จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (8) ไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดน (ต่อ)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (8)

ไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดน (ต่อ)

 

แต่ในศตวรรษเดียวกันนี้ ถังได้มีคำสั่งให้ชนชาติทูเจี๋ว์ยหรือเติร์กตะวันออกที่ยอมจำนนต่อถังอพยพประชากรราว 100,000 คนไปยังแถบออร์ดอส (Ordos) หลังจากนั้นก็อพยพส่วนที่เหลือของชนชาตินี้มายังที่เดิมนี้และภาคเหนือของมณฑลซันซี

การอพยพดังกล่าวมีทังกุตและถู่อี้ว์หุนร่วมทางไปด้วย

กล่าวเฉพาะทังกุตแล้วยังมีการอพยพอีกครั้งหนึ่งใน ค.ศ.692 คราวนี้เป็นประชากรกว่า 200,000 คนโดยอพยพไปยังภาคใต้ของออร์ดอส

เรื่องราวหลังจากนั้นของทังกุตมักเป็นเรื่องที่ถูกคุกคามจากทิเบตอยู่เป็นระยะ ตราบจนปลายศตวรรษที่ 8 การคุกคามที่ว่าทำให้ทังกุตต้องร้องขอความช่วยเหลือจากถัง ซึ่งก็ได้รับการตอบสนองอย่างดี โดยถังช่วยให้ทังกุตได้เคลื่อนย้ายไปยังเมืองเซี่ย (เซี่ยโจว) เมืองนี้ตั้งอยู่ใกล้ทะเลทรายซึ่งไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย แต่เพื่อหนีการคุกคามของทิเบตจึงต้องจำยอม

ทังกุตดำเนินชีวิตในถิ่นฐานนี้ด้วยการล่าสัตว์ เลี้ยงสัตว์ ไปจนถึงทำปศุสัตว์ ที่ทำกันไม่มากนักก็คือ การเกษตร และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับที่ถังให้ความคุ้มครองจากการถูกข่มเหงโดยชนชาติอื่น ทังกุตได้เคยช่วยถังทำศึกกับกบฏฮว๋างเฉาในทศวรรษ 870 และ 880

ความชอบนี้เองที่ทำให้ผู้นำทังกุตได้รับอนุญาตจากถังให้ใช้สกุลหลี่ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองเมืองเซี่ย จากนั้นทังกุตก็ยินดีกับฐานะเช่นนี้ของตน และมีอิสระทางการเมืองมาอีกยาวนานใต้ร่มเงาของถังที่ตนยอมขึ้นต่อ

นับแต่นั้นมาทังกุตมีผู้นำที่ใช้สกุลหลี่อีกหลายคนก่อนที่จะผงาดขึ้นมาท้าทายจีน

 

หลังจากที่ถังล่มสลายลงแล้วเข้าสู่ยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐนั้น ฐานะของทังกุตไม่สู้จะแน่นอนนัก บางครั้งก็เป็นแนวร่วมของบางราชวงศ์บางรัฐในยุคนี้ บางคราก็ตกเป็นเบี้ยล่างของราชวงศ์หรือรัฐเหล่านั้น บางทีก็มีความขัดแย้งกันภายใน

แต่กล่าวโดยรวมแล้วทังกุตสามารถยืนอยู่ได้ภายใต้ผู้นำที่ใช้สกุลหลี่มาอย่างต่อเนื่อง

ตราบจนสิ้นยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐโดยมีราชวงศ์ซ่งเข้ามาแทนที่แล้วนั้น ทังกุตจึงเริ่มมีผู้นำที่มีความสามารถ ตอนนั้นเป็นช่วงต้นราชวงศ์ซ่ง และซ่งเองก็ตระหนักดีถึงอำนาจทางการทหารของทังกุตเช่นกัน

เวลานั้นผู้นำของทังกุตคือ หลี่อี๋ซิ่ง หรือที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า หลี่อี๋อิน (มรณะ ค.ศ.967) ได้ก้าวขึ้นมามีอำนาจขณะอยู่ในวัย 22 และกำลังสร้างความเป็นปึกแผ่นอยู่ที่ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ด้วยเหตุนี้ ซ่งซึ่งมีคีตันเป็นศัตรูที่อันตรายกว่าจึงปกป้องผลประโยชน์ของตนด้วยการผูกไมตรีกับทังกุต

ไมตรีนี้จึงทำให้ซ่งมีความสัมพันธ์กับทังกุตอย่างสันติ โดยเมื่อหลี่อี๋ซิ่งสิ้นชีพไปแล้วซ่งก็แต่งตั้งให้เขาเป็นกษัตริย์แห่งรัฐเซี่ย (King of Xia)

แต่ท่าทีที่ดูเหมือนยกย่องให้เกียรติทังกุตได้รู้สึกว่ารัฐของตนมีความอิสระนั้น แท้จริงแล้วได้แฝงไว้ด้วยเงื่อนงำที่จะให้ทังกุตขึ้นต่อรัฐจีน ไม่ต่างกับที่ซ่งพยายามกดดันจักรพรรดิของเหลียวให้จำยอมเป็นรัฐรองบ่อนของตน แต่ภาวะเช่นนี้ก็มิได้ดำรงอยู่ได้โดยตลอดเมื่อมาถึงจุดที่ทังกุตรู้เท่าทันจีน

และแล้วช่วงแห่งความยุ่งยากก็เกิดขึ้น

 

กล่าวคือ ใน ค.ศ.982 คณะทูตของทังกุตในราชสำนักซ่งที่หลงไหลชีวิตในเมืองแบบจีนนั้น ได้เสนอผู้นำของตนให้ยกเมืองสี่เมืองที่ตั้งอยู่ในภาคกลางของทังกุต (ปัจจุบันเมืองทั้งสี่นี้อยู่ในมณฑลซันซี) ให้แก่จีน เพื่อแลกกับการให้ซ่งตั้งพวกตนให้มีตำแหน่งและสนับสนุนให้ได้ใช้ชีวิตแบบจีน

เมื่อข้อเสนอนี้ไปถึงทังกุตก็ปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่ของทังกุตไม่ยอมรับข้อเสนอที่น่าอับอายนี้ เพราะเมืองทั้งสี่นี้เป็นแผ่นดินที่ตนได้อาศัยอยู่กินมานานกว่า 300 ปีแล้ว

เมื่อไม่ยอมรับเช่นนี้ ความกระด้างกระเดื่องก็เกิดขึ้นและตามมาด้วยการกบฏภายใต้การนำของหลี่จี้เชียน (ค.ศ.963-1004) ผู้มีทักษะในการสู้รบสูง หลี่จี้เชียนได้นำกำลังทหารราว 20,000 นายทั้งก่อความไม่สงบและทั้งยั่วยุขึ้นมา

แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก เพราะทัพของซ่งได้แต่คอยตรึงกำลังไว้ตลอดแนวชายแดนเท่านั้น ไม่มีการตอบโต้กลับแต่อย่างไร

แต่กระนั้น ค.ศ.982 กลับเป็นปีที่ถูกกำหนดให้เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกระหว่างจีนกับทังกุต ก่อนที่จะหยุดชะงักลงใน ค.ศ.1004 โดยที่ทังกุตยังมิอาจตั้งตนเป็นใหญ่ได้

 

เส้นทางสู่อิสรภาพของทังกุตนับแต่ ค.ศ.982 ได้เดินมาถึงช่วงสำคัญใน ค.ศ.986 เมื่อซ่งล้มเหลวในการบุกเข้าตีชายแดนของเหลียวแห่งคีตัน จากเหตุนี้ ได้ทำให้หลี่จี้เชียนเสนอตนขึ้นต่อเหลียว การครั้งนี้มิได้ถูกขัดขวางจากทังกุตกลุ่มอื่นที่กำลังเจรจาสันติภาพกับซ่ง

แต่ความสัมพันธ์กับเหลียวในลักษณ์ดังกล่าวไม่สู้จะราบรื่นมากนัก เมื่อมันกลับกลายเป็นความไม่ลงรอยของทั้งสองฝ่าย

ถึงกระนั้น ใน ค.ศ.989 หลี่จี้เชียนได้แต่งงานกับเจ้าหญิงของเหลียว และได้รับการแต่งตั้งจากจักรพรรดิเหลียวให้เป็นกษัตริย์แห่งรัฐเซี่ย จากนั้นเหลียวยังยกพื้นที่ชายแดนด้านตะวันตกกับด้านเหนือ (ปัจจุบันคือระเบียงกันซู่กับมองโกเลียใน) ให้แก่ทังกุตอีกด้วย

จากเหตุนี้ ตลอดห้วงสองทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 10 ฐานะของทังกุตจึงดำรงอยู่โดยด้านหนึ่งขึ้นต่อเหลียว อีกด้านหนึ่งขึ้นต่อซ่ง อันเป็นลักษณะสามเส้าทางอำนาจ ที่จะนำความยุ่งยากมาให้แก่ทังกุตเอง

กล่าวคือ พอขึ้นสหัสวรรษใหม่ปัญหาอำนาจสามเส้าก็เกิดขึ้น โดยใน ค.ศ.1004 ผู้นำทังกุตคนต่อมาได้รับการรับรองจากเหลียว พอถึง ค.ศ.1006 ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหาร อีกทั้งยังรับพระราชทานเงินตรา ชา ผ้าไหม และเสื้อหนาวจากจักรพรรดิซ่งอีกด้วย

ครั้นถึง ค.ศ.1028 ซ่งก็ให้ทังกุตได้ควบคุมเส้นทางการค้าชายแดนที่สำคัญ และทำให้เศรษฐกิจทังกุตดีวันดีคืน จนกลายเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่ทำให้ทังกุตตั้งราชวงศ์ขึ้นได้ใน ค.ศ.1038

โดยผู้นำที่มีบทบาทสำคัญในการตั้งราชวงศ์คือ หลี่หยวนเฮ่า

 

หลี่หยวนเฮ่า (ค.ศ.1003-1048) เป็นบุตรผู้นำทังกุต เขาจึงได้รับการศึกษาที่ดีตั้งแต่วัยเด็ก เขาได้ศึกษาตำราจีนและทิเบตที่ว่าด้วยศาสนาพุทธ กฎหมาย โหราศาสตร์ และพิชัยสงคราม

ครั้นก้าวขึ้นสู่อำนาจใน ค.ศ.1032 จึงได้ปฏิรูปการเมือง สังคม และวัฒนธรรมเพื่อสร้างทังกุตให้เจริญและเข้มแข็ง การปฏิรูปของเขาจะมีความโดดเด่นอยู่ตรงการชูอัตลักษณ์ของทังกุตเอาไว้ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จด้วยดี โดยเห็นได้จากที่ราชสำนักซ่งให้การยอมรับเขาทัดเทียมกับผู้นำคีตัน

กระนั้น การตั้งตนเป็นใหญ่ของหลี่หยวนเฮ่ายังคงมาจากการทุ่มเทให้กับการศึกที่มีกับซ่งระหว่าง ค.ศ.1039-1044 จนชัยชนะที่ได้รับในบางพื้นที่ในช่วงนั้นทำให้ทังกุตตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นมาได้ ครั้นตั้งตนได้แล้วเขาก็ละทิ้งการรวมศูนย์อำนาจในมือลง และเริ่มกระจายอำนาจให้แก่ชาวทังกุต

การทั้งนี้จึงไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า หลี่หยวนเฮ่าได้กลายเป็นผู้นำที่ปรีชาชาญและมีความใฝ่ฝันอันสูงส่ง ว่าจะนำพาทังกุตให้รอดพ้นไปได้ด้วยโครงสร้างการปกครองที่ดี และทำให้เขากลายเป็นผู้นำที่ประทับอยู่ในใจของมหาชนทังกุต

จากเหตุนี้ หลี่หยวนเฮ่าจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำที่เหนือกว่าผู้นำซีเซี่ยทุกคนในเวลาต่อมา ซึ่งผลงานของเขาจะเป็นข้อพิสูจน์ที่ดี

 

ผลงานของหลี่หยวนเฮ่าเมื่อครั้งที่เป็นผู้นำใหม่ๆ ในช่วงก่อน ค.ศ.1038 มักจะไม่ค่อยถูกกล่าวถึงจากนักประวัติศาสตร์มากนัก ทั้งๆ ที่ผลงานหลายอย่างหลายประการของเขามีความโดดเด่นอยู่ไม่น้อย

อย่างแรกสุด เขาได้เปลี่ยนชื่อสกุลหลี่ของเขามาเป็นชื่อสกุลเดิมคือ เหวยหมิง และทำให้บุคคลในสายตระกูลของเขาหันมาใช้ชื่อสกุลนี้กันถ้วนหน้า จากนั้นก็ตั้งตนในตำแหน่งที่เรียกกันในภาษาทังกุตว่า อู้จู๋ อันเป็นตำแหน่งที่เสมอด้วยจักรพรรดิหรือคากาน

ประการต่อมา เขายังได้ปรับเปลี่ยนตำแหน่งต่างๆ ที่ระบอบซ่งได้สร้างขึ้นมาให้เป็นอย่างเซี่ยอีกด้วย จากนั้นไม่นานทุกสิ่งอย่างที่เคยเป็นจีนก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นทังกุต อันเท่ากับประกาศว่าทังกุตมีความเท่าเทียมกับจีน

การเปลี่ยนแปลงที่ว่ามีตั้งแต่การบังคับให้ชายทังกุตโกนศีรษะ หากใครฝ่าฝืนจะมีโทษถึงประหาร หรือการบังคับใช้เครื่องแต่งกายที่มีแบบเฉพาะของพลเรือนกับทหาร เป็นต้น