คุยกับทูต ตีแยรี มาตู นักการทูตอาชีพ และผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียจากฝรั่งเศส (ตอน 2)

 

คุยกับทูต ตีแยรี มาตู

นักการทูตอาชีพ

และผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียจากฝรั่งเศส (ตอน 2)

 

“สิ่งที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรกสำหรับภารกิจของผมมาจากประสบการณ์โดยตรง อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ผมมีแนวคิดแบบเอเชีย แต่ ‘วิสัยทัศน์แบบเอเชีย’ นี้ค่อนข้างใหม่ในฝรั่งเศส แม้ว่าเราจะมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในภูมิภาคนี้อันรวมถึงประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศในเอเชียที่เรามีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ด้วยกันยาวนานที่สุด และมีการฉลองครบรอบ 333 ปีของความสัมพันธ์ระหว่างกันเมื่อ ค.ศ.2019”

นายตีแยรี มาตู (H.E. Mr. Thierry Mathou) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทยคนปัจจุบันกล่าวถึงภารกิจที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก

 

นายตีแยรี มาตู (H.E. Mr. Thierry Mathou) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

 

ปัจจุบัน ฝรั่งเศสให้ความสำคัญในเรื่องยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Strategy) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการทูตสตรีเป็นอันดับแรกๆ

แม้แผ่นดินใหญ่ของฝรั่งเศสตั้งอยู่ในทวีปยุโรป แต่ฝรั่งเศสก็เป็นมหาอำนาจหนึ่งในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกด้วย เนื่องจากภูมิภาคนี้เป็นที่ตั้งของดินแดนโพ้นทะเลหลายแห่งของฝรั่งเศส เป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษของฝรั่งเศส รวมถึงเป็นที่อยู่ของประชากรฝรั่งเศสหลายล้านคน

ฝรั่งเศสมีกำลังทางทหารที่สำคัญในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยมีบุคลากร 4,100 นายประจำการอยู่ในมหาสมุทรอินเดียอย่างถาวร และบุคลากรอีก 2,900 นายประจำการอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างถาวร

โดยหน้าที่หลักของกองกำลังเหล่านี้คือ เพื่อให้มั่นใจในการปกป้องดินแดนของฝรั่งเศสและเฝ้าระวังเขตเศรษฐกิจพิเศษ

นอกจากนี้ ยังมีส่วนร่วมในความพยายามเกี่ยวกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ รวมทั้งต่อสู้กับการค้ามนุษย์อีกด้วย

 

ประธานาธิบดีเอมานุแอล มาครง ของฝรั่งเศส ให้การต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มาเยือนพระราชวังเอลิเซ หรือทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในกรุงปารีส

 

ฝรั่งเศสมีดินแดนและประชากรทั้งในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก จึงถือว่าฝรั่งเศสเป็นประเทศหนึ่งของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และถือครองสถานที่ที่โดดเด่นในส่วนนี้ของโลกตั้งแต่แนวชายฝั่งแอฟริกาไปจนถึงชายฝั่งทะเลของทวีปอเมริกา

นางฟลอร็องส์ ปาร์ลี (H.E. Mrs. Florence Parly) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกองทัพฝรั่งเศส เขียนในคำนิยมของรายงานเรื่อง “ฝรั่งเศสกับความมั่นคงปลอดภัยในอินโดแปซิฟิก” ค.ศ.2019 ว่า

ฝรั่งเศสยังคงรักษาอำนาจอธิปไตยและกองกำลังในภูมิภาคนี้ไว้อย่างถาวร เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและมีส่วนช่วยในการสร้างเสถียรภาพของภูมิภาคควบคู่ไปกับพันธมิตร โดยส่วนใหญ่เป็นอินเดีย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ตลอดจนมาเลเซีย สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม

ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกยังมีความสำคัญทางด้านภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลกได้เคลื่อนจากมหาสมุทรแอตแลนติกไปสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดย 6 ประเทศสมาชิกจี 20 ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน เกาหลีใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว

จะเห็นได้ว่า ณ ชั่วโมงนี้ อินโด-แปซิฟิก กลายเป็นยุทธศาสตร์หลักของประเทศมหาอำนาจ ทุกคนอยากเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่แห่งเดียวที่ยังมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ทั้งในมิติทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์

 

ประธานาธิบดีเอมานุแอล มาครง ของฝรั่งเศส ให้การต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

 

ท่านทูตตีแยรี มาตู เล่าว่า

“เมื่อ ค.ศ.2018 ฝรั่งเศสได้เห็นชอบยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกเพื่อตอบสนองแบบองค์รวมต่อความท้าทายในภูมิภาค โดยฝรั่งเศสจะต้องทำหน้าที่เป็นมหาอำนาจผู้ไกล่เกลี่ย ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค ยุทธศาสตร์นี้ยึดตามเสาหลักสี่ประการได้แก่

– ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประเทศฝรั่งเศสในการแก้ไขวิกฤตในภูมิภาค

– เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างฝรั่งเศสกับผู้มีบทบาทหลักในภูมิภาคซึ่งแบ่งปันคุณค่าและผลประโยชน์เดียวกัน

– เพิ่มการมีส่วนร่วมของฝรั่งเศสในองค์การระดับภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาเซียน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีบทบาทเป็นศูนย์กลางในสถาปัตยกรรมของเอเชียที่มีหลายขั้วอำนาจ และในระหว่างการเกิดขึ้นของพื้นที่อินโด-แปซิฟิกที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมโดยไม่ควรมีประเทศใดใช้อำนาจเหนือกว่าประเทศอื่น

– มุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ในการส่งเสริมสินค้าสาธารณะของโลก เช่น สภาพอากาศ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ สุขภาพ การศึกษา เทคโนโลยีดิจิตอล และโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ ในขณะที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมมากขึ้นในภูมิภาคของสหภาพยุโรปในฐานะผู้มีบทบาทเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและเพื่อความมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ยุทธศาสตร์ Connecting Europe and Asia ของสหภาพยุโรป”

 

ประธานาธิบดีเอมานุแอล มาครง ของฝรั่งเศส ให้การต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี–

 

แนวคิดของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างกำลังได้รับการสนับสนุนจากทั่วโลก มีประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่หันมาสนับสนุนแนวคิดที่ว่า ภูมิภาคที่เจริญรุ่งเรือง สงบ และมั่นคงนั้นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับชาติของประเทศเหล่านั้นเอง ความร่วมมือและโครงการที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกกับประเทศต่างๆ เช่น แคนาดา ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ล้วนมุ่งหมายที่จะทำให้ภูมิภาคนี้เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการเมือง

“ผมเป็นผู้เขียนร่างยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกนี้ ในขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเอเชีย-โอเชียเนีย และเลือกที่จะมาประเทศไทยเพื่อดำเนินการยุทธศาสตร์ดังกล่าว เพราะผมเชื่อมั่นว่าประเทศไทยคือสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับเราในเอเชียใต้”

“นี่คือเหตุผลที่ตอนนี้ เรากำลังทำงานเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ของเราไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์”

 

การหารือผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่าง นายดอน ปรมัตถ์วินัย กับนายฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยอง ภาพ-MFA

 

ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับไทยมีพลวัตในเชิงบวก โดยไทยเป็นหุ้นส่วนของฝรั่งเศสที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคทางประวัติศาสตร์และมีชุมชนฝรั่งเศสที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในเอเชีย

“ประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของฝรั่งเศสในเอเชียตั้งแต่อดีต มีการลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรีและการค้าระหว่างกันเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1856 และเมื่อ ค.ศ.2016 ทั้งสองประเทศฉลองครบรอบ 160 ปี ของความสัมพันธ์ระหว่างกัน”

“เมื่อ ค.ศ.2019 ฝรั่งเศสฉลองครบรอบ 333 ปีของการส่งคณะทูตชุดแรกของราชอาณาจักรสยามไปยังฝรั่งเศสซึ่งนำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ใน ค.ศ.1686 นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเยือนฝรั่งเศสเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.2018”

“ความร่วมมือระหว่างสองประเทศเป็นไปด้วยดี ล่าสุด มีการหารือผ่านระบบการประชุมทางไกลระหว่างนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย กับนายฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยอง (H.E. Mr. Jean-Yves Le Drian) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา”

“มีการเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่เพียงพอ ยังมีสิ่งที่เราต้องทำให้มากขึ้นในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การป้องกันประเทศและความมั่นคง การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนโดยให้ความสำคัญกับเยาวชนเป็นอันดับแรก”

โดยท่านทูตยืนยันว่า

“ฝรั่งเศสมีความมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่เคียงข้างไทยและอาเซียน ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ฝรั่งเศสว่าด้วยภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก”