รัฐบาลยิ่งแก้ โควิดยิ่งลาม ล็อกดาวน์แคมป์ก่อสร้าง-ร้านอาหาร ทุบเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

รัฐบาลยิ่งแก้ โควิดยิ่งลาม

ล็อกดาวน์แคมป์ก่อสร้าง-ร้านอาหาร

ทุบเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ

 

ข้อกำหนด 25 ฉบับ แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลับกลายเป็นภาวะยิ่งแก้-ยิ่งลาม

ทหารการเมือง-ทีมที่ปรึกษาหมอ นักธุรกิจการเมืองในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องบริหารความเสี่ยงจากวัคซีน “ไม่มาตามนัด” ด้วยสรรพกำลังคน-ยุทโธปกรณ์ทางการแพทย์ “ตามสถานการณ์” ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูง “รายวัน”

ธุรกิจกลางวันและกลางคืน รายใหญ่-รายย่อย ต้องปรับแผนธุรกิจ “รายชั่วโมง”

ประกาศราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดฉบับที่ 25 มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อตอน “ตีหนึ่ง” ของวันที่ 27 มิถุนายน 2564 กลายเป็น “หมัดน็อก” ฮุกเข้าปลายคางธุรกิจขาใหญ่-ขาเล็ก

1. ปิดสถานที่ก่อสร้าง-แคมป์คนงาน ห้ามเดินทาง-ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน

2. สถานประกอบการ-โรงงานปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal)

3. ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มทุกประเภทให้นำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น

4. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้ถึง 21.00 น. โดยงดให้บริการโรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ สวนน้ำ

5. งดการประชุม การสัมมนา จัดเลี้ยงในโรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม-สถานที่จัดนิทรรศการ

6. ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มมากกว่า 20 คน

7. ให้อำนาจผู้ว่าฯ กทม.-ผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำสั่งปิดเขตชุมชน-ตลาด หรือสถานที่เสี่ยงต่อการระบาดของโควิด

8. ตั้งจุดตรวจ-ด่านตรวจ-จุดสกัดเพื่อคัดกรองการเดินทาง

9. ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (work from home) “ขั้นสูงสุด”

และ 10. งดกิจกรรมทางสังคม ยกเว้นการจัดพิธีการตามประเพณีนิยมที่ได้กำหนดเตรียมการไว้แล้ว

ข้อกำหนด “ฉบับฟ้าผ่า” เกิดความโกลาหลใน “แคมป์คนงาน” หนีตายกลับบ้านต่างจังหวัดเป็น “ผึ้งแตกรัง” เอาชีวิตรอดจากปัญหาปากท้อง ท่ามกลางเสียงครวญจาก กทม. ระบบสาธารณสุข “เอาไม่อยู่” และ “เตียงไม่พอ” ต้องกักตัวที่บ้าน

ขณะที่ผู้ประกอบการ-นายจ้าง ทุนหาย-กำไรหด สินค้า “ค้างสต๊อก” ลูกค้าขาจร-ขาประจำเงินฝืด “ยอดขายตก” ไม่เป็นไปตามเป้า พร้อมกับ “ข่าวร้าย” ของลูกจ้างเฉียด 7 แสนคน ถูกบอก “เลิกจ้าง”

ความเสียหายของข้อกำหนดฉบับที่ 25 กินพื้นที่กรุงเทพมหานคร-แดนปริมณฑล 5 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

ขยายอำนาจพิเศษไปยังพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ที่ยัง “ไร้คำตอบ” การช่วยเหลือเยียวยา-กดทับหัวใจคนไทย-มุสลิม “ซ้ำเติม” ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ข้อกำหนด “ฉบับลักหลับ” ปิดแคมป์คนงาน-ไซต์ก่อสร้าง และ “กึ่งล็อกดาวน์” ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม อย่างน้อย 30 วัน ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายว่า “เจ็บแล้วจบ” ต้องประเมินสถานการณ์-วัดไข้ทุก 15 วัน “เกาถูกที่คัน” หรือไม่

ธุรกิจรายใหญ่-รายเล็กได้รับแรงกระแทกจากเอฟเฟ็กต์ ล้ม-ลุกเป็นโดมิโน โดยเฉพาะลมหายใจของธุรกิจย่าน กทม.-ปริมณฑล รวม 6 จังหวัด ที่เปรียบเป็น “หัวรถจักร” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระบบ

มาตรการเยียยา-บรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มแรงงาน-ผู้ประกอบการอันเนื่องมาจากข้อกำหนดฉบับที่ 25 กลับไป-กลับมา ก่อนหว่านให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย-กิจกรรมบริการอื่น จากที่ “ล็อกเป้า” เฉพาะ “คนงาน” และ “ลูกจ้าง” ใน-นอกระบบ

รวมไปถึง “ธุรกิจบันเทิง” ที่มายื่นร้องทุกข์-เดินขบวนทวงถามความรับผิด-รับชอบถึงทำเนียบรัฐบาล ลามไปถึงสัปปายะสภาสถาน เช้า-เย็น

ระยะที่ 1 มาตรการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ รวมถึงกิจกรรมบริการด้านอื่นๆ ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

ไม่ใช่เฉพาะแคมป์คนงาน-ไซต์ก่อสร้าง และร้านอาหาร แต่รวมถึงร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ ซ่อมอุปกรณ์สื่อสาร โทรศัพท์มือถือ ซ่อมอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซ่อมเครื่องใช้ในครัวเรือน ซ่อมรองเท้า ซ่อมเครื่องหนัง ซ่อมเฟอร์นิเจอร์ ซ่อมนาฬิกา ซ่อมเครื่องแต่กาย ซ่อมจักรยานยนต์สองล้อ ซ่อมเครื่องดนตรี ซ่อมเครื่องกีฬา

กินความถึงกิจกรรมบริการ เช่น สปา ลดน้ำหนัก การแต่งผม-ดูแลความงาม แต่งเล็บมือ-เล็บเท้า ซักรีด กิจการดูแลต่างๆ

 

สําหรับรูปแบบการให้ความช่วยเหลือ ลูกจ้าง-กลุ่มแรงงานผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สัญชาติไทย ได้รับ “เงินช่วยเหลือเพิ่มเติม” หัวละ 2,000 บาท

เป็นการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคม-ชดเชยประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท)

สำหรับนายจ้าง-ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบประกันสังคมจะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน

หากไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม กรณีเป็นผู้ประกอบการที่ “มีลูกจ้าง” ให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคม 2564

กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ “ไม่มีลูกจ้าง” ให้ลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น “ถุงเงิน” ผ่านโครงการคนละครึ่ง ภายในเดือนกรกฎาคม 2564

กรณีผู้ประกอบการในหมวดร้านอาหาร-เครื่องดื่มของโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง จะได้รับการช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท

สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในโครงการคนละครึ่งและมีลูกจ้างแต่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคม 2564

เบ็ดเสร็จแต่ยัง “ไม่สะเด็ดน้ำ” คาดว่าการดำเนินการตามมาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วนจะมีกรอบวงเงินรวมประมาณ 8,500 ล้านบาท

สำหรับ “แหล่งเงิน” แบ่งออกเป็น “เงินกู้” จาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท และ “พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน” จำนวน 5,000 ล้านบาท และเงินกองทุนประกันสังคม วงเงิน 3,500 ล้านบาท

นอกจาก “เม็ดเงิน” เยียวยาธุรกิจจากผลกระทบทางตรง-ทางอ้อมแล้ว ยังมีมาตรการ “เพิ่มกำลังซื้อ” ช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม ได้แก่ โครงการผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้”

 

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ยังต้องใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่คงเหลืออยู่ และ “เงินกู้ก้อนใหม่” 5 แสนล้านบาท “ถม” เศรษฐกิจที่ “ซึมลึก” จนกูรูเศรษฐกิจหลายสำนัก “ฟันธง” เศรษฐกิจปีนี้ยังไม่ฟื้น-ซึมลึกยาวไปถึงปี 2565-2566

มาตรการระยะต่อไป-เฟส 2 มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง และ “สภาพัฒน์” พิจารณารูปแบบการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทั่วประเทศต่อไป

ทั้งการ “เพิ่มสภาพคล่อง” พักต้น-พักดอกเบี้ย โครงการ Co-payment ค่าแรงงาน การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการปลดล็อกลูกหนี้ที่ติดเครดิตบูโร-ลูกหนี้ NPLs ให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

วาระวัคซีนแห่งชาติ นับถอยหลังเปิดประเทศ 120 วัน ยังเต็มไปด้วยพงหนาม-ทางลูกรัง ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์และองคาพยพยังต้องร่วมหัว-จมท้าย กอดคอพายพร้อมๆ กันจนกว่าจะถึงฝั่ง ฟื้นจากโรคระบาด และขยับกลับมาเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศได้อีกครั้ง