ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ปริศนาโบราณคดี |
เผยแพร่ |
‘พ่ออุ๊ยเมือง จินาจันทร์’
ลูกศิษย์วัย 102 ปีของ ‘ครูบาเจ้าศรีวิชัย’ (จบ)
ชะตากรรมสานุศิษย์
หลังครูบาเจ้าศรีวิชัยต้องอธิกรณ์
ทันทีที่สร้างทางขึ้นดอยสุเทพเสร็จในเดือนเมษายน 2478 ฝ่ายปกครองและคณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ทั้งในล้านนาและสยาม ต่างชี้โทษว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยมีความผิด ถูกนำตัวลงไปสอบสวนคดีความที่กรุงเทพฯ นานถึง 8 เดือน
แล้วพ่ออุ๊ยเมือง จินาจันทร์ สามเณรวัย 15-16 ปีเล่า ท่านเลือกเส้นทางใดต่อ
ติดตามไปปรนนิบัติรับใช้ครูบาเจ้าศรีวิชัยที่วัดเบญจมบพิตรฯ
หรือถูกจับสึก หนีหัวซุกหัวซุน? เฉกเช่นศิษยานุศิษย์ที่มีชื่อเสียงรูปอื่นๆ ท่านตอบว่า
“ครูบาน้าพรหมา (หมายถึงตุ๊น้าพุทธิมา) ตกที่นั่งลำบากกว่าใครๆ ฝากพ่อหลวง (คือตัวพ่ออุ๊ยเมือง) ไว้กับครูบาอภิชัยขาวปี ครูบาขาวปีพาพ่อหลวงนั่งรถเครื่องที่มีพ่วงข้างของโยมคนหนึ่ง ขับพาเราสองคนหนีลัดเลาะตามน้ำแม่ปิงไปเฝ้าวัดพระพุทธบาทตะเมาะที่ดอยเต่า เพราะทางการส่งเจ้าหน้าที่มาสังเกตดูโบราณวัตถุในวัดว่ามีสิ่งก่อสร้างหรือพระเจ้า (หมายถึงพระพุทธรูป) องค์ไหนบ้างที่เป็นผลงานของครูบาเจ้าศรีวิชัย จะได้เอาไปทำลาย พ่อหลวงต้องนอนเฝ้าพระเจ้าให้วัดพระบาทตะเมาะอยู่นานหลายเดือนตามลำพังตนเดียว เพราะครูบาขาวปีจำต้องขึ้นๆ ล่องๆ หลบหนีไปกบดานตัวที่อื่น”
โดยครูบาอภิชัยขาวปีย้ำเสมอว่า สานุศิษย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยทุกรูปไม่ว่าพระหรือเณรต้องแยกย้ายกระจายกันอยู่ อย่ากระจุกตัวเกาะกลุ่มกัน ข้อสำคัญให้เอาใบ “กาเสือ” (ใบสุทธิที่ออกโดยครูบาฯ เอง ไม่ใช่ของมหาเถรสมาคม) ไปซ่อน
พ่อดอยเต่า แม่สาวลี้ เมียสาวยอง
อันที่จริงความผูกพันที่มีต่อ “ดอยเต่า” ของพ่ออุ๊ยเมืองนั้นเริ่มขึ้นตั้งนานแล้ว นับแต่บรรพบุรุษ บิดาของพ่ออุ๊ยเมืองชื่อ “นายฅำมา จินาจันทร์” เกิดและโตที่บ้านตะเมาะ หมู่ 1 เป็นพ่อค้าวัวต่าง ลากล้อ (เกวียน) เอาสินค้าไปขายระหว่างดอยเต่า-ลี้
จนมาพบรักกับ “นางศรีน้อย (สีหน้อย)” สาวลำพูน ชาวเมืองลี้ จากนั้นก็ปักหลักชีวิตอยู่ที่บ้านแม่ป้อกของฝ่ายหญิง
ฅำมา-สีน้อย มีบุตร-ธิดารวม 4 คน พ่ออุ๊ยเมืองเป็นลูกคนหัวปี คนกลางสองนางเป็นหญิงชื่อ “ฅำ” กับ “มา” เสียชีวิตแล้วทั้งคู่ คนเล็กเป็นชายชื่อ “แก้ว” ยังมีชีวิตอยู่ อายุก็ไล่ตามมาเกือบ 100 ปีเช่นกัน
พ่ออุ๊ยเมืองเล่าต่อว่า ท่านลาสิกขาจากเพศบรรพชิตในวัย 18 กลายมาเป็น “น้อย” (ทางเหนือใช้เรียกเป็นคำนำหน้าคนที่สึกจากสามเณร) จากนั้นอายุ 19 ก็ “เอาเมีย” (หมายถึงแต่งงานมีครอบครัว) พ่ออุ๊ยเมืองดำรงชีพเยี่ยงประชากรส่วนใหญ่ของประเทศคือทำไร่ไถนา แบกหาม ก่อสร้าง รับจ้างสารพัด ตามแต่ฤดูกาล
ภรรยาของพ่ออุ๊ยเมืองชื่อ “ศรีมา (หรือ “นา”)” เป็นชาวยอง บ้านทุ่งม่าน อำเภอบ้านโฮ่ง ลำพูน อยู่กินกันจนมีบุตร-ธิดาถึง 10 คน เสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิด 1 คน จึงเหลือ 9 คน
ขออนุญาตบันทึกชื่อเสียงเรียงนามไว้ตามที่สัมภาษณ์มาดังนี้ 1.จันทร์ชุม 2.เหรียญทอง 3.บุญเทน 4.ฅำน้อย 5.เสาร์ฅำ 6.สุวิน 7.อนันต์ 8-9 เป็นแฝดหญิงชื่อบัวลม-บัวลอย
เสียชีวิตไปแล้ว 4 คน
เฝ้าศพครูบาฯ ที่ศาลาวัดบ้านปาง
ช่วงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยอาพาธที่วัดบ้านปาง ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2481 ถึงต้นปี 2482 พ่ออุ๊ยเมืองมีอายุราว 19 ปี กำลังเริ่มมีครอบครัวพอดี พวกเราอยากทราบว่าพ่ออุ๊ยอยู่ที่ไหน และทำอะไรบ้าง?
แกเล่าว่า ช่วงครูบาฯ อาพาธ พ่ออุ๊ยเมืองก็เหมือนศิษย์คนอื่นๆ คือผลัดเปลี่ยนเวียนกันมานอนเฝ้าที่วัดบ้านปาง กุฏิวัดแน่นขนัดไปด้วยพระ-เณรและญาติโยมมากกว่า 400-500 รูป/คน ต่างคนต่างคอยแย่งเอากระโถนถ่ายคูถมูตร (อุจจาระ-ปัสสาวะ) ของครูบาฯ ไปเททิ้ง ไม่เคยรังเกียจ เพราะทุกคนศรัทธาครูบาฯ เสมือนพ่อ
“ตอนพ่อฅำมาตาย น้ำตาลูกผู้ชายยังไม่ไหลเลย แต่ตอนครูบาฯ มรณภาพ พ่อหลวงร้องไห้ทั้งวันทั้งคืนนานเป็นเดือน”
ครูบาเจ้าศรีวิชัยสิ้นลมในคืน “ตีนฟ้ายก” ระหว่างเที่ยงคืนวันจันทร์ที่ 20 ต่อตีหนึ่งของวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2482 (นับแบบปัจจุบันให้แล้วผู้อ่านจะได้ไม่งง ซึ่งในเอกสารเขียน 2481 เพราะนับเดือนเมษายนเป็นศักราชใหม่) พ่ออุ๊ยเมืองเรียกคืนที่ครูบาฯ จากไปเป็นภาษาล้านนาว่าเข้าสู่ห้วงเวลา “ตีนฟ้ายก”
“น้อยเมือง” ได้ช่วย “เจ๊กหลิม” นายช่างหรือสล่าคนสำคัญของครูบาเจ้าศรีวิชัย ผู้อาศัยอยู่ใกล้วัดบ้านปาง สร้างศาลาและหีบใส่ศพ ภายใต้การกำกับงานของครูบาอภิชัยขาวปี สล่ามือขวาของครูบาฯ
จากนั้นน้อยเมืองก็ไปนอนเฝ้าครูบาฯ ที่ศาลาศพวัดบ้านปาง สลับหมุนเวียนกับสานุศิษย์จำนวน 400-500 รูป/คนต่อวัน
จนกระทั่งเจ้าวรทัศน์ ณ ลำพูน โอรสของเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ ขอเคลื่อนย้ายศพครูบาฯ ไปไว้ที่วัดจามเทวีแทน เพื่อสะดวกต่อการเอื้อให้คนจากเชียงใหม่และเมืองอื่นๆ มากราบศพครูบาฯ ด้วย
ครูบาเจ้าศรีวิชัย
สอนและฝากอะไรไว้แด่ศิษย์
คําสอนของครูบาฯ ที่ก้องหู “น้อยเมือง” เสมอมาคือสองประโยคที่ว่า “หนึ่ง อย่าไปละขว้างคำสอนของพระพุทธเจ้าเน้อ”
“สอง ให้ยึดศีลห้าเป็นเรือนตาย อย่ายอมแพ้ต่อกิเลสที่มายั่วยุ”
การใช้ชีวิตทางโลกย์ของ “น้อยเมือง” แม้จะสึกจากเพศบรรพชิตมาแล้ว แต่ท่านบอกว่าไม่เคยลืมคำสอนสองข้อนี้จากครูบาเจ้าศรีวิชัยเลย ดังนั้น พ่ออุ๊ยจะไม่ยอมผิดศีลทั้ง 5 ข้ออย่างเด็ดขาด
“อย่าหาว่าพ่อหลวงคุยโวเน่อ วัยหนุ่มพ่อหลวงก็หน้าตาหล่อเหลาอยู่เหมือนกัน มีแม่ญิงซึ่งมีผัวแล้ว หนีผัวที่ไปทำนามาหาพ่อที่บ้าน แกล้งร้องครวญครางว่าบ่าฮู้เป็นหยัง เจ็บที่ท้อง เปิดเสื้อให้พ่อช่วยนวดท้องให้หน่อย พ่อบ่าสนใจ โดนแม่ญิงนั่นเย้ยว่า โถ! เกิดเป็นป้อชายทั้งที แม่ญิงมาให้ท่าถึงบ้านยังบ่ากล้าเอา
“ศีลข้อกาเมฯ นี่ ครูบาฯ ท่านย้ำว่าสำคัญที่สุดสำหรับชีวิตทางโลกย์ เพราะหากรักษาไม่ได้ จะทำให้ครอบครัวแตกแยกล่มสลาย”
นอกจากนี้แล้ว พ่ออุ๊ยเมืองยังอธิบายว่า การสวดมนต์ภาวนาที่ถูกต้องตามหลักที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยสอนให้แก่ญาติโยมพวกน้อย-หนานที่สึกไปแต่งงานมีลูกเมียก็คือ
หนึ่ง อย่าสวดมนต์ใน “สุต” (มาจากศัพท์ “วิสูต” ที่แปลว่าม่านมุ้ง) เพราะมุ้งเป็นสัญลักษณ์ของการหลับนอนร่วมประเวณี ต้องสวดมนต์ในห้องพระ หรือหากบ้านมีห้องจำกัด ก็หามุมที่มีหิ้งพระเล็กๆ
สอง ก่อนสวดมนต์ต้องอาบน้ำชำระล้างทำความสะอาดร่างกายให้บริสุทธิ์เสียก่อน
“ไหว้พระทำพิธีเสร็จแล้ว ห้ามนอนกับเมีย และจะภาวนาในสุต (มุ้ง) ก็ไม่ได้”
พ่ออุ๊ยเมืองสรุปว่า ผู้เป็นลูกศิษย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยทุกคนรู้ดีว่า หลังจากสวดมนต์แล้วจะต้องเจริญภาวนาเท่านั้น โดยไม่ไปมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาอีก
เรื่องเหล้า บุหรี่ ไม่ต้องพูดถึง พ่ออุ๊ยเมืองบอกว่าไม่เคยเสพ ไม่เคยสูบ ไม่เคยดื่ม ทุกวันนี้สุขภาพท่านแข็งแรงมาก ไม่ป่วยไม่เมื่อย ไม่เคยเป็นหวัด หูตายังแจ่มชัด
ท่านเชื่อว่า ทั้งหมดนี้คงหนุนเนื่องมาจากอานิสงส์ของการรักษาศีลห้าอย่างเคร่งครัดนั่นเอง
เมื่อถามว่า พ่ออุ๊ยเมืองกินอาหารมังสวิรัติแบบครูบาเจ้าศรีวิชัยด้วยหรือไม่ ท่านตอบว่าไม่ ครูบาฯ ไม่บังคับลูกศิษย์ให้ต้องทำตาม แล้วแต่สมัครใจ
ที่แน่ๆ พ่ออุ๊ยแอบสังเกตเห็นว่า ในคืนเดือนดับและเดือนเป็ง (หมายถึงแรม 15 ค่ำ และขึ้น 15 ค่ำ) ครูบาเจ้าศรีวิชัยจะไม่ฉันข้าวและกับใดๆ เลย ฉันแค่กลอยนึ่งหัวเล็กๆ หัวเดียว โดยครูบาฯ จะอธิษฐานจิตขอขมาต่อพระแม่โพสพอีกด้วย
ผ้ายันต์ปารมี 30 ทัศ
ภาวนาเม็ดประคำวันละ 75 รอบ
งานประจำวันของพ่ออุ๊ยเมือง ที่เป็นทั้ง “บุญ” และ “อาชีพ” ช่วยให้ท่านมีรายได้หล่อเลี้ยงชีวิตและครอบครัวมาตั้งแต่อายุสามสิบปีจวบปัจจุบันก็คือ การนั่งเขียนผ้ายันต์ด้วยตัวอักขระล้านนา กับคาถาที่ชื่อว่า “ปารมีเก้าชั้น” หรืออีกชื่อคือ “ปารมี 30 ทัศ” อันเป็นคาถาที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยผูกไว้นั่นเอง
ผ้าที่ใช้เขียนต้องเป็นผ้าย้อมสีแดงแล้วลงแป้งให้แข็ง พ่ออุ๊ยบอกว่าสีดั้งเดิมที่ครูบาฯ ใช้เขียนนั้นจะย้อมผ้าด้วยเปลือกไม้กันเอง สีออกแดงคล้ำคล้ายสีจีวรที่ย้อมจากแก่นขนุนแห้ง ไม่ใช่สีแดงสดจัดจ้านแบบนี้
พวกเราช่วยอุดหนุนผ้ายันต์ที่พ่ออุ๊ยเมืองขายราคาผืนละ 100 บาท เฉพาะต้นทุน ค่าผ้าที่สั่งให้ร้านเจ้าประจำส่งมาก็คิดผืนละ 20 บาทแล้ว กับค่าปากกาหมึกดำด้ามละ 15 บาท แต่ละผืนพ่ออุ๊ยจัดวางองค์ประกอบไม่เหมือนกัน เขียนเต็มแน่นทั้งผืน ต้องใช้ปากกาหมด 1 ด้ามต่อ 1 ผืนพอดี
“พ่อหลวงเขียนยันต์เลี้ยงชีพขาย เริ่มจากผืนละ 2-3 บาท ตั้งแต่ 70 ปีที่แล้วสมัยอายุ 30 ต้นๆ ยุคนั้นมีลูกศิษย์ครูบาฯ เขียนแข่งกันหลายคน ทำให้เราต้องมีหัวออกแบบลวดลายไม่ให้เหมือนคนอื่น เหลียวไปเหลียวมา ปัจจุบันเหลือพ่อหลวงเขียนอยู่เพียงคนเดียว”
ผ้ายันต์นี้ให้เอาไปใส่ใต้ปลอกหมอนเมื่อนอนทับ หากต้องเดินทางไปที่แปลกๆ เปลี่ยวๆ ให้พับสี่ทบแล้วซุกบนอก หรือใส่ซ้อนเสื้อตัวในเวลาจะไปป่า เพื่อป้องกันสัตว์ร้ายและมหันตภัยต่างๆ
นอกจากนี้ เรายังเห็นพ่ออุ๊ยเมืองนั่งกลึงเทียนด้วยขี้ผึ้งอีกด้วย ซึ่งเป็นเทียนแท่งโตใช้บูชาประจำวัน มีจำหน่ายชุดละ 300 บาท น่าทึ่งทีเดียว ที่คนอายุ 102 ปียังนั่งทำงานหารายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้อย่างคล่องแคล่วและมีคุณค่า
ส่วนประคำงาช้างเส้นนั้น พ่ออุ๊ยเมืองบอกว่า “นายก่อ” (จำนามสกุลไม่ได้) อาศัยอยู่แถวอำเภอเมืองลำพูนมอบให้มา ในแต่ละวันพ่ออุ๊ยเมืองนั่งภาวนานับเม็ดประคำ (ตกลูกบะนับ) 75 รอบ
โดยแบ่งเป็นสามยก ยกแรกบูชาพระพุทธคุณ นับลูกประคำไป บริกรรมคาถาไปให้ได้ 108 เม็ด ครบวงจรถือเป็น 1 เที่ยว ทำให้ได้ 25 รอบ จากนั้นยกสองบูชาพระธรรมคุณ ยกสามบูชาพระสังฆคุณ รวมแล้ว 75 รอบ
แม้สึกไปนานกว่า 80 ปีแล้ว แต่พ่ออุ๊ยเมืองยังดำรงตนประหนึ่งว่ายังบวชอยู่ ยังอิงแอบแนบแน่นอยู่กับครูบาเจ้าศรีวิชัยทุกขณะ คำกล่าวที่พ่ออุ๊ยเมืองทิ้งท้ายแก่พวกเราก็คือ
“ชีวิตนี้ภูมิใจที่สุดแล้วที่ได้เกิดมาเป็นลูกศิษย์ท่านครูบาฯ ลมหายใจที่เหลืออีกน้อยนิด ขออุทิศให้กับการเขียนยันต์สืบสานปารมี 30 ทัศของครูบาฯ และขอนั่งภาวนานับเม็ดประคำตามรอยท่าน จนกว่าชีพนี้จะละสังขาร”