จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 25 มิ.ย. – 1 ก.ค. 2564

จดหมาย

 

วันแห่งความโศกเศร้า

วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2564

เป็นวันครบรอบ 80 ปีของการเกิดขึ้นของมหาสงครามเพื่อปิตุภูมิของประชาชนชาวโซเวียตที่ต่อสู้กับลัทธินาซีเยอรมัน

เป็นความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาวรัสเซีย

นายเยฟกินี โทมิคิน (Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย เล่าถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำและความโศกเศร้า

รุ่งเช้าของวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2484 กองทัพนาซีเยอรมันได้บุกเข้าสหภาพโซเวียตโดยไม่มีการแจ้งถึงการประกาศสงครามใดๆ

เครื่องบินทิ้งระเบิดของเยอรมันได้ทำลายสนามบิน สถานีรถไฟ ที่ทำการของกองทัพเรือ ฐานทัพทางทหาร และอีกหลายเมืองได้ถูกทำลายไปกว่า 250-300 กิโลเมตรในดินแดนของสหภาพโซเวียต

ชาวโซเวียตได้ต่อต้านศัตรูด้วยความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน ยืนหยัดต่อความตาย เพื่อปกป้องปิตุภูมิ

 

การรุกรานของกองทัพนาซี ในขณะที่สหภาพโซเวียตยังไม่ทันได้ระวัง จึงไม่พร้อมที่จะต่อสู้กับศัตรูผู้ยิ่งใหญ่ อีกทั้งรถถังและเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ ก็ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น

ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดค่าใช้จ่ายมหาศาลที่ประเทศต้องยอมแลกเพื่อชัยชนะ

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับสหภาพโซเวียตตลอดระยะเวลาสี่ปีนั้น เป็นการทดสอบความกล้าหาญอย่างมากในการฟื้นฟูสันติภาพ

ซึ่งได้กลายเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมและน่าสะพรึงกลัวในเวลาเดียวกัน

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นแก่สหภาพโซเวียตเพียงประเทศเดียว คือ 40% ของการบาดเจ็บล้มตายทั้งหมดในสงครามโลกครั้งที่สอง

ทหารโซเวียตประมาณหนึ่งล้านนายได้สละชีวิตในระหว่างการปลดปล่อยประชาชนยุโรป

การสูญเสียผู้คนรวมกันของสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเท่ากับ 27 ล้านคน

โดยมากกว่า 8.7 ล้านคนได้เสียชีวิตลงในสนามรบ

อีก 7.42 ล้านคนถูกฆ่าโดยพวกนาซีในพื้นที่ที่ถูกกองทัพนาซียึดครอง

มากกว่า 4.1 ล้านคนเสียชีวิตจากสภาพที่โหดร้ายของพื้นที่ที่ถูกยึดครอง

และอีก 5.27 ล้านคน ถูกนำตัวไปใช้แรงงานอย่างหนักในเยอรมนีและประเทศข้างเคียงซึ่งอยู่ภายใต้การยึดครองของเยอรมนีเช่นกัน

มีประมาณ 2.65 ล้านคน ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งได้กลับบ้าน และมีผู้อพยพมากกว่า 450,000 คน และ 2.16 ล้านคนได้เสียชีวิตลง หรือไม่ก็เสียชีวิตในกรงขัง

 

วันที่ 22 มิถุนายนของทุกปี จึงเป็นที่รู้จักกันในประเทศรัสเซียว่า เป็นวันแห่งความทรงจำและความโศกเศร้า

โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 เป็นต้นมา วันนี้ได้กลายเป็นวันที่รำลึกถึงอย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2550 ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ได้ลงนามแก้ไขกฎหมาย “ในวันแห่งความรุ่งโรจน์ทางทหารและวันครบรอบของประเทศรัสเซีย”

ซึ่งได้เพิ่มวันครบรอบเข้าไปทำให้วันที่ 22 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันแห่งความทรงจำและความโศกเศร้า

ในวันนี้ของทุกปี ธงชาติของประเทศรัสเซียจะถูกลดระดับลง กิจกรรมบันเทิงและรายการต่างๆ จะถูกระงับหรือทำให้สั้นลง

ผู้นำประเทศรัสเซียจะวางพวงมาลาไว้ทุกข์ที่สุสานทหารนิรนามในกรุงมอสโก

ชาวรัสเซียจะคร่ำครวญถึงเพื่อนร่วมชาติทุกคนที่ได้ปกป้องบ้านเกิดด้วยชีวิต หรือตกเป็นเหยื่อของสงครามโดยเฉพาะมหาสงครามแห่งเพื่อปิตุภูมิในปี พ.ศ.2484-2488

ในโอกาสนี้ สถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย ขอเชิญชมนิทรรศการโปสเตอร์สงครามของสหภาพโซเวียตในนิทรรศการ “ความรุ่งโรจน์สู่ชัยชนะของทหารโซเวียต”

ระหว่างนี้ จนวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ณ ห้องจัดแสดง RCB ชั้น 1 ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ กรุงเทพฯ

ชนัดดา ชินะโยธิน

 

ชนัดดา ชินะโยธิน ซึ่งสัมภาษณ์ทูตประเทศต่างๆ

ให้เราอ่านเป็นประจำ

ขอใช้พื้นที่ตรงนี้แทรกคิวให้ “รัสเซีย”

เรารับรู้เรื่องสหรัฐ-ตะวันตก กันมามาก

เปิดใจและโอกาสให้รัสเซียบ้าง คงไม่ว่ากัน

ดูภาพและรายละเอียดเพิ่มเติม http://www.matichonweekly.com

 

วันผู้ลี้ภัยโลก

วันที่ 20 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันผู้ลี้ภัยโลก

เนื่องในโอกาสนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ขอยืนหยัดอยู่เคียงข้างอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน กับผู้ลี้ภัยที่ต้องจากบ้านเกิดมาเพื่อแสวงหาความปลอดภัย

และขอผลักดันให้รัฐบาลไทยร่วมปกป้องสิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย

วันผู้ลี้ภัยโลก ควรเป็นวันที่พวกเราทุกคนจะได้หวนย้อนมองและตรวจสอบมาตรการที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ว่ามีอะไรที่ได้ช่วยผู้ลี้ภัยไปแล้วบ้าง

รวมถึงมองไปแผนงานในปีต่อๆ ไป ที่เราจะก้าวไปสู่บทใหม่ของมาตรการการช่วยเหลือ

นอกจากนี้ ยังเป็นวันที่ย้ำเตือนให้เรานึกถึงแก่นแท้ของสิทธิมนุษยชน ที่กว้างและไปไกลกว่าทุกขอบเขตที่ผ่านมา

ประชาคมโลกต้องรับผิดชอบและต่างต้องทำในส่วนของตนเองให้ดีที่สุด ในการรับรองความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรที่เปราะบางที่สุดในโลกเหล่านี้

ปิยนุช โคตรสาร

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

 

จาก 24 มิถุนายน 2475

ที่เราเริ่มต้น “ประชาธิปไตย”

ผ่านมา 89 ปี

เรายังมี “ผู้ลี้ภัยทางการเมือง” อยู่–ทำไม?!?