จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : สุดยอดทอง / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

 

 

สุดยอดทอง

 

“บทเห่ครวญ” ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร กวีสมัยอยุธยาเปรียบนางที่รักกับ ‘ทองนพมาศ’ แสดงถึงการยกย่องให้เกียรติว่านางนั้นสูงค่ากว่าสิ่งใด

“ได้น้องทองนพมาศ                          มาสังวาสพาดชมเชย

ร่วมเรือนเพื่อนพิงเขนย                      เคยวิงวอนอ่อนหวานคำ”

‘ทองนพมาศ’ มีความหมายเดียวกับ ‘ทองเนื้อเก้า’ ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในสมัยโบราณ บอกถึงคุณภาพและความบริสุทธิ์ของทองคำ แต่เดิมกำหนดราคาตามคุณภาพและปริมาณของเนื้อทองตั้งแต่เนื้อสี่ถึงเนื้อเก้า ทองเนื้อสี่คุณภาพต่ำสุด หมายถึง ทองคำหนัก 1 บาท เป็นเงิน 4 บาท ทองเนื้อเก้าคุณภาพสูงสุดคือ ทองคำหนัก 1 บาท เป็นเงิน 9 บาท

‘ทองบางสะพาน’ หรือ ‘ทองบางตะพาน’ เป็นสุดยอดทองคำเนื้อดีที่สุดในเมืองไทยและในโลก ทองที่นี่เรียกขานกันว่า ทองเนื้อเก้า ทองนพเก้า ทองนพมาศ ทองนพคุณ ทองชมพูนุท ทองเนื้อแท้ และทองธรรมชาติ เป็นทองคำบริสุทธิ์ 100% สีเหลืองสุกปลั่ง เนื้อทองอ่อน สามารถร่อนหาแร่ทองคำได้โดยไม่ต้องถลุง

มีมูลค่าซื้อ-ขายสูงกว่าทองทุกแห่งในเมืองไทย

 

ใน “เพลงยาวสามชาย” บทที่ 11 ของชายคนที่ 1 เปรียบสตรีที่หมายปองกับบ่อทองบางตะพาน สื่อความหมายไม่ต่างกับบทเห่ครวญข้างต้น

“อันบ่อบางตะพานน้อยนี้ลอยเลิศ            เป็นที่เกิดชมพูนุทเห็นสุดหา

ถึงร่อนได้ก็แต่ล้วนคู่ควรราคา                 จึงอุตส่าห์ลำบากพากเพียรกาย”

นายมี หรือ ‘หมื่นพรหมสมพัตสร’ เล่าถึงความเป็นมาและคุณลักษณะของทองบางตะพานไว้ใน “นิราศถลาง” ดังนี้

“กระทั่งถึงบางตะพานสถานที่                  มีทองดีแต่บุราณนานหนักหนา

บังเกิดกับกายสิทธิ์อิศรา                         ไม่มีราคีแกมแอร่มเรือง

เนื้อกระษัตริย์ชัดแท้ไม่แปรธาตุ                ธรรมชาติสุกใสวิไลเหลือง

ชาติประหังหุงขาดบาทละเฟื้อง                ถึงรุ่งเรืองก็ยังเยาเบาราคา

บางตะพานผุดผ่องไม่ต้องหุง                  ราคาสูงสมศรีดีหนักหนา”

 

อาจารย์ศุภร บุนนาค ให้รายละเอียดเกี่ยวกับแหล่งแร่ทองบางสะพานไว้ในหนังสือเรื่อง “สมบัติกวี ขุนช้างขุนแผน” ว่า

“ทองบางตะพาน บางตะพานหรือบางสะพานอยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขึ้นชื่อมานานแล้วว่าเป็นที่เกิดของทองเนื้อเอก ที่เรียกว่าทองเนื้อเก้า หมายความว่า มีราคาเก้าเท่าของเงินในน้ำหนักเดียวกัน ทองบางตะพานนี้มีสีสุกจัดอย่างที่เรียกว่าสีขมิ้น เพราะเป็นทองบริสุทธิ์โดยธรรมชาติ ไม่มีสินแร่อื่นปน ตำบลบางตะพานได้ชื่อว่าเป็นตำบลกำเนิดนพคุณในรัชกาลที่ 4”

วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์หลายเรื่อง เมื่อกวีเดินทางถึงบางสะพานก็มักกล่าวถึง ‘ทองเนื้อเก้า’ หรือ ‘ทองนพคุณ’ ที่ขุดหรือหลอม ณ ที่นี้ ดังจะเห็นได้จากตอนหนึ่งของ “นิราศพระพิพิธสาลี”

บางสระพานมาลุแล้ว                              ใจปอง

เห็นแต่เตาคุมทอง                                          บ่อนเบ้า

สมบูรณ์นิ่มนวลละออง                                    ทุ่มมาด กูเอย

ควรแต่ทองเนื้อเก้า                                        หล่อไว้ชมแทน ฯ

      บางสระพานพานพาดพื้น                          ทองดี

ขุดขุมนิธีรี                                                   ร่อนร้าง

ขุมทองแม่มังศรี                                            เสาวภาคย์ เรียมเอย

มาจากจำเนียรหว้าง                                       ร่อนเนื้อนพคุณฯ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

ไม่ต่างกับที่กวีบรรยายถึงการขุด-ร่อน-หลอมทองไว้ใน “นิราศนรินทร์” ว่า

“บางสะพานสะพาดพื้น                            สะพานทอง

ฤๅสะพานสุวรรณรอง                                     รับเจ้า

อ้าโฉมแม่มาฉลอง                                        พิมพ์มาศ นี้ฤๅ

รอยร่อนเหนือบ่าเบ้า                                    แนบเนื้อนพคุณ ฯ

       บางสะพานสะพังพาดพื้น                       ทองปาง ก่อนแฮ

รอยชะแลงชระลุราง                                    ร่อนกลุ้ม

ระลึกโฉมแม่แบบบาง                                   บัวมาศ กูเอย

ควรแผ่แผ่นทองหุ้ม                                      ห่อไว้หวังสงวน ฯ”

 

เนื่องจากทองบางตะพานเป็นทองเนื้อดีมีราคาสูง ตัวละครที่มีฐานะจึงใช้ทำเครื่องประดับ ดังที่เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เล่าถึงตอนนางวันทองจัดเตรียมเสบียงเดินทางให้พลายงามลูกชาย โดยใส่ไว้ในไถ้ที่เป็นถุงยาวๆ สำหรับผูกรอบเอวลูก จะได้สะดวกต่อการเดินป่าโดยที่ข้าวของไม่ตกหล่น

“จึงเย็บไถ้ใส่ขนมกับส้มลิ้ม                            ทั้งแช่อิ่มจันอับลูกพลับหวาน

แหวนราคาห้าชั่งทองบางตะพาน                  ล้วนต้องการเก็บใส่ในไถ้น้อย”

 

นอกจากคุณลักษณะของทองคำบริสุทธิ์ ทองบางตะพานยังมีคุณสมบัติด้านไสยศาสตร์ ดังตอนหนึ่งของ “สมบัติกวี ขุนช้างขุนแผน”

“ทองบางตะพานนี้ถือกันมาว่า ถ้าเก็บขึ้นมาได้น้ำหนักหนึ่งบาทพอดีโดยไม่ต้องไปหลอมหรือตัด จะเป็นเครื่องคุ้มกันได้”

คำว่า ‘เครื่องคุ้มกัน’ สื่อความหมายว่า คุ้มครองให้พ้นจากอันตรายทำนองเครื่องรางของขลังที่ช่วยให้แคล้วคลาดปราศจากภยันตรายใดๆ จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ดาบฟ้าฟื้น’ อาวุธคู่มือของขุนแผนที่ผ่านการเลือกสรรจัดทำตามพิธีไสยศาสตร์ครบทุกขั้นตอน แม้แต่ฝักดาบก็ไม่เว้น ดังที่กวีบรรยายว่า

“เอาไม้ระงับสรรพยามาทำฝัก                       ประสมผงลงรักให้ผิวผ่อง

กาบหุ้มต้นปลายลายจำลอง                         ทำด้วยทองถ้วนบาทชาติบางตะพาน”

 

‘ทองบางตะพาน’ คือสุดยอดทองคำคุณภาพของไทยที่ปรากฏในพงศาวดารว่า พ.ศ.2290 พบทองที่ตำบลบางสะพาน เมืองกุย สมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงคุมไพร่สองพันออกไปร่อนทอง เมื่อถึงเดือน 5 พ.ศ.2291 มีบันทึกว่า

“ได้เนื้อทองขึ้นมาทูลเกล้าฯ ถวาย 90 ชั่งเศษ ทรงพระศรัทธาให้แผ่ทองร่อนเป็นประทากล้องขึ้นไปปิดมณฑปพระพุทธบาท แต่ยอดและเหมกับนาคนั้นแผ่หุ้มทั้งสิ้น”

อดีตที่ผ่านมา ทองบางตะพานเลื่องชื่อลือไกลว่าเป็นแหล่งแร่ทองคำบริสุทธิ์ ปัจจุบันแหล่งแร่ทองคำบางสะพานในเขตอำเภอบางสะพานหาได้ผลิตแร่ทองคำเชิงพาณิชย์อีกต่อไปไม่

เหลือไว้เพียงตำนาน