พันธมิตรต่อต้าน อำนาจประยุทธ์ จันทร์โอชา ฉันทานุมัติการเมือง/กรองกระแส

กรองกระแส

 

พันธมิตรต่อต้าน

อำนาจประยุทธ์ จันทร์โอชา

ฉันทานุมัติการเมือง

ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “ไทยไม่ทน” ของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “ประชาชนคนไทย” ของนายนิติธร ล้ำเหลือ

เริ่มต้นจากพื้นฐาน “ต่าง” กัน

นั่นคือ พื้นฐานของ “ประชาชนคนไทย” มีสีสันของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พื้นฐานของ “ไทยไม่ทน” มีพื้นฐานของแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ

ด้านหนึ่ง สวมเสื้อ “สีเหลือง” ด้านหนึ่ง สวมเสื้อ “สีแดง”

ระยะกาลหนึ่ง พวกเขาคือคู่แห่งความขัดแย้ง ตั้งป้อมเพื่อเคลื่อนขบวนเข้าห้ำหั่นกันในทางความคิดและในทางการเมือง

ก่อให้เกิดรัฐประหาร 2549 ก่อให้เกิดรัฐประหาร 2557

แต่เมื่อมาถึงเดือนมิถุนายน 2564 เป้าหมายในการเคลื่อนไหวของ “ไทยไม่ทน” และ “ประชาชนคนไทย” กลับอยู่ที่เดียวกัน

นั่นก็คือ ทำเนียบรัฐบาล นั่นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

พลันที่เป้าหมายของ “ไทยไม่ทน” และ “ประชาชนคนไทย” อยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เขาก็กลายเป็นพันธมิตรในแนวร่วม

เป็นพันธมิตรในแนวร่วมต้าน “รัฐประหาร” ไปโดยพื้นฐาน

เนื่องจากอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางอยู่กับกระบวนการของการรัฐประหาร ไม่ว่าเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

มองจาก “ประชาชนคนไทย” นี่ย่อมเป็นการไถ่คืนจากความผิดพลาด

เพราะความผิดพลาดจากการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพราะความผิดพลาดจากการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนมิใช่หรือจึงก่อให้เกิดรัฐประหาร

ทำเนียบรัฐบาลและอำนาจทางการเมืองจึงตกอยู่ในมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

กระบวนการในการเคลื่อนไหวของ “ไทยไม่ทน” และ “ประชาชนคนไทย” จึงสอดรับกับแนวคิดโดยพื้นฐานในทางการเมืองของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคพลังปวงชนไทย

ขณะเดียวกัน ก็สอดรับกับองค์กรมวลชนอันมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับพรรคการเมืองอย่างเช่นกลุ่มแคร์กับพรรคเพื่อไทย คณะก้าวหน้ากับพรรคก้าวไกล

ยิ่งกว่านั้น ยังสอดรับกับทิศทางการเคลื่อนไหวของ “เยาวชน”

ไม่ว่าจะเป็น “เยาวชนปลดแอก” ในเดือนกรกฎาคม ไม่ว่าจะเป็น “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ในเดือนสิงหาคม กระทั่งพัฒนาเป็น “คณะราษฎร 2563” ในเดือนตุลาคม

ทั้งหมดนี้ดำเนินไปในลักษณะต่างคนต่างเดิน ต่างคนต่างเคลื่อนไหว

หากผนวกรวมตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 กระทั่งการยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นี่ย่อมเป็นการเคลื่อนไหวอันทึกทึกครึกโครม

เป้าหมายรวมศูนย์ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเป็นเอกภาพ

 

จากการเคลื่อนไหวของ “เยาวชนปลดแอก” ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 มายังการเคลื่อนไหวอันอึกทึกครึกโครมในเดือนมิถุนายน 2564

เด่นชัดยิ่งว่า “ฉันทานุมัติ” ทางการเมืองได้เริ่มก่อรูปขึ้น

เป็นฉันทานุมัติอันในที่สุดก็มีพื้นฐานมาจากความไม่เห็นด้วยต่อรัฐประหารนับแต่เดือนกันยายน 2549 เป็นต้นมา กระทั่งรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เป็นฉันทานุมัติอันรวมศูนย์ไปที่การขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา