การระบาดที่ไม่จบสิ้น โควิดสายพันธุ์เดลต้า/บทความต่างประเทศ

REUTERS

บทความต่างประเทศ

 

การระบาดที่ไม่จบสิ้น

โควิดสายพันธุ์เดลต้า

 

ผ่านมานานปีกว่า “โควิด-19” ก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของคนทั่วโลก แม้ในยามที่มีการฉีดวัคซีนแล้วจำนวนมาก แต่ไวรัสร้ายก็ยังกัดกร่อนชีวิตผู้คนอย่างไม่หยุดยั้ง และมีการกลายพันธุ์ออกไปอย่างมากมาย

หนึ่งในสายพันธุ์ที่ทั่วโลกกำลังวิตกกันหนักขณะนี้ คงนี้ไม่พ้นสายพันธุ์เดลต้า หรือชื่อเรียกเดิมคือ สายพันธุ์อินเดีย ที่ทำให้หลายประเทศต้องตกอยู่ในสภาวะล็อกดาวน์กันอีกครั้ง

รวมไปถึงนครซิดนีย์ ของประเทศออสเตรเลีย ที่มีการประกาศล็อกดาวน์ 2 สัปดาห์เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ที่พบว่าสามารถติดต่อกันได้อย่างง่ายดายมากขึ้น และเริ่มพบผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์นี้กันมากขึ้น

นับเป็นการกลับมาล็อกดาวน์เป็นครั้งแรก หลังจากออสเตรเลียได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการควบคุมโควิด-19

ขณะที่ตอนนี้ เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าได้แพร่กระจายไปในเกือบร้อยประเทศทั่วโลกแล้ว

 

สําหรับสายพันธุ์เดลต้านั้น มีชื่อที่นักวิชาการเรียกกันคือ “บี.1.617.2” ถูกพบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย เมื่อเดือนธันวาคม 2563

โดยในรายงานขององค์การอนามัยโลก (ฮู) ที่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าตรวจพบแล้วใน 85 ประเทศ และในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานการพบเชื้อสายพันธุ์เดลต้าเพิ่มเติมอีกใน 11 ประเทศ

และเมื่อมีการตรวจคุณสมบัติของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าก็พบว่า มีความสามารถในการระบาดสูงกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า หรือสายพันธุ์อังกฤษ และหากแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ไม่เปลี่ยนแปลง โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักบนโลกนี้

ขณะที่มีผลการศึกษาจากประเทศสิงคโปร์ที่พบว่า ลักษณะเด่นที่บ่งบอกถึงการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า คือโอกาสที่ผู้ป่วยจะมีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำมีมากขึ้น และมีโอกาสมากขึ้นที่ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงถึงขั้นเข้าห้องไอซียู และยังมีโอกาสในการเสียชีวิตมากขึ้นอีกด้วย

เรื่องที่น่าห่วงกังวลสำหรับสายพันธุ์เดลต้าคือ วัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น ได้ผลที่ลดลงเล็กน้อยสำหรับสายพันธุ์เดลต้านี้ แต่หากฉีดครบ 2 โดสแล้ว จะยังมีความสามารถในการป้องกันได้อย่างสูงอยู่

และตอนนี้บรรดาประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงๆ อย่างสหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษ หรือแม้แต่อิสราเอล ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนในการฉีดวัคซีนให้ประชากรได้มากที่สุดในโลก ก็ยังมีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า อย่างอิสราเอลที่เคยประกาศเลิกการสวมหน้ากาก ก็ต้องประกาศให้ใส่กันอีกครั้ง

หรือแม้แต่ในยุโรป ที่จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ลดลงมาอย่างต่อเนื่องสองเดือน ก็กลับมาเกิดการระบาดใหญ่อีกครั้ง เพราะสายพันธุ์เดลต้านี่เอง

 

ขณะที่สายพันธุ์เดลต้ากำลังระบาดไปอย่างไม่หยุดยั้ง และเหมือนกำลังก่อปัญหาใหญ่อีกครั้ง ชื่อของ “เดลต้าพลัส” ก็โผล่ขึ้นมาอีก ให้คนสยองกันมากขึ้น

เดลต้าพลัส คือสายพันธุ์ย่อย ที่กลายพันธุ์มาจากสายพันธุ์เดลต้าอีกทอดหนึ่งนั่นเอง ถูกตรวจพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา กระทั่งวันที่ 23 มิถุนายน กระทรวงสาธารณสุขอินเดียก็รายงานว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อเดลต้าพลัสนี้แล้ว 40 ราย ก่อนที่ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเริ่มกระจายไปในต่างประเทศ รวมทั้งในสหรัฐอเมริกา

นายแพทย์ไมก์ ไรอัน ผู้อำนวยการแผนกโครงการฉุกเฉินทางสุขภาพของฮู เปิดเผยว่า การกลายพันธุ์ของเดลต้าทำให้มันแพร่ได้เร็วขึ้น แข็งแกร่งขึ้น สามารถจับเกาะกับเซลล์ในร่างกายของคนกลุ่มเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์อื่นๆ

และมีผลการศึกษาชี้ว่า การกลายพันธุ์ทำให้มันมีคุณสมบัติในการเลี่ยงหนีจากภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนได้

เรียกได้ว่า เป็นกลไกเพื่อความอยู่รอดตามธรรมชาติของไวรัส ที่ยิ่งแพร่ได้มากเท่าไหร่ เร็วขึ้นเท่าไหร่ โอกาสในการอยู่รอดก็มีมากขึ้น

ส่วนมนุษย์ก็ต้องหาทางดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดจากไวรัสนี้ให้ได้ทันท่วงทีเช่นกัน