วิรัตน์ แสงทองคำ/เอสซีจี กับเอสบีเอส (3) ดีล AstraZeneca

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/viratts.WordPress.com

เอสซีจี กับเอสบีเอส (3)

ดีล AstraZeneca

 

ยุทธศาสตร์พลิกผัน ว่าด้วยแผนการใหม่ มักมากับจังหวะและโอกาสอย่างคาดไม่ถึง แต่ก็มีที่มาที่ไป

เรื่องราว สยามไบโอไซเอนซ์ (Siam Biosciences หรือ SBS) เป็นไปอย่างเงียบๆ เกือบๆ ทศวรรษ เป็นความเงียบอย่างคาดไม่ถึงอย่างหนึ่ง ก่อนจะมาปะทุเป็นเรื่องราวใหญ่โต อาจคาดไม่ถึงเช่นกัน

เอสบีเอส ก่อตั้งปี 2552 เปิดตัวครั้งแรกๆ ในวงกว้าง เมื่อนายกรัฐมนตรีไทยมาเยือนราว 8 ปีถัดมา (พฤษภาคม 2560) ขณะที่ความเป็นไปในเชิงธุรกิจถือว่ายังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ข้อมูลผลประกอบการช่วงที่ผ่านมา (2556-2562) ให้ภาพธุรกิจใหม่อย่างแท้จริงเช่นนั้น เมื่อเทียบเคียงบทเรียนศตวรรษเอสซีจี

แม้เอสบีเอสเป็นอุตสาหกรรมแบบแผนใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่เรียกกันว่า Capital-intensive แต่ที่แตกต่างเป็นการบุกเบิกธุรกิจใหม่ ใช้เวลาค่อนข้างมากกับการวิจัยและพัฒนา (R&D) แสวงหาพันธมิตรธุรกิจระดับโลกเป็นไปค่อนข้างจำกัด ในภาพใหญ่ๆ จึงใช้เวลามากกว่าที่คาด

เอสบีเอสประสบภาวะขาดทุนมาตลอดตั้งแต่ก่อตั้ง รวมๆ กันใน 7 ปีที่ผ่านมา (2556-2562) กว่า 500 ล้านบาท

ขณะมีรายได้อย่างจริงจังหลังจากก่อตั้งถึง 4 ปี ซึ่งรวมกันแล้ว (2559-2562) ถือว่าไม่มากไม่ถึง 400 ล้านบาท (อ้างและประมวลข้อมูล-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์)

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ตัวเลขจำเพาะข้างต้นบางอย่างจะเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะฐานรายได้ เมื่อ SBS พลิกโฉมหน้าใหม่ทางธุรกิจด้วยดีลใหญ่อันฮือฮา สร้างความประหลาดใจให้กับสังคมวงกว้างพอสมควร

โดยเฉพาะผู้คนซึ่งไม่อาจทราบว่าสังคมไทยกับการผลิตวัคซีนใช้เองภายในประเทศเป็นเรื่องใหม่และเพิ่งจะตื่นตัวกันไม่นาน ผู้คนซึ่งอาจสนใจเอสบีเอสบางแง่มุมเป็นพิเศษ ไม่ว่ากรณีความช่วยเหลือด้วยงบฯ ของรัฐ ขณะเดียวกันมีความคาดหวังเกินจริง คล้อยตามผู้คนในกลไกรัฐไปด้วย

 

ไทม์ไลน์สำคัญเปิดฉากขึ้นเมื่อวิกฤตการณ์ COVID-19 มาถึงเมื่อ “กระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และแอสตร้าเซนเนก้า ผนึกกำลังผลิตวัคซีนโควิด-19 สำหรับไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งเป้าพร้อมใช้กลางปีหน้า” หัวข้อข่าว (12 ตุลาคม 2563) จากเอสซีจี (อ้างจาก https://scgnewschannel.com/) ถ้อยแถลงให้ความสำคัญ รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจีอย่างเห็นได้ชัด มีบางตอนสำคัญที่เขากล่าวไว้

“มีความยินดีที่ได้เป็นผู้ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมงานด้านงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกับเอสซีจีมายาวนาน”

เรื่องราวเกี่ยวเนื่องตอนสำคัญข้างต้น ไม่เพียงสะท้อนความสัมพันธ์ ความสำคัญ เชื่อมโยงกันระหว่างเอสซีจีกับเอสบีเอส หากควรขยายความให้มากกว่าที่เคยรับรู้กัน

โดยเฉพาะขยายความต่อจากตอนที่แล้วที่ทิ้งท้ายไว้

“กรรมการเอสบีเอสอีกคน-ชลณัฐ ญาณารณพ มีเรื่องราวที่น่าสนใจ ในฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เอสซีจี ต่อจากอภิพร ภาษวัธน์ (2548-2562) ในช่วงเวลานั้น SCG-Oxford Centre of Excellence in Chemistry (CoE) ก่อตั้งขึ้น (2555) จะเรียกว่าชิ้นส่วนหนึ่งในความบังเอิญอย่างไรก็แล้วแต่ ได้มีส่วนนำมาสัมพันธ์กับ AstraZeneca”

 

ชลณัฐ ญาณารณพ ในช่วงคาบเกี่ยวในตำแหน่งผู้นำกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เอสซีจี (2548-2562) ที่ว่าไว้ มีบทบาทกว้างขึ้นด้วย ทั้งในเอสบีเอส ในฐานะกรรมการ (ตั้งแต่ปี 2559) และก้าวขึ้นเป็นรองผู้จัดการใหญ่เอสซีจี (2560-2562) ด้วย เมื่อเกษียณในวัย 60 ปี ยังคงบทบาทต่อเนื่องไม่ขาดตอน โดยเข้ามาเป็นกรรมการเอสซีจี (ตั้งแต่ปี 2563)

ว่าไปแล้ว ชลณัฐ ญาณารณพ เป็นหนึ่งไม่กี่คนในเอสซีจียุคหลัง จากผู้บริหารก้าวสู่ตำแหน่งกรรมการ นับจากชุมพล ณ ลำเลียง (ผู้จัดการใหญ่ 2536-2548) และกานต์ ตระกูลฮุน (ผู้จัดการใหญ่ 2548-2558) ทั้งนี้ ยังถือได้ว่าเป็นกรณีพิเศษ ชลณัฐ ญาณารณพ เป็นคนเดียวในประวัติศาสตร์เอสซีจีก็ว่าได้ที่มาจากตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่

ภูมิหลังของเขาพอจะมีความเชื่อมโยงกับดีลใหญ่ข้างต้น ในฐานะนักเรียนอังกฤษใช้เวลาที่นั่นรวมกันราวๆ 10 ปี ตั้งแต่เข้าโรงเรียนประจำระดับมัธยมปลาย (Rydal School) ในแคว้นเวลส์ ศึกษาจนจบปริญญาตรี Environment Chemical Engineering จาก Salford University มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน Manchester (2525) และกลับมาเมืองไทย ทำงานสถาบันสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยช่วงสั้นๆ ก่อนกลับไปเรียนต่อปริญญาโท Chemical Engineering ณ Imperial College กรุงลอนดอน (จบปี 2527)

แล้วเริ่มต้นชีวิตทำงานแทบจะทันที (2528) ที่เครือซิเมนต์ไทย (หรือเอสซีจีปัจจุบัน) จัดอยู่ในทีมเล็กๆ 3-4 คนแรก ยุคต้นๆ ธุรกิจเคมีภัณฑ์ “เป็นช่วงเวลาการสะสมประสบการณ์สำคัญ โดยเฉพาะมีส่วนร่วมการเจรจาหาผู้ร่วมทุนระดับโลก มีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะเลือกใช้เทคโนโลยี ตั้งแต่สร้างโรงงานเคมีภัณฑ์แห่งแรก” เขาเคยกล่าวไว้ทำนองนั้น

ในยุคของเขา ธุรกิจเคมีภัณฑ์เอสซีจีถือเป็นกลุ่มธุรกิจครบวงจร ธุรกิจหลักที่ใหญ่ที่สุด และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์สู่ปลายน้ำอย่างน่าสนใจ ในกรณีหนึ่งเกี่ยวข้องกับกับดีลใหญ่อย่างคาดไม่ถึง เป็นความร่วมมือกับ Oxford University ภายใต้ SCG-Oxford Centre of Excellence (CoE) กลายเป็นแบรนด์สำคัญหนึ่ง-CIERRA?

“ในช่วงชลณัฐ ญาณารณพ เป็นผู้จัดการใหญ่เอสซีจีเคมีคอลส์ เปิดตัวผลิตภัณฑ์ล่าสุดเกี่ยวเนื่อง CIERRA? พัฒนาโดย CoE เปิดตัวครั้งสำคัญในงาน K Fair เมื่อปี 2559”

เรื่องราวบางตอนบันทึกไว้ใน CoE (http://scgcoe.chem.ox.ac.uk/) งานแสดงนวัตกรรมพลาสติกและยางที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ว่านั้น มีขึ้นที่เมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี ได้ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ของเอสซีจีเคมีคอลส์ด้วยเช่นกัน

“ไฮไลต์นวัตกรรมสินค้า เอสซีจี เคมีคอลส์ ที่นำมาจัดแสดง… ที่ใช้ชื่อว่า Cierra? (เซียร์ร่า) นวัตกรรมสารพิเศษที่นำไปใช้ในสินค้าหลากหลายประเภท …พัฒนาเป็น Barrier film ป้องกันออกซิเจนและความชื้นได้ดี เป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ หรือนำไปพัฒนาเป็น Flame Retardant สารหน่วงไฟที่รบกวนการสันดาป ทำให้การจุดติดไฟและลามไฟช้าลง หรือพัฒนาเป็น Anti-Microbial สารช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา”

ข้อความบางส่วนตัดทอนเพื่อขยายความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือ SCG-Oxford ข้างต้นให้เป็นรูปธรรมขึ้น

 

บุคคลสำคัญของ CoE คือ Professor Dermot O’Hare ผู้เคยเว้นวรรคการสอนและวิจัย (sabbatical year) ที่ Oxford มาเมืองไทยศึกษางานที่เอสซีจีเคมีคอลส์ (2558) และเคยนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจนั้นต่อสมเด็จพระเทพฯ (สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) ณ สถานทูตอังกฤษ ในกรุงเทพฯ (2559)

ข่าวสารภายใน (Oxford University) กล่าวถึงดีล COVID-19 Vaccine (ตามข่าวเอสซีจี 12 ตุลาคม 2562) อย่างมีสีสันและมีรายละเอียดเกี่ยวข้องกับ Professor Dermot O’Hare ผู้อำนวยการ CoE ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญมากในการช่วยเจรจาอย่างแข็งขัน

“…และด้วยความช่วยเหลือและสนับสนุนของ Sir John Bell, Regius Professor of Medicine และ Dr. Phil Clare, Deputy Director Research Services จึงจัดให้มีการประชุมอย่างกว้างขวางในประชาคม Oxford หลายครั้งจนเป็นผลสำเร็จ เป็นความร่วมมือระหว่างเอสซีจี รัฐบาลไทย AstraZeneca และสยามไบโอไซเอนซ์ ในการผลิต Oxford COVID-19 vaccine ในประเทศไทย ซึ่งมีศักยภาพจัดส่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ข่าวว่าไว้ทำนองนี้

เรื่องราวธุรกิจบางเรื่อง บางกรณี อาจมีการตีความกว้างจนเกินไป