‘ชีวจล’ ในเผ่าชนของ ‘จราย’ และความไม่เคยเท่าเทียม/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

‘ชีวจล’ ในเผ่าชนของ ‘จราย’

และความไม่เคยเท่าเทียม

 

“ฟอสซิลซากศพนักรบอเมริกันสมัยสงครามเวียดนามตามโฮจิมินห์เทร็ลทั้งในเขมร-ลาว ล้วนได้กลับมาตุภูมิ”

ในรัตนคีรี ร่องรอยของบี-52 เคยถูกพบโดยง่ายใน ‘บ้านลง’ สมัยที่ฉันยังอาศัย ว่าไปช่างกระไร นี่เป็นสัญลักษณ์อันตรงข้ามกับหลุมศพชาวตุมปวน-จราย ชนชาติกลุ่มน้อยของเขมร ที่พวกเขามักกลบฝังศพผู้ตายง่ายๆ ด้วยนูนดินเล็กๆ ตามชายป่าข้างทางหรือรอบเขตคามของหมู่บ้าน บางหลุมที่ยังสดใหม่มีใบไม้ใส่เครื่องเซ่นพอเห็นได้

สำหรับฉัน ก่อนปีสหัสวรรษ การได้เห็นหลุมศพชนเชียด (ชนชาติ) และหลุมบี-52 เป็นการค้นหาความหมายของคนที่ว่างงานสำหรับอาสาสมัครในรัตนคีรี-จังหวัดที่เวลามักทอดยาวออกไปโดยเฉพาะในฤดูหนาว

ดังนี้ เมื่อกลับไปอีกหลังสหัสวรรษที่การเปลี่ยนแปลงโลกอื่นช่างตื่นโครมครามนั่น ร่องรอยหลุมระเบิดบี-52 และวิถีชนชาติแบบเดิมนั้น ถูกกลืนไปมากจนแทบจะไม่เหลือว่า “เคยมีพื้นที่และความตายแบบนั้น”

ฟอสซิลที่ตกค้างในโฮจิมินห์เทร็ลยังถูกพากลับบ้าน แล้วชาวชนเชียดเล่า พวกเขาหายไปไหนกัน?

ถ้าฉันเป็นริบแวงวิงเคิลแห่งบ้านลงคนนั้น เรื่องเล่าของฉันก็เป็นแค่เรื่องโกหกและโสมมกระมัง?

ฉันไม่อยากลืมการเดินทางที่ยากลำบากในการไปแต่ละครั้งเพื่อพบว่าความลึกลับอันเรียบง่ายและเป็นเสน่ห์ของที่นั่นกำลังจะหายไปทุกที

ความสุขระยะสั้นอันประหลาดนั่นอันเกิดจากการเฝ้ามองหลุมศพชาวชนเชียดและวัดขนาดบี-52 ได้ผ่านพ้นไปแล้วราวกับฤดูหนาวของที่นี่ที่สั้นลง

แต่บางครั้ง ฉันก็นึกไม่ออกว่า ทำไมจึงมีหนุ่ม-สาวบางคนยอมติดกับดักชีวิตในรัตนคีรี โดยเมื่อกลับบ้านเกิดเมืองนอนแล้ว ก็ยังมีสภาพไม่ต่างจากฟอสซิลทางภาวะจิตใจด้วยความคลุมเครือที่ถูกผูกไว้กับลึกลับเรียบง่าย

ทว่า 20 ปีผ่านไป สิ่งแวดล้อมภูมิศาสตร์และความลึกลับเรียบง่ายของผู้คนที่ลดเลือนหายไป

เหลือแต่ “ริบแวงวิงเคิลแห่งบ้านลง” คนนั้นผู้เจ็บช้ำน้ำใจ

มันยังพอเหลืออยู่แต่ห่างไกลออกไปจากเขตชั้นใน ภายในเรือนไม้ศิลปะอาศัยแบบเขมร-ลาวที่พบได้ทั่วไปในบ้านลง หากถีบจักรยานออกไปลงไปทางตอนใต้เส้นทางที่ฉันเคยหวาดกลัวว่าเป็นเขตคนเถื่อนที่ดุร้าย แต่เรือนไม้สองชั้นที่นั่นเมื่อเดินผ่านขึ้นไปตรงเคาน์เตอร์ไม้ด้านซ้าย แม่ครัวสาวเขมรเธอกำลังรอเราเพื่อปรุงเมนูอาหารสำหรับแขกมื้อค่ำวันนี้

อาสาสมัครรุ่นแรกๆ ที่ฝังตัวทำงานด้านวิจัย การอยู่ที่นี่นานๆ กับชาวท้องถิ่นแบบดั้งเดิมดูจะสิ้นไร้ร่องรอยนั้น แต่เดิมทีไซม่อนเคยเข้า-ออกกินอยู่กับชาวชนชาติจราย แต่นั่นมันก็สิบกว่าปีมาแล้ว และกระต๊อบไม้ไผ่ที่ชาวชนเชียดปลูกให้ก็ถูกไล่รื้อจากนายทุนไม่ต่างจากที่ดินทำกินของตน

การมาอยู่คลุกคลีกับชาวเขมรล่าง พนมเปญหรือชาวเขมรกลาง เช่นเธอคนนี้ ใช้ชีวิตที่นี่กับสามีชาวยุโรป บางทีพูดคุยบทสนทนาระหว่างมื้ออาหารในแบบฟิวชั่นที่เจือโรยด้วยสมุนไพรกัญชา ตามด้วยเครื่องดื่มเย็นๆ และฉันคิดว่า จริงๆ แล้วถ้ากำโปดเป็นเมืองของนักเขียน รัตนคีรีก็เป็นเมืองของมิชชันนารีในยุคก่อน…แต่ตอนนี้มันเป็นของพวกเอ็นจีโอ

ในความสังสรรค์ บ้านลงมีเสน่ห์มาก โดยเฉพาะตอนค่ำในอดีตลานสนามบินของหมู่บ้านคือที่หลงใหลการดูดาว ยิ่งมีกัญชาช่วยผ่อนคลาย เมื่อลานดินนี้หายไป ดูเหมือนเอ็นจีโอยุคหลังจะรื่นรมย์กับคาเฟ่อาหารกรีนภายในเรือนเงียบสงบและมีโซฟานุ่มสบาย

เอาตามตรง เพื่อให้เกียรติผู้มาก่อนคือชาวจราย หนึ่งในตำนานของชาวบ้านลง ฉันขอเล่าเรื่องพวกเขาจากงานเขียนเล่มใดฉันก็จำไม่ได้

ชาวจรายมีอาวุโสประจำหมู่บ้านคนหนึ่งคือ ‘เกอเลน บูเรน’ (Keulagn Beuragn) ผู้ริเริ่มทำศาลเพียงตาและให้ชื่อว่า ‘โปสาท-อเตา’ (posat at?o) โดยนอกจากจะเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในบรรพบุรุษแล้ว โปสาท-อเตายังมีความเป็น ‘ยง’ (yang) หรือ ‘ผี’ (spirit) อีกด้วย

กระนั้น ฉันอดนึกถึงบทความของศาสตราจารย์อึง จูเลียง ผู้เชี่ยวชาญด้าน ‘เนียะตา’ ที่เคารพสักการะของชาวเขมรว่า ‘โปสาท-อเตา’ ของชาวจราย ต่างมีสมมุติฐานที่มีความเชื่อมโยงระหว่าง ‘โปสาท-อเตา’ ของชาวแขมร์เลอกับ ‘เนียะตา’ ของชาวเขมรลุ่ม

ชะรอยแต่ก่อนแต่ไร เรื่องเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมเดียวกัน

แม้ว่านักวิชาการเขมรยุคใหม่จะพยายามประดิษฐ์ไฉนให้ ‘เนียะตา’ กลายเป็นความเชื่อแบบใหม่ที่ไม่ใช่ผีสางหรืออมนุษย์ชั้นต่ำแต่อย่างใด หากแต่เป็นธาตุพระภูมิเจ้าที่ ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีพในชุมชนของชาวเขมรทั่วไป

และด้วยเหตุนั้น ศ.จูเลียงจึงให้สมมุติฐานเสียใหม่ในความเชื่อนี้โดยเรียกมันว่า “ชีวจล”

ว้าว ซึ่ง ‘ชีวจล’ นั้น ก็เจริญงอกงามมาจนถึงปัจจุบัน ซ้ำยังเกี่ยวกับลัทธิพราหมณ์ตลอดจนพุทธศาสนาอย่างมีนัยยะสำคัญ

น่าแปลกที่ว่า ไม่ว่ากัมพูชาจะรุ่งเรืองเช่นยุคกลาง หรือปราชัยตกต่ำหลังจากนั้น ชีวจลก็ไม่เคยหายไปจากความเชื่อของชาวกัมพูชา

แม้ไม่ได้ผูกติดความคิดแบบนักมานุษยวิทยา แต่บ่อยครั้ง เขตคามเขมรสูงของกัมพูชามักกระตุ้นปุ่มประสาทของฉัน โดยเฉพาะเรื่องรกรากของชาติพันธุ์และภูมิศาสตร์แวดล้อมในบางชนเผ่าที่อาศัยในเขตพนม ภูเขาอย่างรัตนคีรี มณฑลคีรีและกำโปด

ที่ผ่านมา นอกจากการเปรียบเทียบทางโครงสร้างของภาษาแล้ว การจัดหมวดหมู่ชนชาตินี้ยังเป็นที่น่าเสียดายในการศึกษาด้านชาติพันธุ์วิทยาเมื่อเทียบเท่ากับอัตลักษณ์เชิงวิทยาศาสตร์ บางทีฟอสซิลเขมรชนชาตินี้ จะมีความน่าสนใจไม่ต่างจากหินใสในทะเลสาบยักษ์ล้อมที่เกิดจากการระเบิดภูเขาไฟเมื่อหลายพันปีก่อนและคงที่อยู่เช่นนั้น

ต่างจากชาวเขมรล่าง ที่ ‘ชีวจล’ ของพวกเขาได้ยกระดับพัฒนาโดยเฉพาะในยุคกลาง งอกงามสลักเสลาเทียบเท่ากับ ‘ศิวลึงก์’

นอกจากจะเป็นฉบับองคชาติไปแล้ว มันเป็นเพิ่มคำว่าเทววิทยาไปอีกตะหาก และแต่นั้น ‘ชีวจล’ แบบเขมรก็พัฒนาเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ซึ่งทั้งเนียะตาและศิวลึงก์ก็คู่เคียงกันมา

ความลึกลับทางชนชาติและวัฒนธรรม ช่างเป็นเรื่องที่ฉันคิดไม่ถึงเสมอ โดยขณะที่อาณาจักรเขมรเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสทั้งยุคกลางและยุคหลัง หากความร่วมสมัยเดียวที่เราได้พบนั้น คือยุคอาณานิคมที่ชาวแขฺมร์เลอได้รับความเท่าเทียมด้านกฎหมายและการศึกษาในรูปชุมชนของบาทหลวงคาทอลิก

ก่อนความสำคัญของชาติพันธุ์และถิ่นฐานถูกคุกคามและสูญเสียสถานะความเป็นชนชาติอย่างไม่เคยมีมาก่อนในบันทึกประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ แม้แต่ยุคสุดท้ายที่พวกเขาได้มีส่วนเข้าร่วมกับขบวนการปฏิวัติของระบอบ พล พต ซึ่งพบว่าเป็นยุคที่ชาติพันธุ์ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

ต่างจากปัจจุบัน อย่าว่าแต่ ‘ชีวจล’ ของจรายและชนเผ่าอื่นๆ เลย

แม้แต่ความเป็นมนุษย์ก็ยังต่ำกว่ายุคใด