ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 กรกฎาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | โลกทรรศน์ |
ผู้เขียน | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ |
เผยแพร่ |
โลกทรรศน์
อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
บีอาร์ไอจีนกับเมียนมา
“…หวัง อี้ (Wang Yi) (รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน) ให้ความมั่นใจ วันนา หม่อง ละวิน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเมียนมา…นโยบายที่เป็นมิตรของจีนต่อเมียนมานั้นไม่ได้รับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ภายในและระหว่างประเทศของเมียนมา…”
นี่เป็นประเด็นสำคัญของนายหวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่กล่าวแก่วันวัน หม่อง ละวิน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของรัฐบาลทหารเมียนมา ทั้งสองพบกันในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีนวาระพิเศษ (ASEAN-China Foreign Minister’s Special Meeting) ที่นครฉงชิง (Chongqing) สาธารณรัฐประชาชนจีน 6-8 มิถุนายนที่ผ่านมา
บทสนทนา วาระประชุมพิเศษ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน ไม่เพียงแสดงถึงความรวดเร็วของจีนที่ทันต่อสถานการณ์อันผันผวนของภูมิภาคอันสืบเนื่องรัฐประหารในเมียนมาเท่านั้น
ทั้งหมดยังแสดงอย่างชัดเจนถึงจุดยืน นโยบายและความเป็นจริงแห่งความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัฐบาลทหารของเมียนมา
นอกจากนั้น ทางการจีนยังอาศัยบีอาร์ไอ หรือ Belt and Road Initiative-BRI อันคุ้นหูและมีการกล่าวอ้างในเกือบทุกๆ ก้าวย่างทางการทูตน้อยใหญ่ของจีนหลังปี 2013 ที่ก่อตั้งอย่างเป็นทางการ จนดูเหมือนเป็นเรื่องฟุ้งเล็กๆ ใหญ่ หรืออภิมหาโครงการกราดไปทั่วทุกมุมโลก
ในที่สุด บีอาร์ไอกลายมาเป็นแกนหลักทางนโยบายของจีนต่อเมียนมาอย่างเนียนๆ แต่ทรงพลานุภาพ
บีอาร์ไอจีนในเมียนมา
รัฐประหารเมียนมาเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีความสำคัญและส่งผลสะเทือนไม่เพียงภายในเมียนมาเท่านั้น
รัฐประหารแล้วปกครองโดยทหาร แม้เป็นเรื่องซ้ำซากของประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่ของเมียนมา เรื่องคุ้นเคยของนายพลเมียนมาซึ่งเป็นเรื่องแสนเชยและน่ารังเกียจของนานาชาติ
แต่ด้วยความสำคัญของเมียนมาต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และองค์กรอาเซียน รัฐประหารย้อนยุคกลับเป็นความพยายามจัดระเบียบทางอำนาจเสียใหม่ให้ผู้นำทหารเมียนมายังคงอำนาจ มั่นคงและมั่งคั่งหลังจากพลังของฝ่ายตนลดน้อยลงเมื่อพลังประชาธิปไตยเข้ามาท้าทายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
หลังรัฐประหาร ทหารเมียนมาทำอะไรหลายอย่าง เรื่องภายในประเทศ เมื่อเผชิญกับการลุกฮือต่อต้านจากประชาชนตั้งแต่นาทีแรก ประท้วงทุกวันและทั่วประเทศ จับกุมและคุมขังนางอ่อง ซาน ซูจี และแกนนำคนอื่นๆ อีกทั้งปิดกั้นข่าวสาร โฆษณาชวนเชื่อ
ผู้นำเมียนมารู้ดีว่า เมียนมาอยู่ท่ามกลางสายตาชาวโลกมาตลอด เมียนมาปฏิเสธแรงสนับสนุนและการยอมรับจากนานาชาติไม่ได้ จากประสบการณ์ในอดีต หลังได้รับเอกราชปี 1948 เมียนมาแสวงหาการยอมรับจากนานาชาติตลอดมา พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เมียนมาตกอยู่ในสภาพที่เป็นเวทีการแข่งขันของชาติมหาอำนาจเสมอมา
หลังรัฐประหารครั้งหลังสุด ชาติตะวันตกต่างไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แล้วเรียกร้องให้ยอมรับผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา กดดันรัฐบาลทหารคืนประชาธิปไตยแก่ประชาชน ปล่อยตัวอ่อง ซาน ซูจี และนักโทษการเมืองที่ถูกจับทุกคน
แล้วสมการการเมืองระหว่างประเทศก็ย้อนกลับมา
จีนสนับสนุนเมียนมาในทุกสถานการณ์การเมือง ยิ่งในยามที่เมียนมาถูกนานาชาติบอยคอต การสนับสนุนจากจีนจึงมีความสำคัญและสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาล
การเดินทางไปเยือนรัสเซียของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ก็สำคัญ การเข้าร่วมประชุมกับอาเซียนในวาระพิเศษเรื่องเมียนมา ที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียนสำคัญมาก แล้ว พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ก็เดินทางไปประชุมด้วยตัวเอง
มาคราวนี้ จีนรุกคืบไปอีกก้าว จีนจัดประชุมเองเลย การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีนวาระพิเศษที่นครฉงชิง นับเป็นจุดเปลี่ยนของจีน-เมียนมาอีกครั้งหนึ่ง ในแง่ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ หลังรัฐประหาร มีเพียงคำแถลงอย่างเป็นทางการของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย เรื่องให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนในเมียนมา นับเป็นกิจการต่างประเทศและมาตรการทางเศรษฐกิจเพียงอันเดียวที่รัฐบาลรัฐประหารดำเนินการเพื่อดึงต่างประเทศกลับมา และเป็นเรื่องเศรษฐกิจสำคัญ
แต่ ณ นครฉงชิง ทางการจีนและเมียนมาเห็นชอบให้เปลี่ยนโครงสร้างคณะกรรมการเรื่องบีอร์ไอ
นี่เป็นมาตราการสำคัญที่สุด เป็นไปได้มากที่สุด แล้วจะยิ่งได้การสนับสนุนจากจีนมากที่สุด
เพราะบีอาร์ไอเป็นเรื่องที่ทางการจีนต้องการมากที่สุดในเมียนมา
การปรับโครงสร้างคณะกรรมการ 3 คณะกรรมการ เพื่อผลักดันโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบีอาร์ไอ
คณะกรรมการที่มีการปรับเหล่านี้ มีบทบาทสำคัญในการประสานงานกับรัฐบาลจีน ในการดำเนินโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจแบบทวิภาคี หมายถึงกับทางการจีนโดยตรง แล้วยังกำหนดหน้าที่เป็นรูปธรรมมาก1 คือ
คณะกรรมการทำหน้าที่ วางแนวทางยุทธศาสตร์โครงการ เซ็นบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) และจัดการประชุมระหว่างรัฐบาลของทั้ง 2 ฝ่าย
น่าสนใจ โครงการที่ทางการจีนต้องการให้รื้อฟื้นอีกครั้งเวลานี้ได้แก่
เขตเศรษฐกิจพิเศษจ้าวผิว (Kyaukphyu Special Economic) เป็นส่วนสำคัญของโครงการ ท่อส่งน้ำมันและก๊าซไปถึงเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน จีนมีข้อมูลว่า ท่อน้ำมันและก๊าซป้อนแหล่งพลังงานให้โรงงานแปลงทองแดงเพื่อผลิตอุปกรณ์ใช้ในโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เขตเศรษฐกิจพิเศษจ้าวผิว ยังเชื่อมต่อกับโครงการท่าเรือน้ำลึกที่ใช้ได้ทั้งการพาณิชย์ เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ สร้างท่อขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติความยาวราว 2,400 กิโลเมตร
ท่าเรือน้ำลึกยังใช้เพื่อการทหารและยุทธศาสตร์ออกสู่มหาสุมทรอินเดียได้ด้วย ท่าเรือน้ำลึกอยู่รัฐยะไข่ ติดกับบังกลาเทศ
ดังนั้น ประเด็นชาวโรฮิงญา มุสลิม ชนกลุ่มน้อย กลุ่มก่อการร้าย ดินแดนแห้งแล้ง อ่อนไหวด้านความมั่นคง จึงเป็นเรื่องแต่งขึ้นมา กลบเรื่องความอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัฐนี้
โครงการพัฒนาเมืองย่างกุ้งใหม่ (New Yangon City Development) เป็นโครงการขยายเมืองเพื่อรองรับแรงงานจำนวนมาก สนองตอบนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานผลิตสินค้าจำนวนมากของต่างชาติที่เติบโตอย่างรวดเร็ว อันรวมทั้งจีนด้วย
โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษในรัฐฉาน (Economic Zone in Shan State) และโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษในรัฐคะฉิ่น (Economic Zone in Kachin State) ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนจีนทั้งคู่ อันเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อจีนโดยตรง
เวทมนตร์การทูต
จากการศึกษาของ Pan Qi อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคมของจีน2 ชี้ให้เห็นว่า เมื่อกลางทศวรรษ 1980 ความคิด นโยบายและการดำเนินงานบีอาร์ไอในเมียนมาของทางการจีนเกิดขึ้นแล้ว นั่นคือแรงปรารถนาของฝ่ายวางแผนเศรษฐกิจของจีนเพื่อเปิดถนนพม่าเก่า (old Burma road) อีกครั้ง เพื่อเชื่อมต่อกับหลายๆ มณฑลในผืนดิน (inland) ที่ยากจน ได้แก่ ยูนนาน ซึ่งล้าหลังกว่ามณลฑลต่างๆ ฝั่งชายทะเลจีนที่กำลังบูมเชื่อมต่อกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เขาเห็นว่า พร้อมด้วยกว่า 2 ทศวรรษแล้วที่บรรษัทข้ามชาติจีนได้ลงนามและก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ทำเหมือง ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โครงการน้ำมันและก๊าซในเมียนมา ภายใต้นโยบาย Great Western Development Strategy ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ภายใต้ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน (Jiang Zemin) และภายใต้ประธานาธิบดีหูจิ่นเทา (Hu Jintao) ผู้ผลักดันนโยบาย March West Strategy
ดังนั้น จีนแปลงวิบัติภัยเมียนมาที่ทำรัฐประหารย้อนยุค ไปเป็นโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ ด้วยเวทมนตร์การทูตด้วยชื่อเรียกเก๋ไก๋ว่า Maritime Silk Road Initiative-MSRI หรือภาษาไทยคือ ข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมทางทะเล เนื่องจากเมียนมาเป็นประเทศใหญ่อันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นชุมทางระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ อันครอบคลุมมหาสมุทรใหญ่ทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย แล้วอัพเดตทชื่อเรียกให้ทันยุคด้วยบีอาร์ไอ รื้อฟื้นโครงการเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ในเมียนมาที่ถูกระงับไปอีกครั้งหนึ่ง
จีนมักเข้ามาถูกจังหวะ เมื่อเมียนมามีวิกฤต จีนก็มีโอกาส
ด้วยเวทมนตร์การทูตชื่อ บีอาร์ไอ
1″Chinese Foreign Minister Assures Myanmar Junta it has Beijing’s Support” The Irrawaddy 10 June 2021.
2งานเขียนของ Pan Qi อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคม ปรากฏใน Beijing Review 2 September 1985