น้ำตาหลัง 180 วัน : โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่12/สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร
—————–
น้ำตาหลัง 180 วัน
——————
จะว่าดราม่า ก็ดราม่า
แต่อยากให้อ่าน เรื่อง “ซู” กับ “เอ” ในคอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว “ยุทธศาสตร์แรงงานต่างด้าว..การค้ามนุษย์ถูกสกัด..แถมมีเงินสะพัดหมื่นล้าน” โดย มุกดา สุวรรณชาติ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับล่าสุด
ซูกับ เอ สองผัวเมีย ชาวพม่า
ซู..ทำงานในรีสอร์ตเล็ก ๆ เป็นคนสวนดูแลต้นไม้ และช่วยนายจ้างแล้วแต่จะเรียกใช้
ซูมีรถจักรยานยนต์มือสองคันหนึ่ง ซื้อในชื่อเจ้าของรีสอร์ต
ส่วน..เอ…เป็นแม่บ้านในรีสอร์ต
ทั้งคู่มีลูกสาวเข้าเรียนโรงเรียนไทย
เมื่อพรก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ประกาศ
เพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์โจษขานกันแซ่ดว่า ตำรวจจะจับพวกต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาต หรือมีแต่ไม่ถูกต้อง
นายจ้างเริ่มลอยแพคนงานกันแล้ว
แม้เสียดายคนงาน แต่คิดว่าปลอดภัยไว้ก่อน ดีกว่าถูกจับต้องเสียเงินหลายแสน
คนงานเองก็กลัวติดคุก
ซูยังใจเย็นอยู่สองวัน
แต่เอไม่ยอม เริ่มเก็บข้าวของจำเป็นใส่กระเป๋าผ้าใบโต
ผัวเมียเริ่มทะเลาะกัน
เจ้าของรีสอร์ตก็ไม่แน่ใจว่า ควรทำอย่างไร

สุดท้ายซูเลยบอกขายรถจักรยานยนต์ เป็นของรักของหวงที่สู้อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบซื้อมาในราคา 25,000 บาทให้ช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ที่รู้จักกันดีไปในราคา 7,000 บาท

ทีวี 32 นิ้วก็ต้องขายไปในราคาถูก ๆ
ซูกัดฟันทนยอมขายทิ้งไปทุกอย่าง
หนทางข้างหน้าก็มืดมน
เขาจากบ้านมาตั้งแต่วัยรุ่นจะกลับไปทำมาหากินอะไรเลี้ยงลูก
จะไปแย่งพี่น้องทำไร่ก็มีที่ดินแค่กระแบะมือ
ซูร้องไห้อยู่ในอก
แต่ลูกกับเมียกอดกันร้องไห้โฮ
ในวันรุ่งขึ้นต้องเดินทางกลับบ้าน….
มองในเชิง มนุษยตัวเล็กๆ นี่ถือเป็นโศกนาฏกรรม ที่เรียกน้ำตาได้
แต่มองในเชิงยุทธศาสตร์ชาติและเกี่ยวพันกับ “ความมั่นคง” แล้วน้ำตาที่อาบไหลนี้ดูจะไร้ความหมาย
“แรงงานต่างด้าว” คือสิ่งที่ต้องจัดการ
ยิ่งเมื่อมาจัดการในห้วงรัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จ จึงสวิงไปทางเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ด้วย
แต่โชคไม่ดี ความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ได้มีแต่ด้าน”บวก”หากพ่วงเอาด้านลบมาด้วย
และบังเอิญเรื่องนี้ “ด้านลบ” มีมากเกินคาดหมาย
รัฐบาลก็เลยต้องยอมเสียหน้าใช้ความเบ็ดเสร็จแก้ความเบ็ดเสร็จ เพื่อลดผลกระทบ
โดยซื้อเวลาไปอีก 180 วัน ด้วยหวังว่า ทุกฝ่ายจะปรับตัว รับกฎหมายแรงๆแบบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานชูเป็นคำขวัญ “ผิดเป็นจับ ปรับเป็นแสน”
ซึ่งก็ไม่รู้ว่า เมื่อ 180 วันผ่านไปแล้ว ทุกอย่างจะเรียบร้อยตามที่หวังหรือไม่
แต่ก็ได้ยินเสียงเตือนๆจากหลายฝ่ายว่า เรื่องแรงงานต่างด้าวมันสลับซับซ้อน มากกว่าที่จะจัดการได้ด้วยกฎหมาย “แรงๆ” อย่างเดียว
จำเป็นต้องเปิดกว้าง ฟังเสียง ฟังข้อมูลให้รอบด้าน มากกว่าจะยึดเรื่องความมั่นคง เพียงอย่างเดียว และแน่นอนควรอภิปรายถกเถียงในบรรยายกาศที่เป็นประชาธิปไตย
จะมาหักคอ ด้วยการออกเป็น”พระราชกำหนด”ไม่เหมาะ เพราะได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีอีกหลายด้านที่ไม่ได้คาดหมาย ก่อผลลบ รุนแรงอย่างยิ่ง
ซึ่งแม้วันนี้ พ.ร.ก.จะกลายเป็นพ.ร.บ. แล้ว แต่แก้เนื้อหาอะไรไม่ได้
ยังดำรงสภาพแรงและเข้ม “ผิดเป็นจับ ปรับเป็นแสน”อย่างเต็มขั้น
ซึ่งก็เริ่มมีเสียงเตือนๆออกมาแล้วว่า หลัง 180 วัน
จะมีน้ำตาไหลพรากจากเหยื่อที่ยังจัดระเบียบไม่เสร็จอีกหลายกลุ่ม
เหยื่อ ของผีสูบเลือดที่ชูป้ายถ้าไม่อยากผิดเป็นจับ และถูกปรับเป็นแสน–ก็จ่ายส่วยหรือเงินใต้โต๊ะมาดีๆ
ระวังและหาทางป้องกัน ผีเหล่านี้ให้ดีๆก็แล้วกัน
——————————————

ติดตามรับชมคลิปวิเคราะห์และความคิดเห็นจากนักวิชาการด้านมานุษยวิทยาและเชี่ยวชาฐด้านพม่าได้ที่นี่