ลับ ลวง หลอก…ไปทุกเรื่อง ตั้งแต่…การเมือง ถึงวัคซีน (1)/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

ลับ ลวง หลอก…ไปทุกเรื่อง

ตั้งแต่…การเมือง ถึงวัคซีน (1)

 

การได้มาซึ่งอำนาจและการรักษาอำนาจของกลุ่มคณะรัฐประหาร คสช.ที่อยู่มาได้ยาวนานถึง 7 ปี นับว่ามีฝีมือไม่ธรรมดา

แต่จนถึงวันนี้ก็รู้ว่านั่นไม่ใช่ฝีมือการบริหารประเทศ แต่เป็นฝีมือในการแย่งยึดอำนาจและพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อสืบทอดอำนาจให้ยาวนานที่สุด

ดังนั้น ไม่ต้องไปพูดถึงสัจจะ คุณธรรม หลักประชาธิปไตย นิติรัฐ ความยุติธรรม แม้แต่การมองเห็นคุณค่าของเสรีภาพและชีวิตของผู้คน

พวกเขาได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ยึดอำนาจมาตั้งแต่ 2549 แล้ว จึงมีบทเรียนพอสมควรในการทำรัฐประหาร 2557 และสืบทอดอำนาจต่อมา สิ่งที่คนเหล่านี้พูดกับการกระทำ จึงอาจตรงข้ามก็ได้

เพราะนี่คือเกมลับ ลวง หลอก ต้องจับตาดูการหลอกครั้งต่อไป

แม้จะพูดออกข่าวไปทั่วประเทศและหรือทั่วโลกก็ไม่อาจถือเป็นคำมั่นสัญญาใดๆ ได้ การจะพิจารณาแนวทางทางการเมืองในอนาคตจึงจะต้องคิดอยู่เสมอว่าคนกลุ่มนี้มีแนวทางการเมืองแบบลับลวงหลอก ไม่ว่ากับใครทั้งสิ้น

ดังนั้น ในทุกเรื่องจะมีเล่ห์เหลี่ยมผลประโยชน์และการยอกย้อนทางอำนาจซ่อนอยู่เบื้องหลังเสมอเราสามารถย้อนดูจากอดีตจนถึงปัจจุบันได้…

 

1.หลอกว่า…ไม่รัฐประหาร

8 ธันวาคม 2556 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมายืนยันว่า ไม่ว่าเหตุการณ์การชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม กปปส.ในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 จะเป็นอย่างไร ทหารก็จะไม่ออกมาปฏิวัติ พร้อมกล่าวด้วยว่า “ถ้าทหารปฏิวัติรัฐประหารอีก แก้ปัญหาผิดทาง ปัญหาอื่นๆ ก็จะเกิดขึ้นอีก ประเทศไทยจะยืนอยู่ในสังคมโลกอย่างไร ทุกคนรักชาติแต่ไม่ยอมเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันอย่างสันติ”

24 กุมภาพันธ์ 2557 พล.อ.ประยุทธ์ได้อ่านแถลงการณ์ของกองทัพบกตอนหนึ่งว่า สิ่งที่กองทัพดำเนินการในเวลานี้จำเป็นต้องยึดถือกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยการจัดกำลังออกมาดูแลประชาชนในพื้นที่ที่มีการประกาศกฎหมายพิเศษเป็นจำนวนมากตลอด 24 ชั่วโมง หากเราดำเนินการไม่ถูกวิธี หรือใช้กำลังทหารเต็มรูปแบบ เราจะแน่ใจได้หรือว่า สถานการณ์จะยุติลงได้โดยสงบ (ไม่ทำอะไรก่อนและหลัง กปปส.ปิดล้อมและขัดขวางการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557)

ใครหลอกใช้ใคร

นักวิเคราะห์มองว่าถ้าทหารออกมาทำรัฐประหารช่วงปลายปี 2556 อำนาจอาจตกอยู่ในมือของ กปปส. และสุเทพ เทือกสุบรรณ 9 ธันวาคม 2556 กปปส.คิดตั้ง สภาประชาชนทำหน้าที่เป็นองค์กรนิติบัญญัติ จะมีสมาชิก 400 คน โดย 300 คนเป็นผู้แทนจากอาชีพต่างๆ และอีก 100 คนที่เหลือ กปปส.จะเลือกเอง

แต่เหตุการณ์ไม่เป็นแบบปี 2549 ทหารไม่ออกมาช่วงที่คนเยอะ ทำให้เมื่อปิดกรุงเทพฯ แล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น ม็อบ กปปส.ก็ค่อยๆ ฝ่อไป

4 เมษายน 2557 กปปส.คิดว่าทหารไม่ยุ่งแล้ว แต่จะใช้ตุลาการภิวัฒน์จัดการรัฐบาลรักษาการเร็วๆ นี้ สุเทพประกาศบนเวทีว่า กปปส.จะเป็นผู้มีอำนาจที่สุด และจะประกาศความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ได้อย่างเหมาะสม และคำสั่งของคนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ก็จะถือเป็นกฎหมาย…

9 เมษายน 2557 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ปราศรัยเรื่องรัฏฐาธิปัตย์ว่า “จุดยืนกองทัพในตอนนี้ คือไม่เข้าข้างคนทำผิดกฎหมาย”

7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากการรักษาการ เนื่องจากการย้ายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาฯ สมช. แต่ในช่วงบ่าย ที่ประชุม ครม.ได้มีมติให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี

10 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ได้ฝากข้อความผ่านทางรายการลับ ลวง พราง โดยยืนยันกองทัพตัองหนักแน่น จะทำตามใครเรียกร้องไม่ได้ ต้องใจเย็น ขอให้เชื่อมั่นในทหาร ซึ่งจะต้องเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประเทศชาติและประชาชน

14 พฤษภาคม กปปส.พยายามดิ้นเฮือกสุดท้าย นายสุเทพเลขาธิการ กปปส. กล่าวปราศรัยบนเวทีชุมนุมถนนราชดำเนินนอก “ถ้า 16 พฤษภาคม ประธานวุฒิสภาทำไม่ได้ (หาตัวนายกฯ คนกลางไม่ได้) วันที่ 17-18 พฤษภาคม คนอื่นไม่ทำ เราแสดงเอง จัดการเรียบร้อย วันที่ 19 พฤษภาคม เรียกข้าราชการมารายงานตัวต่อประชาชน ให้ปลัดกระทรวง อธิบดี ผวจ. ผบ.ตร. ผบ.เหล่าทัพทั้งหลายมารายงานตัวต่อประชาชน ผมไปจัดเตรียมที่ไว้แล้วที่ตึกสันติไมตรี…ขอส่งข่าวนี้ไปถึงบรรดาข้าราชการทั้งหลายให้ซักซ้อมไว้ได้เลย”

แต่ผลคือ ไม่มีนายกฯ คนกลาง จาก ส.ว. และก็ไม่มีใครมารายงานตัว

วันที่ 20 พฤษภาคม ฝ่ายทหารจึงอ้างสถานการณ์และประกาศกฎอัยการศึก จากนั้นก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ทั้งหมด

21-22 พฤษภาคม มีการเชิญ (หลอก) คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายมาร่วมประชุม และจัดการกักตัวไว้

วันที่ประกาศการรัฐประหารอย่างเปิดเผย คือเย็นวันที่ 22 พฤษภาคม

ที่สรุปอีกครั้ง เพื่อให้ทบทวนว่า คนฉลาดคนไหนบ้างที่ถูกหลอกให้เข้าร่วม จนทำให้ประเทศเป็นแบบนี้

 

2.หลอกว่าไม่นานจะเลือกตั้ง แต่หวังอยู่ยาว

หลังรัฐประหารพฤษภาคม 2557 ก็หลอกว่าขอเวลาไม่นาน ถ้าจะกำหนดวันเลือกตั้ง แบบขอเวลาไม่นานจริงๆ ก็คงใช้เวลาประมาณปีกว่าเท่านั้น หลังรัฐประหาร 2549 ก็ทำมาแล้ว

กำหนดวันเลือกตั้ง หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แจ้งว่าใช้เวลาประมาณ 1 ปี อาจจะมากหรือน้อยกว่าเล็กน้อย

หลังจากนั้นการเลื่อนก็เริ่มขึ้น แจ้งว่าน่าจะเป็นปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 แต่ต่อมาก็มีการโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ คนร่างรัฐธรรมนูญบอกว่า…เขาอยากอยู่ยาว…จึงเลื่อนต่อไปอีก เป็นประมาณกลางปี 2560 คำมั่นนี้ไปพูดที่สหประชาชาติ

หลังการลงประชามติ การเลือกตั้งก็ถูกเลื่อนออกมาเป็นปลายปี 2561 เมื่อตัวนายกฯ ได้ไปพูดขณะที่พบกับประธานาธิบดีสหรัฐโดยแจ้งว่าประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561

ตรงกับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ คนร่างรัฐธรรมนูญยืนยันว่าจะต้องเป็นปลายปี 2561 ยกเว้นจะเกิดสงครามโลก

วันนั้นไม่มีสงครามโลก ไม่มีใครตรวจสอบการโกง ช่องทางตามระบอบประชาธิปไตยไม่เปิด ใครมาแสดงออก มาตรวจสอบ จะถูกจับ

…กำหนดเดือนพฤศจิกายน 2561 เลื่อนออกไปเป็นมีนาคม 2562 ขาดอีก 2 เดือนก็ยึดอำนาจครบ 5 ปี ขอเวลาอีกไม่นาน…

 

3.หลอกเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อสืบทอดอำนาจ แถมแก้ไม่ได้

บอกว่ารับไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง แถมคำถามพ่วงเรื่องให้ ส.ว.ที่นายกฯ แต่งตั้งมาเลือกนายกฯ ใครค้านก็โดนจับ บอกว่าเป็นฉบับปราบโกง สุดท้ายโกงตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ หน้ากาก ถุงมือ เสาไฟ ถือเป็นยุคสมัยที่การโกงกระจายไปทั่วทุกวงการ

แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ร่างไว้ไม่ให้แก้ไขได้จริง

เพราะต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบในการแก้ไขไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของรัฐสภา (375) ตอนนี้ฝ่ายค้านในสภามีไม่ถึง 250 ต้องหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล หรือ ส.ว.ให้ได้อีก 130 เสียง แม้ ส.ส.จะช่วยกันหมดทั้ง 500 คนก็แก้ไขไม่ได้ เพราะมีเงื่อนไขว่า

ยังต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 84 เสียงจาก 250 เสียง แล้ว ส.ว.กี่คนจะยอมแก้เพื่อลดอำนาจตนเอง ถ้ามีถึง 10 คนก็เก่งแล้ว ล่าสุดผลการโหวต มีไม่ถึง 10 คนจริงๆ และข้อเสนอแก้ไขก็ถูกโหวตตกไป 12 ฉบับ รอดมาได้ 1 ฉบับ เพราะผู้มีอำนาจอยากแก้ระบบเลือกตั้งใหม่ให้ได้เปรียบ

เกมแก้รัฐธรรมนูญ 2560 คงไม่มีโอกาสแก้หลักการสำคัญ หรือแก้ทั้งฉบับผ่าน ส.ส.ร. เพราะนี่คือโครงสร้างหลักและกลไกที่ส่งเสริมอำมาตยาธิปไตยให้เหนือกว่าประชาธิปไตย โดยใช้การเลือกตั้งเป็นฉากแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านสภา เป็นการซื้อเวลา

เมื่อมีความได้เปรียบแบบนี้ ใครเล่าจะยอมปล่อยทิ้งไปง่ายๆ ทั้งอำนาจและเงินตอบแทน

 

4.คำสัญญาที่ให้ไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งก็หลอก

พรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนนำรัฐบาลประกาศนโยบายตอนหาเสียงหลายข้อ เช่น

นโยบายมารดาประชารัฐ แม่ท้อง รับเงินเดือนละ 3,000 บาท 9 เดือน 27,000 บาท ค่าคลอดบุตร 10,000 บาท ค่าเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 2,000 บาทจนถึงอายุ 6 ปี รวมแล้วมีลูก 1คน ได้ 181,000 บาท

เพิ่มค่าแรง ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท/วัน อาชีวะ เงินเดือน 18,000 บาท ปริญญาตรี เงินเดือน 20,000 บาท

– ประกันราคาสินค้าเกษตร

ข้าวเจ้า 12,000 บาทต่อตัน ข้าวหอมมะลิ 18,000 บาทต่อตัน ยางพารา 65 บาทต่อกิโลกรัม

อ้อย 1,000 บาทต่อตัน ปาล์ม 5 บาทต่อกิโลกรัม มันสำปะหลัง 3 บาทต่อกิโลกรัม

– ยกเว้นภาษีการค้าออนไลน์ 2 ปี ลดภาษีบุคคลธรรมดาทุกระดับขั้น ร้อยละ 10

– เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1,000 บาทต่อเดือน

– พักหนี้กองทุนหมู่บ้าน 4 ปี ตั้งกองทุนประชารัฐ หมู่บ้านละ 2 ล้านบาท

ตอนนั้นคนที่เลือกพลังประชารัฐ ฝันว่าจะรวยหน้าใสทั้งแผ่นดิน

(ต่อฉบับหน้า)