.”

“ผมยังสงสัยว่าคนเหล่านี้จะยอมแค่ไหน หรือไปถึงขั้นที่สามารถแก้ไขได้ทุกมาตรา ทะลุเพดาน จะมีการสนับสนุนจากคนกลุ่มนี้มากแค่ไหน” รศ.ดร.ยุกติกล่าว

 

ส่วนจะมีคนขยับมาในแนวทางต่อต้านรัฐบาลมากขึ้นหรือไม่นั้น

รศ.ดร.ยุกติกล่าวว่า “ผมอยากให้ดูว่ามีคนขยับไปทางอนุรักษนิยม กับคนที่ออกมาจากอนุรักษนิยม ทางไหนมากกว่ากัน ผมคิดว่าส่วนใหญ่เราจะเห็นคนที่ออกมามากกว่าคนที่เข้าไป สิ่งที่คนอยู่ในฝั่งอนุรักษนิยมหรือรัฐบาลพยายามทำก็คือการทำให้คนรุ่นใหม่อยู่ในแนวทางแบบที่เขาต้องการ เช่น แก้หลักสูตรการเรียน การทำงานในเชิงอุดมการณ์ หรือการใช้ไม้แข็ง นั่นคือการบังคับใช้กฎหมายเล่นงานปิดปากประชาชน เพื่อทำให้คนอยู่กับร่องกับรอย แบบที่เขาต้องการ และผมมองว่าคนที่นิ่งเฉยหรือยอมที่จะภักดีต่อระบอบอนุรักษนิยมนั้น เป็นการถูกบังคับมากกว่าสมัครใจ”

ส่วนปัจจัยใดที่ทำให้คนเดินเข้าและเดินออกจาก ‘อนุรักษนิยม’

รศ.ดร.ยุกติมองว่า คนที่อยู่ในระบอบอนุรักษนิยม ก็คือคนที่เขาได้ประโยชน์ ไม่ได้สูญเสีย ไม่เดือดร้อนจากการที่ฝ่ายเขาขึ้นมามีอำนาจ เช่น ในสภาวะความเดือดร้อนจากการบริหารประเทศในสถานการณ์โควิด สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการวัคซีน การรักษา สาธารณสุข การควบคุมโรค เราจะเห็นในช่วงแรกๆ เมื่อปี 2563 เราจะไม่ค่อยเห็นฝ่ายที่เคยสนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แต่ตอนนี้เราเห็นมากขึ้น

“ซึ่งผมมองว่าคนถ้าไม่เดือดร้อนก็ไม่พูดอะไร เมื่อถามว่าใครที่ไม่เดือดร้อน ก็คือคนที่เคยสนับสนุนรัฐบาลอยู่ก่อน หรือฝ่ายอนุรักษนิยม เพราะคนเหล่านี้เข้าถึงระบบที่รัฐบาลนี้ให้หลักประกัน เช่น ระบบเงินเดือนข้าราชการ หรือคนที่สามารถเข้าสู่ระบบประชานิยมในแบบ ‘ประชารัฐ’ ได้ ก็ทำให้คนเหล่านี้ไม่ออกมาพูด เพราะอยู่ได้”

“แต่ในขณะนี้เริ่มเกิดความระส่ำระสายกับคนกลุ่มนี้ ที่เริ่มเดือดร้อนมากขึ้น เพราะเริ่มกระทบกับเศรษฐกิจที่กว้างมากขึ้น และล่าสุดก็คือการปิดแคมป์คนงาน ซึ่งกระทบธุรกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งการลงทุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการก่อสร้าง และธุรกิจการค้าปลีกที่กระทบมานานแล้ว แต่ในขณะนี้ยังไม่กระทบคนที่กินเงินเดือนเท่านั้น”

“คนจำนวนมากที่มีเงินเดือนเท่ากันทุกเดือน คนเหล่านี้ถ้าออกมาพูด อาจมีผลกระทบกระเทือนต่อความชอบธรรมของรัฐบาล แต่เขาไม่พูด เพราะไม่จำเป็นต้องเอาตัวเองไปเดือดร้อนหรือเอาตัวเองไปเสี่ยง ในแง่นี้คนที่ยังมีความมั่นคงอยู่ในระบบแบบนี้ หากยังไม่เดือดร้อน เขาก็จะยังไม่พูด”

“แต่สิ่งที่เรากลับเห็นคือคนเหล่านี้ออกมามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะผลกระทบเริ่มส่งผลกับญาติมิตรพี่น้องของเขาเรื่อยๆ เช่น เรื่องการวางแผนการฉีดวัคซีนในระยะยาวที่ไม่มีความชัดเจน ก็ทำให้คนเกิดความกังวลมากขึ้น ซึ่งความกังวลนี้ก็ขยายวงกว้างมากขึ้นด้วย”

 

อย่างไรก็ตาม มีการมองอีกว่าจะทำให้การชุมนุมของนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มไทยไม่ทนฯ นายนิติธร ล้ำเหลือ แกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ที่พยายามจะรวมสีเสื้อแดงและเสื้อเหลืองขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์จะมีมวลชนเข้าร่วมสมทบเพิ่มขึ้นหรือไม่

รศ.ดร.ยุกติมองว่า คนเหล่านี้เขารู้ตัวเองว่า เขาเป็นตัวเปิด เขายังไม่มีเครดิตมากพอที่จะดึงมวลชนได้มากขนาดนั้น การเคลื่อนของมวลชนจริงๆ ต้องการอารมณ์ที่กระชากรุนแรง ถึงจะดึงคนออกมาได้จำนวนมาก โดยบางทีเราไม่จำเป็นต้องรู้ด้วยซ้ำว่า หน้าของคนที่มานำนั้นคือใคร ซึ่งผู้นำมวลชนเราต้องการคนมีเครดิตมากกว่านี้ อาจต้องเป็นคนที่ไม่มีประวัติหรือมีขั้วทางการเมืองที่ชัดเจนมาก่อน หรือเป็นคนที่มีความน่าเชื่อถือในทางการเมืองมากกว่านี้ ไม่ดูกลับกลอก ไม่ดูพลิกไปพลิกมา อีกทั้งเราต้องการประเด็นที่จะกระชากใจคนได้มากกว่านี้ แม้ว่าเรื่องโควิดจะสามารถกระชากใจได้ แต่ยังไม่ถึงขั้นช่วงที่คนออกมาขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือย้อนกลับไปในปี 2535 ในยุค รสช. ม็อบมือถือ คนออกเพราะ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ตระบัดสัตย์ สิ่งเหล่านี้กระชากความรู้สึกคนจำนวนมาก

“ในช่วงนี้ผมมองว่าความทับถมของปัญหา ที่คนเห็น และมีคนที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงปัญหาที่มาของรัฐบาล ที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ผ่านรัฐธรรมนูญ และรัฐประหาร แต่ถึงที่สุดและผมมองว่ายังไม่มีพลังพอที่จะกระชากคนให้ออกมา” รศ.ดร.ยุกติกล่าว

การเผชิญหน้าทางการเมืองและความคิดยังคงดำรงอยู่ต่อไป เปรียบเป็น ‘เหตุการณ์ร่วมสมัย’ และเป็น ‘โจทย์ยาก’ ของฝ่ายอนุรักษนิยมไทย ในการ ‘ตรึง’ และ ‘ดึง’ คนไว้ในแต่ละยุค

ปรากฏการณ์เหล่านี้ยิ่งตอกย้ำแนวคิดที่ว่า สุดท้ายแล้วไม่มีใครหยุด ‘เข็มนาฬิกา’ ได้ด้วย!!