Post-pandemic Boom : สัญญาณ ‘เศรษฐกิจบูมหลังโควิด’/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

Post-pandemic Boom

: สัญญาณ ‘เศรษฐกิจบูมหลังโควิด’

 

ใครจะเชื่อว่ามนุษย์ทั่วโลกกว่า 7,000 ล้านคนกำลังทำสงครามกับไวรัสที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นด้วยซ้ำ

แต่เจ้าไวรัสโคโรนาที่เราเรียกว่า Covid-19 ตัวนี้กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เขย่าโลกอย่างที่ไม่เคยประสบพบเห็นมาก่อน

แต่จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม หลังความเสียหายอันร้ายแรงที่จะทิ้งบทเรียนไว้ให้ชาวโลกมหาศาลโลกอาจจะต้องขอบคุณมันอย่างท่วมท้น

เพราะมันตอกย้ำให้มนุษย์ได้สำเหนียกว่าวิถีชีวิตแบบเดิมไม่อาจจะอยู่ต่อไปได้อีก

สัญญาณเตือนภัยก่อนหน้านี้คือ “ความป่วน” ที่มาพร้อมกับ disruption ที่เกิดจากเทคโนโลยี

เจ้าไวรัส Covid-19 มาเยือนก็เพื่อจะยืนยันว่าในความเลวร้ายนั้น หากได้เรียนรู้จากมันอย่างจริงจังก็อาจจะนำไปสู่ความเฟื่องฟูได้อีกครั้ง

หากเราเชื่อในบทเรียนของประวัติศาสตร์โดยไม่หาข้อแก้ตัวเพียงเพื่อโยนความผิดไปให้สิ่งอื่นหรือเพื่อนร่วมโลกคนอื่น

คำว่า “post-pandemic boom” เริ่มมาปรากฏให้ได้เห็นและได้ยินในแวดวงนักเศรษฐศาสตร์และสำนักวิเคราะห์ทางตะวันตก

ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกกำลังจะ “บูม” หลังโควิด-19 เริ่มจะซาลง

เห็นได้จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปบางประเทศ…หรือของจีน

ทำให้เห็นภาพของการฟื้นตัวเศรษฐกิจแบบตัว K

นั่นแปลว่าบางประเทศจะฟื้นอย่างคึกคัก (ขาข้างหนึ่งของตัว K เด้งขึ้น) แต่อีกหลายประเทศยังเสื่อมทรุด (ขาอีกข้างหนึ่งของตัว K เหยียดลงไปอีกทิศทางหนึ่ง)

นิตยสาร The Economist ขึ้นปกเมื่อเร็วๆ นี้ทำนายว่าจะเกิดภาพของเศรษฐกิจในหลายประเทศที่พุ่งขึ้นอันเป็นการสะท้อนถึงความต้องการด้านการลงทุนและใช้จ่ายที่ “อั้น” มายาวนาน

หลายสำนึกบอกให้ย้อนกลับไปศึกษาจากประวัติศาสตร์หลังการสิ้นสุดของการระบาดของหวัด Spanish Flu ในปี 1918-1920

พอโรคระบาดหยุดลงในช่วงนั้น เศรษฐกิจโลกก็เฟื่องฟูอย่างเห็นได้ชัด

ประวัติศาสตร์บอกเราว่าในช่วงที่มนุษย์เผชิญกับแรงกดดันอย่างรุนแรงในภาวะวิกฤตนั้นพฤติกรรมเป็นเช่นไร

และเมื่อเศรษฐกิจกลับมาสู้สภาพปกติ พฤติกรรมปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใด

ข้อมูลชี้ว่าในช่วงเวลาที่ผู้คนในประเทศต่างๆ เจอกับภัยพิบัติยืดเยื้อเช่นโรคระบาดนั้นส่วนใหญ่จะเก็บหอมรอบริบ หยุดการใช้จ่าย

หลักฐานประวัติศาสตร์ยืนยันตรงกันว่าทั้งสหรัฐและอังกฤษมีเงินออมเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวระว่างเกิดโรคระบาด Spanish Flu

สถิติของสหรัฐเองตอกย้ำว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า post-war boom หรือ “เฟื่องฟูหลังสงคราม”

 

การเด้งกลับของเศรษฐกิจมีทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานคือ demand และ supply

ด้านดีมานด์ที่พุ่งขึ้นมาจากการที่คนทั่วโลกหยุดใช้จ่ายในช่วงระยะเวลาที่ต้องฟันฝ่าวิกฤต

เกิดอาการ “อั้น” การใช้สินค้าและบริการ รอจังหวะที่มีความรู้สึกว่าชีวิตกลับมาสู่ภาวะปกติ

อีกด้านหนึ่งคือด้านซัพพลาย

นั่นหมายถึงรูปแบบและกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ

ประวัติศาสตร์ช่วงที่อังกฤษเจอกับวิกฤตโรคระบาดไข้ทรพิษที่เรียกว่า Black Death เมื่อกว่า 200 ปีและ Spanish Flu เมื่อกว่าร้อยปีมาแล้วล้วนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ ในด้านการผลิตทั้งสิ้น

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตด้านเศรษฐกิจสิ่งที่จะตามมาเมื่อโลกพ้นจากความทุกข์เข็ญอันหนักหน่วงคือเศรษฐกิจที่คิดค้นสิ่งใหม่ๆ เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น

เพราะทุกครั้งที่เกิดวิกฤตมนุษย์จะคิดหาวิธีใหม่ๆ เพื่อจะป้องกันวิกฤตรอบใหม่

ในกระบวนการคิดและทบทวนความผิดพลาดของสังคมนั้นเองจะนำไปสู่การคิดค้นวิธีการสร้างเศรษฐกิจให้มีภูมิต้านทานใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน

หัวใจของการวางยุทธศาสตร์เพื่อสามารถ “ขี่คลื่น” ของการฟื้นตัวอย่างแรงของโลกในส่วนที่ฟื้นตัวนั้นคือการทำให้ระบบ “ห่วงโซ่อุปทาน” หรือ”supply chain” ของส่วนต่างๆ ของโลกกลับทำงานและตอบสนองความต้องการใหม่ที่ร้อนแรงกว่าเก่าให้ได้

พูดง่ายๆ ก็คือ หากผู้คนเริ่มใช้จ่าย สั่งสินค้าและบริการอย่างคึกคักเมื่อวิกฤตโควิดเริ่มคลายตัวหรือคนจากหลายประเทศเริ่มเดินทางตามปกติระบบการขนส่งของโลกจะกลับมารับใช้ความต้องการที่พุ่งพรวดพราดขึ้นมาได้อย่างมีประสิทธิภาพดีกว่าเดิมได้อย่างไร

แทนที่จะวางแผนสำหรับการขนส่งระดับโลก ต้องปรับแผนสำหรับภูมิภาคและสร้างความแข็งแกร่งของเครือข่าย logistics บริเวณรอบๆ บ้านให้ตอบโจทย์ใหม่

หลายประเทศเริ่มกังวลกับอัตราเงินเฟ้อที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างสูงและขนาดของผลผลิตมวลรวมหรือ GDP ที่หดตัวลง

แต่นั่นจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น

หลายสำนักเชื่อว่าโควิด-19 ทำให้เกิด “คอขวดแห่งห่วงโซ่อุปทาน” ชั่วคราว

แต่หากแนวโน้มของการบริหารโควิด-19 ในสหรัฐและยุโรปเป็นไปในทางบวกอย่างที่เห็นวันนี้ ปีหน้าจะเป็นปีที่ยืนยันว่า “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” ที่เห็นอยู่วันนี้จะเป็นแสงจริง มิใช่เพียงแสงจากหิ่งห้อยตัวน้อยๆ ที่หลอกตาเราเท่านั้น

 

แต่กลับมามองดูสถานการณ์ในบ้านเราและอีกหลายๆ ประเทศ ฉากทัศน์ด้านเศรษฐกิจดูจะยังมัวซัวและมีความไม่แน่นอนสูงเหลือเกิน

ขณะที่โลกตะวันตก (และจีน) กำลังพูดถึงเศรษฐกิจที่กำลังจะฟื้นค่อนข้างแรง แต่ในบ้านเรากลับมีความกังวลในการเตรียมการสำหรับ “การระบาดระลอก 4 และ 5”

เป็นภาพย้อนแย้งที่อธิบายได้ด้วยความแตกต่างในยุทธศาสตร์ของการต่อสู้กับโควิด

ประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐและยุโรปพลาดท่าเสียทีในการทำศึกกับโควิดในรอบแรกเพราะความประมาทและแนวทางของผู้นำทางการเมืองที่ไม่คุ้นชินกับการต้องล็อกดาวน์และเรียกร้องให้ประชาชนมีวินัย

การใส่หน้ากาก, ล้างมือและรักษาระยะห่างมิใช่อุปนิสัยปกติของผู้คนในโลกที่เรียกตัวเองว่าเป็นเสรีนิยม

แต่เมื่อเจ้าไวรัสอาละวาดด้วยพลังการทำลายที่คาดไม่ถึง ความยโสโอหังของตะวันตกก็พลิกกลับเป็นการทุ่มเทแสวงหาวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนส่วนใหญ่

สหรัฐเป็นตัวอย่างของการพลิกสถานการณ์กลับเมื่อผู้นำเปลี่ยนจากโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นโจ ไบเดน

จากวิธีการของผู้หยิ่งผยองมาเป็นการยอมรับว่านี่เป็นศึกสงครามที่ต้องมีผู้บัญชาการรบที่ชัดเจนและเด็ดขาด สามารถจะน้าวโน้มให้คนส่วนใหญ่ของประเทศหันมาฉีดวัคซีนกันอย่างเร่งรีบ

อีกขั้วการเมืองคือจีนที่ใช้วินัยด้านสังคมและการระดมสรรพกำลังด้านการแพทย์อย่างแข็งขันเพราะ “อู่ฮั่น” เป็นจุดเริ่มต้นของการระบาด

สองขั้วการเมืองลุกขึ้นสู้ด้วยกลยุทธ์ที่ละม้ายกันเพราะใช้วิทยาศาสตร์วิเคราะห์ศัตรูตรงกัน

ได้ข้อสรุปว่าแม้จะฆ่าไวรัสตัวนี้ให้สูญหายไปจากโลกไม่ได้ แต่ก็ต้องหาวิธีที่จะ “อยู่ร่วมโลก” โดยที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องถูกทำลายล้างหายไปทั้งหมด

 

ประเทศที่อยู่ตรงกลางๆ ส่วนใหญ่ของโลกตกอยู่ในสภาวะเก้ๆ กังๆ ด้วยเหตุของความประมาทหรือความขัดสนในทรัพยากร

จึงตกอยู่ในสภาพที่ต้องทำสงครามยืดเยื้อกับไวรัสตัวนี้โดยยังมองไม่เห็น “วันสงบศึก” ในเร็ววัน

แต่กระนั้น โลกฝั่งที่พ้นน้ำก็ไม่อาจจะอยู่ตลอดรอดฝั่งได้หากไม่ช่วยผู้คนจากอีกซีกโลกที่ยังดิ้นรนให้จมูกอยู่เหนือน้ำ

เพราะไม่มีใครไม่ตระหนักในสัจธรรมวันนี้ว่า

No one is safe until everyone is safe

ไม่มีใครรอดได้หากทุกคนไม่รอด

ก่อนจะได้สัมผัสกับ post-pandemic boom หรือเศรษฐกิจที่จะกลับมาบูมในระดับโลกได้ โลกทั้งใบต้องได้กลับมาหายใจเป็นปกติเสียก่อน

เหมือนมองไปข้างหน้าเห็นท้องฟ้าสดใส แต่ก่อนจะถึงฝั่งข้างโน้นยังต้องลุยโคลนหนักๆ กันอีกหลายยกทีเดียว