Scambaiting เมื่อเหยื่อขอไม่ทนอีกต่อไป/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
People, fun, lifestyle and relationships concept. Casually dressed young female with long hair having mysterious look going to have revenge upon her sly black husband who is planning the same

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

Scambaiting

เมื่อเหยื่อขอไม่ทนอีกต่อไป

 

เดือนสองเดือนที่ผ่านมาคุณผู้อ่านที่เล่นเฟซบุ๊กน่าจะต้องเคยได้รับคำแจ้งเตือนในแอพพ์ว่ามีใครสักคนแท็กเรามา เนื้อหามักจะเกี่ยวกับอุบัติเหตุอะไรสักอย่างที่เชื้อชวนกระตุ้นต่อมความอยากรู้ให้เราคลิกเข้าไปดูเป็นอย่างยิ่ง

และทุกครั้งที่เราถูกแท็กในโพสต์เดียวกันก็จะมีคนอีกเกือบร้อยคนที่ถูกแท็กไปพร้อมๆ กัน หันไปถามคนรอบตัวไม่ว่าจะเป็นใครก็โดนแท็กแบบเดียวกันถ้วนหน้า

หากทนความอยากรู้ไม่ไหวแล้วคลิกเข้าไปที่ลิงก์ที่อยู่ในโพสต์ซึ่งผ่านการปลอม URL ให้ดูคล้ายกับสำนักข่าวชื่อดังระดับประเทศ สิ่งที่เราจะเจอก็คือช่องให้กรอกอีเมลและรหัสผ่านเข้าเฟซบุ๊กของเรา หากหลงเชื่อและป้อนข้อมูลเข้าไป นั่นก็คืออวสานของเฟซบุ๊กเราทันที

เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้เราก็มักจะไม่ค่อยตั้งความหวังกันสักเท่าไหร่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์จะสามารถสืบสวนและตามจับคนที่อยู่เบื้องหลังอาชญากรรมยุคดิจิตอลเพื่อนำตัวมาลงโทษได้ ฉะนั้น ทางเลือกเดียวที่น่าจะเหลืออยู่ก็คือการต้องป้องกันตัวเองด้วยการลดขนาดต่อมความอยากรู้ลงและเพิ่มแรงต้านทานภัยไซเบอร์รูปแบบใหม่ๆ ให้มากขึ้น

ถึงกระนั้นการต้องคอยตั้งรับอยู่ตลอดเวลาก็เป็นเรื่องน่ารำคาญใจไม่น้อยอยู่เหมือนกันใช่ไหมคะ ทำไมฉันจะต้องนั่งเฉยๆ คอยตั้งสติหาวิธีหลบหลีกการถูกหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ อยู่ฝ่ายเดียวด้วยล่ะ

ทำไมฉันถึงจะลุกขึ้นมาออกล่านักล่าดูบ้างไม่ได้

 

ความคิดเช่นนี้จึงเกิดเป็นความเคลื่อนไหวที่เรียกชื่อว่า scambaiting หรือการล่อหลอกเหล่านักต้มตุ๋นบนอินเตอร์เน็ตให้มาติดกับเราบ้าง และ scambaiting ก็กลายเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

Scambaiting ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราทุกคนน่าจะเคยได้เห็นตัวอย่างของการ “เอาคืน” พวกนักต้มตุ๋นออนไลน์กันมาบ้างแล้ว

นักต้มตุ๋มออนไลน์สมัยนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ประเภทเดียวแต่แบ่งยิบย่อยออกด้วยกลวิธีที่ใช้หลอกได้หลายรูปแบบ ทั้งพวกที่หลอกให้เหยื่อหลงใหลและเปย์เงินให้ไม่รู้จักจบจักสิ้นด้วยการเอาความสัมพันธ์รักมาล่อ พวกที่หลอกขายของแบบลอยๆ ใช้ภาพสินค้าทิพย์ที่ไม่มีอยู่จริงในสต๊อกก่อนจะเชิดเงินหนีไปในที่สุด

หรือพวกที่แฮ็กเฟซบุ๊กเหยื่อแล้วปลอมตัวเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กเพื่อทักไปขอยืมเงินเพื่อนในเฟรนด์ลิสต์

ไปจนถึงพวกที่ทำลิงก์ปลอมมาล่อให้เหยื่อกรอกข้อมูลส่วนตัวเหมือนที่พูดถึงไปแล้วข้างต้น สมัยก่อนการหลอกล่อแบบนี้มักจะเกิดขึ้นทางโทรศัพท์และชักจูงให้เหยื่อไปโอนเงินที่เอทีเอ็ม แต่สมัยนี้การหลอกล่อแบบนี้ก็ย้ายมาอยู่บนโลกออนไลน์แล้วด้วยเรียบร้อย

บางคนจับพิรุธได้ รู้ตัวว่ากำลังถูกหลอกก็เลือกที่จะปิดจบบทสนทนา ไม่สานต่อ แยกทางกันเดินแล้วก็รอให้นักต้มตุ๋นรายต่อไปเข้าหาเพื่อจะทำกระบวนการเดิมซ้ำอีกครั้ง แต่จะมีกลุ่มคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่รู้สึกว่าจะปล่อยคนไม่ดีพวกนี้ให้เดินจากไปเฉยๆ โดยไม่ได้รับบทลงโทษได้อย่างไร ฉันจะต้องแก้แค้นด้วยการปั่นหัวพวกมันคืนบ้างอย่างน้อยๆ

นี่แหละค่ะ การทำ scambaiting

 

การทำ scambaiting ในแบบที่คลาสสิคที่สุดก็คือการทำให้คนคนนั้นเสียเวลาให้ได้มากที่สุด เราอาจจะรู้อยู่แล้วว่าคนที่ส่งข้อความแชตมาขอยืมเงินไม่ใช่เพื่อนเราตัวจริงแน่ๆ หรืออาจจะจับสังเกตได้จากการใช้ภาษาหรือสำนวนที่เปลี่ยนไป แต่เราก็เลือกที่จะนิ่งเฉย ไม่เฉลยความจริง และหลอกล่อตลบกลับอีกชั้นด้วยการทำให้นักต้มตุ๋นเข้าใจว่าเราหลงเชื่อแล้ว

เราอาจจะชวนคุยให้ความหวังนักต้มตุ๋นแบบลมๆ แล้งๆ ว่าท้ายที่สุดแล้วเขาจะหลอกเงินเราได้สำเร็จ ปั่นหัวให้ทำภารกิจต่างๆ ราวกับหุ่นเชิดที่เราจะดึงเชือกเส้นไหนก็ได้ หรือปล่อยให้รอเราไปเรื่อยๆ จนกระทั่งนักต้มตุ๋นรู้ตัวและเลิกรายอมยกธงขาวไปเอง แล้วเราก็จะแคปเจอร์บทสนทนามาโพสต์ให้กลายเป็นไวรัลสร้างเสียงหัวเราะเยาะอย่างสะใจให้กับใครที่ได้อ่าน

ถามว่านักต้มตุ๋นเสียเวลาไหม ใช่ แล้วเราเสียเวลาด้วยหรือเปล่า ก็ใช่ด้วยเหมือนกัน

แต่กลุ่มคนที่ทำ scambaiting วิธีนี้เขาก็มองในแง่ดีว่าการทำให้คนไม่หวังดีพวกนี้เสียเวลาอยู่กับเราให้ได้มากที่สุดก็แปลว่าพวกเขาจะมีเวลาไปหลอกคนอื่นน้อยลงด้วย

ยังมีกลุ่มคนทำ scambaiting ที่อัพเลเวลขึ้นไปอีกนิด ก็คือการมุ่งเป้าว่าจะต้องล้วงข้อมูลนักต้มตุ๋นคืนให้ได้ พวกนี้ก็อาจจะหาวิธีล่อลวงจนได้มาซึ่งข้อมูลอย่างชื่อ ที่อยู่ หรือเลขที่บัญชีของคนโกง เพื่อนำไปส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป

เรื่องที่ชวนให้รู้สึกประหลาดใจก็คือเพดานการเอาคืนคนโกงไม่ได้สิ้นสุดแค่นี้ เพราะมีนักทำ scambaiting ที่เอาจริงเอาจังกับภารกิจนี้สุดๆ ไปจนถึงขั้นที่เรียกว่าสนุกและสะใจกับมันเลยก็ว่าได้

อย่างการรวมตัวกันของผู้ล่านักต้มตุ๋นผ่านทางฟอรั่มบนอินเตอร์เน็ตเพื่อให้เกิดเป็นชุมชนแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้และให้รางวัลการล่านักต้มตุ๋มกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันด้วยการใช้ระบบการให้รางวัลเป็นการติดแบดจ์ ให้ถ้วยรางวัล หรือไอคอนที่เป็นเอกลักษณ์ต่างๆ เพื่อเชิดชูฝีมือในการไล่ล่าคนโกง

ถ้วยรางวัลที่ให้กันก็มีทั้งถ้วยรางวัลแบบใสๆ ไร้พิษภัย อย่างถ้วยรางวัลสำหรับการหลอกล่อให้นักต้มตุ๋นเสียเวลาได้นานที่สุด หรือถ้วยรางวัลสำหรับการล่าภาพหรือวิดีโอของนักต้มตุ๋นมาจนได้ แต่เว็บไซต์ The Next Web ก็บอกว่าถ้วยรางวัลบางประเภทอาจจะเลยเถิดไปจนถึงขั้นสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจคนที่ตั้งใจจะมาโกงเราเลยทีเดียว

ตัวอย่างถ้วยรางวัลที่ค่อนข้างสุดโต่งไปมากๆ ก็อย่างเช่น การหลอกล่อให้นักต้มตุ๋นไปสักแบบถาวร หรือการหลอกล่อให้นักต้มตุ๋นเดินทางออกจากที่พักเป็นระยะทางไกลๆ แต่ทำไมถึงเรียกว่าสุดโต่งนั้น The Next Web อธิบายเอาไว้ว่าบางครั้งการหลอกล่อให้นักต้มตุ๋นหลงกลเราคืนและปฏิบัติภารกิจอะไรบางอย่างด้วยความหวังว่าจะหลอกเอาเงินเหยื่อได้ในที่สุดก็นำมาซึ่งอันตรายต่อตัวนักต้มตุ๋นเอง

อย่างเช่น การหลอกล่อให้พวกเขาไปสักแบบถาวรได้สำเร็จ ก็อาจจะหมายถึงการติดเชื้อ HIV ได้หากนักต้มตุ๋นคนนั้นอยู่ในประเทศที่ยากจนที่มาตรฐานสาธารณสุขต่ำ

จึงเกิดการออกมาเรียกร้องให้คนกลุ่มนี้เพลาๆ มือลงบ้าง อย่าเลยเถิดกับการ scambaiting มากจนเกินไป

 

ฉันเชื่อว่าบางคนฟังเรื่องนี้ก็อาจจะรู้สึกว่า มันก็สมน้ำสมเนื้อดีอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ คิดจะหลอกคนอื่น ก็ต้องโดนเอาคืนแบบนี้บ้างจะเป็นอะไรไป จะไปปกป้องคนพวกนี้ทำไม ฯลฯ

แต่คนที่ออกมาเรียกร้องให้เบาแก๊สกับการ scambaiting แบบสุดโต่งก็บอกว่าเราควรต่อสู้กับนักต้มตุ๋นอย่างมีจริยธรรมและใช้วิธีที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบ อย่าเอามันเข้าว่าอย่างเดียว

อันที่จริงแล้ว การเรียกร้องให้รับมือกับนักต้มตุ๋นอย่างมีจริยธรรมนั้นไม่ได้เล็งผลด้านมนุษยธรรมแต่เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงความปลอดภัยของตัวคนทำ scambaiting เองด้วย เพราะที่ผ่านมาก็เคยเกิดเหตุการณ์ว่าพอเหยื่อลุกขึ้นมาล่านักต้มตุ๋นคืนบ้าง นักต้มตุ๋นก็อัพเกมตัวเองขึ้นด้วยการคิดกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อมาตอบโต้ และบางกลยุทธ์ก็ย้อนศรกลับมาทำร้ายนัก scambaiting จนถึงขั้นเสียชีวิตมาแล้ว ทำนองตาต่อตาฟันต่อฟันกันไปแบบไม่มีวันสิ้นสุด

อาสาสมัคร scambaiting ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกับชุมชนล่าหัวเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็น่าจะต้องเข้าไปเก็บเกี่ยวใช้พลังและความรู้ของคนเหล่านี้ในการจับนักต้มตุ๋นออนไลน์ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จริยธรรม และเป็นไปตามกฎระเบียบ

มิเช่นนั้นก็อาจจะกลายเป็นอีกหนึ่งศาลเตี้ยบนโลกออนไลน์ได้