คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : จตุรมาสยะ : เข้าพรรษาของพราหมณ์

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เรารู้กันเป็นอย่างดีว่าช่วง “เข้าพรรษา” เป็นช่วงเวลาที่พระภิกษุจะได้หยุดจำพรรษา คือพำนักยังที่ใดที่หนึ่ง โดยไม่ “จาริก” ไปที่อื่น

คงด้วยเหตุผลจากธรรมชาติเป็นสำคัญ เพราะเข้าพรรษาเป็น “ฤดูฝน” ซึ่งในอดีตการเดินทางเป็นเรื่องไม่สะดวกอย่างยิ่ง

บางท่านก็ว่าเป็นเพราะชาวบ้านติเตียนพระภิกษุที่เหยียบย่ำลงไปในนาข้าวของเขาเสียหายในช่วงฤดูเพาะปลูก พุทธองค์จึงบัญญัติการเข้าพรรษาขึ้น

เหตุผลนี้ อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย ท่านบอกไว้ในเฟซบุ๊กว่าไม่น่าจะใช่ นาข้าวจะของไทยของอินเดียก็มีคันนา พระก็น่าจะเดินกันตามคันนาอยู่แล้ว ทำไมจึงอ้างว่ามีพระลงไปย่ำข้าวชาวบ้านได้ แต่ผมว่าเหยียบสัตว์เหยียบต้นไม้คงมีบ้าง

อาจารย์ท่านเลยว่า ความเชื่อที่สอนๆ กันมานี้ โดยเฉพาะมีในแบบเรียนวิชาพุทธศาสนาควรคิดทบทวนกันใหม่ไหม

ช่วงเข้าพรรษา พระภิกษุ ได้มีโอกาสเรียนปริยัติอย่างเต็มที่ พอพ้นพรรษาจึงออกจาริกต่อ คนจึงนิยมให้บวชช่วงเข้าพรรษา เพราะเหมือนกับได้จังหวะศึกษาอบรมเรื่องศาสนายาวๆ พอดี รับกฐินแล้วค่อยสึก ได้อายุพรรษาอีกตะหาก

ที่จริงในอินเดีย นักบวชทุกศาสนาตั้งแต่โบราณ ไม่เคยมีชีวิตเป็นหลักเป็นแหล่ง ต้องจาริกไปเรื่อยๆ เสมอ เพราะถือว่าได้ทอดทิ้งบ้านเรือนชีวิตเดิม โลกทั้งโลกก็คือบ้านไปแล้ว ดังมีคำกล่าวว่า “สฺวเทเศ ภุวนตฺรยมฺ – สามโลกก็คือถิ่นฐานของตัว” ปัจจุบันนี้นักบวชฮินดูบางพวกยังคงปฏิบัติอยู่

ในทางประวัติศาสตร์ เดิมนักบวชพุทธศาสนาใช้ชีวิตเร่ร่อนไม่มีหลักแหล่ง “เพื่อประโยชน์และความสุข (ของสรรพสัตว์)” (หิตายะ สุขายะ) แต่ภายหลังเป็นนักบวชกลุ่มแรกที่มีการตั้งชีวิตใน “อาราม” ขึ้น และมีกฎมีเกณฑ์กติกาองค์กรอย่างเป็นทางการ

นับแต่นั้นการจาริกก็ไม่ใช่รูปแบบหลักของชีวิตนักบวชพุทธอีกต่อไป

ภายหลังศาสนาอื่นๆ เช่น ฮินดูและไชนะ ก็เริ่มตั้งชีวิตนักบวชในอารามขึ้นมาเช่นเดียวกัน แต่พวกที่เน้นการจาริกยังมีมากอยู่

ในอินเดีย โดยเฉพาะในโลกโบราณ ศาสนาไม่ได้มีพรมแดนชัดเจนอย่างที่เรามีในปัจจุบัน ความคิดความเชื่อต่างๆ รวมทั้งประเพณีพิธีกรรมมักจะหยิบยืมกันไปมา บางอันพอจะทราบว่ามาจากไหน บางอันไม่ทราบว่าศาสนาใดเป็นต้นคิด แต่ก็มีร่วมกันเป็นสมบัติทางความคิดของดินแดนอินเดีย

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูก็มีการ “เข้าพรรษา” ด้วยเช่นกัน เรียกว่า “จตุรมาสยะ” แปลว่า “สี่เดือน” หรือ จตุรมาสยะวรัต (วรัต เป็นคำเดียวกับ พรต) เพราะการเข้าพรรษาของพราหมณ์นั้นกินเวลาทั้งสิ้นสี่เดือนจนหมดฤดูฝน

จตุรมาสยะของพวกไวษณวนิกายมักจะเริ่มในวัน 11 ค่ำ (เรียกว่า เอกาทศี) ในเดือน “อาษาฒะ” (บาลีว่า อาษาฬห) ตามจันทรคติจนไปถึง 11 ค่ำ ในเดือน “การติกะ” ตกในราวเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม ไปจนถึงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน

บางนิกายจะเริ่มในวันเพ็ญเดือนอาษฒะ ซึ่งจะตรงกับวันอาสาฬหบูชาของเราพอดี

เข้าพรรษาของฮินดูกับของพุทธ จึงเกือบจะตรงกับเป๊ะๆ

วันแรกของเอกาทศีในจตุรมาสยะ เรียกว่า “เทวศยนีเอกาทศี” แปลว่า วัน 11 ค่ำ “(เทพ) หลับ” และวันสุดท้ายเรียกว่า “อุฐนีเอกาทศี”, หรือวัน 11 ค่ำ “ตื่น” เพราะเชื่อกันว่าในช่วงจตุรมาสยะ พระวิษณุจะบรรทมและตื่นบรรทมเมื่อสิ้นสุดจตุรมาสยะแล้ว

พระเป็นเจ้าทรงบรรทมหลับไปก่อน เช่นเดียวกับเมล็ดพืชพันธุ์ที่ยังหลับใหลอยู่ใต้อกพระแม่ธรณี รอวันจะตื่นจากบรรทมเช่นพืชพันธุ์ที่งอกเงยขึ้นจากความมืดหลังสี่เดือนในฤดูฝนผ่านไป

เพราะพืชก็คือจิตวิญญาณของโลก และคือเทพนั่นแหละครับ ในวันเทวศยนีเอกาทศี เขาจึงให้ถือพรตห้ามกินธัญพืชต่างๆ

คนฮินดูมักไม่ค่อยจัดงานมงคลในช่วงจตุรมาสยะ เช่น แต่งงานหรือสวมด้ายศักดิ์สิทธิ์ เพราะไม่อยากรบกวนทวยเทพที่ยังหลับใหล

ในวัฒนธรรมผีพราหมณ์พุทธบ้านเราก็เช่นกันครับ ครูดนตรีอาวุโสท่านเคยบอกผมว่า แต่ก่อนไหว้ครูนาฏศิลป์ดนตรีไทยอะไร เขาไม่ทำกันในช่วงเข้าพรรษา ท่านบอกโบราณว่า เทวดาถือศีลกันไม่รับเครื่องเซ่นสรวง

ที่จริงก็คือ “ผี” ที่ยอมโอนอ่อนต่อพุทธนั่นแหละครับ คือ พิธีเซ่นไหว้ต้องมีเนื้อและเหล้า ต้องเชือดต้องฆ่า พอรับพุทธมาทั้งเทวดาและผีพากันยอมพุทธ (บ้าง) โดยไม่ฆ่าไม่แกงในช่วงเวลาที่พุทธศาสนาถือว่าเป็นช่วงละเว้น

เข้าพรรษาฮินดูจะเก่าแก่แค่ไหนยังไม่ทราบ แต่น่าจะถึงสมัยปุราณะ เพราะมีบันทึกในคัมภีร์สกันทะปุราณะ และเข้าพรรษานี้ถือกันทั้งนักบวชและฆราวาส

ในฝ่ายนักบวชฮินดู การเข้าจตุรมาสยะจะต้องถือไม่จาริกไปไหนเป็นเวลาสี่เดือน ติรุวัลลุวาร์ กวีทมิฬที่มีชีวิตอยู่ในราว คริสต์ศตวรรษที่หนึ่งบรรยายไว้ว่า เพื่อที่บรรดาสันยาสีจะได้หยุดจาริก เพื่อประพฤติอหิงสาธรรม โดยไม่เบียดเบียนมดแมลง สัตว์เล็กน้อยทั้งหลาย

การอธิษฐานจตุรมาสยะเรียกว่า “จตุรมาสยะ สังกัลปะ” โดยมากศิษย์มักกล่าวคำอาราธนาให้ สันยาสีหรือนักบวชคุรุของตนจำพรรษาในที่นั้นๆ ตลอดสี่เดือน เพื่อจะได้มีโอกาสศึกษาข้อธรรมต่างๆ และได้อยู่ใกล้ชิดครู และสันยาสีจะต้องปลงผมตัดเล็บทุกวันเพ็ญ

สันยาสีมีธรรมเนียมนับอายุพรรษาโดยผ่านการเข้าพรรษา จตุรมาสยะเช่นเดียวกันกับพระภิกษุ แม้จะมีอายุมากกว่า แต่ถ้าอีกฝ่ายมีพรรษา “จตุรมาสยะ” มากกว่า ฝ่ายที่อายุมากกว่าก็ต้องแสดงความเคารพ

ในฝ่ายฆราวาสที่ถือพรต จตุรมาสยะนั้น จะต้องงดอาหารบางชนิดตลอดจตุรมาสยะ เช่น น้ำผึ้ง มะเขือยาว ฯลฯ ข้อนี้มีกล่าวไว้ในปุราณะ และในแต่ละเดือนจะต้องงดอาหารดังนี้

ในเดือนแรก คือผักใบเขียว เช่น ผักโขม ในเดือนที่สอง คือโยเกิร์ต ในเดือนที่สาม คือนม และในเดือนที่สี่ คือถั่วบางชนิด เช่น ดาล หรือคนที่ไม่ได้ทานมังสวิรัติจะงดเนื้อและปลาในช่วงนี้

นอกนั้นจะต้องบำเพ็ญภาวนา สวดมนต์ไหว้พระฟังธรรมตลอดจตุรมาสยะ เชื่อว่าผลบุญในจตุรมาสยะจะไพศาล

ส่วนในศาสนาไชนะ หรือศาสนาเชน การเข้าพรรษาเรียกว่า “วรษโยคะ” นักบวชจะหยุดการจาริกไปยังที่ต่างๆ และเข้าจำพรรษา ตลอดสี่เดือนในอารามหรือที่ที่กำหนดไว้ โดยนักบวชผู้ใหญ่จะใช้เวลาช่วงนั้นให้คำสอนแก่ศิษย์

ที่แสดงมาทั้งหมด มิได้จะมีข้อสรุปว่าพุทธศาสนารับประเพณีการเข้าพรรษามาจากฮินดูนะครับ เพราะหลักฐานยังไม่มากพอ (ในเรื่องนี้)

แต่ที่สำคัญ ผมอยากแสดงให้เห็นว่า ประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ที่เราเคยเชื่อว่ามันมีแต่เรา มันเป็นของเราเท่านั้น คนอื่นเขาก็มี มีกันทุกศาสนาในอินเดีย เป็นประเพณีปฏิบัติของนักบวชโดยทั่วๆ ไปไม่ใช่ของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง

สายปฏิบัติที่เรียกว่า “สมณะ” หรือสายพรตนิยมในอินเดียนี่ไม่ได้เป็นของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่มีผลต่อทุกศาสนา

เราจะได้คลายความยึดมั่นถือมั่นว่า เราดีที่สุด ถูกต้องที่สุด ประเสริฐที่สุด คนอื่นผิดหมด

นั่นแหละครับ ท่าทีที่ควรมีควรเป็น ของคนนับถือศาสนา

ไม่งั้นก็รอแต่จะไปกระทืบคนอื่นในนามแห่งศาสนา