การศึกษา / ศาลคืนความเป็นธรรม ‘2’ ครู ชวดบรรจุครูผู้ช่วยนาน 4 ปี

การศึกษา

ศาลคืนความเป็นธรรม ‘2’ ครู

ชวดบรรจุครูผู้ช่วยนาน 4 ปี

 

เป็นเรื่องสะเทือนวงการครู นานถึง 4 ปีกับกรณี น.ส.วนาลี ทุนมาก หรือครูแอน และ น.ส.นิราวัลย์ เชื้อบุญมี หรือครูวัลย์ ถูกปลดจากครูผู้ช่วย โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม จ.ตาก เนื่องจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ตาก ไม่อนุมัติการบรรจุแต่งตั้ง หลังสอนได้ 5 เดือน

กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2560 โดยครูแอนและครูวัลย์ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ตาก ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตากและจังหวัดสุโขทัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ตามขั้นตอนก่อนฟ้องศาลปกครอง

ล่าสุดศาลปกครองมีคำพิพากษาออก โดยให้คงสิทธิการบรรจุแต่งตั้งตำแหน่งครูผู้ช่วยในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ตาก หรือ สพม.สุโขทัย ซึ่งแยกออกมาจาก สพม.38 เดิม ตามกระบวนการขั้นตอนทางกฎหมายและในโอกาสแรกที่ทำได้

และให้หน่วยงานต้นสังกัดชดใช้ค่าเสียหายจากการที่ไม่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง โดยเทียบกับอัตราเงินเดือนที่สมควรได้รับ นับตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2560 ถึงวันที่ฟ้องคดีคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เป็นจำนวนเงินรายละ 93,797.71 บาท และให้ชดใช้ค่าเสียหายนับจากวันฟ้องคดี เป็นเงินเดือน เดือนละ 15,800 บาท จนถึงวันที่ผู้ฟ้องได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นครูผู้ช่วย

รวมทั้งให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการที่ไม่ได้รับเงินสำหรับการปฏิบัติงานประจำสำนักงานในพื้นที่พิเศษ ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2560 ถึงวันที่ 22 กันยายน 2560 เป็นเงิน 4,636.54 บาท ทั้งนี้ ให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีสิ้นสุด

ทั้งครูแอนและครูวัลย์ยอมรับว่าดีใจที่ได้ความเป็นธรรม เหลือเพียงลุ้น สพฐ. ว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่!!

 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2560 กศจ.ตากมีมติให้ สพม.เขต 38 (สุโขทัย) เรียกผู้สอบขึ้นบัญชีได้มาบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วย ตามประกาศของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 38 (สพม.เขต 38) ในขณะนี้ ปัจจุบันแยกเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.)ตาก และ สพม.สุโขทัย ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 และประกาศลงวันที่ 19 ตุลาคม 2558 ในสาขาวิชาเอกตามที่โรงเรียนต้องการ

กรณีโรงเรียนอุ้มผางฯ ได้รับบรรจุ 2 อัตรา คือ วิชาเอกสังคมศึกษา 1 อัตรา (ตำแหน่งเลขที่ 4261) และคณิตศาสตร์ 1 อัตรา (ตำแหน่งเลขที่ 44851)

ตำแหน่งเลขที่ 4261 ไม่มีปัญหา แต่ตำแหน่งเลขที่ 44851 ทาง สพม.เขต 38 อ้างว่าผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีวิชาเอกคณิตศาสตร์ไม่มารายงานตัว

ทาง สพม.เขต 38 จึงเรียกผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีวิชาเอกสังคมศึกษามาบรรจุแทน

ให้เหตุผลว่าโรงเรียนอุ้มผางฯ ยังขาดครูอีก 20 คน เฉพาะวิชาสังคมศึกษายังขาดถึง 7 คน ถ้าเรียกผู้ขึ้นบัญชีในวิชาเอกสังคมศึกษามาบรรจุแทน จะเป็นประโยชน์กับโรงเรียนอุ้มผางฯ ที่มีนักเรียนถึง 1,500 คน และเป็นนักเรียนกินนอน 500 คน

จึงเรียกผู้สอบแข่งขันได้ในวิชาเอกสังคมศึกษาในลำดับที่ 66 และ 67 (ครูแอนและครูวัลย์) มาบรรจุแทนในตำแหน่งเลขที่ 103583 และ 2128 โดยให้มารายงานตัวที่เขตพื้นที่และโรงเรียนอุ้มผางฯ ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 ก่อนบัญชีครบ 2 ปีในวันที่ 10 พฤษภาคม 2560

พร้อมทั้งทำเรื่องเข้า กศจ.ตากเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2560 เพื่อขออนุมัติการบรรจุแต่งตั้ง

 

สพม.เขต 38 เรียกบรรจุครูวิชาเอกสังคมศึกษา 2 อัตรา แทนที่จะเป็น 1 อัตรา อ้างเหตุผลว่าเกิดจากความผิดพลาดด้านธุรการ ทำให้คัดลอกอัตราว่างวิชาเอกคณิตศาสตร์ของโรงเรียนสรรพวิทยาคม มาเสนอขอบรรจุ แทนที่จะเป็นตำแหน่งว่างวิชาเอกคณิตศาสตร์ของโรงเรียนอุ้มผางฯ

ทำให้ตำแหน่งว่างวิชาเอกคณิตศาสตร์ของโรงเรียนอุ้มผางฯ มีเพียง 1 ตำแหน่ง ทั้งที่ยังมีตำแหน่งว่างอีก 1 ตำแหน่งจากการที่ครูขอย้าย/ลาออก สพม.เขต 38 ทำเรื่องเข้า กศจ. ขอแก้ไขมติ กศจ.ตากในวันที่ 24 เมษายน 2560 ขอเปลี่ยนสาขาวิชาเอกและขอเพิ่มการบรรจุวิชาเอกสังคมศึกษาเป็น 2 อัตรา โดยชี้แจงว่าผู้สอบแข่งขันได้ในวิชาเอกคณิตศาสตร์ไม่มารายงานตัวที่เขตพื้นที่ และเป็นความต้องการของโรงเรียนอุ้มผางฯ ที่ต้องการให้บรรจุครูวิชาสังคมศึกษาแทน

นับจากเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม 2560 กศจ.ตากตีกลับข้อเสนอ สพม.เขต 38 ไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง

ให้เหตุผลว่าเป็นการเสนอขอบรรจุในตำแหน่งว่างที่เกิดขึ้นใหม่ ที่ไม่ตรงกับที่ กศจ.อนุมัติ

กระทั่งวันที่ 12 ตุลาคม 2560 สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ตาก นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (อกศจ.) ตากอีกครั้ง เพื่อหารือกรณี สพม.เขต 38 เสนอขอให้เพิ่ม/แก้ไขอัตราว่างที่ขอบรรจุ ในรายงานการประชุม กศจ.ตาก ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2560 สาขาวิชาเอกสังคมศึกษาของโรงเรียนอุ้มผางฯ จากเดิม 1 อัตรา มาเป็น 3 อัตรา

อกศจ.ตากมีมติไม่เห็นชอบการขอเพิ่ม/แก้ไขวิชาเอกคณิตศาสตร์ เป็นวิชาเอกสังคมศึกษา เพื่อนำไปใช้บรรจุและแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้

และไม่เห็นชอบการขออนุมัติบรรจุและแต่งตั้ง น.ส.วนาลี ทุนมาก และ น.ส.นิราวัลย์ เนื่องจากบัญชีครบ 2 ปีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2560 ไปก่อนแล้ว

และเมื่อเข้าที่ประชุม กศจ.ตากอีกครั้งในวันที่ 16 ตุลาคม 2560 ก็มีมติตามเดิม

 

สพม.เขต 38 ทำหนังสือถึงโรงเรียนอุ้มผางฯ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 เพื่อแจ้งมติ กศจ.ตากให้ทราบ และเป็นผลให้ครูแอนและครูวัลย์ต้องพ้นจากข้าราชการครูในตำแหน่งครูผู้ช่วยนับแต่นั้น

ประเด็นที่น่าสนใจ โรงเรียนอุ้มผางฯ เป็นโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ทำให้ครูแอนและครูวัลย์ สพม.เขต 38 จึงมองเป็นประโยชน์ของโรงเรียนอุ้มผางฯ ที่ได้ครูมาชดเชยที่ขาดแคลน

ทั้งที่ครูแอนและครูวัลย์ก็มีชื่ออยู่ในบัญชีรวมของ กศจ.สุโขทัยด้วย ถ้าไม่ติดปัญหา ครูทั้งสองก็คงได้บรรจุที่สุโขทัยไปแล้วเพราะบัญชีรวมของ กศจ.สุโขทัยทั้ง 18 คนได้เรียกบรรจุไปหมดแล้ว (ครูแอนลำดับ 16 และครูวัลย์ลำดับ 17 ของบัญชีรวมของ กศจ.สุโขทัย)

แถมได้บรรจุในภูมิลำเนาและตรงวิชาเอกที่สอบแข่งขันได้

เกิดคำถามตามมา ทั้งกรณีผู้สอบแข่งขันได้ในวิชาเอกคณิตศาสตร์ไม่มารายงานตัว ทำไมไม่เรียกลำดับถัดไป ก่อนเรียกรายงานตัว การที่ สพม.เขต 38 ทำหนังสือลงวันที่ 25 เมษายน 2560 ถึงครูแอนแจ้งให้ไปรายงานตัวที่เขตพื้นที่ และโรงเรียนอุ้มผางฯ ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 (ตามหนังสือร้องทุกข์ระบุว่าวันดังกล่าว เรียกวิชาเอกสังคมฯ ไปรายงานตัวที่โรงเรียนอุ้มผางฯ พร้อมกัน 3 ลำดับ คือ 63,66,67) น่าสงสัยว่า สพม.เขต 38 ทราบได้อย่างไรว่าจะมีครูคณิตศาสตร์สละสิทธิ์ ในเมื่อทำหนังสือหลัง กศจ.ตากมีมติแค่วันเดียว และแม้จะมีครูวิชาเอกคณิตศาสตร์สละสิทธิ์จริง

หรือกระทั่งการออกบัตรข้าราชการให้ครูแอนและครูวัลย์ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นวันรายงานตัว เท่ากับออกบัตรให้ก่อนมีคำสั่งบรรจุแต่งตั้ง และที่สำคัญช่วงนั้นเป็นอำนาจของ ศธจ.แล้ว เพราะตามโครงสร้างใหม่ตามคำสั่ง รัฐบาล คสช. ให้อำนาจการสั่งบรรจุแต่งตั้งเป็นของ ศธจ. ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2560

และที่สำคัญที่สุดคือ กรณีผู้ขึ้นบัญชีวิชาเอกสังคมศึกษาในลำดับที่ 68 ถัดจากครูวัลย์ ได้เรียกบรรจุที่โรงเรียนบ้านสุเม่น จ.สุโขทัย

 

มีการวิจารณ์กันว่ามีความพยายามผลักดันให้ครูทั้งสองลงโรงเรียนอุ้มผางฯ ที่เป็นโรงเรียนห่างไกล เพื่อให้ใครบางคนได้ลงโรงเรียนใน จ.สุโขทัยที่เดินทางสะดวกสบายกว่าหรือไม่

ทุกฝ่ายยอมรับว่ามีความไม่ชอบมาพากลและข้อมูลซับซ้อนกว่าที่คิด

ผ่านมาแล้ว 4 ปี แม้หลายคำถามยังไม่มีคำตอบ จากหน่วยงานราชการ แต่คำสั่งศาลที่ออกมา ก็ถือเป็นการคืนความเป็นธรรมให้ครูทั้ง 2 คน

สุดท้ายจึงหวังว่า สพฐ.ดำเนินการตามที่ศาลสั่งอย่างเร่งด่วน อย่างน้อยเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น พร้อมหาแนวทางป้องกันไม่ให้เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นอีก!!