คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : “หม้อมีนม” ในอินเดีย-ไทย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
ภาพหม้อมีนม หรือหม้ออุขา(Ukha)และอุปกรณ์อื่นๆ เช่นดินปั้นรูปหัวสัตว์ ซึ่งใช้ในพิธี “อัคนิจยนะ”หรือ อติราตรัมของอินเดีย กับภาพหม้อมีนมซึ่งขุดค้นพบที่หนองหญ้าไซ ประเทศไทย ที่มา : thapos.in/index.php/page/past_event และ www.suphan.biz/nongrajwat.html

ในช่วงที่มีการจัดแสดงนิทรรศการพิเศษที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรื่อง “เทวสตรี” มีโบราณวัตถุหลายอย่างที่ผมไปชมแล้วชอบใจ

ที่ออกจะประทับใจมากกว่าอย่างอื่น คือ หม้อดินเผาขนาดใหญ่ใบหนึ่ง ขุดค้นพบที่แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เป็นของใช้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 3,800-4,000 ปี

ตอนที่ขุดพบหม้อใบนี้ มันถูกทุบจนแหลกปูรองใต้หลุมศพชายคนหนึ่ง นักโบราณคดีก็อุตสาหะต่อมันจนเป็นหม้อบริบูรณ์

ที่โดดเด่นกว่าความเก่าแก่ คือมันเป็นหม้อที่ปั้น “เต้านม” ไว้ด้านข้างถึงสี่เต้า และมีลายรูปก้นหอยอีกลายหนึ่ง

นักโบราณคดีท่านจึงตีความว่า หม้อในพิธีกรรมชนิดนี้ น่าจะสื่อถึงเทวสตรี และลายก้นหอยอาจหมายถึงการหมุนเวียน มันจึงถูกนำไปรองก้นหลุมศพ ดุจชายคนนั้นได้กลับไปสู่ครรภ์ของเทพมารดรอีกครั้ง

แล้วหม้อมีนมใบดังกล่าวเพิ่งปรากฏในสื่อไม่นานมานี้เอง

thumbnail_03

thumbnail_02

ผมชอบหม้อมีนมใบนี้บอกไม่ถูกครับ แต่รู้สึกตงิดๆ เหมือนว่าเคยเห็นหม้อที่มีเต้านมคล้ายๆแบบนี้ที่ไหน ค้นไปค้นมาก็เจอครับ

คือที่อินเดียมีหม้อเต้านมคล้ายกับที่มีในบ้านเราเลย ที่สำคัญยังมีการใช้อยู่ในปัจจุบัน

หม้อมีเต้านมของอินเดียชนิดนี้ เรียกว่าหม้อ “อุขา” (Ukha) เป็นหม้อดินเผาที่มีเต้านมปั้นติดไว้ด้านข้าง อุขานั้นมีหลากรูปแบบ แต่มีอยู่ชนิดหนึ่งที่มีความคล้ายคลึงกับที่พบในบ้านเรา ต่างกันที่ของเขามีเต้านมแปดเต้า ของเราสี่

คำว่า “อุขา” ในสมัยโบราณหมายถึงหม้อที่ใช้เตรียมอาหาร ปัจจุบันเป็นหม้อที่มีใช้ในพิธี “อัคนิจยนะ” (Agnicayana) หมายถึง “การตั้งแท่นบูชาไฟ” หรือเรียกอีกอย่างว่าพิธี “อติราตรัม” นักภารตวิทยาเชื่อว่าเป็นพิธีในพระเวทที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ยังมีการปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน บางท่านเชื่อว่าพิธีนี้น่าจะมีอายุถึงราว 3,000 ปีขึ้นไป

รายละเอียดของพิธีมีอยู่ในคัมภีร์กฤษณยชุรเวท (ยชุรเวทดำ) ซึ่งแพร่หลายในอินเดียภาคใต้ และมีพราหมณ์เพียงพวกเดียวที่ยังทำได้ คือพราหมณ์ “นัมพุทิริ” (Nambudiri) ซึ่งมีถิ่นพำนักในรัฐเกราละ

อัคนิจยนะกินเวลาสิบกว่าวัน โดยก่อนถึงพิธี พวกพราหมณ์จะต้องสร้างข้าวของเครื่องใช้ในพิธีหลายสิบอย่าง นอกจากหม้ออุขาแล้ว ยังมีของพิเศษที่สื่อถึง “การบูชายัญ” เช่น เครื่องปั้นดินเผารูปศีรษะแพะ ม้า และ “มนุษย์ผู้หญิง”

แสดงว่าในอดีต พิธีนี้เขาบูชายัญกันจริงๆ ในปัจจุบันยังต้องเอาแพะ ม้าและผู้หญิงหนึ่งคนเข้าไปในพิธี พอให้เป็นสัญลักษณ์ แต่ไม่มีการบูชายัญกันอีกแล้ว เพราะพราหมณ์นัมพุทิรีกลายเป็นนักมังสวิรัติ และละเลิกการฆ่า

น่าสนใจนะครับว่า พิธีบูชายัญของพราหมณ์ผู้ชายบูชายัญผู้หญิงได้ (เท่าที่เหลืออยู่มีเพียงอันนี้อันเดียว) แต่พิธีบูชายัญของเทวีหรือในความเชื่อชาวบ้าน ล้วนแต่บูชายัญผู้ชายหรือสัตว์ตัวผู้ทั้งนั้น และแพร่หลายกว่า

พิธีนี้มีส่วนสำคัญสองอย่างคือการบูชาไฟ และการ “คั้นน้ำโสม” เพื่อถวายเทพเจ้า แต่แท่นบูชาไฟในอัคนิจยนะพิเศษกว่าพิธีบูชาไฟอื่นทั้งหมดในศาสนาฮินดู คือจะต้องก่ออิฐนับพันก้อนเป็นรูป “สุปรรณ” (ครุฑ) หรือหมายถึงนกเหยี่ยวก็ได้ และบูชาไฟบนแท่นรูปนกนั้น

ถาดทอดขนม”อุนนิอัปปัม” หรือขนมครกแขก ที่มา : http://fxcuisine.com/Default.asp?language=2&Display=140&resolution=high
ถาดทอดขนม”อุนนิอัปปัม” หรือขนมครกแขก
ที่มา : http://fxcuisine.com/Default.asp?language=2&Display=140&resolution=high

ผมเล่าเรื่องนี้ให้ อ.ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ฟัง ท่านก็วาบขึ้นมาว่า เออๆ ฟังดูแล้วนึกถึง นกฟีนิกส์หรือนกอมตะ ที่จะเผาตัวเองในเพลิงแล้วกลับมีชีวิตใหม่

น่าสนใจ น่าสนใจ

บทบาทของหม้ออุขาชนิดแปดเต้า คือจะทำหน้าที่บรรจุกองไฟซึ่งจุดในที่แรกไปยังแท่นบูชา

ท่านอธิบายว่าอาจเพราะสตรี คือ “พลัง” หรือ “ศักติ” อันมี “ความร้อน”หรือเดชอยู่ภายใน จึงใช้หม้ออุขาบรรจุไฟ ส่วนอุขาชนิดอื่นๆ ก็ใช้บรรจุของต่างๆ ในพิธี

นอกจากหม้ออุขาแล้ว ในสัญลักษณ์ของศาสนาฮินดู “เต้านม” ยังแฝงอยู่ในรูป “หม้อน้ำ” ชนิดต่างๆ ที่ใช้ ในพิธีกรรม เช่น “หม้อกลัศ”หรือ “พระเต้า”

สังเกตในบ้านเราก็ได้นะครับ ถ้าเป็นพิธีพราหมณ์นอกจากจะใช้สังข์แล้ว ก็ใช้หม้อปากแคบหรือก้นแคบบรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งนั้น ไม่ใช้ภาชนะทรงอย่างขันหรือครอบน้ำมนตร์เช่นในพิธีของพุทธ

ที่ต้องใช้อย่างนี้ ลึกๆ ก็เพราะน่าจะเป็นทรงของภาชนะที่สะท้อน “เต้านม” ของสตรีนั่นแล

อะไรจะศักดิ์สิทธิ์ไปกว่า “เต้านมของแม่” ล่ะครับ เพราะในนั้น บรรจุ “น้ำอมฤต” เอาไว้ ที่พอเราดื่มกินก็เติบโตมีชีวิตรอดมาได้

ดังนั้น ในเทวลักษณะของพระเทวีทั้งหลาย เขาถึงปั้นให้มีพระถันเต่งตึงใหญ่โต และมักเปลือยถันเสียด้วย เพราะมันเป็นสิ่งแสดงถึงความเป็นเทพมารดรผู้หล่อเลี้ยงชีวิตทั้งหลาย และเป็นความงามพึงปรารถนาที่ชักนำให้เกิด “กามะ” อันเป็นแรงขับแรกของสกลจักรวาล อันจะก่อเกิดชีวิต

พิธีอัคนิจยนะจะจบลงโดยการเผาปะรำพิธีทั้งหมด ครั้งล่าสุดที่มีการประกอบพิธีคือในปี 2013 แต่ก่อนหน้านั้น จัดขึ้นในปี 1975 ซึ่งเดิมคิดกันว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว และทั้งสองครั้งได้มีการถ่ายภาพยนตร์ไว้เพื่อการศึกษาด้วย

หม้อมีนมที่หนองหญ้าไซกับหม้ออุขาของอินเดียอาจไม่เกี่ยวข้องอะไรกันเลยก็ได้ แต่อย่างน้อยๆ การพบว่ามีหม้อมีนมในอารยธรรมอื่นที่ยังใช้อยู่ก็คงช่วยให้เราเกิดจินตนาการและพอจะเชื่อมโยงความหมายของสองหม้อนี้เข้าด้วยได้กระมัง

นอกจากเรื่องหม้อมีนมแล้ว ผมยังมีเรื่องสนุกๆ ที่พอจะเชื่อมโยงกับบ้านเราได้อีกเรื่อง คือในรัฐเกราละ มีขนมที่เรียกว่า อุนนิอัปปัม (Unni Uppam) หรือบางท้องถิ่นเรียก ปัดดุ (Paddu)

“อัปปัม” หมายถึงขนมที่ทำด้วยแป้งข้าวซึ่งมีหลายรูปแบบ คำอินเดียใต้คำนี้คนปักษ์ใต้บ้านผมรู้จักกันดี เพราะเรามีขนมที่รับมาจากคนอินเดียที่มาทำเหมืองแร่ตั้งแต่ก่อน แต่เราเรียกเพี้ยนไปเป็น อัปโป๊ง-อาโป้ง หน้าตาส่วนผสมก็คล้ายกัน ส่วนอุนนิ แปลว่า “เล็ก” ครับ

เจ้าอุนนิอัปปัมนี่คือ “ขนมครก” แขก เขาใช้แป้งข้าวเจ้า กล้วย น้ำตาลอ้อย มะพร้าวขูด บดรวมกันแล้วหยอดลงในพิมพ์โลหะขนาดเล็กเป็นหลุมๆ ทอดด้วยน้ำมันมะพร้าวหรือเนย พอสุกก็เอาสองฝามาประกบกัน

ผมเชื่อว่านี่คือพ่อแม่ของขนมครกของเราครับ เพราะของเขามีมานานมากแล้ว แต่จะเข้ามาตอนไหนไม่ทราบได้ ทราบแต่ขนมครกเราน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

ที่สำคัญคือ บางครั้งเจ้าถาดทอดขนมอุนนิอัปปัมนี้ เค้าจะทำเป็นรูปเต้านมครับ คือด้านนูนของหลุมก็แต่งให้เป็นรูปเต้านมเสีย ถาดนึงมีห้าหลุม มีเต้านมสี่เต้า ตรงกลางเขาไม่ทำ

เห็นแล้วก็ชวนคิดไปยันหม้ออุขาในความหมายเดิม หรืออาจตกทอดเล็ดลอดมาในครัวเรือนบ้างกระมัง

เขียนเรื่องหม้อมีนมอีท่าไหน มาออกเรื่องขนมครกได้ก็ไม่รู้

ยุคนี้ยุคเชื่อมโยงครับ ขนาดทำอะไรไม่ผิดกฎหมายยังเชื่อมโยงไปให้ผิดจนได้

เขียนเรื่องผี พราหมณ์ พุทธ ทำไมจะเชื่อมโยงไปการเมืองไม่ได้ (ฮา)