จับตาร่างแก้ รธน.ฉบับ ปชป. ลุ้นสภาผู้เฒ่าชี้ชะตา ‘รอด-ร่วง’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

จับตาร่างแก้ รธน.ฉบับ ปชป.

ลุ้นสภาผู้เฒ่าชี้ชะตา ‘รอด-ร่วง’

 

ประเด็นร้อนการเมือง แน่นอนว่าตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นปมปัญหาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ภายหลังจากที่ประชุมรัฐสภาอภิปรายกัน 2 วัน 2 คืน ใช้เวลากว่า 18 ชั่วโมง มีมติโหวตรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 13 ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพียงร่างเดียวเท่านั้น

ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 12 ฉบับ แม้จะมีเสียง ส.ส.สนับสนุนกันท่วมท้น แต่ปรากฏว่า ได้เสียงสนับสนุนของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่ถึง 1 ใน 3 ของ ส.ว. หรือ 84 เสียง ตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญฉบับล็อก 7 ชั้นกำหนดไว้

ส่งผลให้ทั้ง 12 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอันต้องตกไป

เช่นเดียวกับร่างของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเสนอเข้ามาเป็นร่างแรกตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน จำนวน 5 ประเด็น 13 มาตรา ตอนแรกดูเหมือนจะราบรื่น ไม่มีอุปสรรค น่าจะได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว.ที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนเดียวกัน

โหวตให้ผ่านวาระรับหลักการไปง่ายๆ ประกอบกับ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ผู้เสนอร่าง ก็มีความมั่นอกมั่นใจว่าร่างฉบับนี้จะได้รับเสียงสนับสนุนให้ผ่านฉลุยแน่นอน

แต่ท้ายที่สุดผลออกมากลับพลิกล็อก

 

ก่อนการประชุมเพียงไม่กี่วัน เริ่มมีเสียงคัดค้านจากกลุ่ม ส.ว.ที่ไม่เห็นด้วยกับการเสนอแก้ไขมาตรา 144 และ 185 เพราะมองว่าเป็นการทำลายและตัดหัวใจสำคัญของการป้องกันการทุจริต

เนื่องจากบทบัญญัติทั้ง 2 มาตรานั้น ห้ามไม่ให้ ส.ส. และ ส.ว.เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือการให้ความเห็นชอบในการจัดทำโครงการใดๆ ของหน่วยงานรัฐ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 มีการกำหนดบทบัญญัติไว้

กอปรสัญญาณที่ส่งตรงมาจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 และ 185 พลพรรค ส.ว.ทั้ง 250 คน พร้อมใจกันคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐแบบไม่มีเสียงแตก

แม้ในข้อเท็จจริง ประเด็นอื่นๆ ที่พรรค พปชร.เสนอแก้ไข ทั้งเรื่องระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ทาง ส.ว.นั้นยอมรับได้ แต่จะด้วยความตั้งใจ หรือ “มัดมือชก”

พรรค พปชร.กลับเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาในร่างเดียว แต่สอดไส้ มัดรวมเนื้อหาในหลายประเด็นที่ยื่นแก้ไขมาด้วย แบบวัดใจ “สภาผู้เฒ่า” ว่า หากเห็นชอบในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็ต้องโหวตรับทั้งร่าง

แต่ ส.ว.กลับไม่หลงเกมนี้ด้วย เพราะไม่เชื่อคำของ “ไพบูลย์” ที่ออกมายืนยันกลางสภาว่า ให้รับร่างแก้ไขไปก่อน เรื่องใดที่ ส.ว.ไม่เห็นด้วยก็จะนำไปแก้ไขในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงพร้อมใจกันคว่ำทิ้งทั้งร่างของพรรค พปชร.

 

ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบผ่านรับหลักการเพียงฉบับเดียว ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 552 เสียง ส.ส. 342 เสียง ส.ว. 210 เสียง ไม่เห็นชอบ 24 เสียง งดออกเสียง 130 เสียง โดยมาตรา 83 มีสาระสำคัญคือ สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 500 คน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 400 คน และมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน จากเดิมกำหนดให้ ส.ส.จำนวน 500 คน มาจากแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 350 คน แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 150 คน

ขณะที่มาตรา 91 มีสาระสำคัญคือ “การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศแล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีรายชื่อในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”

สรุปสั้นๆ คือ ยกเลิกวิธีการคำนวณตามรัฐธรรมนูญ 2560 ทิ้งหมด และกลับไปใช้วิธีการคำนวณให้สอดคล้องกับรูปแบบบัตรสองใบ

 

ทว่าภายหลังจากร่างดังกล่าวผ่านวาระรับหลักการ หลายฝ่ายทั้งนักการเมือง นักวิชาการ กลุ่มการเมืองต่างๆ ออกมาสะท้อนความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ว่าร่างฉบับนี้ไม่มีความสมบูรณ์ ไปต่อได้ยาก มีแต่ปัญหา

เพราะการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงแค่ 2 มาตรา โดยไม่ได้เสนอแก้ไขอีก 6 มาตราที่เชื่อมโยงกัน อาจจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การถูกโหวตคว่ำในการพิจารณาวาระที่ 3 หรือท้ายที่สุดอาจไปจบด้วยการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดอีกเช่นเคย

แน่นอนว่า หลังถูกถล่มอย่างหนัก คีย์แมนพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้เสนอร่างได้อธิบายเหตุผล พร้อมยืนยันว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเสนอและผ่านความเห็นชอบนั้น มีความสมบูรณ์ มีหลักการ มีเหตุผล เสนอต่อรัฐสภาไว้อย่างชัดเจน ไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหา

อีกทั้งยังสามารถปรับปรุงแก้ไขมาตราอื่นๆ ที่ยังขัดแย้งกับหลักการให้สอดคล้องกับหลักการได้ เดินหน้าไปได้ตามขั้นตอนกระบวนการปกติ ตามข้อบังคับของรัฐสภา

โดย “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” ออกมามาระบุว่า กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ สามารถไปต่อได้ โดยยกข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 124 ที่ระบุว่า สามารถแก้ไขเพิ่มเติมมาตราต่างๆ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับหลักการได้

เช่นเดียวกับ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ออกมาคอนเฟิร์มอีกหนึ่งเสียงว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอมานั้นไปต่อได้ พร้อมกับเชื่อมือ “บัญญัติ บรรทัดฐาน “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” และ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ซึ่งเป็นกรรมาธิการในชุดนี้ จะหาทางออกให้กับเรื่องนี้ได้ แถมยังให้ความเห็นทำนองว่าคงต้องเขียนเอาไว้ในบทเฉพาะกาล

ฉะนั้น การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 45 อรหันต์ ที่จะมีขึ้นนัดแรกในวันที่ 6 กรกฎาคม ต้องจับตาดูว่าจะวางหลักการแนวทางพิจารณาเรื่องนี้กันอย่างไร

และเมื่อมันยังมีปัญหาแบบนี้อยู่ ทาง ส.ส.-ส.ว.จะแปรญัตติสงวนความเห็นกันอย่างไร

 

ทว่าอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องจับตาสำหรับการประชุม กมธ.นัดแรก นั่นคือ การเลือกตำแหน่งหน้าที่การทำงานต่างๆ โดยตำแหน่งที่สำคัญคือ เก้าอี้ประธาน ซึ่งขณะนี้ปรากฏรายชื่อออกมา 2 คน จากสองพรรคการเมืองใหญ่ ชื่อแรกคือ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ซึ่งมีข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐจะเสนอให้เป็นประธานกรรมาธิการ เพราะว่ามีความเหมาะสม และมีความรอบคอบ

งานนี้ “ไพบูลย์” ออกตัวไม่ขอแสดงความคิดเห็นอะไรไปก่อน เพราะเป็นเรื่องของมารยาท ทุกตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นประธาน รองประธาน เลขานุการ และโฆษกกรรมาธิการ ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม

ขณะที่ฝั่งประชาธิปัตย์เตรียมดัน “บัญญัติ บรรทัดฐาน” มาเป็นประธานกรรมาธิการ คุมเกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะทางพรรคมองว่ามีความเหมาะสม มีศักยภาพล้นเหลือที่จะทำหน้าที่ตรงจุดนี้

ฉะนั้น ต้องจับตาดูว่า พรรคพลังประชารัฐในฐานะแกนนำรัฐบาล หรือพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะผู้เสนอร่าง คนของพรรคใดจะได้เก้าอี้ประธานกรรมาธิการไปครอง ทั้งหมดนี้คงต้องรอดูผลหารือกันในที่ประชุมอีกครั้ง

แน่นอนว่า คนที่จะเข้ามาเป็นประธานกรรมาธิการครั้งนี้ ต้องเจอกับโจทย์ใหญ่ที่รอพิสูจน์ว่า สุดท้ายร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์จะเดินหน้า หรือสุดท้ายทางออกของปมปัญหานี้จะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่

หรือหากผ่านด่านศาลรัฐธรรมนูญ ยังคงต้องมาลุ้นกับสภาสูง ที่ต้องฟังสัญญาณสุดท้ายอีกครั้ง กับการใช้อิทธิฤทธิ์ 84 เสียงชี้ขาดในวาระ 3 ว่าจะให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหนึ่งเดียวของพรรคประชาธิปัตย์ได้ไปต่อหรือไม่