ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 กรกฎาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
รายงานพิเศษ
อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
จะนะโมเดล
อีกตัวอย่างการจัดการโควิด
ระหว่างหมอกับกับชุมชนผ่านผู้นำศาสนา
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
ด้วยสถานการณ์โควิดจะนะน่าจะหนักที่สุดในจังหวัดสงขลาหากคิดเฉลี่ยกับจำนวนประชากร
แต่ด้วยทุนทางสังคมที่สูงระหว่างผู้นำทางการแพทย์อย่าง นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ กับผู้นำศาสนา ที่เป็นทั้งผู้นำชุมชนและสถาบันสอนศาสนาทำให้ง่ายขึ้นที่จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตโควิดในชุมชน
และสามารถถอดบทเรียนให้ที่อื่นได้ไปปรับใช้
โควิดจะนะวิกฤต
ในขณะจังหวัดสงขลาที่มีสถิติ 1/5 ของประเทศ
วิกฤตโควิดสงขลาที่รัฐบาลประยุทธ์ต้องประกาศล็อกดาวน์ 1 เดือนเต็ม น่าจะสะท้อนความรุนแรงของสถานการณ์ได้ดี
ก่อนประกาศวันนั้นของรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลานำทุกภาคส่วน จัดเสวนา “รวมมิตรพิชิตโควิดสู้ไปด้วยกัน ชนะไปด้วยกัน” 26 มิถุนายน 2564 ณ อบจ.สงขลา ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
– ศบค.จะยกระดับพื้นที่สถานการณ์ให้ จ.สงขลาเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดเและเข้มงวด ต้องดำเนินการตามมาตรการอย่างเข้มงวด ตามที่ ศบค.กำหนด ต้องมีการล็อกดาวน์พื้นที่ ต้องขยายโรงพยาบาลสนาม ขณะนี้สงขลามีโรงพยาบาลสนาม 8 แห่ง ซึ่งในการดำเนินการควบคุมป้องกันโรค ต้องประเมินสถานการณ์ในแต่ละชุมชน และให้ชุมชน หมู่บ้านมีระบบการคัดกรองอย่างเข้มงวด มีด่านชุมชน เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งในการให้ประชาชนถือปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ในส่วนโรงงานให้มี LQ ของโรงงานให้พนักงาน เพื่อกักตัว กรณีมีการสัมผัสเสี่ยงสูง ตามศักยภาพของโรงงาน (วันที่ 26 มิถุนายน สงขลามีผู้ติดเชื้อ 216 ราย)
– อปท.ที่สั่งจองวัดซีนไปที่สถาบันราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้ว 3 แห่ง ซึ่งจังหวัดเห็นชอบแล้ว คือ อบจ.สงขลา 50,000 โดส ทน.นครหาดใหญ่ 50,000 โดส ทม.คลองแห 7,000 โดส
การจัดโรงพยาบาลสนาม จังหวัดต้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนมากกว่านี้ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนว่ามีการตั้งโรงพยาบาลสนาม และไม่ควรตั้งในชุมชน
ในส่วนของอำเภอจะนะ เพจทางการของโรงพยาบาลจะนะ (วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน 2564 )ระบุว่า “การระบาดของโรคโควิดในอำเภอจะนะหนักมาก”
โรงพยาบาลจะนะได้เพิ่มเตียงผู้ป่วยโควิดจากเดิมที่มี 40 เตียง จนบัดนี้สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 140 คน เต็มศักยภาพและแน่นเหมือนปลากระป๋องแล้ว
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้ป่วยตกค้างในชุมชนอีกจำนวนพอสมควร การตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับการดูแลผู้ป่วย จึงเป็นคำตอบที่สำคัญ
ผู้ป่วยที่มีเชื้อโควิคทุกคนควรต้องได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล อย่างน้อยก็โรงพยาบาลสนามหรือศูนย์กักชุมชน เพื่อการดูแลไม่ให้ป่วยหนัก และเพื่อความมั่นใจว่าจะไม่แพร่โรคเพิ่มเติม
ทางโรงพยาบาลจะนะได้ประมาณการว่า เราต้องมีเตียงโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมอย่างน้อย 500 เตียงจึงจะเอาอยู่
เป้าหมายคือใน 1 เดือนต้องลดการระบาดให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มาอยู่ที่หลักหน่วยต่อวันให้จงได้ ขอให้ทุกท่านได้ร่วมด้วยช่วยกัน จะนะจะชนะด้วยความร่วมมือของทุกคน
หมอกับโต๊ะครู (ผู้นำศาสนา)
ในภารกิจ “พิชิตโควิด” จะนะ
แต่สุดท้ายก็ต้องพึ่งวัคซีน
ด้วยสถานการณ์โควิดจะนะ นับวันตัวเลขยิ่งเพิ่มขึ้นในหลายชุมชนในอำเภอจะนะ แต่เป็นที่หน้ายินดีว่าทุนทางสังคมเดิมในอำเภอจะนะมีอยู่แล้ว โดยเฉพาะการทำงานร่วมระหว่าง นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ กับผู้นำศาสนาในชุมชน จะเรียกว่าโต๊ะครูหรือบาบอ เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จึงเป็นการง่ายที่โรงพยาบาลจะนะ หากจำเป็นต้องเปิดโรงพยาบาลสนามและศูนย์กักชุมชน CIC ในขณะเดียวกันชุมนุมใดมีความเข้มแข็ง ชุมชนนั้นจะดูแลกันเอง เพียงแต่โรงพยาบาลหนุนในเรื่องแพทย์ พยาบาล และอุปกรณ์สาธารณสุข
ปัจจุบันอำเภอจะนะมีการเปิดศูนย์กักชุมชน CIC 2 แห่ง โดยความสมัครใจของชุมชน คือ โรงเรียนตาดีกามัสยิดโคกเค็ต
สอง ศูนย์กักชุมชน CIC โรงเรียนรุ่งโรจน์วิทยา ซึ่ง นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ได้สะท้อนว่า เมื่อเตียงโควิดโรงพยาบาลจะนะล้น โรงเรียนรุ่งโรจน์ลุกขึ้นมาจัดการตนเอง
โรงเรียนรุ่งโรจน์วิทยา ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านนา หมู่บ้านข้างๆ คือหมู่ 6 โควิดระบาดหนักมาก จากการตรวจกลุ่มเสี่ยงในชุมชน พบครูติดเชื้อ 5 คน จนนำมาสู่ active management โดยทีมงานของโรงเรียนเอง
บาบอดิง นัสรูดิน กะจิ ผู้บริหารโรงเรียนได้ประสานมาที่โรงพยาบาลเพื่อให้มาตรวจ swab ครู 100% ทำ swab นั้นไม่ยาก โรงพยาบาลทำให้ได้ สิ่งที่ยากคือ หากพบเชื้อโควิดแล้วจะนอนกักตัวรักษาที่ไหน นี่คือจุดตายในสถานการณ์ที่โรงพยาบาลมีผู้ป่วยล้นเตียง
คำตอบสั้นและชัด บาบอดิงยืนยันว่าโรงเรียนจะรับครูไว้พักกักที่โรงเรียน ขอแค่หมอ พยาบาลออกมาดูแล อย่างอื่น เช่น อาหาร ที่พัก ทางโรงเรียนดูแลให้หมด
เมื่อแนวทางการดูแลชัด การทำสวอปก็เริ่มต้นไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน พบครูมีการติดเชื้อ 33 คน ทุกคนได้นอนกักตัวที่โรงเรียนนับตั้งแต่วันที่ตรวจพบเป็นต้นมา เพื่อไม่ให้กลับไประบาดในชุมชน เมื่อครบ 14 วัน ทุกคนจะได้กลับบ้าน
ในขณะที่บ้านปากบาง หมู่ที่ 4 ตำบลสะกอม ภายใต้การนำของครูศาสนาสองท่านคือ กอเฉม สาอุ และนาซอรี หว่าหลำ รวมกับชาวบ้านทุกภาคส่วนจัดการโควิดตามมาตรฐานสาธารณสุข ความปลอดภัยในชุมชนที่หลังจากคนในชุมชนติดโควิดและยังเปิดโรงครัวย่อยเลี้ยงคนในชุมชนตนเอง ซึ่งก่อนหน้านี้ตลอดหนึ่งปีอาสาส่งอาหารคนติดโควิด เช่น คลองเตย กทม. หาดใหญ่ สงขลา เกาะสะท้อนนราธิวาส
ดังนั้น โมเดลชุมชน และโรงเรียนสอนศาสนาเอกชนที่มีบุคลากรจำนวนมากสามารถเป็นแบบอย่างในชุมชนอื่นและสถานประกอบการอื่นๆ
แต่ชุมชนนั้น ผู้นำโรงเรียนนั้น หรือสถานประกอบการนั้นต้องเข้มแข็งพร้อมรับภาระหลังจากเปิดไปแล้ว
โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า “โรงพยาบาลจะนะต้องขอชื่นชมทีมโรงเรียนรุ่งโรจน์อย่างมาก ที่ช่วยประคองความวิกฤตเตียงล้น ด้วยการแบกรับภาระในการดูแลบุคลากรของตนเองร่วมกับทีมโรงพยาบาล นี่คือความรับผิดชอบทางสังคมที่น่าเคารพยิ่ง นี่คืออีกรูปแบบการสู้ภัยโควิด Organization Isolation Center (OIC) หรือศูนย์กักระดับองค์กร”
นอกจากนี้ โรงพยาบาลจะนะได้เปิดโรงพยาบาลสนามแล้ว 1 แห่ง แต่ไม่เพียงพอ บาบอฮุสณี บินหะยีคอเนาะ เป็นทั้งผู้รู้ศาสนาและผู้บริหารโรงเรียนศาสนบำรุง (โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา) จึงยื่นความจำนงอาสาช่วยโรงพยาบาล แต่ด้วยโรงเรียนนี้อยู่ในชุมชนตลาดจะนะจึงทำให้บางส่วนออกมาคัดค้าน อย่างไรก็แล้วแต่ ด้วยความเป็นผู้นำทางการแพทย์ของ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ และผู้นำศาสนาของบาบอฮุสณี บินหะยีคอเนาะ สามารถสร้างความเข้าใจต่อคนพุทธที่อยู่รอบโรงเรียนและได้รับการสรรเสริญจากโลกโซเชียลเกินคาด
โดยบาบอฮุสณี บินหะยีคอเนาะ กล่าวว่า “ขอชื่นชมและขอบคุณอย่างสูงพี่น้องพุทธที่ออกมาสนับสนุนให้โรงเรียนศาสนบำรุงตั้งโรงพยาบาลสนามในครั้งนี้”
อย่างไรก็แล้วแต่ การแก้ปัญหาโควิดอย่างยั่งยืนอยู่ที่รัฐสามารถบริการจัดการให้ประชาชนได้ฉีดวัคซีนทุกคนได้หรือไม่ เพราะมิฉะนั้นปัญหาก็จะวนเวียนเปิดโรงพยาบาลสนามไม่สิ้นสุด อันจะนำไปสู่ระบบทางสาธารณสุขล้มดังที่ นพ.สุภัทรสัมภาษณ์ว่าวัคซีนต้องมีให้ฉีดเดือนละ 15 ล้านโดส ประเทศไทยจึงจะรอด ความสามารถในการฉีดวัคซีนของบุคลากรทางการแพทย์ทั้งรัฐและเอกชนรวมๆ แล้วไม่น้อยกว่า 5 แสนโดสต่อวัน เราทุกคนพร้อมลุยงานหนักสลับมาฉีดวัคซีนให้ได้ทุกวันไม่มีวันหยุด เพื่อให้ถึงเป้าที่ 15 ล้านโดสต่อเดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้
แต่ปัญหาคือมีวัคซีนให้ฉีดน้อยเหลือเกิน ชมรมแพทย์ชนบทได้คุยกันอย่างหนัก วัคซีนก็เสมือนเสื้อเกราะ ใครๆ ก็อยากได้เสื้อเกราะหนาๆ อย่างดี เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา แต่กว่าจะได้มาก็ตุลาคม เราเคยนึกว่าเราจะมีเสื้อเกราะเกรดปานกลางคือแอสตร้าเซนเนก้าอย่างเพียงพอ แต่ก็ไม่จริงเสียแล้ว
แต่ที่แน่ๆ เราสามารถซื้อเสื้อเกราะเกรดบางอย่างซิโนแวค ซิโนฟาร์มได้ไม่อั้น ขอให้มีเงินจ่ายก็พอ เกราะบางนี้ก็พอไหวแม้จะป้องกันการติดเชื้อได้ไม่ดีเท่า แต่ก็ลดการป่วยหนักและลดการตายลงได้
ที่แย่ก็คือซิโนแวคอย่างบางนี้ราคาแพงหูฉี่ แพงพอๆ กับเสื้อเกราะอย่างหนานี่สิ แต่ดูเหมือนเราแทบจะไม่มีทางเลือก จะยอมใส่เกราะบางๆ หรือจะสู้โควิดแบบไม่มีเสื้อเกราะให้ใส่
…บัดนี้เราคงต้องทำใจว่า “มันสายเกินไปแล้วสำหรับคนไทยที่จะสามารถเลือกวัคซีนได้” เกราะจะบางหรือปานกลางก็ต้องแย่งฉวยใส่กันป่วยกันตายไปก่อน
วัคซิเนชั่นและวิกตอรี่ที่แท้จริง ต้องฉีดวัคซีนเดือนละไม่ต่ำกว่า 15 ล้านโดส โดยต้องพยายามให้เป็นซิโนแวคให้น้อยที่สุด นี่คือทางรอดเดียวที่เหลืออยู่
รัฐบาลประยุทธ์จะผลักดันให้เป็นจริงได้ไหม
ถ้าทำไม่ได้ก็ควรจะพิจารณาตนเองลาออกไป